ห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรกับการแก้ไข “ปัญหาความยากจน” จังหวัดอำนาจเจริญ

ห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรกับการแก้ไข “ปัญหาความยากจน” จังหวัดอำนาจเจริญ

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

ผู้เขียนกล่าวถึง “ห่วงโซ่สมุนไพร” กับ “การแก้ไขปัญหาความยากจน” โดยใช้ข้อมูลจาก “เวทีวิชาการอินเดียและเอเชียใต้ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 6” วันที่ 22 กันยายน 2567 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (และผ่านระบบออนไลน์) ผู้เขียนเลือกหยิบยกกรณีบทความ “การศึกษาความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้ห่วงโซ่คุณค่าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน : กรณีศึกษา ห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพร จังหวัดอำนาจเจริญ” ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำเสนอโดยอาจารย์ ฐิติ ราศีกุล คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะ

ห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรและอาหารปลอดภัยสำหรับ “ครัวเรือนยากจน” อำนาจเจริญ

พบว่า โครงการวิจัย “โมเดลห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพร” จังหวัดอำนาจเจริญ ได้กล่าวถึงการดำเนินการในปี พ.ศ.2566 มุ่งเน้นการนำคนจนเข้ามาร่วมในห่วงโซ่คุณค่าของสมุนไพร ผ่านกิจกรรมตามบริบทและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดำเนินการแบบมุ่งเป้าครัวเรือนยากจนใน 4 อำเภอ จำนวนทั้งสิ้น 971 ครัวเรือน ซึ่งเป็นครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 257 คน คิดเป็นร้อยละ 26.46 พบว่า สัดส่วนครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนที่มีศักยภาพ เนื่องจาก “สภาวะความจำเป็นส่วนตัว” ของครัวเรือนยากจนแต่ละครัวเรือนแตกต่างกัน รวมทั้งความไม่พร้อมบางอย่างทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ต่อเนื่อง พื้นที่ดำเนินการ ได้แก่  อำเภอเสนางคนิคม, อำเภอชานุมาน, และ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ

ฐิติ ราศีกุล สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพร นำไปสู่ผลผลิตต่างๆ ได้แก่ สินค้าที่ผลิตได้มาตรฐาน 3 อย่าง คือ ผงแช่เท้า ผงปรุงรส และชุดต้มยำแห้ง ด้วยกระบวนการผลิตแบบ OEM รวมทั้งมีการผลิตสินค้าอื่นๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนยากจน เช่น พรมเช็ดเท้า ตะกร้าสานพลาสติก ผักสดจำหน่ายในตลาดทั่วไป ตลาดของโรงพยาบาล และตลาดนัดเทศบาล ถือเป็น “นวัตกรรม” หนึ่งที่ทำให้ครัวเรือนยากจน ได้รับความช่วยเหลือ การพัฒนาอาชีพ และยกระดับรายได้ โดยเฉพาะการแปรรูปตะไคร้สดเป็นน้ำมันหอมระเหยซึ่งนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตตะไคร้ การผลิตน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ 3 ลิตร ใช้ตะไคร้สด 1,000 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายน้ำมันหอมระเหยสูงถึงลิตรละประมาณ 7,000 บาท เมื่อคำนวณเป็นราคาตะไคร้สดจากเดิมกิโลกรัมละ 2-17 บาท เป็นราคากิโลกรัมละ 21 บาท จะเห็นว่า เกิดเครือข่ายห่วงโซ่คุณค่าในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ชานุมาน และปทุมราชวงศา จำนวน 10 กลุ่ม รวมคนจนเป้าหมายที่เข้าร่วมในห่วงโซ่นี้ 19 คน บนเนื้อที่รวม 31 ไร่ และคนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 2,250 บาท เป็น 2,821 บาท หรือเพิ่มขึ้น 25.38% นอกจากนั้น ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การประยุกต์ใช้ห่วงโซ่คุณค่ากับผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นไปตามแนวทางการยกระดับครัวเรือนยากจนให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างมีส่วนร่วม โดยผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการ

การดึงดูดครัวเรือนยากจนในมิติทางเศรษฐกิจ “ท้าทายและเป็นไปได้ยาก”

การทำงานเชิงพื้นที่ในโครงการวิจัยฯ ใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม PAR ได้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ทุนการดำรงชีพมิติต่างๆ และการใช้ข้อมูลที่มุ่งเป้าจากฐานข้องมูล TPMAP และ Thai QM กระทั่ง เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับครัวเรือนยากจนมากถึง 3,000 ครัวเรือน ทั่วจังหวัดอำนาจเจริญ นอกจากนั้น การทำงานในประเด็นห่วงโซ่สมุนไพรเกิดขึ้นจากความพยายามทำให้ปัญหาความยากจนลดความบางเบาลง ผ่านการให้ความสำคัญมิติการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่พบว่า ครัวเรือนยากจนส่วนหนึ่งมีข้อจำกัด เช่น ด้านทรัพยากร ชีวิตประจำวัน หรือต้องการรายที่ใช้ระยะสั้น ซึ่งงานวิจัยฯ พยายามขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดอำนาจเจริญเป็น “เมืองธรรมะเกษตร” และโครงการวิจัยฯ ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ปัจจุบัน การดำเนินการห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรมีการวิเคราะห์ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ “เรื่องของการนำห่วงโซ่คุณค่ามาใช้ เกี่ยวข้องกับหลายความสัมพันธ์ในมิติของเศรษฐกิจโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องของการขาดแคลนและการเงินของครัวเรือนยากจน การพูดถึงการแก้ไขปัญหา คือ การดึงดูดทางเศรษฐกิจ แต่การเอาคนจนเข้ามาร่วมในห่วงโซ่เป็นเรื่องท้าทายและเป็นไปได้ยาก”

การทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาคี “ท้องถิ่น ท้องที่ และท้องทุ่ง”

อย่างไรก็ดี ฐิติ ราศีกุล สะท้อนถึง ข้อเท็จจริงสำคัญหนึ่งที่พบ คือ อำนาจเจริญเป็นพื้นที่เมืองที่มีขนาดเล็ก ผู้ประกอบการท้องถิ่นน้อย ทีมวิจัยฯ จึงพยายามทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ และท้องทุ่ง คือ คนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่จะมีส่วนในการดึงครัวเรือนยากจนเข้าร่วมในห่วงโซ่ โดยใช้ความพยายามในการมองหาผลิตภัณฑ์ในการช่วยให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงระบบเศรษฐกิจ การตอบรับ และการเกาะเกี่ยวครัวเรือนยากจนเข้าสู่ห่วงโซ่ รวมทั้งการทำงานวิจัยฯ โดยการลงพื้นที่สนับสนุนสิ่งที่ครัวเรือนยากจนทำได้เป็นส่วนที่จะเป็นไปได้มากที่สุด เช่น การเปิดตลาดขนาดเล็กในพื้นที่ การขายสินค้าในตลาดนัด การทดลองจำหน่ายในพื้นที่โดยการจับ “คู่บัดดี้” ให้ครัวเรือนยากจนกล้าที่จะออกมาขายของเพิ่มมากขึ้น

การทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาคี ท้องถิ่น ท้องที่ และท้องทุ่ง ภาพจาก โครงการวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Value Chain (เดิม Vs ใหม่)

ฐิติ ราศีกุล ฉายภาพการทำงานเชิงพื้นที่ต่อว่า ทีมวิจัยฯ พยายามนำสินค้าที่พัฒนาขึ้นมาช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านการออกรายการโทรทัศน์ และลักดันให้ครัวเรือนยากจนได้นำสินค้าออกไปร่วมงานและนำเสนอผ่านงานต่างๆ กระทั่ง ภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เริ่มมองเห็นต้นแบบบางอย่างในการส่งเสริมและผลักดันครัวเรือนยากจนผ่านห่วงโซ่การผลิตสมุนไพร ฐิติ ราศีกุล กล่าวว่า “การทำแบบนี้จะทำให้ครัวเรือนยากจนหลุดพ้นจากความยากจนมากขึ้น และมีแผนในการทำ MOU สำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนกับหน่วยงานภาคีต่อไป” อีกทั้ง สะท้อนบทเรียนการทำงานที่พยายามนำพาครัวเรือนยากจนเข้าถึงห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพร และชวนตั้งคำถามต่อคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้า กระทั่งพบอีกว่า ปลายปีที่ผ่านมาค้นพบส่วนที่จะทำให้มูลค่าสูงมากขึ้น คือ การแปรรูป แต่กระบวนการผลิตค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยฯ ได้พยายามเชื่อมร้อยการทำงานกับมหาวิทยาลัยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้เข้ามาช่วย รวมทั้ง ฐิติ ได้กล่าวถึง การทดลองผลิตน้ำมันหอมระเหยได้นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งมีแผนในการส่งผลผลิตตะไคร้ไกลถึงต่างประเทศ แต่กระบวนการผลิตและต้นทุนที่ใช้ยังค่อนข้างสูง ดังนั้น ห่วงโซ่การผลิตใหม่จึงพยายามเชื่อมต่อกับหลายๆ ภาคส่วน มีการทำงานเชิงพื้นที่และการพูดคุยกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น

อ.ฐิติ ราศีกุล และคณะ นำเสนอบทความ “การศึกษาความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้ห่วงโซ่คุณค่าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน : กรณีศึกษา ห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพร จังหวัดอำนาจเจริญ”

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลย้อนหลังได้ที่ facebook India Studies Center Ubon Ratchathani University ศูนย์ศึกษาอินเดีย ม.อุบลฯ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ