25 ก.ค. 2559 เมื่อเวลา 10.30 น. ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ร่วมกับสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ไม่ขับไล่คนจนออกจากที่ดินของ ส.ป.ก. ภายหลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากหวั่นผลกระทบกรณีการขับไล่สมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี และชุมชนอื่นๆ
ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรับมนตรี และหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องให้กำหนดแนวทางการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร และผู้ยากจน โดยยื่นผ่านนายจตุพร เณรนุ่ม ตัวแทนสำนักนายก เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ตัวแทน สกต.และพีมูฟได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสำเนาถึงเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องการแก้ปัญหา
การยืนหนังสือมีนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับมอบและร่วมรับฟังปัญหาโดยระบุว่าจะเร่งนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้รับทราบ อีกทั้งจะลงสำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ชุมชนคลองไทรฯ อีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค.นี้ โดยเชิญ ส.ป.ก.ไปร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ระบุรายละเอียดดังนี้
จดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอความเป็นธรรม ไม่ขับไล่คนจนออกจากที่ดินของ ส.ป.ก. เรียน นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) และ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อ้างถึง 1. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย /. ประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 12/2559 เรื่อง การกำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การบังคับขับไล่เกษตรกรหรือคนจนออกจากที่ดินฯ โดยอาศัยคำสั่งข้างต้น จะทำให้เกษตรกรกลายเป็นแรงงานรับจ้างร่อนเร่ทำงานไม่มีความมั่นคง ไม่มีรายได้ที่แน่นอน และเริ่มต้นใหม่ในการขอรับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. แล้วรอรับการคัดเลือก และรอการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. หรือรัฐบาล เป็นวิธีการที่ย้อนแย้งกันในตัวเองอย่างยิ่ง และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใช้ “ วิธีการไปทำลายเป้าหมาย ” สุดท้ายเกษตรกรหรือคนจนก็ไม่อาจเข้าถึงที่ดินได้ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และกลุ่มองค์กร ต่าง ๆ ทีได้รับผลกระทบ มีประเด็นขอชี้แจงดังนี้ 1.ชุมชนคลองไทรพัฒนา ไม่มีเจตนาขัดขวางการปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. แต่การอยู่อาศัยในที่ดินของ ส.ป.ก. เป็นความจำเป็น เพราะพวกเรา ไม่มีที่ดินประกอบอาชีพ 2.ชุมชนคลองไทรพัฒนา ไม่มีเจตนาครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ในสมัยนั้นให้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด เพื่อรอรับมอบที่ดินในนามสถาบันเกษตรกร ( มาตรา 30(3) พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2519 และ พ.ศ.2532 ) 3.การทำประโยชน์โดยปลูกพืชผสมผสาน ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว และใช้แนวทางการบริหารจัดการที่ดินแบบสิทธิร่วมของชุมชน ห้ามซื้อขายถ่ายโอนที่ดินนอกจากมอบเป็นมรดกให้กับทายาท ซึ่งพิจารณาแล้วมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 4.สหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด เคยยื่นหนังสือทั้งขอเช่า และขอใช้ประโยชน์พื้นที่จาก ส.ป.ก. มาโดยตลอด ในช่วงปี 2558 แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาด้วยความเป็นธรรม 5.ปัจจุบัน ส.ป.ก. ได้นำเสนอที่ดินในเขต ส.ป.ก. แปลงที่ตั้งชุมชนคลองไทรพัฒนา ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พิจารณาแล้ว โดย คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ภายใต้ คทช. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว และคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ( ภายใต้ คทช.) ก็ได้ผ่านความเห็นชอบแล้วเช่นกัน ฯลฯ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. แจ้งว่าได้ส่งเรื่องมาให้ อนุกรรมการจัดสรรที่ดิน ( ภายใต้ คทช.)ทำการพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และคาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการจัดสรรที่ดิน ชุดดังกล่าว ) ดังนั้น สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มองค์กร จึงใคร่ขอให้ ทุกท่านที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง กรุณาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ดังนี้ 1.ขอให้มีประกาศของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศฯ ฉบับที่ 12/2559 ลงวันที่ 12/2559 ทั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อป้องกัน หรือยกเว้นมิให้เกษตรกรหรือ คนจน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาก่อนที่จะมีการประกาศใช้ คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 มิให้ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อน จากการประกาศใช้และการปฏิบัติการตาม คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 รวมทั้งการบังคับใช้ประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฉบับที่ 12/2559 2.ขอให้นำเอา คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ข้อ 2.1 “การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้” มาใช้กำกับการดำเนินการใด ๆ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ด้วย 3.ขอให้ยอมรับว่าพื้นที่ใด ๆ ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ได้มีการนำเสนอ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นพื้นที่ ที่อยู่ในกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว 4.หลักเกณฑ์การจัดที่ดินต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ที่มีชุมชนอยู่อาศัยมาก่อน การใช้คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 กรณีที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปให้กับสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบริหารจัดการให้กับสมาชิกได้ใช้ทำการเกษตร โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าครอบครัวละ 11 ไร่ (รวมที่อยู่อาศัย) ภายใต้หลักสิทธิร่วมของชุมชนหรือสถาบันเกษตรกร [สามารถอ้างอิงได้ตาม มาตรา 30 (3) พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2519 และ พ.ศ.2532 ] 5.เนื่องจาก กรณีความเดือดร้อนของเกษตรกร หรือคนยากจน อันเนื่องจากการบังคับใช้ คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ซึ่งในความเป็นจริงที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2552 ได้มีการนำเสนอข้อมูลของชุมชนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลปัจจุบัน นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีความคืบหน้า ที่ผ่านมาไปดำเนินการต่อไปด้วย เช่น มติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ชุมชนต่าง ๆ รวม 35 ชุมชน ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดทำโฉนดชุมชนต่อไปได้ และชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องดังกล่าวด้วย ฯลฯ 6.ขอให้รัฐบาล หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรุณาดำเนินการบังคับใช้คำสั่ง ที่ 36/2559และประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 12 /2559 โดยจำแนกแยกแยะระหว่างนายทุนกับเกษตรกรและคนจนเพื่อมิให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรและคนจน ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน การประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ดังนั้นจึงเรียนมาเพื่อขอให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) และ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้กรุณาเร่งดำเนินการตามที่ได้นำเรียนมาข้างต้น เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร หรือคนจน และเพื่อให้การดำเนินการนั้น ๆ ไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เกษตรกร ชุมชนคลองไทรพัฒนา และชุมชนอื่น ๆ ที่ตกอยู่ภายใต้ประกาศของ ส.ป.ก.ที่ 12/2559 จำนวนนับพันครอบครัว กลายเป็นคนไร้ที่ดิน ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีอาชีพที่มั่นคง ขาดรายได้ เป็นปัญหาของสังคมในท้ายที่สุด จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณาดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและคนจนด้วยและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถืออย่างสูง |