ถาม – ตอบ เรื่อง แผ่นดินไหว … 6.3 ริกเตอร์
1. แผ่นดินไหว (Earthquake) คืออะไร
“แผ่นดินไหว” เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่
2. อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
การเกิดแผ่นดินไหว แบ่งได้ 2 สาเหตุ
– มนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน การอัดน้ำปริมาณมากลงชั้นใต้ดิน และแรงระเบิดจากการทำเหมืองแร่ เป็นต้น
– ธรรมชาติ ได้แก่ การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกหรือรอยเลื่อนมีพลัง ภูเขาไฟระเบิด อุกกาบาตพุ่งชนโลกและดินถล่ม เป็นต้น
3. แผ่นดินไหวนำ (Foreshock) แผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) แผ่นดินไหวตาม (Aftershock) แตกต่างกันอย่างไร
– แผ่นดินไหวนำ คือ แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ก่อนเกิดแผ่นดินไหวหลัก
– แผ่นดินไหวหลัก คือ แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในช่วงเวลานั้น
– แผ่นดินไหวตาม คือ แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก
4. ความร้ายแรงอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวสามารถบอกได้ในรูปของขนาด (Magnitude) และความรุนแรง (Intensity) มีความแตกต่างกันอย่างไร
– ขนาดแผ่นดินไหว (Magnitude) เกี่ยวข้องกับปริมาณพลังงานซึ่งถูกปลดปล่อยออกมา ณ ตำแหน่งจุดกำเนิดแผ่นดินไหว ขึ้นอยู่กับความสูงของคลื่น (Amplitude) บันทึกได้ด้วยเครื่องวัดแผ่นดินไหว (มีได้ค่าเดียวและไม่ได้เป็นหน่วยวัดเพื่อแสดงผลของความเสียหาย)
– ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Intensity) เป็นผลกระทบของแผ่นดินไหวที่มีต่อความรู้สึกของการตอบสนองของผู้คนและความเสียหายของอาคาร สิ่งก่อสร้างและต่อสิ่งต่างๆตามธรรมชาติ มีความมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละแห่งที่ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น มาตราวัดเมอร์คัลลี่ (Mercalli) แบ่งออกเป็น 12 ระดับ จากความรุนแรงน้อยมากจนไม่สามารถรู้สึกได้ ตรวจวัดได้เฉพาะเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว จนถึงขั้นรุนแรงที่สุดทุกอย่างบนโลกพังพินาศ
5. ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว และจุดเหนือศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว คืออะไร
– ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว เป็นจุดเริ่มใต้พื้นดินของการกระจายพลังงานของคลื่นแผ่นดินไหวออกไปทุกทิศทางผ่านตัวกลางชั้นหิน/ดิน
– จุดเหนือศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว เป็นตำแหน่ง ณ ผิวดินเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว
6. รอยเลื่อนมีพลัง คืออะไร
รอยเลื่อนบนเปลือกโลกที่สามารถตรวจสอบได้ หรือมีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า ยังคงมีการเลื่อนตัวอยู่ในช่วงเวลาธรณีกาลสมัยโฮโลซีน (Holocene) หรือประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว ซึ่งรอยเลื่อนมีพลังดังกล่าวนี้ มีโอกาสก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้อีก
7. เราสามารถทำนายตำแหน่ง ขนาด และวันเวลาของการเกิดแผ่นดินไหวได้ก่อนล่วงหน้าหรือไม่
การเกิดแผ่นดินไหวไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ เรารับรู้ถึงแรงสั่นไหวหรือตรวจวัดได้ก็ต่อเมื่อคลื่นแผ่นดินไหวนั้นคลื่นที่ผ่าน
8. ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง
(1) ขนาดของแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวขนาดใหญ่การสั่นไหวยิ่งรุนแรง
(2) ระยะทางจากจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหว ยิ่งใกล้การสั่นไหวยิ่งรุนแรง
(3) ลักษณะชั้นดินและชั้นหินที่รองรับสิ่งปลูกสร้าง ดินอ่อนจะทำให้การสั่นไหวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
9. ผลกระทบ/ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอะไร
ผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว คือการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ส่งผลให้โครงสร้างอาคารต่างๆ ได้รับความเสียหายหรือพังทลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบอื่นได้แก่ เกิดรอยแตกบนพื้นดิน ดินถล่ม และไฟไหม้
10. ขณะเกิดแผ่นดินไหว มีทรายพุ/ลาวาโคลนพุ่งออกมาจากบ่อดิน เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปรากฏการณ์ ทรายพุ (Liquefaction) เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของคลื่นแผ่นดินไหวเขย่าชั้นตะกอนทรายที่เกาะกันหลวมๆในชั้นที่อิ่มตัวด้วยน้ำใต้ดิน ทำให้รูปแบบการจัดตัวของตะกอนเปลี่ยนไปเกิดการอัดตัวแน่นของตะกอนทราย เมื่อเกิดแรงดันน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตะกอนดังกล่าวจึงถูกดันขึ้นสู่ผิวดิน
11. ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือแผ่นดินไหวอย่างไร
จัดทำแผนบูรณาการในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายพื้นที่ และซักซ้อมแผนรับมือและการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่
12. ข้อปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือก่อนเกิดแผ่นดินไหว ควรทำอย่างไร
– ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน
– ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
– ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน
– ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
– อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
– ผูกเครื่องใช้หนักๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
– สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
13. ขณะเกิดแผ่นดินไหว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ข้อปฏิบัติขณะเกิดแผ่นดินไหว มีดังนี้ คือ
– ตั้งสติ พยายามอย่าแตกตื่นตกใจ
– หากอยู่ในห้องควรรีบหลบอยู่ใต้โต๊ะมือพยายามยึดให้มั่นคง อย่าอยู่ใกล้หน้าต่าง กระจกหรือสิ่งของที่แกว่งไกว
– หากอยู่ในที่โล่ง ควรรีบหมอบอยู่กับพื้นเอามือป้องศีรษะ ไม่ควรหลบอยู่ใต้ต้นไม้ หรือสายไฟ
– ไม่ควรใช้ลิฟท์
– รีบปิดแก็สให้สนิท
– ขณะขับรถ ให้รีบจอดด้วยความระมัดระวัง
14. เมื่อการสั่นไหวสิ้นสุดลง ควรปฏิบัติตนอย่างไร
ให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจากวิทยุและโทรทัศน์ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
15. เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ท่านควรทำอย่างไร
ตรวจสอบความเสียหายของอาคารบ้านเรือนโครงสร้างต่างๆ ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมแซมและเสริมความแข็งของอาคารบ้านเรือนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกในอนาคต
16. รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย มีกี่รอยเลื่อน พาดผ่านกี่จังหวัด
รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยมี 14 รอยเลื่อน พาดผ่าน 22 จังหวัด (รายละเอียดข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.dmr.go.th)
ประเด็นคำถามเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
17. แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เกิดจากอะไร
การเลื่อนตัวในแนวราบของรอยเลื่อนมีพลัง กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
18. อดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาที่สร้างความเสียหายกับประชาชนในพื้นที่หรือไม่
รอยเลื่อนพะเยาเคยก่อให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวาของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนล่าง สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ประชาชนในพื้นที่อำเภอสรวย และอำเภอพาน รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
19. ทำไมจึงมีแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ เกิดขึ้นตามมาจำนวนมากในพื้นที่ ภายหลังเกิดแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ดังกล่าว
แผ่นดินไหวขนาดต่างๆ ที่เกิดจำนวนมาก เรียกว่าแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) เกิดขึ้นภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก ขนาด 6.3 ริกเตอร์ โดยจำนวนของแผ่นดินไหวตามที่เกิดขึ้นจะลดขนาดและจำนวนลง เมื่อเวลาผ่านไปจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งอาจกินเวลานับเดือน/ปี
20. แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย จะส่งผลกระทบกับกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังโดยรอบอย่างไร
แผ่นดินไหวในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังอื่น โดยเฉพาะ 5 กลุ่มรอยเลื่อนโดยรอบ มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ได้ในอนาคต ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง และกลุ่มรอยเลื่อนปัว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา และกลุ่มรอยเลื่อน อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาในขั้นรายละเอียดต่อไป
21. ทำไมพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม จึงมีความอ่อนไหวและมีโอกาสเกิดดินถล่ม หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้
การสั่นไหวจากแผ่นดินไหว ได้ทำให้ลาดดินบริเวณเชิงเขามีเสถียรภาพลดลง ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มโดยเฉพาะบริเวณที่มีรอยแยกรอยแตกของแผ่นดินและอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว จึงควรระมัดระวังขณะฝนตกหนัก
22. พื้นที่ลักษณะใดมีโอกาสเกิดทรายพรุ (liquefaction) ขึ้นบ้าง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์
พื้นที่ที่จะเกิดทรายพรุนั้น ชั้นดินต้องเป็นตะกอนทราย จับตัวกันแบบหลวมๆ ปิดทับด้วยชั้นดิน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างรุนแรงที่ทำให้อัตราเร่งของผิวดินมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของแรงโน้มถ่วงโลก (ปรากฏการณ์ทรายพุ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกที่และทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว)
23. ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มีโอกาสที่จะเกิดเขื่อนแตกหรือไม่
การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มีการดำเนินงานครอบคลุมทุกขั้นตอนเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวไว้แล้วตั้งแต่เริ่ม ออกแบบ การก่อสร้าง การใช้งานและการบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัย ด้านการออกแบบเขื่อนได้นำแรงแผ่นดินไหวตามประกาศของกรมทรัพยากรธรณีและข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ในสมัยนั้น มาคำนวณออกแบบสำหรับรองรับแผ่นดินไหวไว้แล้ว และหลังการก่อสร้างได้มีการทบทวนการรับแรงแผ่นดินไหวในช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อนศรีนครินทร์สามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ (ที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
24. ควรทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น
เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหวทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบทั้งทางด้านชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจ สร้างความมั่นใจและเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนที่ต้องเผชิญกับธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว
25. กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการอะไร สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้
1) ตรวจสอบ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแผ่นดินไหว เพื่อแจ้งผ่านข้อความสั้น (SMS) ให้สื่อมวลชน และเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยทราบข้อมูลเบื้องต้น และได้จัดแถลงข่าวเรื่อง “เฝ้าระวังรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย” โดย อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เวลา 13.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบถึงสาเหตุการเกิด ผลกระทบ และการพยากรณ์สถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
2) แจ้งให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มที่มีรอยแยกรอยแตกของแผ่นดิน และอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว ระมัดระวังดินถล่มขณะเกิดฝนตกหนัก เนื่องจากลาดดินบริเวณเชิงเขามีเสถียรภาพน้อยลง อาจเกิดดินถล่มขึ้นได้ รวมถึงได้ประสานแจ้งเตือนเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยในพื้นที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวเพื่อเตรียมการเฝ้าระวังตรวจวัดปริมาณน้ำฝนให้สามารถรองรับสถานการณ์หากเกิดดินถล่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนที่อยู่โดยรอบ 5 กลุ่มรอยเลื่อน
4) จัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย (ปี พ.ศ. 2553) ซึ่งประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 14 รอยเลื่อน พาดผ่าน 22 จังหวัด 106 อำเภอ 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550
5) จัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายภาคแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ดำเนินการพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน
6) เร่งดำเนินการตรวจสอบและรวบรวบข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคสนาม เพื่อทำการประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวตามมาตราเมอร์คัลลี พร้อมจัดทำแผนที่ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Earthquake Intensity Map)
7) ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนขนาดเล็ก และเครื่องตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน ครอบคลุมพื้นที่รอยเลื่อนพะเยา เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมการเลื่อนตัวของ รอยเลื่อนมีพลังบริเวณดังกล่าว
8) เร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหวทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้น ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบทั้งทางด้านชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ต้องเผชิญกับธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว โดยเน้นกลุ่มเยาวชน และสถานศึกษาเป็นสำคัญ
สถานการณ์แผ่นดินไหว รอยเลื่อนพะเยา
เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 19.68 องศาเหนือ ลองติจูด 99.69 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา) ประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งภาคเหนือ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในอาคารสูงในกรุงเทพฯ และมีความเสียหายรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว
สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นผลมาจากการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมซ้ายของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือ (รอยเลื่อนแม่ลาว) วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้
– กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 90 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนเหนือวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมซ้าย ส่วนใต้วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนพะเยานี้ แบ่งเป็น 17 รอยเลื่อนย่อย เช่น รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเมืองปาน ฯลฯ
– รอยเลื่อนพะเยาเคยก่อให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวาของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนล่าง สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ประชาชนในพื้นที่อำเภอสรวย และอำเภอพาน รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
– After Shock ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 57 เวลา 04.56 น. ตามเวลาในประเทศไทย ยังคงมี After Shock ขนาด 3.8 ริกเตอร์ บริเวณ อ.พาน จ.เชียงราย สำหรับผลกระทบที่มีต่อโครงสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ 5 พ.ค. 57 ควรได้รับตรวจสอบโครงสร้างก่อนการใช้สอยอาคาร สิ่งก่อสร้างดังกล่าว
การดำเนินการของกรมทรัพยากรธรณี
1) ตรวจสอบ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแผ่นดินไหว เพื่อแจ้งผ่านข้อความสั้น (SMS) ให้สื่อมวลชน และเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยทราบข้อมูลเบื้องต้น ขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว และได้จัดแถลงข่าวเรื่อง “เฝ้าระวังรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย” โดย อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เวลา 13.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบถึงสาเหตุการเกิด ผลกระทบ และการพยากรณ์สถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
2) แจ้งให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มที่มีรอยแยกรอยแตกของแผ่นดิน และอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว ระมัดระวังดินถล่มขณะเกิดฝนตกหนัก เนื่องจากลาดดินบริเวณเชิงเขามีเสถียรภาพน้อยลง อาจเกิดดินถล่มขึ้นได้ รวมถึงได้ประสานแจ้งเตือนเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยในพื้นที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวเพื่อเตรียมการเฝ้าระวังตรวจวัดปริมาณน้ำฝนให้สามารถรองรับสถานการณ์หากเกิดดินถล่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนที่อยู่โดยรอบ 5 กลุ่มรอยเลื่อน ซึ่งมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ขึ้นได้ในอนาคต ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่จันทางด้านทิศเหนือ กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง และกลุ่มรอยเลื่อนปัวทางด้าน
ทิศตะวันออก กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทาทางด้านทิศตะวันตก และกลุ่มรอยเลื่อนเถินทางด้านทิศใต้
– ความก้าวหน้าในการตรวจสอบสภาพพื้นที่ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแผ่นดินไหวเป็นรายสัปดาห์ ประสานข้อมูลจาก สธส. ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารก่อนเผยแพร่
4) แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังจำนวน 14 แนว ขนาดเกิน 5.0 ริกเตอร์ เกิดขึ้นจำนวน 9 ครั้ง โดยมีขนาดสูงสุด 5.9 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้รับรู้ได้ในวงกว้าง
5) จัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย (ปี พ.ศ. 2553) ซึ่งประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 14 รอยเลื่อน พาดผ่าน 22 จังหวัด 106 อำเภอ 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550
6) จัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายภาคแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ดำเนินการพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน
7) เร่งดำเนินการตรวจสอบและรวบรวบข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคสนาม เพื่อทำการประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวตามมาตราเมอร์คัลลี พร้อมจัดทำแผนที่ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Earthquake Intensity Map)
8) ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนขนาดเล็ก และเครื่องตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน ครอบคลุมพื้นที่รอยเลื่อนพะเยา เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังบริเวณดังกล่าว
9) เร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหวทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้น ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบทั้งทางด้านชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ต้องเผชิญกับธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว โดยเน้นกลุ่มเยาวชน และสถานศึกษาเป็นสำคัญ
10) เร่งจัดทำแผนบูรณาการในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายพื้นที่ และเร่งรัดให้มีการซักซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว การปฏิบัติตนให้ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ และรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
11) เร่งจัดทำรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการกำหนดแนวทางลดผลกระทบและรองรับเตรียมการสถานการณ์ธรณีพิบัติต่อไป
*** ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมด้านธรณีวิทยา หรือพบเหตุการณ์ด้านธรณีวิทยาจากเหตุแผ่นดินไหว เช่น หลุมยุบ รอยแยกบนพื้นดิน ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน สามารถแจ้งเหตุ ติดต่อ ขอรับคำแนะนำได้ที่ โทร : 0 2621 9702-03 ในเวลาราชการ ตั้งแต่ 08.30 น. ถึง 20.00 น. ***
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี