โรงครัวกลางชุมชน : นวัตกรรมทางสังคม ผัสสะของลิ้น และวัฒนธรรมชุมชน

โรงครัวกลางชุมชน : นวัตกรรมทางสังคม ผัสสะของลิ้น และวัฒนธรรมชุมชน

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

เป็นที่ประจักษ์กันว่าประเทศไทยขณะนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด ทั้งทางภาคเหนือ จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง และพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำทั่วประเทศ แม้สถานการณ์บางแห่งเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ในบทนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นว่า “แนวคิดโรงครัวกลางชุมชน” ถือเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” หนึ่งที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่รับผลกระทบรวมทั้งการลดความขัดแย้งทางสังคมเกี่ยวกับความช่วยเหลือและการบริจาคอาหาร ดังนี้

แนวคิดโรงครัวกลางชุมชน พบว่า ข่าวพลเมือง Thai PBS ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดโรงครัวกลาง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดย ม.ราชภัฏอุดรธานี ได้ร่วมกันทำโรงครัวกลางกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีอาหารเพียงพอสำหรับบริโภค และสดใหม่ ถูกปาก ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับการนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างยิ่ง ขณะที่ ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ในการเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ พ.ศ.2562 และ 2565 พบว่า การนำแนวคิดโรงครัวกลางมาใช้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านที่ประสบภัยได้รับอาหารที่สดใหม่ตรงตามความต้องการ แต่โรงครัวกลางยังเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” ของชุมชนอีกด้วย

ใชพื้นที่กลางของชุมชนในการตั้งโรงครัว เช่น วัด โรงเรียน หรือพื้นที่สูงที่น้ำท่วมไม่ถึง

นวัตกรรมทางสังคม การที่ชุมชนหนึ่งๆ เผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม แน่นอนว่าอาจไม่ได้เตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะประสบปัญหามากน้อยเพียงใด บางครอบครัวอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำกระแสน้ำพัดวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำอาหารไปกับน้ำ บางครอบครัวฟืน/ถ่าน/เตาแก๊สเปียกเสียหาย ขณะที่ประชาชนที่เห็นใจส่วนหนึ่งนำอาหารปรุงสุกและอาหารแห้งไปมอบให้ ซึ่งบางครั้งพบว่า อาหารแห้งถูกมัดรวมกับยากันยุงทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ รวมทั้งอาหารแห้งไม่เหมาะกับการประกอบอาหาร (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ต้มยากเพราะไม่มีไฟฟ้า) บางครอบครัวได้รับอาหารสุกจากเรือของคนที่เข้ามาช่วยตลอดทั้งวันจำนวนมากทำให้รับประทานไม่หมด (สุดท้ายเน่าเสีย) แต่สำหรับชุมชนที่นำแนวคิดโรงครัวกลางมาใช้ พบว่า นอกจากจะได้อาหารสุก ใหม่ ถูกปาก สมาชิกในชุมชนยังได้ร่วมกันจัดการและรับมือกับสถานการณ์วิกฤตร่วมกัน

ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอาหารและการกระจายอาหารถึงสมาชิกของชุมชน

ผัสสะของลิ้น แน่นอนว่า การรับประทานอาหารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกิน กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่พบในการบริจาคหรือการนำอาหารไปช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ เมนูอาหารส่วนใหญ่จะเป็น ข้าวผัดกระเพรา ไข่เขียว/ไข่ดาว ผัดผัก หรือหมูทอด และไก่ทอด ฯลฯ ซึ่งเป็นความต้องการช่วยเหลือจากคนที่เห็นใจ และแน่นอนว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่อาจปฏิเสธน้ำใจ และรับไว้เพื่อประทังชีพในยามวิกฤต อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของผู้เขียนครั้งหนึ่งได้ใช้วิธีทำโรงครัวกลางร่วมกับชุมชน โดยผู้นำชุมชนได้ใช้วัตถุดิบจากการระดมของผู้ที่นำมาบริจาค เช่น ผักสด เครื่องปรุงรส เนื้อไก่ เนื้อหมู น้ำเปล่า หรืออื่นๆ ทำให้ชุมชนได้ประกอบอาหารร่วมกัน มีการจัดตั้งคณะทำงานโรงครัวของชุมชนประกอบอาหารเมนูพื้นถิ่น เช่น น้ำพริก ส้มตำ ผักต้ม/ผักสด ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่ผู้รับผลกระทบที่ได้รับอาหารกล่าวทำนองว่า “เป็นมื้ออาหารที่เขารับประทานอร่อยถูกลิ้น” สะท้อนให้เห็นว่า บางครั้งการเจตนาดี (ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อยากเสริมความเข้าใจ) นำอาหารไปส่งมอบให้บางครั้งอาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการ ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากเสนอแนวคิดการทำโรงครัวกลางไปใช้ในสถานการณ์ภัยพิบัติ

อาหารพื้นถิ่นเป็นอาหารที่ถูกปาก ถูกลิ้น ถูกวัฒนธรรม

วัฒนธรรมชุมชน ปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนพบในสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอาหารฮาลาล ซึ่งเข้าใจทั้งฝั่งของผู้นำอาหารไปมอบให้ และคนที่ได้รับอาหาร บางกระแสโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับการเรียกร้องขออาหารฮาลาล กลับถูกกระแสสื่อออนไลน์โต้กลับว่าไม่เหมาะสมที่ออกมาเรียกร้อง ขณะที่ผู้เขียนมองว่า การออกมาสื่อสารของผู้ได้รับผลกระทบเป็นสิ่งที่สังคมควรรับฟัง รับรู้ และเข้าใจเพิ่ม เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องอาหารกับความเชื่อ ศาสนา หรือวัฒนธรรมชุมชน บางสังคมไม่สามารถรับประทานอาหารบางอย่างได้ หรือหากพิจารณาตัวเราเองในบางครั้งก็ไม่ชอบที่จะรับประทานอาหารบางเมนู เช่น ไม่ชอบผัก เหม็นกลิ่นเนื้อ กลิ่นคาวปลา หรืออื่นๆ ดังนั้น การนำแนวคิดโรงครัวกลางมาใช้ในพื้นที่ชุมชน นอกจากจะได้อาหารที่สด สุกใหม่ ถูกปาก ยังเป็นเมนูอาหารที่ตรงตามความต้องการ ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมชุมชนอีกด้วย

บางวัฒนธรรมรับประทานข้าวเหนียว บางครั้งการนำข้าวสวยไปให้ชาวบ้านรับไว้ แต่อาจไม่ถูกปาก

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ภัยพิบัติที่ยังไม่คลี่คลายและในหลายพื้นที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งโรงครัวกลางในชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและบริการกับสมาชิกในชุมชน สำหรับคนที่ต้องการช่วยเหลืออาจใช้วิธีการให้เป็นงบประมาณสนับสนุนโรงครัว การสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำบัญชีการรับบริจาคอาหาร การสนับสนุนวัตถุดิบสดใหม่ เช่น ผักสด เนื้อสด ไข่สด น้ำเปล่า ฯลฯ หรือบางชุมชนอาจไม่เหมาะ/สะดวกในการจัดตั้งโรงครัว อาจใช้พื้นที่ชุมชนใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ พื้นทีหน่วยงานภาครัฐ พื้นที่โรงเรียน วัด หรือพื้นที่สูงสำหรับจัดตั้งโรงครัว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ