วันนี้ (26 พ.ย. 2558) ตัวแทนชาวบ้านแม่น้ำโขงจาก 3 ประเทศ คือไทย กัมพูชา และเวียดนาม ร่วมส่งหนังสือพร้อม “แถลงการณ์ประชาชน ว่าด้วยโครงการเขื่อนในภูมิภาคแม่น้ำโขง: รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ต้องฟังเสียงประชาชน!” และสำเนาลายเซ็นและลายนิ้วมือของประชาชนไปยังรัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
รายชื่อและการลงลายนิ้วมือจากประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 8,271 คน แบ่งออกเป็นจากประเทศกัมพูชา 2,906 คน จากประเทศไทย 1,891 คน และจากประเทศเวียดนาม 3,474 คน โดยทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงนามโดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงในทั้ง 3 ประเทศ พื้นที่รอบทะเลสาบเขมรในกัมพูชา และปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม
นอกเหนือจากประชาชนใน 3 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว แถลงการณ์ดังกล่าว ยังได้รับการรับรองจาก 77 องค์กรทั้งจากในภูมิภาคและนานาประเทศอีกด้วย
การรวบรวมรายชื่อสำหรับแถลงการณ์ประชาชน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2558 เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่ทำร่วมกันระหว่างเครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขงทั้ง 3 ประเทศ แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีเครือข่ายประชาชนใดจากประเทศลาวสามารถเข้าร่วมลงรายชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวได้
หนังสือส่งมอบ ซึ่งลงนามโดยนายลอง โสแจด (Long Sochet) ตัวแทนชุมชนชาวประมงกัมพูชา (CCF) นายชาญณรงค์ วงศ์ลา จากกลุ่มฮักเชียงคาน ประเทศไทย และนายโว ทัน ตรัง (Vo Thanh Trang) ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดอันเกียง ปากแม่น้ำโขงประเทศเวียดนาม ระบุจุดยืนจากแถลงการณ์และของเครือข่ายประชาชนอีกครั้ง หลังการพยายามเชิญตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค“เสียงประชาชนแม่น้ำโขง: สารถึงรัฐบาลแม่น้ำโขงเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง” ที่เครือข่าย 3 ประเทศพยายามจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยอันเกียง ปากแม่น้ำโขงประเทศเวียดนาม
“แถลงการณ์ที่ส่งมานี้แสดงให้เห็นความทุกข์ร้อนขมขื่นของพวกเรา จากผลกระทบการสร้างเขื่อนใหญ่ที่มีมาแล้ว และที่กำลังจะมีเพิ่มบนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง เราจึงขอเรียกร้องอย่างจริงจัง ให้รัฐบาลของเราฟังเสียงของประชาชน และเคารพสิทธิของเราในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต และแม่น้ำของเรา และเรียกร้องปฎิบัติการอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับเขื่อนที่กำลังถูกผลักดัน โดยเฉพาะเขื่อนดอนสะโฮงใน สปป. ลาว”
“พวกเรา ชาวบ้านและพลเมืองของภูมิภาคแม่น้ำโขง มีพันธะสัญญาต่อกันที่จะทำงานเกี่ยวกับเขื่อนในภูมิภาคร่วมกันต่อไป การรวบรวมรายชื่อและลายนิ้วมือจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าพวกเราจะได้คำตอบในเรื่องที่เราเรียกร้อง”
สำหรับประเทศไทย จดหมายถูกส่งตรงไปยังพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยจะส่งสำเนาถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำในฐานะผู้ลงนามในจดหมายตอบจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยมายังเครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขงของทั้ง 3 ประเทศในวันที่ 11 พ.ย.ว่าไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคได้ เพราะปลัดกระทรวงฯ ติดภาระกิจอื่น