โรงเรียนเล็กบนภูเขาสูง เห็นความสำคัญของสื่อที่มีในยุคปัจจุบัน ได้จัดกิจกรรม มือถือสื่อสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ ทับทิมสยามเด็กดี วิถีพอเพียง ได้รับการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง โดยมี สื่อชุมชนคนชายแดนไทย-กัมพูชา (คนชายแดน) เป็นวิทยากรให้ความรู้กับนักเรียนจำนวน 51 คน
โรงเรียนหมู่บ้านทับทิมสยาม 07 ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ อยู่บนภูเขาสูง เป็นโรงเรียนสุดท้ายในเขตนี้และมีพรหมแดนติดกับประเทศกัมพูชา โรงเรียนอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอขุนหาญ ประมาณ 20 กิโลเมตร มีความกันดารและห่างไกลความเจริญมากพอสมควร ความพร้อมและความสะดวกสบายอาจจะไม่ค่อยสมบูรณ์นัก
วรวิทย์ วงศ์บุญ ครูชำนาญการของโรงเรียนหมู่บ้านทับทิมสยาม 07 เล่าให้ฟังถึงที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า โรงเรียนของเราอยู่ไกลจากเมือง ช่วงนี้มีลมมีฝนมา เกรงว่าไฟจะดับ สัญญาณเน็ตจะตัด ยิ่งเรื่องสัญญาณ internet ก็มีจำกัด หากออกนอกเขตไปเพียงเล็กน้อยก็พลอยจะใช้การไม่ได้เลย ปัญหาและอุปสรรคมากมายเพราะเราไม่ได้มีเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ นัก ปีนี้เราได้งบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ได้ทำโครงการ ทับทิมสยามเด็กดี วิถีพอเพียงเป็นประจำทุกปี และปีนี้ได้เพิ่มกิจกรรมด้านสื่อและเทคโนโลยีเข้ามา เพื่อเด็กบ้านเราจะได้เรียนรู้เรื่องสื่อได้บ้าง ถ้าคนไหนสนใจเขาอาจจะได้ช่วยเหลือประชาสัมพันธ์โรงเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเราได้วิทยากรทีมงานในพื้นที่เราเองที่มีความรู้ความสามารถอย่างสื่อคนชายแดน ที่ช่วยนำเสนอกิจกรรมเราได้เป็นอย่างดีด้วย
ธีรพล แก้วลอย วิทยากรจาก สื่อชุมชนคนชายแดนไทย-กัมพูชา ได้เล่าถึงกิจกรรมนำเสนอให้ว่า
“วันนี้ทีมงานได้มาร่วมทำกิจกรรมกับน้อง ๆ นักเรียนบนพื้นที่สูง โดยชวนเล่น ชวนคิดชวนคุย ชวนดู และชวนออกแบบวิธีการเล่าเรื่องง่าย ๆ กับเรื่องราวที่นักเรียนเข้าใจได้ง่าย และสามารถสื่อสารนำเสนอกับสื่อที่มีอย่างมือถือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเนื้อหาหลัก ๆ ไม่ได้เน้นมากมายนัก เน้นให้ได้สนุกสานและเกิดการเรียนรู้และต่อยอดได้จริง ซึ่งได้เห็นสีหน้าแววตานักเรียนมีความสุขและสนุกสนานไปด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่เวลามีจำกัดครับ”
เช่นเดียวกับ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ วิทยากรจาก สื่อชุมชนคนชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวเพิ่มเติมว่า
“วันนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์อีกครั้งที่ได้นำเรื่องราวใกล้ตัวมาแบ่งปันให้กับนักเรียนบนพื้นที่สูง ให้รู้เท่าทันเรื่องสื่อกับโลกภายนอก และสามารถใช้สื่ออย่างมือถืออย่างเข้าใจ โดยได้มีวิทยากรมาร่วมแบ่งปันความรู้ที่หลากหลาย ได้เห็นอีกบริบทของความเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีสิ่งดีงามควรถูกนำเสนอต่อสังคมภายนอกได้”
ชัยภัทร แทนคำ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าบรรยากาศการอบรมให้ฟังว่า สนุกสนานและได้ความรู้ เรื่องการใช้มือถืออย่างสร้างสรรค์ ได้คิดและเขียนบทการเป็นพิธีกรและได้พูดหน้ากล้องด้วย
วิภาวิณี งำตั้ว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวสมทบเป็นแนวทางเดียวกันว่า ได้รู้การใช้มือถือให้เกิดประโยชน์และได้เขียนเรื่องใกล้ตัว ได้รู้วิธีการถ่ายทำด้วย และอยากให้จัดขึ้นอีก และขอขอบคุณคณะวิทยากรที่มาสอนให้ใช้มือถือให้เกิดประโยชน์ด้วยค่ะ