ย้อนบันทึกถึงแผ่นดินพม่า – เมื่อได้พบอองซานซูจี
อัจฉราวดี บัวคลี่
5 ธันวาคม 2554
ก่อนที่เวลาจะพาเรื่องราวขยับออกห่างจากความทรงจำไปเรื่อยๆ ฉันคิดว่าควรได้ เขียนบันทึกนี้ออกมาได้แล้ว – ประสบการณ์เดินทางไปพม่าและได้สัมภาษณ์ “อองซานซูจี”
ฉันมีเหตุผลบางประการที่เลือกจะไม่เขียนมันขึ้นมาทันทีเมื่อเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ซึ่งนับว่าตัดสินใจไม่ผิดนัก เวลาที่ทอดยาวออกมา 1 ปี ฉันเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศพม่าเพิ่มขึ้น มันทำให้ฉันเกิดแง่คิดและมุมมองต่อประเทศนี้เพิ่มขึ้นด้วย
พม่าวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ! ใครต่อใครกำลังพูดอย่างนั้น ประเทศนี้กำลังคลี่ตัวเองออกสู่วิถีประชาธิปไตย ทั้งที่ถูกหมกอยู่ใต้ท็อปบู๊ธของรัฐบาลทหารมาหลายสิบปี เสียงระเบิดและควันปืนไม่เคยสงบตลอดแนวชายแดนข้างบ้าน
การจัดให้มีเลือกตั้งทั่วไป และอิสรภาพของ “อองซานซูจี” อาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการคลี่คลายดังกล่าว การเดินหน้าเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์กำลังดำเนินไป มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เคยมีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อย่างนางฮิลลารี คลินตัน เดินทางเข้าไปจับมือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่าและชื่นชมในการขยับตัวสู่วิถีประชาธิปไตย ทั้งที่ก่อนหน้านี้อเมริกาคือหัวหอกในการคว่ำบาตรและก่นด่าพม่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษชนมาโดยตลอด
พม่าเฉิดฉายขึ้นมาในเวทีโลก ยืดอกเป็นเจ้าภาพจัดซีเกมส์ในปี 2013 ไปจนถึงจะก้าวเป็นประธานอาเซียน
แต่เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพม่าใช่เรียบรื่น เสียงวิพากษ์ถึงตัวรัฐธรรมนูญที่หยั่งรากอำนาจทหารแม้จะแปลงโฉมสู่การเป็นรัฐบาลพลเมืองในคราบการเลือกตั้งถูกตีแผ่ ระหว่างทางของการเจรจาปรองดองสถานการณ์สู้รบในเขตของกลุ่มชาติพันธุ์กลับเพิ่มขึ้นหลายจุด การผ่อนปรนปล่อยตัวนักโทษการเมืองกลับเป็นเพียงจำนวนหนึ่ง ผู้คนที่คิดต่างรวมทั้งสื่อมวลชนอีกเรือนพันยังถูกจองจำ
จังหวะก้าวของเพื่อนบ้านประเทศนี้น่าจับตาและมองเป็นทั้งบทเรียนและบทเปรียบเทียบรอยเท้าในเส้นทางประชาธิปไตยยิ่งนัก
ว่าด้วยเรื่องสื่อมวลชนที่อาจจะเข้าใกล้ตัวฉันมาสักหน่อย การเดินทางเข้าประเทศพม่าของนางฮิลลารี คลินตัน ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2554 มีผู้สื่อข่าวต่างชาติติดตามเข้าไปจำนวนมากส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตด้วยวีซ่าสื่อมวลชนอย่างง่ายดาย ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง
เป็นที่กล่าวขานกันทั่วโลกว่าการเข้าประเทศพม่าเพื่อการทำงานข่าวเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอันตรายทั้งการถูกจับกุมและติดตาม ประสบการณ์ถูกรวบตัวและส่งกลับมีให้ได้เล่าขานเป็นตำนาน ตัวอย่างให้เห็นเด่นชัดกับเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวรที่มีผู้สื่อข่าวญีปุ่นถูกยิงเสียชีวิต การถูกจำกัดความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของเพื่อนผู้สื่อข่าวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ฉันรู้จักเองก็บอกเล่าด้วยความอึดอัดมาเสมอ ดังนั้น การเข้าพม่าได้ง่ายดายสำหรับผู้สื่อข่าวในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และหลังจากนี้เข้าพม่าด้วยการเสี่ยงและแอบเข้า อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป ดังนั้นความรู้สึกและสถานการณ์ที่ฉันได้เผชิญมันมาก่อนหน้านี้อาจจะไม่ค่อยมีใครได้สัมผัสกับมันอีกนัก
บันทึกความทรงจำที่ฉันควรได้เขียนมันออกมาจึงอาจจะพอเป็นหน้าหนึ่งของความรู้สึกการไปเยือนพม่าในอารมณ์ที่แตกต่าง และ 4 วันในพม่าเมื่อปี 2553 (19-22 ธันวาคม 2553) ในความทรงจำของฉัน น่าจะพอได้บอกอะไรเกี่ยวกับประเทศนี้ได้บ้าง
ผึ้งกับอ้อ — เรามาเจอกันอีกครั้งในช่วงเวลาเกือบครบรอบ 1 ปีที่เดินทางไปพม่าด้วยกัน
////////////////////////////
รับปากทันทีไม่มีบิดพริ้ว
เข้าพม่าสัมภาษณ์อองซานซูจี
“ไปสิ!” ไม่ต้องได้ทันคิดอะไรทั้งนั้น ฉันตอบอย่างนี้ไปกับผึ้งทันที เมื่อ ผึ้ง – วันดี สันติวุฒิเมธี บก.สาละวินโพสต์เอ่ยถาม “พี่อ้อจะไปกับผึ้งไหม ? ไปสัมภาษณ์อองซานซูจี”
อองซานซูจี— อย่าให้ต้องนิยามเลยนะว่าเธอคือใคร ให้ได้รำลึกกันเถอะว่า 14 พฤศจิกายน 2553 โลกทั้งโลกจับจ้องมายังเธอในนาทีที่ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักอย่างยาวนานโดยรัฐบาลทหารพม่า …เธอกำลังถูกจับตาทุกความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองพม่าที่เพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีมาใหม่หมาด เรากำลังชวนกันไปพบเธอ ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบทหารและปิดกั้นข่าวสารอย่างเข้มข้น
บางครั้ง ชีวิตมันก็ไม่ต้องหาเหตุผลอะไรมารองรับโอกาสที่แวะเข้ามาทายทักอย่างไม่คาดฝัน สำหรับฉัน-การจะได้พบกับหญิงที่โลกทั้งโลกคารวะ ควรหรือที่จะปฏิเสธหรือหวาดหวั่น
นอกจากชีวิตที่ดั่งเต็มไปด้วยเงื่อนปมระทมซึ้งแกร่งสมกับเป็น The Lady แล้ว ฉันรู้อะไรกับประเทศที่อองซานซูจีอยู่อีกบ้าง ? พม่า – เราใกล้กันเพียงแค่นี้ เรารู้จักกันแค่ไหน นอกจากประวัติศาสตร์ที่รับรู้ถึงการฟาดฟันกันจนแค้นฝังหุ่น ฉันเห็นผองเพื่อนหลากชาติพันธุ์เดินเบียดเสียดกันเชียงใหม่บ้านเกิด ช่วงชีวิตหนึ่งฉันเคยเดินทางข้ามฝั่งน้ำไปพบพานกับแผ่นดินที่ควรเป็นประเทศในแถบตะเข็บชายแดน ตื่นตะลึงกับเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร เศร้าหมองกับพิบัติภัยพายุนากีสอันเงียบเชียบของข่าวสาร แลกเปลี่ยนรับฟังครุ่นคิดไปตามเวทีว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และแนวรบจากสารพัดวงคุยและการแถลงข่าว รัฐบาลพม่าบอกว่ากำลังจะพาประเทศก้าวสู่เส้นทางประชาธิปไตย แต่โลกเหมือนไม่เชื่อน้ำหน้า ……พม่า—ฉันจึงควรไปหาเธอ เพื่อเข้าใจเธอให้มากกว่านี้
เมื่อปลงใจร่วมกัน ผึ้งเดินหน้าวิธีการของเธอ คือหารือกับ “มินเส่ง” เพื่อนผู้เป็นกุญแจดอกสำคัญของการเข้าพบอองซานซูจี มินเส่ง คืออดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับอองซานซูจี เธอเอ็นดูเขาเสมือนลูกชาย มินเส่งเคยทำสื่ออยู่ที่เชียงใหม่ แต่ขณะนี้เขาอยู่อเมริกา เขารับปากจะประสานอองซานซูจีและเจ้าหน้าที่พรรคเอ็นแอลดีให้
1 เดือนของความพยายามติดต่อ ผึ้งแจ้งความคืบหน้าดิฉันเป็นระยะคือยังไม่คืบ สิ่งที่เราพบคือผึ้งไม่ได้รับคำตอบกลับมาทั้งจากอีเมล์และสายโทรศัพท์จากผู้ที่จะจัดตารางงานของอองซานซูจี
การรอคอยไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องดีแน่ ผึ้งกำหนดวันเดินทางและเดินหน้าจะไปหาคำตอบเอาเองในพม่าว่าจะได้สัมภาษณ์หรือไม่ ส่วนฉันก็หารือกับผู้ใหญ่ใน ThaiPBS ขอคำแนะนำและประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะไปหรือไม่ ควรจะเป็นดิฉันหรือใครที่เหมาะควร
ข้อสรุปจากผู้บริหารคือให้เดินหน้า และให้เป็นดิฉัน ที่พอจะมีทักษะการทำข่าว การถ่ายภาพอยู่บ้าง และที่สำคัญคืองานนี้จะต้องร่วมกันทำงานในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงและต้องร่วมกันประเมินหน้างานกับเครือข่ายอย่างเข้าใจกันและกันด้วย เราตัดสินใจแล้ว ไปวัดดวง !
ผึ้งวางแผนเดินทางร่วมกับทีมสาละวินโพสต์อีก 1 ท่าน โดยเตรียมจะบินตรงจากเชียงใหม่ไปกรุงร่างกุ้งด้วยแอร์บากันในวันที่ 19 – 23 ธ.ค. 2553 ขณะที่ฉันสาละวนอยู่กับการจัดงานใหญ่ของ ThaiPBS ที่กรุงเทพ คืองาน “เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยพลังพลเมือง” สมาธิกับงานไม่ค่อยมี และทันทีที่พอได้ช่วยตระเตรียมงานเปลี่ยนฯ เสร็จ ฉันเดินทางกลับเชียงใหม่ทันที มีเวลาเตรียมตัวไปพม่าเพียง 1 วัน ซึ่งเป็นการเตรียมการที่ต้องพิเศษแตกต่างไปจากการทำงานที่ผ่านมา ..ทางหนีทีไล่ …ทางหลบทางเลี่ยง ที่ซุกที่ซ่อน แผนหลักแผนรองและสิ่งสำคัญที่คือหัวใจที่พร้อมเผชิญทุกอย่าง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้
19 ธ.ค.2553 – เดินหน้าหาโชคเอาเบื้องหน้า
ผู้หญิงสามคนออกเดินทางจากสนามบินเชียงใหม่ด้วยแอร์บากัน นาทีที่ล้อเครื่องลอยพ้นพื้นดิน เรายังไม่รู้ชะตากรรมตนเองว่าจะได้สัมภาษณ์อองซานซูจีหรือไม่ สิ่งที่จะต้องไปเสี่ยงเอาคือติดต่อขอสัมภาษณ์ ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี โชคเข้าข้างเราเมื่อผึ้งบอกว่าวานนี้เองเพื่อนชาวพม่าในเชียงใหม่แนะนำให้รู้จักกับสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งกำลังจะเดินทางกลับร่างกุ้ง เขาทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทของบุตรสาวโฆษกพรรคเอ็นแอลดี บุคคลที่ผึ้งเพียรพยายามอีเมล์หาแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ เธอคนนี้จะเป็นข้อต่อสำคัญให้เราได้เห็นแสงสว่างของการได้เข้าพบอองซานซูจี นี่เป็นความหวังหนึ่งเดียวที่มีอยู่ และต้องพยายามพบเธอให้ได้
ใกล้ค่ำแล้ว แอร์บากันนำเราร่อนลงถึงสนามบินมิงกะลาดง กรุงร่างกุ้ง — ผู้คนมากมายพลุกพล่าน ระเบียบพิธีการแสนอึดอัด แท้จริงแล้วกระบวนการเข้าเมืองก็ไม่ได้ต่างจากหลายต่อหลายเมืองที่ฉันเคยผ่าน แต่ที่นี่ดูเหมือนทุกอย่างช่างยาวนานและให้ได้ลุ้น ฉันรู้สึกเหมือนมีดวงตามากมายจ้องมองพวกเราอยู่ นั่นเพราะใจเราคิดไม่ซื่อกระมัง บังอาจจะมากระตุกหนวดเสือ
คนขับแท็กซี่ร่างใหญ่ปราดเข้าประชิดเรา ตกลงสถานที่และราคาจนพอใจ แต่เรายังไม่ได้แลกเงินจั๊ด คนขับแท็กซี่เดินไปตามหญิงสาวร่างผอมบาง นวลแก้มเปื้อนทานาคาพาเดินปรี่มาหาเราพร้อมกระเป๋าถือใบเขื่อง “นี่แหละที่แลกเงิน” คนขับแท็กซี่บอก เธอควักเงินจั๊ดขึ้นมาเป็นฟ่อน พวกเราควักเครื่องคิดเลขมากดอย่าได้แคร์ ยื่นหมูยื่นแมวเสร็จยังมิทันได้หายใจ เรารีบโยนตัวเองขึ้นรถให้แท็กซี่พาเราเข้าสู่กรุงร่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของพม่าที่เราจะต้องเผชิญชะตากรรมนับจากนี้
…คนขับชวนคุยทายทักถามไถ่ เราตอบไปบ้าง แต่ไม่นานก็สงบปากนิ่งเงียบ ฉันไม่รู้ว่าผึ้งกับน้องที่ร่วมทีมคิดอะไรอยู่ แต่สำหรับฉัน ใต้ความเงียบนิ่ง คือความปั่นป่วนในหัวใจ ….
“ความปลอดภัย” เป็นเรื่องที่เราคำนึงถึงมากที่สุดต่อการเดินทางมาครั้งนี้ การสงบปากสงบคำ หรือทำตัวให้เป็นนักท่องเที่ยวให้มาก คือหนทางที่เราคิดว่าปลอดภัย เครื่องไม้เครื่องมือทำงานและท่าทีอย่าได้ทำเวอร์เป็นสื่อผู้ทรงอิทธิพล และการเลือกพักในโรงแรมที่ห่างไกลจากตัวเมืองก็เป็นวิธีที่คิดว่าใช่ ห้องเล็กๆ อยู่รวมด้วยกันทั้งสามคนให้อุ่นใจ ก็เป็นวิธีที่ใช่ยิ่งกว่าใช่ในนาทีนี้ ^_^
วันแรกที่เราเดินทางไปถึง และนัดดินเนอร์กับเพื่อนใหม่
ค่ำวันนั้น เรามีนัดดินเนอร์สุดพิเศษ สองสามีภรรยาชาวพม่าที่ผึ้งพบที่เชียงใหม่ชวนบุตรสาวคนสนิทของอองซานซูจีมาพบพวกเราอย่างเต็มใจ
เธอเป็นหญิงสาวอายุน้อยกว่าฉันแน่ แต่ประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในพม่าเข้มข้นนัก เมื่อเธอเข้าใจสิ่งที่พวกเธอกำลังจะทำ เธอเต็มใจช่วยเหลือโดยรีบจัดแจงโทรศัพท์นัดหมายพ่อของเธอให้พวกเราได้พบในวันรุ่งขึ้นทันที
เสียงดนตรีที่แผดดังในร้านเหล้าที่เรานัดหมาย ทำให้เราต้องแผดเสียงสนทนาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันดังไม่น้อย แต่ไม่นานเราต้องเงียบเสียง ชายหนุ่มนุ่งโสร่ง 4-5 คน ทะยอยเข้านั่งโต๊ะด้านข้าง ประกบโต๊ะที่เรานั่ง …ระหว่างละเลียดเบียร์ เขาก็ละเลียดสายตามา เพื่อนใหม่คงเดาอาการพวกเราออก เธออธิบายด้วยเสียงเรียบ
“ครอบครัวฉันมีสันติบาลพม่าตามตลอด เป็นหน้าที่ของเขา ไม่ต้องตกใจ เธอเข้ามาที่นี่ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว พวกเขาจะไม่ตรวจสอบเธอจนกว่าจะมีหลักฐานว่าเป็นนักข่าว และปกติแล้วชาวต่างชาติที่มาพบพ่อของฉันส่วนใหญ่มักเป็นนักข่าว เพราะพ่อเป็นคนจัดตารางการสัมภาษณ์อองซานซูจี เมื่อเธอพบพ่อและได้นัดหมายแล้ว เธอควรพยายามทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวจนกว่าจะได้สัมภาษณ์ และรีบเดินทางออกของประเทศทันทีเพื่อความปลอดภัย”
ฉันแทบไม่เชื่อตัวเองเลยว่า จะได้รับการต้อนรับการมาเยือนพม่าครั้งแรกด้วยความอบอุ่นของคนจากรัฐบาลเยี่ยงนี้ ฉันเคยคิดว่าผู้คนมากมายมหาศาลเต็มเมืองอย่างนี้ สันติบาล- หรือที่พวกเราเรียกว่า สับปะรด จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเข้าประเทศมาเพื่อมาเที่ยวหรือทำภารกิจพิเศษอื่นใด และฉันก็ได้คำตอบในนาทีนี้นี่เอง
ฉันทำใจกล้าเหลือบมองพวกเขาเป็นระยะ …แว่นตาดำ (แม้ในผับแสงสลัว) กับโทรศัพท์มือถือ ดูจะเป็นเครื่องแบบที่โจ่งแจ้ง กริยาที่แสดงออกทันทีเมื่อเห็นเป้าหมาย ก็แจ่มชัดว่าเขากำลังทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ทันทีที่เจอเราเขาจะโทรศัพท์ทันที ….4 วันนับจากนี้เราควรที่จะคุ้นชินกับพวกเขาเหล่านี้ …ฉันบอกตัวเองให้ทำใจ ก่อนจะกลับไปหลับไหลในที่พักด้วยความอ่อนเพลีย
20 ธ.ค.2553 — การนัดหมายที่สุดลุ้นแต่คุ้มค่า
พวกเราตื่นเช้า ฉันลงมาดูชีวิตคนพม่าแถวหน้าที่พัก พระชีเดินบิณฑบาต ร้านรวงทะยอยเปิดให้ได้คึกคัก ระหว่างรอแท็กซี่ที่เพื่อนใหม่นัดหมายให้มารับไปพบพ่อของเธอ เราลงมาใช้โทรศัพท์ที่นั่งโต๊ะให้บริการย่านนั้นเป็นวิธีที่ประหยัดและปลอดภัยที่สุด ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 7 พ.ย. 2553 โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินในพม่าถูกตัด การจะมีโทรศัพท์ใช้งานในพม่าเป็นเรื่องใหญ่ ครั้นเราจะเช่าของผู้อื่นติดตัวไว้ก็อาจไม่ปลอดภัย การใช้บริการโทรศัพท์แบบตั้งโต๊ะข้างทางจึงเป็นเรื่องง่ายดายกว่า ผึ้งโทรไปนัดหมายแหล่งข่าวอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มที่เพื่อนชาติพันธุ์นัดหมายไว้ให้เรา แต่เราจำเป็นต้องจัดการกับนัดหมายสำคัญคือความชัดเจนว่าจะได้พบอองซานซูจีหรือไม่ก่อน
แท็กซี่ที่เราไว้ใจนั่นคือแท็กซี่ที่เพื่อนใหม่แนะนำให้ได้พาเราถึงที่นัดหมาย เป็นร้านกาแฟเล็กๆ ผู้ที่เราจะมาพบเป็นชายสูงอายุร่างสันทัน ผิวสีเข้ม เขายิ้มให้เราอย่างเป็นมิตร เราเลือกโต๊ะมุมด้านในสุดของร้านเพื่อพูดคุยได้อย่างไม่ถูกจับจ้องเกินไปนัก แต่ดูเหมือนว่าไม่อาจหลุดพ้นจากการจับจ้อง มิทันจะได้เริ่มแนะนำตัวเปิดประเด็นสนทนา สับปะรดก็เข้ามาทำหน้าที่ !
ชายในเครื่องแบบ นั่นหมายถึงนุ่งโสร่ง สวมแว่นดำ ถือโทรศัพท์ และมีกล้องถ่ายรูป 3-4 คนทะยอยเข้ามาในร้าน เมื่อเห็นเรา นายหนึ่งเข้าไปโทรศัพท์ อีกนายหนึ่งทำทีถ่ายภาพในร้านและเฉียดเข้ามาแชะภาพพวกเรา ชะเง้อฟังการสนทนาอย่างจะจะ ฉันตะลึงกับการทำงานของพวกเขา ช่างโจ่งแจ้งให้ต้องทำใจ แต่คุณลุงกลับมีสีหน้าเรียบเฉย …เราพูดคุยกันสัพเพเหระ ซักถามประวัติกันและกัน คนการเมืองของพม่าล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์อันเข้มข้นด้วยกันทั้งสิ้น การเป็นนักโทษการเมือง ถูกจับเข้า – ออก หนีไปต่างประเทศกลายเป็นสูตรสำเร็จของชีวิตที่ไม่ยอมจำนนกับเผด็จการ คุณลุงเป็นหนึ่งในนั้น เจรจาจนพอไว้ใจกัน เราก็เข้าสู่ประเด็นว่าเป็นไปได้หรือไม่กับการเข้าพบเพื่อขอสัมภาษณ์อองซานซูจี
“คุณจะได้พบกับอองซานซูจีวันที่ 22 ธันวาคม ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี” เสียงเรียบๆ แต่ทำเอาพวกเราหน้าเหรอหราและยิ้มกว้าง …พยายามเก็บอาการตื่นเต้นไว้ให้มิด
เราได้รับคำแนะนำหลายอย่างจากคุณลุง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย กรณีเราถ่ายภาพหรือถ่ายวิดิโอการสัมภาษณ์อองซานซูจีเสร็จแล้ว คุณลุงแนะนำให้เราโหลดภาพ หรือเก็บซิมการ์ดไว้ที่พรรค ไม่ต้องนำติดตัวออกไปเป็นหลักฐานใดใด และจะจัดส่งตามมาให้ถึงให้ภายหลัง แต่เราเลือกเสี่ยงที่จะเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้นและนำกลับไปด้วยตนเอง เพราะต้องการนำข้อมูลที่ได้มาเผยแพร่โดยเร็ว อีกประการคือเรื่องระยะเวลาที่อยู่ในพม่า เพราะแม้ตั๋วโดยสารของเรามีกำหนดกลับเชียงใหม่ในวันที่ 23 ธ.ค. หากแต่เมื่อเราได้นัดหมายพบอองซานซูจีในวันที่ 22 ธ.ค.แล้ว คำแนะนำจากคุณลุงคือรีบออกไปจากประเทศพม่าเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เราจึงตัดสินใจทิ้งตั๋วขากลับเชียงใหม่ และซื้อตั๋วใหม่เดินทางจากร่างกุ้งเข้ากรุงเทพฯ แทนในเย็นวันที่ 22 ธ.ค.
จากนี้เราต้องทำอะไร นอกจากรักษาตัวเองให้ปลอดภัยมากที่สุดแล้ว เรายังต้องทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวให้สมบทบาท แน่นอนว่าเราจะต้องไปเชวดากอง ออกจากร้านกาแฟ เราไปจัดแจงเรื่องตั๋วเดินทางและไปชเวดากอง ความยิ่งใหญ่งดงามของชเวดากองและผู้คนที่มีศรัทธาต่อศาสนาเต็มลาน พวกเราเดินวนชมความอลังการและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีสมาธิที่จะดื่มด่ำกับความงดงามเท่าใดนัก เราหามุมสงบนิ่งกราบองค์เจดีย์
“หากการที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้มาสัมภาษณ์อองซานซูจีจะพอมีส่วนช่วยให้ความต้องการจะเป็นประชาธิปไตยของคนพม่าได้ถูกสื่อสารออกไปได้บ้าง ก็ขอให้สิ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องดำเนินการนับต่อจากนี้มีความราบรื่น” นั่นคือคำที่ฉันอธิษฐานต่อสิ่งที่คนพม่ายึดเหนี่ยว
ต่อหน้าชเวดากอง ฉันและผึ้งได้คุยความคิดต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากมาย เราปรึกษากันว่าเราต้องการจะถามอะไรกับอองซานซูจีบ้าง วิธีการเข้าหาเธอ วิธีการนำเสนอ ไปจนถึงเป้าหมาย และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีเพื่อไม่ให้งานสำคัญพลาดพลั้งได้
พันธะสัญญาของวิชาชีพ อย่างไรเราก็ต้องเสี่ยง !
บ่ายคล้อยเล็กน้อยเราเคลื่อนไปตามนัดหมายที่เพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์ประสานไว้ให้ก่อนหน้านี้ว่าจะให้เราได้พบกับผู้นำของพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในร่างกุ้ง
แท้จริงแล้ว นัดนี้เป็นนัดที่ผึ้งได้ประสานไว้ก่อนการเดินทางมาร่างกุ้ง การเมืองในพม่าหาใช่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทหารกับอองซานซูจีเท่านั้น หลากชาติพันธุ์ที่ล้วนแต่มีความหวังต่อเส้นทางประชาธิปไตยและมีปฏิกริยาเคลื่อนไหวต่อการเลือกตั้งในพม่าและการปล่อยตัวนางอองซานซูจีทั้งสิ้น นาทีนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องตัดสินใจ
การนัดหมายแหล่งข่าวไว้ก่อน เป็นพันธะสัญญาของวิชาชีพที่จะต้องเดินหน้า แต่กับเงื่อนไขของสถานการณ์ที่เราต้องระวังรักษาความปลอดภัยของตนเองจนกว่าจะถึงนัดสำคัญอันเป็นเป้าหมายของการเดินทางมา ทำให้เราใคร่ครวญและชั่งใจมากว่าเราควรจะไปพบกับบรรดาตัวแทนนักการเมืองชาติพันธุ์ดีหรือไม่ เพราะช่างเสี่ยงต่อการเกิดหลักฐานว่าเราไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดาและหากสับปะรดพบหลักฐานเราอาจหมดโอกาสจะได้พบอองซานซูจี
สุดท้าย เราเลือกเคารพในสิ่งที่เครือข่ายได้พยายามช่วยเหลือไว้แต่เริ่ม ตัดสินใจไปพบตัวแทนพรรคการเมืองเหล่านั้น
ห้องส่วนตัวในที่แห่งหนึ่งคือจุดนัดพบ ชายชราจำนวนหนึ่งทะยอยเดินเข้ามา พวกเขาคือตัวแทนพรรคการเมืองชาติพันธุ์ 4 พรรค คือ จายฉ่วยยุ และ ซออ่อง ผู้นำพรรคการเมืองShan National League for Democracy ซอแฮร์รี่ จากพรรคการเมือง Karen Party อูตะพัน ประธานพรรค Arakan league for Democracy และ งวยเต่ง ประธานพรรค Mon Democratic Party
ประเด็นสำคัญที่พวกเขาพูดกับเราคือพรรคการเมือง 25 พรรคซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 20 ชนชาติได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ United National League for Democracy รือ UNLD) ได้จัดประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 16 และ 21 พฤศจิกายน 2553 โดยกลุ่มได้ประกาศจุดยืนของตนเองในสองประเด็นหลัก คือ หนึ่งเรียกร้องให้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมีสิทธิเท่าเทียมกันภายใต้การปกครองแบบสหพันธรัฐ และ สองเรียกร้องให้แต่ละรัฐมีสิทธิปกครองตนเองทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และสังคม
พวกเขาเล่าว่าหลังจากกลุ่มประกาศจุดยืนร่วมกันแล้ว ตัวแทนของกลุ่มได้นำข้อเสนอนี้เข้าหารือกับอองซาน ซูจี หลังจากได้รับการปล่อยตัว และเธอก็เห็นด้วยกับการจัดประชุมร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
การพูดคุยที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดและระแวดระวังผ่านพ้นไปได้ ฉันถอดซิมวีดิโอที่บันทึกภาพและเสียงออกเก็บไว้ในที่ปลอดภัยสูงสุดเท่าที่จะปลอดภัยได้ในเวลานั้น พวกเรารีบเดินทางออกจากที่แห่งนั้นโดยเร็ว
ใกล้มืดแล้ว …เราสอดส่ายสายตาว่ามีสับปะรดอยู่หรือไม่ ไม่เห็น ….ไม่รู้ใครเป็นใคร …หากมีพวกเขาอยู่แถวนี้ เราประเมินกันว่าเขาจะตามเราไปที่ใด ย่อมไม่พ้นที่เราพักแน่ เราจึงตัดสินใจไม่กลับเข้าที่พักทันทีแต่ไปยังที่ที่นักท่องเที่ยวควรไปอีกครั้ง ซึ่งหนีไม่พ้นชเวดากองอีกรอบ
…ค่ำคืนชเวดากองวันนั้น เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่งดงามยิ่ง แสงระยิบของเปลวเทียน ขับสีทองขององค์เจดีย์ เสียงสวดมนต์แผ่วลอยตามลมมา หญิงชายหลับตาเพ่งจิตประคองสมาธิด้วยการนับลูกประคำนิ่ง ลมเย็นพริ้วใจให้เย็นรื่น แต่ฉันล่องลอยเหลือเกิน ใจมันลอยกลับไปให้คิดถึงคนที่เรารัก…..ยามที่ใจว้าวุ่น เราต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจริงๆ
ชเวดากองคืนจันทร์เต็มดวง (Embedding disabled, limit reached)
(ชวนอ่านต่อค่ะ การเดินทางอีก 2 วัน เราออกนอกเมืองไปคลินิค HIV และได้สัมภาษณ์อองซานซูจีและอีกหลายท่านในวันถัดมาค่ะ)
ตามลิงค์นี้ึ้่ http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2088.new.html#new