ชาวบ้านหนองไผ่ล้อมร้องถูกทำร้ายในพื้นที่พิพาทศูนย์ฝึกตำรวจฯ โคราช ทั้งตั้งข้อหาซ้ำขัดขวาง-ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ชาวบ้านหนองไผ่ล้อมร้องถูกทำร้ายในพื้นที่พิพาทศูนย์ฝึกตำรวจฯ โคราช ทั้งตั้งข้อหาซ้ำขัดขวาง-ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

7 ก.พ. 2559 นักข่าวพลเมืองส่งคลิปแจ้งว่ามีการทำร้ายและใส่กุญแจมือผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านบ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยในคลิปมีภาพของรถขุดดิน และการโต้เถียงของผู้หญิงคนหนึ่งกับกลุ่มชายที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2559 จากนั้นชายที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินเข้ามาปัดกล้อง ต่อมาภาพจึงตัดไปที่การโต้เถียงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของชายที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและชายที่อ้างตัวเป็นทนายความ

20160702020441.jpg

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งติดตามข้อมูลดังกล่าว รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มชายฉกรรจ์ราว 10 คน บางคนใส่หมวกปีกคลุมหน้าและใส่แว่นดำ เข้ารื้อรั้วบ้าน นางชัชฎาภรณ์ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านบ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สามีชาวเยอรมันเห็นเห็นเหตุการณ์ จึงโทรศัพท์แจ้งนางชัชฎาภรณ์ซึ่งอยู่ระหว่างไปรับลูกในตัวอำเภอปากช่อง ทั้งนี้ บ้านของนางชัชฎาภรณ์อยู่ในพื้นที่พิพาทระหว่างศูนย์ฝึกอบรมยุทธวิธีตำรวจกลางกับชาวบ้าน

เมื่อชัชฎาภรณ์กลับถึงบ้านเวลาประมาณ 18.00 น. จึงได้เข้าสอบถามชายกลุ่มดังกล่าวว่าเป็นใคร ใครสั่งให้มารื้อ แต่กลุ่มชายดังกล่าวไม่ตอบคำถาม บอกเพียงว่า ทำตามคำสั่งนาย ชัชฎาภรณ์จึงได้บอกให้หยุด และเกิดการโต้เถียงกันขึ้น ชายคนหนึ่งในกลุ่มได้เข้าใส่กุญแจมือชัชฎาภรณ์และลากออกมาจากบ้าน เมื่อเธอขัดขืน จึงเข้าทำร้ายโดยการทุบตี ตบที่บริเวณใบหน้าและลำตัวหลายครั้ง พร้อมทั้งด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย แม้ครอบครัวของเธอและชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์จะห้ามปราม จากนั้นชายกลุ่มนั้นก็ลากตัวชัชฎาภรณ์ขึ้นรถตู้ออกจากหมู่บ้านไป

ต่อมา นายภาส  อินทรประพงษ์ ทนายความ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านจึงไปติดตามหาชัชฎาภรณ์ และพบว่า กลุ่มชายดังกล่าวได้นำตัวชัชฎาภรณ์ไปที่โรงอาหารของศูนย์ฝึกอบรมยุทธวิธีตำรวจกลาง ต.หนองสาหร่าย จึงเข้าไปสอบถามชายกลุ่มดังกล่าว จนยอมเปิดเผยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ แต่ไม่บอกสังกัด พูดแต่เพียงว่า “ผมไม่จำเป็นต้องตอบคุณ” พร้อมทั้งถ่ายรูปชาวบ้านที่ตามไปสังเกตการณ์อยู่ด้วย 

ขณะที่ชัชฎาภรณ์ให้ข้อมูลกับทนายว่า ระหว่างที่อยู่บนรถตู้ ตำรวจนอกเครื่องแบบกลุ่มนี้ได้ด่าทอเธออย่างหยาบคาย พร้อมทั้งรัดกุญแจมือที่ข้อมือเธอจนแน่น

ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. พ.ต.ท.พิเชษฐ์ จันทรัตน์ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา ช่วยราชการศูนย์ฝึกฯ ได้เดินทางมาถึงโรงอาหารแห่งนั้นในชุดนอกเครื่องแบบ และได้นำตัวชัชฎาภรณ์ไปที่ สภ.หนองสาหร่าย เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำ 

ทั้งนี้ ในบันทึกการจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจาก ผู้รับเหมางานก่อสร้างงานของศูนย์ฝึกฯ ว่า เวลา 16.30 น. ชัชฎาภรณ์ได้ขัดขวางการทำงาน และใช้ก้อนหินขว้างปาใส่รถแบคโฮบริเวณหน้าบ้าน เจ้าหน้าที่จึงเข้าระงับเหตุ โดยบอกให้หยุด แต่ชัชฎาภรณ์ไม่หยุดจึงเข้าจับกุม ชัชฎาภรณ์ขัดขืนไม่ยอมให้จับกุม พร้อมทั้งต่อว่าว่า ตำรวจทำร้ายประชาชน 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาชัชฎาภรณ์ว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ชัชฎาภรณ์ให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากไม่ใช่ความจริง พร้อมกันนี้ได้ขอประกันตัวด้วยเงินสด 30,000 บาท และได้รับการประกันตัวในเวลา 01.00 น. วันที่ 5 ก.พ.59

ส่วนชัชฎาภรณ์ในสภาพที่ข้อมือมีรอยเขียว ตาช้ำ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ ร.ต.ท.กันตพจน์ รอดโฉม ตำรวจที่ทำร้ายร่างกาย ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กักขังหน่วงเหนี่ยว กระทำอนาจาร ทำร้ายร่างกาย และทำให้เสียทรัพย์ และได้เดินทางไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลปากช่องนานาเพื่อเป็นหลักฐานในการถูกทำร้าย โดยพนักงานสอบสวน สภ.หนองสาหร่าย ได้นัดสอบปากคำเพิ่มเติมทั้ง 2 คดีในวันที่ 7 ก.พ.นี้

นายภาส ทนายความของชาวบ้านหนองไผ่ล้อมให้ความเห็นว่า กรณีนี้ เจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุมชาวบ้านโดยไม่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และไม่แจ้งข้อกล่าวหา รวมถึงมีการทำร้ายร่างกาย และควบคุมตัวไปในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน  ทั้งนี้ ในระหว่างทางจากโรงอาหารของศูนย์ฝึกฯ มาที่ สภ.หนองสาหร่าย พ.ต.ท.พิเชษฐ์ พยายามไกล่เกลี่ยให้ชัชฎาภรณ์เลิกราไม่เอาความที่ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ชัชฎาภรณ์เห็นว่า เธอถูกทำร้ายเกินกว่าเหตุจึงไม่อาจยอมความได้

นายภาส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดิมทีพื้นที่บ้านหนองไผ่ล้อมเป็นที่ดินราชพัสดุ มีชาวบ้านประมาณ 80 ครัวเรือน อาศัยอยู่มานานหลายสิบปี ต่อมา ปี 2555 กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ใช้ที่ดิน 1,919 ไร่ เพื่อนำมาจัดสร้างศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง โดยมีเงื่อนไขให้ สตช. จัดทำแผนอพยพชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ให้มีที่อยู่อาศัยและทำกินได้ต่อไปโดยไม่เดือดร้อน แต่ สตช. ไม่ได้ทำตามเงื่อนไข ทั้งยังห้ามชาวบ้านเข้าทำกิน ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ทำกิน อาชีพ และรายได้ 

อีกทั้งชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากการฝึกของตำรวจที่เข้ามาใช้สถานที่ฝึกซ้อม เช่น ยิงแก๊สน้ำตา ยิงปืน ซึ่งบ้างครั้งก็มีลูกกระสุนตกใส่หลังคาบ้าน และชาวบ้านต้องสัมผัสกับแก๊ซน้ำตา ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงหน่วยงานต่างๆ ขอให้จัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้านอย่างเหมาะสม แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ

ต่อมา สตช. ได้เข้าทำการปรับพื้นที่พิพาทดังกล่าวนี้ เพื่อก่อสร้างอาคารต่างๆ และผลักดันให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ โดยบอกว่าจะสร้างบ้านให้ครอบครัวละ 1 หลัง ขนาด 3 ม. x 4 ม. ในที่ดิน 70 ตร.ว. รวมเนื้อที่ทั้งหมด 50 ไร่ แต่ชาวบ้านกว่า 10 ครอบครัว ที่ยินยอมย้ายออกจากพื้นที่แล้ว กลับยังไม่มีบ้านให้เข้าอาศัย ทำให้ชัชฎาภรณ์และชาวบ้านอีกหลายครอบครัวเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่น ประกอบกับบ้านและที่ดินขนาดดังกล่าวเล็กเกินกว่าจะอยู่อาศัยและทำการเกษตรได้ จึงไม่ขอย้ายออก เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีชาวบ้าน 3-4 ครอบครัว ถูกเจ้าหน้าที่เข้ารื้อบ้าน ขุดต้นไม้ แต่ไม่มีใครกล้าแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากกลัวถูกข่มขู่คุกคาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ