คลิปถ่ายทอดสดงานเสวนา มีเงินเรียก ‘น้อง’ มี (เหมือง)ทอง เรียก ‘หายนะ’ โดย: New Democracy Movement
27 ก.ย. 2558 กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มอนุรักษ์มหาลัยรามคำแหง ซุ้มเหมราชรามคำแหง เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตค้านเหมือง และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการเสวนา “มีเงินเรียกน้อง มี(เหมือง)ทอง เรียกหายนะ” เพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบของการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
สืบเนื่องจาก กรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนจะเปิดเหมืองทองคำใน 12 จังหวัด โดยเตรียมให้ภาคเอกชนเข้าสำรวจเพื่อขออนุมัติใบอาชญาบัตร ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล
ภายหลังการเสวนา เครือข่ายนิสิต นักศึกษา ต้านเหมืองทอง ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ “ประกาศจุดยืนคัดค้านเหมืองทอง”ใจความว่า การที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ดำเนินการร่างนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำในบริเวณ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล นั้น
ปัจจุบันได้มีการทำเหมืองทองคำอยู่ทั้งที่ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งการทำเหมืองทองดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณโดยรอบเหมือง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชนที่ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภคกันมาตรวจพบมีสารพิษปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน พืชผลทางการเกษตรก็ตรวจพบสารพิษปนเปื้อน มีการตรวจพบสารโลหะหนักเกินมาตรฐานในร่างกายของชาวบ้านและมีอาการเหน็บชาตามร่างกาย ผื่นคัน กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตของคนในชุมชน โดยสาเหตุการเสียชีวิตตามหนังสือรับรองการตายนั้นระบุว่า มีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
นอกจากนี้การนำเสนอเรื่องราวความเจ็บป่วยของชาวบ้านที่เกิดขึ้นสู่โลกภายนอกจะถูกปิดกั้นแล้วนั้น การมีส่วนรวมของคนในชุมชนในการจัดการทรัพยากรก็ไม่สามารถพบเจอได้เช่นเดียวกัน ซ้ำร้ายยังได้เกิดความขัดแย้งของคนในชุมชน เกิดการข่มขู่ คุกคาม กดขี่ ข่มเหง ใส่ร้ายป้ายสี ทำร้ายร่างกายชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
ซึ่งในขณะเดียวศักยภาพในจังหวัดพิจิตร เลย และอีก 10 จังหวัดที่เหลือ ก็มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร สามารถสร้างเป็นครัวของโลกตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลกลับนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างสมบูรณ์ในประเทศให้บริษัทต่างชาติสูบกินทำกำไร และทิ้งสารพิษให้คนในชาติได้ตายผ่อนส่ง แล้งประเทศจะมั่นคง ประชาชนจะมั่งคง ชาติไทยจะยั่งยืน ได้อย่างไรกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวเครือข่ายนิสิต นักศึกษา ต้านเหมืองทอง จึงขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้ 1.ต้องปิดเหมืองทองคำที่มีอยู่ทันที และตั้งคณะกรรมการจากภาคประชาชนในการศึกษา ตรวจสอบผลกระทบในพื้นที่ รวมทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแบบแผนในการฟื้นฟูพื้นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม
2.ต้องมีการแก้กฎหมายในเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA ที่ภาคประชาชนมีส่วนรวมในการตรวจสอบ 3.ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 4.ต้องมีกฎหมายรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
“สุดท้ายแล้วความคุ้มค่าของการทำเหมืองทองคำนั้น มันแลกกับการที่คนต้องมีสารพิษตกค้างในร่างกาย แลกกับการที่ชุมชนอยู่กันมาตั้งแต่บรรพกาลต้องร่มสลาย แลกกับแหล่งอาหารของโลกที่เต็มไปด้วยสารพิษปนเปื้อนไม่ได้ และสิ่งที่มีค่าที่สุดในโลกนี้ก็ไม่สามารถมาแลกลมหายใจของคนเราได้เช่นกัน” แถลงการณ์ระบุ
เครือข่ายนิสิต นักศึกษา ต้านเหมืองทอง ระบุด้วยว่า จะขอยืนหยัดต่อสู้ถึงการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้คนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องเจอกับหายนะเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ที่ “มีเงินเขาเรียกน้อง มี (เหมือง) ทองเขาเรียกหายนะ”
ที่มาภาพ: กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์