25 ปี การต่อสู้เพื่อป่าของคนบ้านเหล่าเหนือ สู่ต้นแบบการพัฒนาโดยชุมชนท้องถิ่น

25 ปี การต่อสู้เพื่อป่าของคนบ้านเหล่าเหนือ สู่ต้นแบบการพัฒนาโดยชุมชนท้องถิ่น

20163001185301.jpg

เรื่อง/ภาพ : รุ่งโรจน์ เพชระบุรณิน

25 ปี การต่อสู้เพื่อป่าของคนบ้านเหล่าเหนือ สู่ต้นแบบตำบลรูปธรรมการพัฒนา ดิน น้ำ ป่า สวัสดิการ ที่อยู่อาศัย โดยชุมชนท้องถิ่น

“เมื่อก่อนชาวบ้านไปทำไร่ทำสวนต้องกางร่มมากันเลย ต่างกับปัจจุบันที่ร่มรื่นป่าฟื้นคืน เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน สิ่งที่พอใจที่สุดคือเรื่องน้ำเป็นผลที่ชัดเจนจากการอนุรักษ์ป่า” บุญยงค์ จิตมณี

ปฐมบทพิทักษ์ป่า

บทพิสูจน์การอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ (ป่าห้วยป้อม) สะท้อนได้จากโล่รางวัลเกียรติคุณต่างๆ ของหน่วยงานต่างๆ ที่การันตี อาทิเช่น ปี 2544 กรมป่าไม้ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ คัดเลือกเป็นป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน ดีเด่น ปี 2546 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำ มอบโล่หมู่บ้านอนุรักษ์ป่าต้นน้ำดีเด่น (ป่าห้วยป้อม) ปี 2548 จังหวัดแพร่ มอบรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง แปลงปลูกป่าดีเด่น โครงการแพร่เขียวขจี  ปี 2555 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ มอบโล่ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา ปี 2556 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว และได้รับรางวัลชุมชนดีเด่น รวมพลังชุมชน ลดไฟป่า ลดหมอกควัน จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายบุญยงค์ จิตมณี อดีตผู้ใหญ่บ้านเหล่าเหนือ แกนนำในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ เริ่มตั้งแต่ ปี 2526 ที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำสอง และมีการเปิดประมูลสัมปทานไม้ในอ่าง เป็นจังหวะโอกาสที่มีชาวบ้าน และนายทุนเข้ามาสวมรอยตัดไม้ทำลายป่าในเขตชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ซึ่งหลังจากได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี 2534 ตนจึงเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อหารือถึงสถานการณ์การบุกรุกทำลายป่าที่รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะถ้าหากปล่อยไปป่าคงหมด เมื่อไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ ไม่มีแหล่งอาหารให้กับอนาคตของลูกหลาน

กระทั่งเกิดการปิดป่าโดยห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้ประโยชน์จากป่าทุกรูปแบบ เป็นเวลา 3 ปี เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ จัดการป่าชุมชน ร่วมรักษาป่าต้นน้ำในเขตป่าสงวน จนสามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้ 2,720 ไร่ ในปัจจุบัน

เริ่มแรกกว่าจะรวมตัวกันได้ก็ยาก เพราะกรรมการบางคนก็ลักลอบตัดไม้ด้วย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย หลายคนจึงเปลี่ยนใจหันมาให้ความร่วมมือ ซึ่งกว่าจะสำเร็จทางคณะกรรมการ พบความยากลำบาก เหนื่อยยากที่ต่อสู้กับอำนาจมืด อำนาจอิทธิพลต่างๆ รวมถึงคนในเขตพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ กว่าที่จะทำความเข้าใจ กว่าจะหยุดกันได้ก็ใช้เวลาหลายปี ทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ น้ำท่าดีขึ้นมาก

ในช่วงนั้นชุมชนเกิดวิกฤตน้ำประปา ชาวบ้านจึงช่วยกันฝายเพื่อทำประปาภูเขาใช้ในชุมชน มีหน่วยงานสนับสนุนอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนแรงงานชาวบ้านช่วยกันก่อสร้าง วางท่อนัดกันมาทำทุกวันอาทิตย์ เมื่อเปิดใช้งานมีการเก็บค่าน้ำหน่วยละ 50 สตางค์ ปัจจุบันเก็บ 1 บาท นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยกันทำกิจกรรมบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ทำแนวกันไฟ สร้างฝายถาวร ฝายแม้ว รวมกัน 600 กว่าฝาย

ที่ผ่านมาคณะกรรมการก็คอยสอดส่องดูแลลาดตระเวนฟังเสียงเลื่อยยนต์ หากพบก็ยึดไม้ และอุปกรณ์ แต่ไม่ได้จับกุมส่งดำเนินคดี กำลังชาวบ้านไม่พอก็ขอกำลังป่าไม้ และทหาร เข้ามาช่วย ครั้งหนึ่งไปขอความช่วยเหลือจากทางอำเภอให้ช่วยคุยขอร้องชาวบ้านในเขตพื้นที่บ้านแม่สาย อำเภอร้องกวาง ไม่ให้เข้ามาลักลอบตัดไม้ในเขตบ้านเหล่าเหนือ ใช้วิธีการร้องขอกันโดยมีท้องที่เข้ามาช่วยเจรจา

ปัจจุบันเรื่องการลักลอบตัดไม้หมดไป ป่าก็ค่อยๆ ฟื้นตัวเรื่องอนุรักษ์ก็ทำต่อไป หวังให้คนรุ่นต่อไปได้สืบสานรักษาไว้ อนาคตป่าคงอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อๆ ไป แต่ยังมีปัญหาในส่วนที่ทำกิน 2,000 กว่าไร่ เป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านขาดความมั่นใจในการทำกิน เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ เราก็ค่อยๆต่อสู้ไปอย่างน้อยก็ให้ชุมชนได้มีสิทธิทำกินโดยไม่ต้องมีเอกสารหรือโฉนดก็ได้ แต่ขอให้มีสิทธิในการทำกินแน่นอน ที่ผ่านมาชาวบ้านก็พยายามเข้าหาหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่ชาวบ้านในสิทธิทำกิน ทำข้อมูลรายแปลง ข้อมูลพื้นที่ป่าชุมชน ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย จะส่งให้หน่วยงาน เป็นการยืนยันว่าต่อไปในอนาคตจะไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มอีกต่อไป นายบุญยงค์ เล่าให้ฟัง

เพื่อให้เห็นป่าชุมชนของจริง อดีตผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านเหล่าเหนือ ได้อาสาพาไปสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ (ป่าห้วยป้อม) ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นทางเดินเท้า ที่รถจักรยานยนต์สามารถลัดเลาะขึ้นไปได้ แต่เดิมเป็นเส้นทางเข้าป่าหาอยู่หากินของชาวบ้าน อีกทั้งใช้เป็นเส้นทางลาดตระเวนรักษาป่า ต่อมาได้ช่วยกันพัฒนาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้ไว้ให้ลูกหลานเยาวชน และคนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ 

20163001185317.jpg

สร้าง 7 ฐานเรียนรู้ คุณค่าป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ

นายชาติ สุริยา ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รษทป.) บ้านเหล่าเหนือ บอกกับเราว่า “การปกป้องฟื้นฟูผืนป่าเป็นงานจิตอาสา คนที่มาช่วยกันทำไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เพราะคิดว่า ถ้าหากเราไม่อนุรักษ์ป่าให้มีความสมบูรณ์ ลูกหลานรุ่นต่อๆไป จะไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เมื่อก่อนน้ำไม่มี ปัจจุบันเรามีน้ำใช้ไม่ขาดก็เพราะการช่วยกันอนุรักษ์ป่า”

ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า พาเราไปดูฐานต่างๆ และเล่าให้เราฟังถึงความสำคัญของฐานทั้ง 7 ฐานว่า ฐานที่ 1 “พืชผักกินได้” ชาวบ้านอาศัยเป็นแหล่งอาหาร มีทั้งไม้ผล ไม้กินยอดและใบ พืชน้ำ หน่อไม้ หลากหลายชนิด บริเวณนี้เป็นพื้นที่ต่ำร่มเย็นจะเหมาะสำหรับพืชผักหลายชนิด ที่ขึ้นตามบริเวณแถบนี้ เช่น ผักแซ้ว จะนำมาใช้ทำแกงเห็ด หรือแกงอื่นๆ ให้รสขมนิดๆ หรือมะเดือดิน กินผลกับน้ำพริก ผักกรูด ยอดไคร้ ปลีกล้วย ฯลฯ  

ฐานที่ 2 “สมุนไพรม่อนห้วยช้าง” แหล่งสมุนไพร ยารักษาโรค ยาบำรุงร่างกาย ยาฆ่าแมลง ที่นี่มีสมุนไพรหลายอย่างทั้งให้คุณและโทษ อย่างเครือไหล ที่สามารถทำเป็นยาเบื่อได้ บางคนใช้เบื่อปลาเพื่อจับได้ง่าย หรือสมุนไพรที่ให้คุณอย่าง รางจืด ขับพิษในร่างกาย ต้มกินขับพิษสร่างเมา สาบเสือ สมุนไพรห้ามเลือด กองขม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านได้พึ่งพาจากป่า

ฐานที่ 3 “ป่าไผ่บง ดงเถาวัลย์” แหล่งป่าไม้ใช้สอยของชุมชน เป็นแหล่งเก็บหน่อไม้ที่สำคัญ บริเวณจุดนี้มีไม้ไผ่หลากหลายชนิด ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร่ เป็นต้น นอกจากเก็บหน่อไปกินไปขายแล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังนำไปใช้ทำตอกมัดข้าว หรือสานตระกร้าขาย ส่วนเถาวัลย์ จำพวกหวายก็กินได้ และใช้ทำเครื่องสานหลากชนิด ซึ่งแถบนี้ยังมีสมุนไพรอื่นๆ อีกหลายอย่าง

ฐานที่ 4 “เขตอภัยทานสัตว์ป่า” จุดนี้ชาวบ้านกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพราะจะให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด อย่างร่องรอยที่เราพบเห็นก็เป็นร่องรอยของหมูป่าตามบริเวณแหล่งน้ำ บริเวณนี้มีเรื่องเล่าถึงอาถรรพ์ป่า ผีไพร ที่ชาวบ้านที่นั่งห้างเฝ้าสัตว์พบเจอ และบอกเล่าต่อๆ กันมา ถ้าชาวบ้านทั้งในและนอกหมู่บ้านเข้ามาเขตนี้ก็ขอความร่วมมือไม่ให้ล่าสัตว์

ฐานที่ 5 “ปล่องน้ำออกรู ตามดูสัตว์น้ำ” ปล่องน้ำออกรู หรือตาน้ำ เป็นจุดที่น้ำไหลออกจากดิน ตามลำห้วยสาขาซึ่งจะไหลไปรวมกันที่ห้วยป้อม น้ำที่ไหลออกมาชาวบ้านสามารถอาศัยดื่มกิน และเป็นแหล่งที่สัตว์ป่าลงมากินน้ำอีกด้วย

ฐานที่ 6 “สวยสมอ้าง ผาพี่ ผาน้อง ผาแอว” สถานที่ในประวัติศาสตร์วรรณคดีลิลิตพระลอ เป็นหน้าผาและถ้ำปู่เจ้าสมิงพราย ถ้ำพระเพื่อนพระแพง จุดนี้มีถ้ำเป็นจุดขาย มีทั้งค้างคาว หินงอกหินย้อย หลายถ้ำให้สำรวจ 

ส่วนฐานที่ 7 “ม่อนจิกจ้อง ชมวิวอ่างสอง” ฐานสุดท้ายบนยอดเขาสูง การขึ้นฐานนี้เพื่อความปลอดภัยต้องเดินเท้าขึ้นอย่างเดียวเพราะทางชันประมาณ 200-300 เมตร เมื่อขึ้นมาบนยอดเขาก็จะเป็นจุดชมวิวอ่างเก็บน้ำสอง สามารถมองสภาพพื้นที่ป่าได้โดยรอบ เป็นสถานที่พักผ่อน บางช่วงสามารถเห็นทะเลหมอกที่สวยงาม 

เพื่อสร้างให้เห็นคุณค่าของป่า และการอนุรักษ์จากรุ่นต่อรุ่น นอกจากการออกลาดตระเวนอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ป้องการลักลอบตัดไม้ และเฝ้าระวังไฟป่า การสร้างการเรียนรู้จากฐานต่างๆ ก็สามารถปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นต่อๆ ไปมาช่วยกันอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือยังความอุดมสมบูรณ์ให้สืบไป ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ย้ำ

20163001185326.jpg

จากการอนุรักษ์ป่า สู่การขยายงานเป็นตำบลต้นแบบ

จุดเริ่มต้นคือการรักษาทรัพยากร จากป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ สู่การจัดการน้ำ การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย การจัดการสวัสดิการชุมชน โดยใช้ฐานสภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นพื้นที่กลางสู่การพัฒนาในมิติอื่นๆ พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ของตำบลบ้านกลาง ในการบริหารโดยชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ที่อาศัยอาคารโรงเรียนบ้านเหล่าเหนือ เปิดเป็นสำนักงานขององค์กรชุมชนตำบลในทุกประเด็นงาน ก็เพราะคาดหวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเรียนรู้ของคนในตำบล และพื้นที่ใกล้เคียง

นางนวลฉวี คำฝั้น ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน และเลขานุการสภาองค์กรชุมชน ตำบลบ้านกลาง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบล 6 ตำบล มีกองทุนสวัสดิการชุมชน 7 ตำบล ส่วนสวัสดิการชุมชนของตำบลบ้านกลางนั้น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,500 คน มีเงินสะสมประมาณ 2 ล้านบาท ที่งานพัฒนาเดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อก็มาจากฐานของงานอนุรักษ์ป่า

จนเกิดเครือข่ายการจัดการลุ่มน้ำสอง 5 ตำบล เกิดกองทุนป่าชุมชน กองทุนน้ำประปา กองทุนเพื่อซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย ซ่อมสร้างบ้านให้กับผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากไร้ในตำบล วงเงินครัวเรือนละ 30,000 บาท ที่ผ่านมามีการซ่อมสร้างไปแล้ว 6 หลังคาเรือน มีกองทุนที่ดิน ส่วนหนึ่งสนับสนุนเป็นทุนทำการเกษตรและการประกอบอาชีพ ช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อน ที่ผ่านมามีการไปไถ่ถอนที่ดินที่ไปจำนองไว้กับนายทุน ให้กับสมาชิก 1 ราย ไม่ให้ที่ดินหลุดมือ

มีการจัดทำข้อมูลทำพิกัดรายแปลง นำเสนอให้กับกรมป่าไม้ เพื่อรับรองข้อมูลที่ดินทำกิน และกำลังผลักดันให้เกิดข้อตกลงกับหน่วยงานในสิทธิทำกินของชาวบ้าน โดยสภาองค์กรชุมชน ทำข้อมูล 900 กว่าแปลง เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงกับป่าไม้ ให้เป็นฐานข้อมูลที่ชัดเจนร่วมกันว่า ที่ดินตรงไหนเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แปลงไหนของใคร ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวน ด้านหนึ่งก็เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางเพิ่มเติม และยังมีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลรายครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน ทำแผนที่ทำมือ ทำผังชุมชน จับพิกัด GPS 900 กว่าแปลง พื้นที่ 60,000 กว่าไร่

อย่างที่บ้านธาตุพระลอ ที่อยู่อาศัยของคนทั้งหมู่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คณะทำงานก็เข้าหาหน่วยงาน ประชุมกับป่าไม้ เพื่อให้เกิดการพิสูจน์สิทธิ์ สืบค้นข้อมูล ไปตามความชัดเจนจากหน่วยงานที่ดิน จนมีความมั่นใจว่าที่อยู่อาศัยของบ้านหมู่ 1 สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้

ที่ผ่านมาเชื่อมโยงป่าไม้ สำนักงานจัดการป่าไม้ที่ 3 ทำการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชน จาก 109 ไร่ เป็น 2,720 ไร่ และขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนอื่นๆ ตามมาอีก ป่าชุมชนบ้านธาตุพระลอ 1,600 ไร่  บ้านวังดิน 2 แปลง พื้นที่ 2 พันกว่าไร่ ป่าชุมชนห้วยต้นแหน ป่าชุมชนห้วยกุ๊ก ป่าชุมชนห้วยน้อยติ๊ด โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านกลาง จะเป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมประสานงาน ระหว่างชาวบ้าน กับหน่วยงานต่างๆ

อีกทั้งสภาองค์กรชุมชนได้เสนอโครงการต่อหน่วยงานให้มีการพัฒนาแก้มลิง การอนุรักษ์ฟื้นฟูห้วยทุ่งบงใต้ หมู่ 12 ที่สำนักทรัพยากรน้ำภาค 9 พิษณุโลก กรมทรัพยกากรน้ำ สนับสนุนงบประมาณ 9 ล้าน 1 แสนกว่าบาท พัฒนาพื้นที่ 17 ไร่ ไว้เป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของคนในตำบล

เพราะน้ำ และที่ดิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และการดำรงชีวิตของชุมชน เป็นปัญหาสำคัญที่สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านกลาง ได้ทำแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลจากบทเรียนและความเข้มแข็งของคนบ้านเหล่าเหนือในการปกป้องทรัพยากร มาเป็นแนวทาง และต้นแบบในการแก้ไขปัญหาของชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

20163001185339.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ