รู้จัก พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง
ปกครองตนเองคือแบ่งแยกประเทศหรือไม่
ไม่ใช่ แต่คือการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๘๑ ประกอบมาตรา ๗๘ (๓) ระบุชัดเจนว่า “ชุมชนใดมีความพร้อมในการปกครองตนเองให้ดำเนินการตามเจตจำนงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภายในท้องถิ่นมีความคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการร่างพ.ร.บ. บริหารจังหวัดปกครองตนเอง เพื่อเป็นใบเบิกทางให้ประชาชนแต่ละจังหวัดที่มีความพร้อม
หากพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ทุกจังหวัดจะสามารถเลือกตั้งผู้ว่าได้ทันทีหรือไม่
หากว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ทุกจังหวัดยังไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าได้ แต่จังหวัดใดอยากเลือกผู้ว่า ให้เข้าชื่อ 5,000 คน เพื่อยื่นต่อจังหวัดขอทำประชามติ โดย กกต.จะดำเนินการจัดการลงประชามติของคนภายในจังหวัด ซึ่งหากว่าเสียงจาก 3 ใน 5 ของผู้มาลงประชามติเห็นชอบ (60%) จากนั้น คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองภายใน 180 วัน แต่หากว่าจังหวัดใดไม่ต้องการก็สามารถใช้ระบบการทำงานเดิม
หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าหรือจังหวัดปกครองตนเองแล้ว ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะอยู่ตรงไหน
เมื่อจังหวัดใดได้จัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเองแล้ว จะต้องยุบเลิกส่วนราชการภูมิภาคและองค์การบริหารส่วนจังหวัด คงเหลือไว้เพียงจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของ อบจ. โอนมาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการ ข้าราชการของส่วนราชการ ให้แสดงเจตนาเลือกว่าจะโอนมาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดจังหวัดปกครองตนเองหรือจะโอนย้ายกลับตนสังกัดเดิมของข้าราชการผู้นั้น กรณีที่โอนมาสังกัดจังหวัดปกครองตนเอง เงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการจะไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมที่ข้าราชการผู้นั้นครองอยู่ ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่ขึ้นตรงต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ และช่วยเหลือผู้บริหารท้องถิ่นในภารกิจที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในท้องถิ่น
อำนาจผู้ว่ามากเกินไปหรือไม่ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจะครอบงำได้หรือไม่
เมื่อเป็นจังหวัดปกครองตนเอง ประชาชนจะอยู่ใกล้ชิดนักการเมืองมากขึ้น ประชาชนจะรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของท้องถิ่น ดังนั้น ประชาชนในท้องถิ่นคงไม่ละสายตาหรือยินยอมให้นักการเมืองทุจริตได้ง่ายๆ นอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนี้ยังได้ออกแบบกลไกการตรวจสอบไว้อย่างเข้มข้น เช่น กำหนดให้มีสภาพลเมืองทั้งในจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และ อบต. เพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการบริหารงานของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีกลไกคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นอิสระจากผู้บริหารท้องถิ่น มาคอยทำหน้าตรวจสอบภายใน ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือแม้กระทั่งเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของท้องถิ่น เป็นต้น และยังมีกลไกอื่นที่จะคอยตรวจสอบท้องถิ่น เช่น กลไกการตรวจสอบภายนอกโดย ปปช. และ สตง. ตลอดจนกฎหมายฉบับนี้ได้ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การออกเสียงประชามติท้องถิ่นในเรื่องที่ประชาชนเห็นว่าอาจกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ท้ายที่สุดประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่นได้หากเห็นว่านักการเมืองคนใดทุจริตคอรัปชั่น
สภาพลเมืองมีที่มาอย่างไร
หากเป็นจังหวัดปกครองตนเอง แต่ละจังหวัดจะออกกฎหมายไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ อาทิ สภาพลเมืองเชียงใหม่ (จากพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร) ออกแบบให้สภาพลเมืองมาจากตัวแทนท้องถิ่น (คัดมา) จำนวนหนึ่ง และกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งต้องไปจดแจ้งจัดตั้งกลุ่มที่จังหวัดก่อนแล้วเลือกตัวแทนมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นทั้งหมดช่วยกันคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง กลไกนี้จะเป็นระบบตัวแทน แต่หากมาจากการคัดสรรของคนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาก่อนแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับจังหวัดปกครองตนเองจะเป็นอย่างไร
ในร่างกฎหมายฉบับนี้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่กำกับดูแลจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และ อบต. ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้มี 4 เรื่องที่จะยังคงไว้ที่ส่วนกลางคือ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ ระบบเงินตรา การศาล การคลัง
แผนผังขั้นตอนการจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง
โครงสร้างจังหวัดปกครองตนเอง
รัฐส่วนกลาง
คณะกรรมการบริหารภาษีระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะกรรมการส่งเสริมการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง
ที่มา เอกสารประกอบในเวที รวมพลังปฏิรูปประเทศไทยให้จังหวัดปกครองตนเอง 15 จังหวัดภาคเหนือ 7 เมษายน 2557