ความไม่แน่นอนของความเปลี่ยนแปลง กับการเตรียมแผนรับมือของท้องถิ่น

ความไม่แน่นอนของความเปลี่ยนแปลง กับการเตรียมแผนรับมือของท้องถิ่น

ภาพเวทีการประชุมใหญ่ปี 2567 “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว กับ ชุนชนเมือง ในยุคโลกเดือด” แนวทางนำสู่ การเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

บทนี้กล่าวถึง ความไม่แน่นอนของความเปลี่ยนแปลงกับการเตรียมแผนรับมือของท้องถิ่น นำไปสู่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสังคมมนุษย์ในวงกว้าง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและข้อสังเกตทางวิชาการทำให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องหาแนวทางรับมือร่วมกันท่ามกลางความไม่แน่นอน

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบวงกว้าง

การแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่ง อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สะท้อนว่า “โลกรวนไม่ใช่แค่โลกร้อน” แต่เป็นเรื่องของการแปรปรวน เช่น ฤดูหนาวอาจจะอุ่นขึ้น แต่ก็มีโลกอุบัติใหม่เกิดขึ้น หรือบางที่ฤดูหนาวอุณหภูมิติดลบ และฤดูหนาวที่มานานกว่าเดิม อาจจะมองว่า เป็นความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศ หนาวจัดเกินไป แล้งยาวนานเกินไป ร้อนมากเกินไป น้ำท่วมอยู่แล้วกลับท่วมหนักกว่าเดิม หรือที่ท่วมหนักอยู่แล้วพอถึงฤดูแล้งไม่มีน้ำเลย เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าไม่เหมือนเดิม จะเห็นว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงและเป็นผลกระทบที่คาดเดาได้ยากมากกว่าที่ผ่าน ๆ มา

อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ปรากฏการณ์และข้อมูลทางวิชาการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน

ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในด้านความรู้สึกของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ และข้อมูลทางวิชาการชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่าเป็นเรื่องจริงและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ สะท้อนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยบางพื้นที่อาจจะสูงมากจนน่าตกใจ เรามีการคาดการในอนาคตว่ามันอาจจะสูงขึ้นถึง 50 องศา เช่น ที่หนองคายปีที่แล้ว 47 องศา อุดรธานี 42 องศา และส่งผลต่อคนที่เจ็บป่วยมากขึ้น จำนวนพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ไม่ออกดอก หรือผลผลิต หรืออื่น ๆ ล้วนสะท้อนให้เข้าใจได้ว่ามันเกิดปัญหาขึ้น ทั้งในเรื่องของความรู้สึกและข้อมูลจากภาควิชาการ

ความแปรปรวนไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อการเตรียมพร้อมและการตัดสินใจ

อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ สะท้อนว่า เรื่องของปริมาณน้ำฝนบางแห่งเปลี่ยน บางแห่งไม่เปลี่ยน บางแห่งฝนตกน้อยลง บางแห่งฝนตกเพียงนิดเดียวแต่ท่วมไปเลย เราไม่รู้ว่าปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นถาวรหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นต้องหาแนวทางใหม่ในการรับมือ สิ่งสำคัญต้องรู้และเข้าใจว่าแผนงานต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่คิดแบบเดิมจะไม่สำเร็จได้ถ้าไม่สนใจประเด็นภูมิอากาศ แผนเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในแผนของท้องถิ่น ต้องประเมิน กลุ่มเปราะบาง และจัดการพื้นที่เสียง พื้นที่ภูมิศาสตร์ที่แตกต่าง รวมทั้งการทำผังเมืองที่ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน เพื่อออกแบบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ท้องถิ่นต้องทำ เพราะสถานการณ์ในอนาคตคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น

การจัดเตรียมแผนท้องถิ่นที่ต้องตระหนักถึงปัญหาภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ สะท้อนว่า สิ่งสำคัญคือท้องถิ่นต้องรู้ เข้าใจ และต้องตระหนักว่าแผนงานต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่คิดแบบเดิมจะไม่สำเร็จได้ต่อไปถ้าไม่ได้พูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แม้ว่าจะทำหลาย ๆ เรื่องได้ดี แต่เมื่อมีสถานการณ์ภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงก็จะเตรียมการไม่ทัน ไม่สามารถที่จะมีแผนหรือมาตรการที่ดีในการรับมือ ฉะนั้น แผนเรื่องนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในแผนของท้องถิ่นด้วย ดูว่าแผนเรื่องการปรับตัวและสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไร

ภาพน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีในอดีต

พื้นที่เสี่ยงอยู่ตรงไหนจะต้องประเมิน กลุ่มเปราะบางอยู่ตรงไหนบ้าง โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติเป็นอย่างไร เราควรจะจัดการอย่างไร ตรงไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง ตรงไหนเป็นพื้นที่ตีบแคบของลำน้ำ ตรงไหนเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรงไหนที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง รวมทั้งการทำผังเมืองของท้องถิ่นต้องร่วมกันแก้ไขและจัดการร่วมกัน การจัดการระบบสาธารณูปโภคที่ดีและมีคุณภาพ เช่น น้ำประปาที่ขาดในช่วงแล้วจะมาจากไหนจะต้องวางแผน ทั้งหมดจะต้องมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท้องถิ่นจะต้องเตรียมการให้ดีในเรื่องนี้ เพราะจะเป็นเรื่องที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

หมายเหตุ:

  • ประมวลข้อมูลจากเวทีการประชุมใหญ่ปี 2567 “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว กับ ชุนชนเมือง ในยุคโลกเดือด” แนวทางนำสู่ การเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม (People-centred urban climate resilience and adaptation)“ ภายใต้โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป วันที่ 25-27 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเดอะคอนวีเนี่ยน  จังหวัดขอนแก่น
  • บทความเผยแพร่โครงการ SUCCESS จัดทำขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งทีมงานโครงการ SUCCESS มีหน้าที่รับผิดชอบเนื้อหาทั้งหมด โดยเนื้อหาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสะท้อนมุมมองของสหภาพยุโรป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ