ประสบการณ์เคลื่อนวาระทางสังคมผ่านการทำงานแบบสื่อพลเมือง

ประสบการณ์เคลื่อนวาระทางสังคมผ่านการทำงานแบบสื่อพลเมือง

ปันประสบการณ์สื่อพลเมืองภาคเหนือ-ใต้-อิสาน
หาแนวทางร่วมที่สอดคล้องและขยับวาระสังคมได้

เครือข่ายสื่อพลเมืองร่วมแบ่งปันประสบการณ์เคลื่อนวาระทางสังคมผ่านสื่อและโครงสร้างทำงานร่วม ThaiPBS   ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เสนอ “อามีบาโมเดล” ผสาน 3 ขาคือสื่อ เครือข่าย และความรู้ กำหนดวาระหาทางออกสามจังหวัดชายแดนใต้  เหนือถอดประสบการณ์วางฐานสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค อิสานเคลื่อนวิจัยนักข่าวพลเมืองสร้างการสื่อสารที่ตอบโจทย์ชุมชน

ในงาน“พลังสื่อ..มือสมัครใจ” ซึ่งตัวแทนนักข่าวพลเมือง สื่อชุมชน นักวิชาการ เยาวชนและเครือข่ายเชิงประเด็นที่ร่วมงานกับสื่อสาธารณะมาร่วมประชุมประจำปี 2555   ระหว่างวันที่ 25 -26 สิงหาคม 2555 ณ ไทยพีบีเอส ตัวแทนจากภาคใต้ เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเคลื่อนสังคมผ่านสื่อ

“อะมีบาโมเดล”ควง 3 ขาสร้างวาระการสื่อสารสันติภาพ"

      ผศ. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  (DSW- DEEPSOUTH WATCH) องค์กรประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ทำงานในสนามข่าวสีแดงคือสามจังหวัดชายแดนใต้  พัฒนารูปแบบการทำงานมาจากศูนย์ข่าวอิศราเมื่อปี 2551 เครือข่ายของDSW มีตั้งแต่นักวิชาการ หมอ สื่อมวลชน ภาคพลเมือง ที่มาร่วมกันสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจร่วมกันในมิติคนในเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันเสนอแนวทางและลงมือแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเรียกกระบวนการทำงานร่วมนี้ว่า “อะมีบาโมเดล”

ผศ.ศรีสมภพ กล่าวว่า DSW ได้พยายามสร้างแนวคิดให้เกิดพื้นที่ร่วมกันในการเสนอความคิดเห็นต่อประเด็นออกสู่สาธารณะ กรณีเหตุการณ์สามจังหวัดประเด็นที่เราเห็นว่าสำคัญคือน่าจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เน้นไปที่วิธีทางสันติภาพผ่านกระบวนการสร้างวาทกรรมแบบหนึ่ง  กระบวนการสร้างวาทกรรมนั้นจะต้องเกิดขึ้นในลักษณะต่อเนื่อง พร้อมกันและหลากหลาย เพราะจะทำให้เกิดความคิดที่กลายเป็นวัตถุในทางวาทกรรมต่อมา และมีการผลิตซ้ำความหมายต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางสังคม โดยความคิดนี้จะต้องผ่านการให้ความหมาย วิเคราะห์ร่วมกัน และผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหลายๆ คน เป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย เป็นขบวนการทางสังคมด้วย ไม่ใช่เพียงนักวิชาการวิเคราะห์แล้วพูด คนอื่นฟัง แล้วก็จบ ไม่ใช่ สิ่งนั้นเป็นเพียงความคิดเห็นของคนเท่านั้น แต่ขบวนการทางสังคมนี้นจะต้องหลากหลายจากความคิดหนึ่งสู่ความคิดหนึ่งแตกตัวออกไปและเคลื่อนตัวในทางสังคม  สิ่งเหล่านี้คือการสร้างวัตถุทางวาทกรรม  กรณีภาคใต้ วัตถุทางวาทกรรมคือกระบวนการสันติ หรือการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีความรุนแรง ที่จะต้องอาศัยเครือข่ายทางสังคมที่กว้างใหญ่ มีพลังมาร่วม

ผศ.ศรีสมภพ เล่าว่าเครือข่ายทางสังคม 3 กลุ่มที่มีพลังและเป็นองค์ประกอบร่วมคือองค์กรวิชาการ  เครือข่ายสื่อสาร และเครือข่ายประชาสังคม  ที่ต้องการเกาะเกี่ยวมีปฏิสัมพันธ์ภายใน และหมุนหรือควงเพื่อผลิตวาทกรรมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยากให้เกิดขึ้น โดยการจะควงกันจะต้องมีพื้นที่  และดึงพลังทางสังคมมาร่วม   กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้  วิเคราะห์เชิงวิชาการและพูดคุยพบว่าการแก้ไขปัญหาในทางสันติในพื้นที่ภาคใต้มีอยู่ 3 ประเด็น ที่ต้องสร้างวัตถุทางวาทกรรม คือ 1การปกครองคือการแบ่งการปกครองแบบพิเศษ 2.การสานเสวนา การพูดคุยระหว่างฝ่ายต่างๆรวมถึงฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันด้วย (Peace Talk) 3.การสร้างความยุติธรรม ทั้งสามประเด็นจะถูกโยนลงไปในสนามและมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านเครือข่ายทั้งสาม จนเกิดวัตถุทางวาทกรรม  โดยเครือข่ายสื่อจะเป็นตัวที่วิ่งนำข้อมูลเหล่านี้ลงไปสู่พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทางสังคมและมีการหมุนระหว่างสามกลุ่มนี้ 
  “การเชื่อมโยงระหว่างสามกลุ่มแรกแล้วหมุน ปั่น ทำให้เกิดสามกลุ่มความคิดในเรื่องของ การจัดการท้องถิ่นแบบพิเศษ พูดถึงเรื่องของกระบวนการสร้างสันติภาพ การสร้างความยุติธรรมขึ้น เมื่อหมุนไปและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ตัววาทกรรมที่ถูกปั่น จะทำให้เกิดวัตถุทางวาทกรรมและสะท้อนกลับมาทำให้เครือข่ายหรือกลุ่มขยายตัวมากขึ้น ทั้งคนที่คิดเห็นขัดแย้งกันและตรงกัน โดยไม่ได้เกี่ยงว่าจะต้องเป็นคนที่คิดเหมือนกัน เห็นได้ว่าวาทกรรมตราบใดที่มีการเล่นการพูดถึง มีการอ้างถึง มีการกล่าวถึงสิ่งที่เราพูดถึงอยู่ตลอดเวลา พื้นที่เปิดออกอยู่เรื่อยๆ ในภาษาทางรัฐศาสตร์เรียกว่ากระบวนการทางวาทกรรมซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันจะคิดต่างกันก็ได้แต่ขอให้พูด มีการพูดถึง กล่าวถึง”

ผศ.ศรีสมภพกล่าวและอธิบายต่อในมิติของการสื่อสารว่า การเคลื่อนไหวจึงมีภาพทั้งในแนวตั้งและแนวระนาบ แนวตั้งคือระดับของสื่อตั้งแต่สื่อกระแสหลัก ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ จนถึงระดับท้องถิ่นที่อยู่ล่างสุด ฐานล่างก็คือวิทยุ วิทยุชุมชน วิทยุในทางวิชาการ การประชุมของภาคประชาสังคม การอภิปรายการพูดจาถกเถี่ยงกันในระดับพื้นที่ และในระดับบุคคล และสื่อที่สามที่เพิ่มเข้ามาคือสื่อโลกานุวัตร คือสื่อใหม่หรือสื่อโซเชียลมีเดีย เวปไซต์ เฟศบุ๊ค ทวิตเตอร์ที่โยนลงไปได้ในพื้นที่นี้ เพราะฉะนั้นทั้งสามมิติประสานกันในระดับพื้นที่ต้องทำงานด้วยกัน เช่น ประเด็นการจัดการในพื้นที่แบบพิเศษ การปกครองพิเศษ เริ่เมื่อ 5 ปีทีแล้วและเสนอไปเรื่อยๆ จนในที่สุดพื้นที่มีงานวิชาการ วานประชุม งานพูดคุยกัน และมีสื่อที่นำเสนอและขยายวงไปเรื่อยๆในระดับพื้นที่ จนมาสู่สื่อหลักคือ ThaiPBS มาสื่อสาร  เกิดรายการที่พูดถึงการจัดการพื้นที่พิเศษ การกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษเกิดขึ้น       
“จากที่เมื่อก่อนเวลาการพูดถึงการจัดการปัญหาในภาคใต้ การปกครองพิเศษ จะหมายถึงเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิต  คนในพื้นที่ไม่มีใครกล้าพูดเลย แต่ว่าเมื่อขึ้นมาสู่วาระระดับประเทศได้จนไปถึงการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองด้วย  มีการถกเถียงกัน มีคนเห็นด้วย มีคนไม่เห็นด้วย พื้นที่เปิดออกไป สนามใหญ่ขึ้นและผ่านกระบวนการสามชั้นที่ทำ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าการสร้างพื้นที่สาธารณะบนพื้นที่สื่อ พื้นที่ประชาสังคม พื้นที่ในทางวิชาการที่ประสานกัน”
ผศ.ศรีสมภพกล่าวว่า สิ่งทั้งหมดที่พยายามทำคือพยายามแก้โจทย์ปัญหาภาคใต้ผ่านกระบวนการ สันติภาพ  ในการสร้างสันติภาพแล้วระดับของความรุนแรงจะลดลงได้ต้องมีหลายขั้นตอน  ตั้งแต่มีจุดเปลี่ยนที่คนเริ่มต้องหาทางออก แล้วจึงเตรียมการเพื่อไปหาวิธีการพูดคุยเจรจา จากนั้นก็พูดคุย สุดท้ายก็นำมาสู่ข้อตกลงกันและนำมาสู่ทางเลือกแก้ปัญหาที่ตกลงกันได้และนำทางเลือกมาปฏิบัติ

ขั้นตอนเหล่านี้จะต้องผ่านการทำงานในพื้นที่สาธารณะที่จะผลักดันให้เห็นทางเลือกต่างๆ โดยทางเลือกเหล่านี้อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัว อันตราย เพราะอาจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็นต่อการพัฒนาต่อการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมได้ ถ้าเราทำให้ไม่เกิดความรุนแรง   การมีความขัดแย้งแต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงจะเป็นพลังในทางสร้างสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ของตัวแสดงความขัดแย้ง  และทำให้เกิดโครงสร้างที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ สิ่งที่ตามมาจะส่งอิทธิพลต่อรากเหง้าความขัดแย้ง

นอกจากนั้นตัวแบบของการเปลี่ยนแปลงมี 3 แนวทาง 1.ระดับบนคือคู่ขัดแย้งต่อสู้กัน  เช่น รัฐบาล ทหาร กับขบวนการก่อความไม่สงบ  ในประเด็นแยกดินแดน ชาตินิยม   2.ภาคประชาสังคมฝ่ายต่างๆ มาพูดคุยหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งนั้นอย่างสันติ เช่นกระจายอำนาจ สร้างความยุติธรรม 3.ประชาชนรากหญ้าต้องการความเป็นธรรม โอกาสของชีวิต   เมื่อมีการสร้างพื้นที่สาธารณะในวิถีเหล่านี้ขึ้นขยายตัวครอบคลุม 3 แนวทาง ก็จะสามารถดึงความขัดแย้งมาสู่แนวทางสันติได้
ประสบการณ์พบว่าตัวที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะได้เรียกว่า “พหุวิถีที่มีลักษณะคล้ายตัวอะมีบา(Ameba-like communications Platform) สัตว์เซลล์เดียวที่เคลื่อนตัวได้ตลอดเวลา ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการสร้างพื้นที่สาธารณะ การสื่อสารสำคัญมากทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการสื่อสารบนพื้นที่สาธารณะเพื่อสันติภาพแบบพหุวิถี การสื่อสารหลายแนวทาง หลากหลายรูปแบบ หลากหลายมิติ เป็นพลวัต และกลับพลิกผันได้ตลอดเวลาผ่านสื่อที่สร้างขึ้นมาโดยใช้สื่อทุกรูปแบบ”  ผศ.ศรีสมภพกล่าวและว่า DSW จึงเปิดพื้นที่และมีกลไกภายในที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือสื่อ ประชาสังคม และวิชาการ มีการฝึกผู้สื่อข่าวจากพื้นที่เพื่อการสื่อสารในลักษณะต่างๆ  และมี ThaiPBS เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายร่วม   เป็นการผสมผสานพลังการสื่อสารหลายทางเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการจัดการความขัดแย้ง   

คุณมูฮำหมัด อายุป ปาทาน อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิสรา ได้กล่าวว่าเมื่อพูดถึงสื่อสาธารณะ ต้นทุนอยู่ที่พวกเรา แต่โจทย์คือจะต้องทำจากฐานล่างขึ้นไป  ส่วนพื้นที่สื่อสารสาธารณะไม่ใช่ว่าออกThaiPBS แล้วจะเป็นเรื่องสาธารณะ แต่จะต้องออกไปถึงระดับล่างด้วย  และภาคประชาสังคมจะต้องเป็นตัวควงถึงจะเป็นประเด็นสาธารณะเพราะเป็นกลุ่มที่ชอบธรรมที่แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านคิดอย่างไร   ทั้งนี้ประเด็นสาธารณะจะเกิดลอยๆ ไม่ได้ จะต้องมาในเวลาที่สุกงอม ต้องมีข้อมูลเชิงความรู้มารองรับด้วย

ถอดประสบการณ์ภาคเหนือ 
ขณะที่ประสบการณ์ทำงานของเครือข่ายภาคเหนือร่วมกับ ThaiPBS เริ่มในปี 2552 มีจุดเริ่มต้น ประกอบด้วย สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ศูนย์ข่าวภาคเหนือ แกนประสานเครือข่ายภาคประชาชน เจ้าของประเด็นที่ให้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนวาระ 

ดร.ภัทรา บุรารักษ์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่ารูปแบบการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือใช้พื้นที่หน้าจอเป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้เสียงของประชาชนมีคนฟังมากขึ้น หลังจากมีวาระทางสังคมในกรณีสิทธิของประชาชนในการสื่อสารและโทรทัศน์ท้องถิ่น  การทำงานในภาคเหนือแบ่งเป็น 3 ยุค  ในยุคเริ่มต้นตั้งกองบรรณาธิการร่วมเพื่อให้มาดูแลเป็นแกนประสานงาน  โดยตัวคนมาทำงานร่วมมีสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ภาคประชาสังคมที่มาจากแต่ละพื้นที่ ใช้เวลา 8 เดือนที่จะคุยกันรู้เรื่อง  ตกลงกันว่า จอเหนือไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นเครื่องมือทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการสื่อสารมากขึ้น วาระของภาคเหนือ “เรียนรู้คนพื้นถิ่น บนแผ่นดินแห่งความหลากหลาย”  ซึ่งจะแตกต่างจากภาคใต้ที่มีความเข้มข้นในประเด็นสันติภาพ และพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด แต่ภาคเหนือพื้นที่ทำงาน 17 จังหวัด

กลไกการทำงานเริ่มมาจากนโยบายของThaiPBS เดินเข้ามาหาเพื่อชวนทำก่อน  ส่วนด้านเนื้อหาสาระจะมาจากเครือข่ายฯที่เป็นแกนนำไปเชื่อมเก็บประเด็นมา  และมาจากเครือข่ายอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้นยังมีคนที่มาร่วมในกองบก.จะมีอีกหลากหลายเช่นทั้งนักวิชาการ  ครู  ดังนั้นเป้าหมายของการมาร่วมงานจึงแตกต่างกัน โดยเฉพาะแกนที่มาจากนักพัฒนาจะมีเป้าหมายโครงการของแต่ละคนแตกต่างกัน เนื้อหาหลากหลายมาก  แต่นำไปสู่หน้าจอไม่มาก อย่างไรก็ตามหน้าจอก็ไม่เป้าหมายหลัก

พอทำไปสักระยะ วาระจากชุมชนไม่มามากนัก เพราะชุมชนอาจไม่ได้ต้องการสื่อสารตลอดเวลา อาจจะอยากสื่อสารเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดปัญหาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อชุมชนที่อยากจะสื่อสารมีน้อยจึงไม่สามารถที่จะบริหารหน้าจอได้เท่าที่ควรถ้าเครือข่ายน้อย หรือวาระไม่มา  ขณะที่การขยายก็ขยายไม่ได้มากปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่กลับเข้าไปขยายในพื้นที่บางครั้งศักยภาพทำไม่ได้ ทำได้น้อยมาก จึงจำกัดและไม่ขยายจำนวนเท่าที่ควร หรือในส่วนเป้าหมายขององค์กรนักพัฒนาที่มาร่วมบางทีก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะไปต่อกับหน้าจอของไทยพีบีเอส เพราะเขามีพื้นที่เป็นของตัวเอง มีเป้าหมายอยู่แล้วหรือบางโครงการก็จบหมดทุนอาจจะยังไม่ต้องการสื่อสาร เรื่องการสื่อสารไม่ได้เป็นเรื่องที่จะบังคับแต่เป็นเรื่องของความสมัครใจที่อยากจะทำ หากเขาไม่ทำก็ไม่ใช่ความผิดปกติอะไร ดังนั้นปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าคนน้อย

เมื่อจอเหนือถูกผลักดันให้ได้ออกอากาศทั่วประเทศจากเดิม 1ชั่วโมงออกอากาศเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือมาเป็นการออกอากาศทั่วประเทศ 30นาทีและให้ไปอยู่ในการดูแลของฝ่ายข่าว ดังนั้นการมีส่วนร่วมจึงไม่ได้เข้มข้นเท่ากับยุคแรก การประชุมห่างหายไปทำให้การทำงานร่วมของศูนย์เหนือกับภาคประชาสังคมมีลักษณะเป็นเพียงแค่การบอกประเด็น ไม่ได้ทำเหมือนยุคแรกที่ภาคประชาสังคมทำเอง ผลิตรายการเองบางส่วนเช่น สารคดี ข่าวพลเมืองแล้วไปประกอบเป็นรายการ แต่เมื่อหลังจากนั้นจึงไม่ได้ผลิตรายการแต่เป็นหน้าที่หรือภาระหนักของทางศูนย์เหนือที่ผลิตและไปพบเครือข่ายในพื้นที่ ความสัมพันธ์กลับไปเป็นเหมือนแบบที่นักข่าวในกรุงเทพไปทำข่าวในพื้นที่ คนในพื้นที่เป็นแค่แหล่งข่าว แต่จริงๆแล้วเป้าหมายยุคแรกของเราคือเปลี่ยนคนดูเป็นคนทำร่วมกัน
ในยุคปัจจุบันจึงพยายามคิดปรับว่าจะทำอย่างไร เพราะเป้าหมายคือการทำให้พลเมืองเข้มแข็งเรื่องของการสื่อสาร จึงเกิดการเพิ่มพื้นที่การสื่อสารใหม่จึงคิดโครงการหรือพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า “ทีวีชาติพันธุ์” ที่หมายถึงช่องทางการสื่อสารของชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่เฉพาะคนที่ต่างชาติพันธุ์แต่เป็นคนที่หลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ภาษา   กิจกรรมทีวีชาติพันธุ์จึงเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ที่เราทำจากจอเหนือออกมาคิดมาทำ เราเจอจุดอ่อนหรือข้อจำกัดอะไรเราเอามาปรับมาทำทีวีชาติพันธุ์ ในตอนนี้เป็นขั้นตอนการอบรมพัฒนาทักษะผู้ผลิต โดยกลุ่มทีวีชาติพันธุ์จะเลือกคนที่มีทักษะด้านการผลิตสื่อมากขึ้นและเครือข่ายประเด็นเสริม

อีกส่วนคือเพิ่มพื้นที่รายการอื่นๆ ที่ต่อยอดจากนักข่าวพลเมืองสู่พื้นที่อื่นๆ และพัฒนาผู้ผลิตอิสระ เช่นเด็กมีเรื่อง  และทีมผลิตสารคดีเชิงลึก  ซึ่งเป็นเส้นทางการพัฒนาผู้ผลิต ที่ต่อยอดจากนักข่าวพลเมืองได้  ดังนั้นเส้นทางการพัฒนาทักษะมีอยู่ เพียงแต่ใจสมัครหรือไม่ สิ่งที่ต่อรองได้คือทักษะจาก ThaiPBS ที่มาเติมเต็มทักษะ ติดอาวุธมาเสริม   เส้นทางพัฒนาการผลิตจึงไม่หยุดที่จะพัฒนานักข่าวพลเมือง และเชื่อมโยงถึงสถาบันการศึกษา
ในมุมมองของการพัฒนาต่อในพื้นที่กับเครือข่าย ดร.ภัทรา ในฐานะของเครือข่ายและอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์มองว่า “การพัฒนานักข่าวพลเมืองถือเป็นรากฐานที่จะต่อไปสู่การพัฒนางานอื่นๆ มากขึ้น อยู่ในพื้นที่มากขึ้นและที่สำคัญตอนนี้หลังจากที่อาจารย์เข้ามาร่วมงานในลักษณะของส่วนบุคคลแล้ว ก็จะพัฒนาเข้าไปเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหรือสาขามากขึ้น ยกตัวอย่างจากตัวเองที่เอาไปอยู่ในรายวิชา งานที่เด็กส่งมาจะไม่ได้ส่งให้กับอาจารย์ อาจารย์ไม่ดูเอง ตรวจเอง ให้เกรดเองเท่านั้น แต่เราจะให้ทุกคนในโลกนี้ได้ดู หากว่าเขาอยากจะดู เช่นยูทูป ไทยพีบีเอส และมีส่วนในการที่จะประเมินงานเด็กด้วย เพื่อที่เขาจะได้ตื่นตัว”
ดร.ภัทรา อธิบายเพิ่มต่ออีกว่าที่สำคัญแล้วของการพัฒนาไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะกับเด็กนิสิต นักศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังพัฒนาตัวของอาจารย์เองด้วย  สามารพัฒนาไปเป็นหัวข้อในการเรียนการสอนบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาเป็นรายวิชา เช่นวิชานักข่าวพลเมือง สื่อภาคพลเมือง หรือสื่อทางเลือก ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถติดอาวุธทางความคิดความเป็นสื่อสาธารณะให้กับเด็กได้อย่างยั่งยืนกว่า  แต่ตัวของเด็กมีข้อจำกัดคือมาแล้วก็ได้ ตัวอาจารย์ก็ต้องฝึกฝนตลอด   
แต่ปัญหาที่การขยายเครือข่ายจะทำอย่างไรให้มากขึ้น  จึงคิดปรับบทบาทกองบรรณาธิการแยกส่วนให้ชัดเจนขึ้น  โดยมีวงเครือข่ายเชิงประเด็น และสรุปและคัดเลือกประเด็นว่าอะไรก่อนหลังเสริมพลังกันอย่างไร  และมีวงเชื่อมกับ ThaiPBS ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน  พื้นที่พอมี แต่จะเอาอะไรไปออก ทั้งหมดไม่ได้อยากออกทีวี หรือทำทีวีเป็น แต่ยกระดับการสื่อสารในประเด็นสาธารณะมากขึ้น  แต่ไม่ทิ้งสื่ออื่นๆ ที่จะสื่อสารระดับชุมชน

ออกแบบการพัฒนาสื่อที่สอดคล้องกับชุมชนร่วมกับสถานบันการศึกษา
รูปแบบการขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายด้วยหลักสูตรทางการศึกษา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทดลองดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   โดยอาจารย์มัทนา เจริญวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำหรับหลักสูตรการศึกษา การขับเคลื่อนของ ม.มหาสารคาม จะมีวิชาการสื่อสารเพื่อชุมชน

จุดยืนของมหาวิทยาลัยคือ การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน หลักสูตรจึงมีเรื่องของชุมชนค่อนข้างมาก เช่น วิชาการสื่อสารเพื่อมวลชนจะทำให้เด็กได้คิดว่าการสื่อสารเพื่อมวลชนควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เป็นการตั้งคำถามกับวาทกรรมกับสื่อกระแสหลักเหมือนกันว่า ทำไมสื่อชุมชนหรือว่าสื่อท้องถิ่นจึงมีคนดูน้อยกว่า หรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นสื่อท้องถิ่นอายุจะสั้น และอยู่รอดได้ยาก
“นิสิตมีการปะทะกันกับความคิดของเขา เพราะเขาเรียนมาแบบเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อพลเมืองจึงแตกต่างในเรื่องของมุมมองประเด็นด้วย เช่นถ้าเขาทำงานแบบสื่อกระแสหลัก เมื่อเจอสถานการณ์มาก็ทำเป็นประเด็นแล้วรายงาน แต่ถ้าเขาทำในมุมของสื่อพลเมืองในชุมชนเองขาจะมีวิธีการเล่า วิธีการมองเห็นที่แตกต่างกัน”
การทำงานร่วมกับชุมชนในการทำข่าวพลเมือง เราต้องทำให้เห็นว่า ชาวบ้านหรือชุมชน ได้รับประโยชน์อย่างไร เพราะในการลงพื้นที่ถ่ายทำแล้ว นอกจากจะได้เป็นงานนักข่าวพลเมือง 3 นาที แล้วภาพที่เหลืออยู่ ยังสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับชุมชนได้
ความรู้ที่ได้จากชุมชนนั้นเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่คนในชุมชนเป็นผู้ค้นพบได้เอง เป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาจัดการฐานข้อมูลได้ด้วยตัวเองและสามารถจัดการกับปัญหาภายในชุมชนกันเองได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการทำสื่อสิ่งพิมพ์ การจัดรายการวิทยุชุมชน และทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน และไทยพีบีเอส เพื่อความยั่งยืนและเติบโตไปพร้อมกับสื่อพลเมือง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ