สปช.ถอนพิจารณา ‘ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ออกไปก่อน หลังถูกเครือข่ายประชาชนรุมค้าน

สปช.ถอนพิจารณา ‘ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ออกไปก่อน หลังถูกเครือข่ายประชาชนรุมค้าน

6 ก.ค. 2558 ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา เครือข่ายประชาชนจากหลายกลุ่ม อาทิ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P-Move) และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จาก พ.ร.บ.ป่าชุมชน จาก 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ระนอง และ จ.ภูเก็ต เครือข่ายกระเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน 

สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สปช.ในวันนี้ 

20150607232937.jpg

ที่มาภาพ: สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

นางทัศนา นาเวศน์ ผู้แทนชุมชนบ้านยาง จ.พังงา ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P-Move) กล่าวว่า ปัจจุบันมีป่าชุมชน 9,500 แห่ง หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะเหลือป่าชุมชนไม่เกิน 5 ,000 แห่งเท่านั้น เนื่องจากป่าชุมชนอีก 4,500 แห่ง อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ที่ประกาศไปแล้ว

“ร่างกฎหมายดังกล่าว มุ่งเน้นการกำกับควบคุม ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้ประชาชนจัดการป่าชุมชน ดังนั้น ควรแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่” นางทัศนา กล่าว

นางทัศนา กล่าวด้วยว่า การศึกษาของกรรมาธิการฯ ที่ระบุว่า ต่างประเทศไม่มีการอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่เขตอนุรักษ์นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะสาเหตุที่ไม่อนุญาต เนื่องจากในต่างประเทศมีกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชนพื้นเมือง ในการจัดการป่าไม้และทรัพยากรอยู่แล้ว

“การมีร่างกฎหมายฉบับนี้จะละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากมีการประกาศเขตอุทยานและเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อน” นางทัศนา กล่าว

นอกจากนี้ นางทัศนา ยังเสนอให้ศึกษาทบทวนปัญหาการใช้งบประมาณในการจัดทำโครงการแผนที่ฐานในการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ที่ดิน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง

ส่วนนางเกรียงไกร ชีช่วง เลขานุการเครือข่ายกระเหรี่ยงและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวว่า ในอดีตเครือข่ายประชาชนต้องการให้ผลักดันพ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลในชุดก่อนๆ แต่ในรัฐบาลชุดนี้ได้มีการนำพ.ร.บ.ป่าชุมชน กลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่มีการแก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมาย

ทางเครือข่ายภาคประชาชนในหลายส่วนงานมีความคิดเห็นตรงกันว่าเนื้อหา พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการแบ่งแยก กีดกันเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งในชุมชนพื้นเมืองนั้นได้มีการตั้งรกรากมากว่า 100 ปีแล้ว มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อแนวคิดของชุมชน ไม่เห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ให้มีการจัดการแบบรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลนั้นเอื้อต่อกลุ่มทุน และเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีป่าไม้ลดลง 

นางเกรียงไกร ระบุข้อเสนอว่า ให้สปช. ปรับแก้เนื้อหาของพ.ร.บ. ป่าชุมชน เพื่อให้มีเนื้อหารับรองกับสิทธิชุมชน ควรสนับสนุนให้ประชาชนจัดตั้งป่าชุมชนได้ทุกพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ก่อนแล้ว และหากกฎหมายนี้เป็นกฎหมายกลาง ไม่ควรเป็นกฎหมายของกรมป่าไม้เท่านั้น แต่ควรให้ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาศัย พ.ร.บ. ฉบับนี้ จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ดูแลได้ด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังจากการยื่นหนังสือ ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 น.ที่ห้องประชุมรัฐสภาก็ได้มีการพิจารณาถอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนออกไปก่อน

เรียบเรียงจาก: จส.100, สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ