บทเรียนสื่อใหม่กับการเมือง-เก็บตกการบรรยายจากอดีตนักข่าว CNN

บทเรียนสื่อใหม่กับการเมือง-เก็บตกการบรรยายจากอดีตนักข่าว CNN

              บทเรียนสื่อใหม่กับการเมือง -เก็บตกการบรรยายจากอดีตนักข่าว CNN
 

                ดิฉันได้ไปฟังบรรยายเรื่องสื่อใหม่กับการเมืองใหม่มาค่ะ  ที่สนใจประเด็นนี้เพราะผู้บรรยายเป็นอดีตนักข่าว CNN   เป็นอาจารย์ด้านการสื่อสารทั้งหนังสือพิมพ์และรัฐศาสตร์ เคยสอนถ่ายภาพ  สอนด้านวิทยุ และอีกสารพัดดีกรี    แต่ไปฟังครั้งนี้ ตั้งใจให้เข้าคอนเซ็ปต์  โดยจะรายงานข่าวทางสื่อใหม่ไปด้วย   ทั้งทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค

                 ฟังไป ดิฉันก็รายงานไป  อาศัยเป็นคนพิมพ์ไว สรุปความพอได้ ก็รายงานทางสือใหม่ไปจนจบ และพบว่า มีผู้สนใจ  ติดต่อมาอยากนำสิ่งที่ดิฉันรายงานไปรวบรวมเป็นข้อมูลเผยแพร่ต่อ ต้องขอบคุณมาก  ขณะเดียวกันดิฉันเองก็ตั้งใจจะเขียนเพื่อเติมข้อมูลที่สัมผัสจากในวงบรรยายจริง  เชื่อมกับประสพการณ์ตรงของตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน  เพื่อเตือนความทรงจำของตัวเองและแบ่งปันผู้สนในแง่มุมของสื่อใหม่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว

             แนะนำวิทยากรก่อนค่ะ  “ราล์ฟ เจ  เบ็กไลเทอร์” เป็น ผอ.ศูนย์การสื่อสารทางการเมือง  มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ มีประสบการณ์ด้านสื่อกระจายเสียงมากว่า 30 ปี เคยได้รับรางวัลในฐานะอาจารสอนวิชาการสื่อสาร หนังสือพิมพ์  และรัฐศาสตร์   เขาเคยทำงานเป็นนักข่าวต่างประเทศของ CNN เดินทางมากที่สุด  97 ประเทศ ใน 7 ทวีป (ประเทศไทย  เป็นประเทศที่ 100 ในการเดินทางของเขา) เคยเป็นพิธีกร  ดำเนินรายการ Great Decisions ทางสถานีโทรทัศน์ PBS ปัจจุบันเขาสอนหลายวิชาและเป็นวิทยากรหลักสูตรด้านการสื่อสารหลายอย่างและได้รับรางวัล  “การสอนยอดเยี่ยม”มาแล้ว

               ราล์ฟ  เริ่มต้นการบรรยายว่าเขาทราบว่าพวกเราเพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่น่าตื่นเต้นมา (ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)  หัวข้อบรรยายวันนี้ก็เกี่ยวกับการเลือกตั้ง   และที่อเมริกาก็จะมีเลือกตั้งปีหน้าเหมือนกันด้วย   การบรรยายครั้งนี้ไม่ใช่การวิเคราะห์การเมืองไทย  แต่จะพูดเรื่องการใช้สื่อและการเมือง โดยวิเคราะห์สิ่งที่เกิดในอเมริกา  แต่เชื่อว่าผู้ฟังสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์เข้าด้วยกันได้           

                    “ผมขอเล่าอดีตของผมหน่อย  เมื่อก่อนผมก็นั่งฟังการบรรยายเหมือนที่คุณนั่งเหมือนกัน และตอนนี้ผมได้เป็นคนพูด  ผมเคยทำงานซีเอ็นเอ็น เขาส่งผมไปรายการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหลายๆ  ประเทศ  ในขณะที่ครอบครัวผมอยู่ดีซี  แต่ผมต้องเดินทางทั่วโลกไปสัมภาษณ์ทั้งคนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี กษัตริย์  ผู้นำเผด็จการ แต่สิ่งที่ผมไม่เคยทำคือข่าวสงคราม หน้าที่ผมคือ  รายการความเป็นจริงก่อนสงครามจะเกิดขึ้น  และพยายามสร้างสันติภาพเมื่อสงครามสิ้นสุดลง”

            ราล์ฟ  บอกว่าทักษะที่นักข่าวควรมี  คือต้องสามารถตั้งคำถามที่ท้าทายให้ตอบ ไม่ใช่ถามคำถามง่ายๆ เช่น  คนอเมริกันรู้ว่าทหารอเมริกันจำนวน  58,226 คนตายในสงครามเวียดนาม แต่กว่า 40 ปีมาแล้วคนเวียดนามยังไม่รู้เลยว่าทหารและประชาชนชาวเวียดนามตายไปเท่าไร  คนจำนวนน้อยมากที่ตอบเรื่องนี้ได้  ผมได้ไปค้นหาความจริงที่ฮานอย  ตั้งคำถามกับอดีตผู้นำของเวียตนามในขณะนั้น และไปค้นข้อมูลทางเอกสาร

              ถึงตอนนี้อาจารย์ผู้ได้รับรางวัลด้านการสอนยอดเยี่ยม  ก็เปิดคลิปงานข่าวชิ้นนั้นให้ชม เป็นคลิปสั้นๆ ประมาณ 1 นาที  ภาพตัวเขา  เปิดหน้ารายงานสดอยู่หน้าสุสานคนเวียตนามที่กรุงฮานอย  ตั้งคำถามที่น่าท้าทายนั้น  และเป็นเนื้อข่าวที่รายงานได้อย่างกระชับ เร้าใจ   
         “สิ่งที่ผมค้นพบคือเราได้ข้อมูลว่าทหารและคนเวียตนามตายกว่า 3 ล้านคน  ตัวเลขนี้เป็นการเปิดเผยข้อมูลครั้งแรก   ผมคิดว่าตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างของการตั้งคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบ  ทำให้เกิดการค้นพบข่าวสำคัญ”

         ราล์ฟโชว์ภาพเครื่องพิมพ์ดีด  โทรศัพท์บ้าน และอธิบายว่ามันคือสื่อเก่า ทุกวันนี้เด็กเล็กอยู่กับสื่อใหม่ในชีวิตประจำวัน  บางคนมีอุปกรณ์เหล่านี้รอบตัวมากกว่า 1 ชิ้น  ทั้งโทรศัพท์ไร้สาย          “จำคำของผมไว้  แคมเปญการเมืองในอนาคตจะใช้สื่อใหม่ที่คนสื่อสารถึงกัน 2  ทางได้”ราล์ฟ  เริ่มเข้าสู่ประเด็นของสื่อกับการเมือง

          เขาชวนเราให้ลองเปรียบเทียบการเมืองช่วงสงครามเย็น  ที่อเมริกา และรัสเซีย  ต้องพยายามสื่อสารและจูงความคิดไปยังประเทศอื่นด้วยการสื่อสารแบบเก่า  เครื่องมือสื่อสารใหญ่โต เทอะทะ ใช้เวลานาน คนมากมาย (เขาโชว์คลิปของซีเอ็นเอ็น  เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลและสถานการณ์สงครามทางวิทยุในยุคก่อน )   แต่ปี 2011  วิธีดั้งเดิมแบบนี้ถูกลืมไปหมดแล้ว

         เขาพูดถึงกรณีประเทศอียิปต์เกิดการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีของผู้คนมากมาย  ขณะที่ทีวีรัฐบาลเสนอภาพความสงบเรียบร้อย   แต่ในอินเตอร์เน็ตคนทั้งโลกเห็นภาพความเป็นจริงที่แตกต่าง ทั้งประชาชนและทหารอียิปต์ต่างก็รู้ว่าทั้งโลกกำลังจับตามองอยู่  ไม่ใช่จากทีวีรัฐบาล  แต่เป็นสื่อใหม่ทางอินเตอร์เน็ต   โดยเฉพาะในช่วงที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลอียิปต์สั่งให้ปราบปรามประชาชน

           จากนั้นเขาโชว์ภาพนิ่งเหตุการณ์ชายคนหนึ่งยืนประจันหน้ารถถังและถามผู้ร่วมฟังว่ารู้จักภาพนี้หรือไม่  ? แทบทั้งหมดในห้องไม่ยกมือ   เขาเฉลยว่านี่คือภาพเมื่อปี  1989 ตอนรัฐบาลจีนส่งทหารมาปราบประชาชนที่เทียนอันเหมิน   เขาบอกว่าที่ประเทศจีนไม่ค่อยมีใครรู้เพราะภาพนี้ไม่ถูกเผยแพร่ในยุคนั้น  แต่ทุกวันนี้หากมีการเผชิญหน้าระหว่างกัน  เราจะเห็นทันทีเพราะมีสื่อใหม่ รัฐบาลไหนๆ ก็ไม่สามารถซ่อนความจริงแบบนี้จากประชาชนได้อีก   

         “หลังเกิดเหตุในอียิปต์  ก็เกิดเหตุที่บาร์เรน โดยทหารบาร์เรนตัดสินใจใช้ความรุนแรง  เราก็เห็นได้ทันทีจากเฟสบุ๊ค    ที่เยเมนก็เกิดกรณีคล้ายกันและจบไม่ลง เราสามารถติดตามนาทีต่อนาทีจากสื่อใหม่  โดยไม่ต้องสนใจทีวีว่าจะสนใจทำเรื่องแบบนี้หรือไม่ กรณีลิเบีย  เราได้ข่าวจากลิเบียผ่านสื่อใหม่ใช่หรือไม่ ?”   เช่นนั้นเรามาพูดเรื่องสื่อใหม่ว่ามีบทบาทต่อการเมืองโลกอย่างไรกันดีกว่า

          ราล์ฟโชว์ภาพเหตุการณ์ผู้ประท้วงชาวอียิปต์ถือป้ายภาษาอังกฤษในลักษณะต่างๆ  ในเหตุการณ์นั้น บางคนเอาก้อนหินมาเรียงกันเขียนว่าเฟสบุ๊ต  ทวิตเตอร์เพื่อดึงดูดผู้ชมทางสื่อใหม่   พวกเขารู้ว่าสื่อสารกับโลกได้   และขณะที่การเผชิญหน้ากันอยู่นั้น    รัฐบาลอียิปต์เองก็ตัดสินใจมีเฟสบุ๊คเป็นของตัวเอง   

        “แต่อย่าสรุปว่าสื่อใหม่จะมาแทนที่  เพราะสื่อใหม่เองก็สามารถถูกปล้นหรือเจาะเข้าไปได้เช่นกันนะ ไม่นานมานี้เองสถานีโทรทัศน์  FOX  ของอเมริกา เพิ่งมีคนแฮกเข้าไปในระบบสื่อใหม่  และรายงานว่าประธานาธิบดีโอบามาถูกลอบสังหาร   ดังนั้นการที่เราได้ข่าวจากสื่อใหม่ ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนด้วย”

         ราล์ฟพูดถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย  ที่มีการเตือนไม่ให้ใช้สื่อใหม่ก่อนวันเลือกตั้ง เขาบอกว่าไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่คือ  พยายามห้ามการใช้สื่อใหม่  ซึ่งเขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้นอกจากเว็บนั้นจะล่มหรือถูกปิดไป และเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ว่าที่ไหน  และประเด็นห้ามสื่อใหม่ในการเมืองจะเป็นประเด็นสำคัญในทุกประเทศ

       เขาชวนดูภาพบนจอเพาเวอร์พอยท์ของเขา  เป็นภาพแผนที่โลกที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน  แต่เขาให้เราสังเกตสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น  โดยกราฟฟิคบนหน้าจอของเขาทำให้แผนที่โลกค่อยๆ หายไป กลายเป็นแผนที่ใหม่  นั้นคือแผนที่แสดงจำนวนผู้เล่นเฟสบุ๊ค   (สามารถตรวจสอบจำนวนผู้ใช้ FB ได้ที่ http://www.checkfacebook.com/

    แต่ราล์ฟก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  แม้บางประเทศไม่มีการใช้เฟสบุ๊คมาก  เช่นที่ประเทศจีน เพราะถูกแบนโดยรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจีนจะไม่เชื่อมต่อ  Social network เพราะคนจีนก็มีสังคมออนไลน์ของตนเอง  และใช้มันมากด้วย 

        “ผมอยากให้คุณดูภาพนี้อีกครั้ง  สังเกตจุดขาวๆ ที่หนาแน่น เช่นยุโรป อเมริกาฝั่งตะวันออก อินโดนีเซีย มาเลเซีย  ในทางรัฐศาสตร์เรามองประเทศเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศด้อยพัฒนา  แต่สไลด์นี้แสดงถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทางเฟสบุ๊ค ด้อยพัฒนาทางเฟสบุ๊ค  ยิ่งเฟสบุ๊คเชื่อมกันมากเท่าไร โอกาสที่ทั่วโลกจะรู้เกี่ยวกับคุณ  ประเทศของคุณมีมากขึ้นเรื่อยๆ” เขาแสดงชาร์ทการใช้อินเตอร์เน็ตของประเทศต่างๆ  ในโลก เราจะเห็นภาพประชากร FB ในยุโรปและอเมริกา แต่ก็ย้ำว่า  ประเทศที่พัฒนาแล้วทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้แปลว่าคนในประเทศนั้นจะมีการสื่อสารกับคนอื่นๆมากแต่อย่างใด  ต้องดูจากปริมาณผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมด้วย  โดยประเทศที่มีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟสบุ๊คมากที่สุดคือกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ   

          เขาชวนดูสถิติประเทศขนาดเล็กๆ เช่นเกาหลีใต้  สิงคโปร์ เป็นประเทศเล็กที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต  แต่ประเทศอียิปต์คนแค่ 25  % เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเท่านั้น  หากแต่ย้อนไปมองเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา  ก็ไม่ได้หมายความว่าการจะเป็นข่าวใหญ่ได้ก็เพราะมีอินเตอร์เน็ตมาก   แต่คนที่มีความสามารถใช้การสื่อสารผ่านเน็ตมีประสิทธิภาพต่างหากที่จะทำให้ข้อมูลถูกเผยแพร่
          สำหรับประเทศไทย  คนไทยไทยประมาณ 27  % เข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีคนใช้เฟสบุ๊คประมาณ 10.6 ล้านคน และเป็นจำนวนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี  หมายความว่าคนรุ่นใหม่เป็นพลังทางการเมืองได้ในอนาคตผ่านสื่อใหม่

            “ลองมาดูสถิติของใช้ที่เกาหลีใต้  แม้จะมีอินเตอร์เน็ตดี แต่ก็ใช้เฟสบุ๊คกันไม่มาก   กรณีไทยมีคนใช้เฟสบุ๊คเพียงครึ่งหนึ่งของคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตหมายถึงเพียง  13 %   เท่านั้น   แต่พวกคุณจำได้ไหมว่าการเมืองไทยก็หาเสียงผ่านเฟสบุ๊คนะ   นักการเมืองไทยก็เห็นว่าพวกคุณสำคัญที่จะเอื้อมมือมาสื่อสาร” 
 
          ราล์ฟ เริ่มเข้าสู่ประเด็นการใช้สื่อใหม่ซึ่งมีผลกับการเมืองโดยเฉพาะการหาเสียงโดยยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา

     เขาโชว์นิตยสารนิวยอร์คเกอร์  ซึ่งมีภาพการ์ตูนภาพมิเชลกับโอบามาอยู่ในห้องทำงานประธานาธิบดี  โอบามาแต่งกายด้วยชุดแบบอาหรับ  ในเตาผิงมีการเผาธงชาติอเมริกา  ซึ่งถือว่าเป็นการ์ตูนการเมืองที่แรง    ภาพนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเดือนก่อนเลือกตั้ง   แต่คนอเมริกันน้อยมากที่เห็นนิตยสารนี้  และรูปนี้ก็ไม่มีผลกระทบอะไร  แต่ฝ่ายตรงข้ามของโอบามาเอาไปโพสต์และส่งต่อทางสื่อใหม่ ทำให้คนจำนวนมากได้เห็นภาพนี้  จากนั้นเขาโชว์คลิปการหาเสียงของแมคเคนซึ่งเป็นคู่แข่งของโอบามา  ในคลิปนั้นมีหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแมคเคนถามว่า  ตกลงโอบามาเป็นอาหรับใช่ไหม ?

      “ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าสงครามใต้ดิน”

        เขาชวนคิดต่อว่า  การเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา   ก็น่าจะมีแต่คนไทยที่เกี่ยวข้องใช่ไหม แต่ความเป็นโลกที่ไร้ขอบเขต  “คนข้างนอก”ก็เข้ามาเกี่ยวข้องได้ด้วยการทำสงครามใต้ดินผ่านทางสื่อใหม่

     “แต่การสื่อสารทางการเมืองผ่านสื่อใหม่ก็ใช่มีแค่ภาพลบ”  เขาโชว์คลิปบนยูทูปที่  เป็นคลิปรณรงค์และชื่นชอบโอบามาของคนหนุ่มสาวที่คลั่งไคล้โอบามามาก  เป็นคลิปที่เซ็กซี่ ยาวร่วม 10 นาที  ไม่ได้เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ คนทำไม่ได้เงินจากโอบามา  ไม่ได้อยู่ในทีมหาเสียง ไม่ได้เป็นสื่อ  แต่เขาทำขึ้นมาและมีคนเข้าไปดูกว่า 50 ล้านครั้ง  ก่อนโอบามาได้รับเลือกตั้งเลยทีเดียว”
         ในช่วงของการถามตอบ  มีนักศึกษาถามว่าเราคิดอย่างไรกับการบล็อคอินเตอร์เน็ต
        เขาบอกว่า  แน่นอน เขาไม่เห็นด้วยกับการบล็อคอินเตอร์เน็ต มันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา 
       เขาเล่าด้วยว่าปี  2001 เขาได้รับเชิญจากรัฐบาลซีเรียไปบรรยายเรื่องบทบาทอินเตอร์เน็ต รัฐบาลซีเรียเป็นเผด็จการ  แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม   แต่ก็มีผู้นำเป็นคนเดิมต่อเนื่อง   ไม่มีคู่แข่ง
        “ผมร่างคำบรรยายเสร็จ แต่รัฐบาลซีเรียขอดู  ผมก็ส่งให้ดูและบอกว่าผมจะไม่เปลี่ยนอะไร ในที่สุดผมก็ถูกยกเลิกการเชิญไปบรรยาย  เพราะเขารู้ดีว่าสิ่งที่ผมจะบรรยายคือ  บทบาทอินเตอร์เน็ตจะส่งผลต่อรัฐบาลเผด็จการอย่างไร  คงไม่ต้องบอกว่าเรื่องแบบนี้ก็เกิดในหลายประเทศเช่นกัน”
 
       เขาบอกด้วยว่า  โดยทั่วไปประเทศที่ค่อนไปทางเผด็จการ  และรัฐต้องการคุมประชาชนย่อมไม่เห็นด้วยที่จะให้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต  แต่โทรทัศน์ดาวเทียม จะไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล  เช่น ในประเทศซาอุดิอาระเบีย  ประชาชนรับสัญญาณจากโทรทัศน์อัลจาซีราได้
     “ผมเชื่อว่าในอนาคต  อินเตอร์เน็ตจะส่งทางดาวเทียมได้ รัฐบาลใดใดก็คุมอินเตอร์เน็ตไม่ได้อีกต่อไป  เหมือนจีพีเอสที่เข้ามาในโทรศัพท์มือถือของเราได้”
มีนักศึกษาถามว่า  การที่สื่อใหม่จะมีผลต่อการพัฒนา ขึ้นอยู่ระบบการปกครองของประเทศ แล้วจะแก้อย่างไร

     เขาบอกว่า   ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การแลกเปลี่ยนกันเป็นเรื่องปกติ  การจะพัฒนาสื่อใหม่โดยทั่วไปก็น่าจะขึ้นอยู่กับระบบการปกครองของประเทศนั้นๆ  แต่ลองดูตัวอย่างในประเทศตะวันออกกลาง   มีการใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อใหม่ทางการเมืองมากกว่า  ประสบความสำเร็จกว่าอเมริกาด้วยซ้ำไป  สื่อใหม่ทางการเมืองมันจะมีประสิทธิภาพมาก  เมื่อช่องทางปกติถูกปิด 
         แต่สิ่งที่เป็นคำถามกับเราคือ  เราใช้เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ทางการเมืองหรือเปล่าล่ะ ส่วนใหญ่นัดกันกินข้าว  เอารูปมาโชว์กันมากกว่าใช่หรือไม่ ?”  ราล์ฟจบการบรรยายครั้งนี้ด้วยคำถามที่ท้าทายต่อพวกเรา  ผู้ใช้สื่อใหม่ !  ^_____^
 
เรียบเรียงจากการรายงานข่าวทางสื่อใหม่ 
http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150245528819571&set=a.489090574570.270355.749584570&type=1&theater  ขณะเข้าร่วม การบรรยายเรื่องสื่อใหม่  กับ การเมืองใหม่New Media New Politic โดย: ราล์ฟ เบ็กไลเทอร์ อดีตนักข่าว CNN  วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.00 – 12.00  น. ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
 หมายเหตุเพิ่มเติม  วันต่อมาเขาไปบรรยายที่จุฬาลงกรณ์ืและนี่คือคลิปที่มติชนออนไลน์สัมภาษณ์เขาไว้ 

                      interview with Ralph J Begleiter (Embedding disabled, limit reached)

 

อีกบทความ ดิฉันเขียนไว้เกี่ยวกับสื่อใหม่และบทบาทของนักข่าวพลเมืองในพม่าและลุ่มน้ำโขง เพื่ออ่านประกอบค่ะ

http://www.oknation.net/blog/acharawadee/2010/03/07/entry-1


    ลีลาพิธีกร      The Future of Great Decisions 2010 (Embedding disabled, limit reached) 
                     Our Moderator 

     

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ