สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ประชุมแก้ปัญหากับฐานทรัพยากรทะเลไทย

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ประชุมแก้ปัญหากับฐานทรัพยากรทะเลไทย

กรมประมงร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจัดประชุมสัมมนาชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 ประจำปี 2567 ในหัวข้อการแก้ปัญหาชุมชนประมงพื้นบ้านกับฐานทรัพยากรทะเลไทย และแนวทางการสนับสนุน การรุกรับ ปรับตัวของชุมชนประมงพื้นบ้านต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในหัวข้อทิศทางความอยู่รอดและทางออกของชาวประมงพื้นบ้านไทย ในบริบทปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567

โดยบรรยากาศในการประชุมสมัชชา เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ได้เปล่งพลังเสียงของความร่วมมือต่อหน้าอธิการบดีกรมประมงว่า “พี่น้องเอ้ย! สมัชชา! สมาคม! พื้นบ้าน! ยั่งยืน! พื้นบ้าน! เป็นธรรม! พื้นบ้าน! เท่าเทียม!” เพื่อแสดงถึงเป้าหมายการมาร่วมประชุมที่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย กล่าวว่า “อยากให้คนที่ติดตามได้เห็นว่าชาวประมงพื้นบ้านมีตัวตน และเปล่งเสียงต่อหน้าอธิการบดีกรมประมงว่าเขาต้องรอด เขาต้องมีความเป็นธรรม เขาต้องมีความยั่งยืน และต้องมีการเท่าเทียม นี่คือสิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยที่มารวมตัวและประกาศต่อหน้าการประชุมสมัชชาประจำปี ครั้งที่ 10 ว่าวันนี้ทรัพยากรในประเทศไทยเป็นของเขา ต่อให้เขาทำเองหรือทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเขาต้องมีความยั่งยืนและส่งต่อ ฉนั้นวันนี้อยากสื่อสารให้ได้เห็นว่านอกจากเราจะสร้างอาชีพประมงพื้นบ้าน นอกจากเลี้ยงครอบครัว เรายังปกป้องอาหาร ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร ปกป้องฐานทรัพยากรให้กับรุ่นต่อไป”

นอกจากนี้ ยังเล่าถึงสถานการณ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลที่ระบุว่าเข้าขั้นวิกฤติ “สถานการณ์ตอนนี้ต้องพูดว่าเข้าขั้นวิกฤต วันนี้เราไม่ใช้ความเชื่อแต่วันนี้เรากำลังจะใช้หลักฐานทางวิชาการ ประเทศไทยมีการแก้กฎหมาย ปี 2490 เราเริ่มโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรปตังแต่ปี 2556 และในปี 2558 ก็มีการแก้กฎหมาย หลังจากนั้นก็มีการเก็บบันทึกข้อมูล เก็บตัวอย่าง ผลปรากฏว่า สัตว์น้ำที่จับได้แต่ละปีลดลงเกือบ 50%

เรามีอาชีพอยู่กับการจับสัตว์น้ำ เรามีรายได้จากการทำประมง เราหล่อเลี้ยงครอบครัว สร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานรากแต่เราไม่ได้ทำแค่นั้นเรากำลังฟื้นฟูทะเลกำลังบอกกับรัฐว่าวันนี้วิกฤตินะ” ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย กล่าวย้ำ

ทรัพยากรในท้องทะเลยังเป็นส่วนสำคัญที่จะยืนยันถึงความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะเมนูอาหารท้องถิ่น เช่น “ข้าวยำ” ซึ่งหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า การหายไป หรือน้อยลงของปลาและสัตว์น้ำทะเลไทยส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน และห่วงโซ่อาหารของระดับชุมชนและระดับโลก

“เมื่อปลาของเราน้อยลงมันส่งผลถึงชาวประมงปัตตานี ปัตตานีเกี่ยวอย่างไร พี่เป็นแม่ค้าข้าวยำ ข้าวยำต้องใช้ปลาป่น ปลาป่นมาจากปัตตานี ข้าวยำมันเป็นอาหารผสมผสานระหว่างอาหารทะเลกับการเกษตรนั่นคือมะพร้าว เพราะฉนั้นเกษตรต้องรอด ประมงรอด ประชาชนรอด นี่คืออาหารของโลกในอนาคตนั่นคือข้าวยำ”

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ได้กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายประมงพื้นบ้านเคยผลักดันในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า “เรื่องนี้น่าตกใจเหมือนกันเพราะว่าข้อเรียกร้องในการประชุมสมัชชาแต่ละครั้ง จะมีข้อเรียกร้องของการประชุมแต่ละหมวดแต่ละหมู่ เราในนามสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเราแบ่งข้อเรียกร้องเป็นสองหมวด หมวดที่หนึ่งเป็นเรื่องกฎหมาย หมวดที่สองเป็นเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน หมวดกฎหมาย ณ ตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการแต่หมวดการยกระดับคุณภาพชีวิตยังไม่มีการแก้ไข

ยกตัวอย่างเรื่องแรกเราเรียกร้องเรื่องน้ำมัน การประมงพื้นบ้านไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ ไม่ได้รับการชดเชย เรื่องที่สองเราพูดถึงเรื่องท่าเทียบเรือ ในขณะที่ประเทศไทยมีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่แต่การประมงพื้นบ้านไม่มีท่าเทียบเรือ เราก็เรียกร้องทุน เรียกร้องโรงเรียนชาวประมง เรียกร้องมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำ เรียกร้องที่อยู่อาศัย แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้แต่เรื่องเดียว”

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประมงพื้นบ้านในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนในพื้นที่ที่ไม่เพียงแค่สร้างอาชีพในท้องถิ่น แต่ยังมีเรื่องของการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ที่การจับสัตว์ทะเลลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต  หากภาครัฐยังคงเพิกเฉยต่อข้อเสนอด้านกฎหมาย และไม่เร่งแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของเครือข่ายประมงพื้นบ้าน เสียงของชุมชนประมงพื้นบ้านอาจถูกละเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาต้องออกมาเรียกร้องและแสดงพลังเพื่อให้ข้อเสนอของพวกเขานำไปสู่การแก้ไข

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ