ชะตากรรมร่วมคนแม่ขนิล-สบลาน:เมื่อเขื่อนแม่ขานกำลังจะทำให้เขาหายไป

ชะตากรรมร่วมคนแม่ขนิล-สบลาน:เมื่อเขื่อนแม่ขานกำลังจะทำให้เขาหายไป

 “คนเมืองแม่ขนิลใต้” พบ “ปกาเกอญอสบลาน”

ชะตากรรมร่วมเมื่อเขื่อนแม่ขานกำลังจะทำให้เขาหายไป

มาฆบูชาปีนี้  พ่อหลวงพันธุ์ จันทร์แก้ว ไม่ได้ไปวัด  แต่กลับพาลูกบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางข้ามดอยหลายสิบกิโลจากบ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่  มาพบพะตีตอแยะ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ แห่งบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

แม้จะต่างเผ่าพันธุ์  แต่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน

 หมู่บ้านของเขาทั้งสอง อาจจะต้องจมมิดไปกับผืนน้ำ   หากเขื่อนแม่ขานหนึ่งใน 21 เขื่อนตามแผนโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เกิดขึ้นจริง  

                        ——————————–

รถปิคอัพพาพ่อหลวงพันธุ์ลัดเลาะเขา ลึกเข้าใกล้หมู่บ้านที่เป็นตำนานการสัมปทานป่าสักในอดีตของเชียงใหม่ …..ที่เขตลุ่มน้ำแม่ขานแห่งนี้  ยุคหนึ่ง เคยเป็นพื้นที่ให้บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่ามาทำสัปทาน  และยุคต่อมา  บริษัทคนไทยก็ได้รับสัมปทานทำไม้ประดู่ พะยอม ตะเคียน ฯลฯ  ซึ่งชาวบ้านคัดค้านจนสัมปทานถูกยกเลิกไปในที่สุด  ….

แนวป่าที่ลัดเลาะเข้าหมู่บ้าน ทุกวันนี้ยังเป็นป่าดงดิบและเบญจพรรณต้นสูงใหญ่ที่สมบูรณ์  มีการทำไร่หมุนเวียน  นาขั้นบันได  และเลี้ยงควาย ตามวิถีปกาเกอญอให้เห็นเป็นระยะ  ชาวบ้าน 100 กว่าคนที่นี่อยู่กันแบบเครือญาติ  มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าเช่นเก็บของป่า เก็บน้ำผึ้ง  ผูกผันลึกซึ้งแม้กระทั่งนำผลไม้ป่ายังนำมาย้อมสีฝ้ายเพื่อทอเสื้อผ้าสวมใส่ในชีวิตประจำวัน

 

                                         

 พะตีตอแยะและปกาเกอญอบ้านสบลาน  รอพ่อหลวงพันธุ์และชาวบ้านแม่คนิลใต้อยู่บนเรือนที่รายรอบไปด้วยป้ายผ้าแสดงความในใจของคนสบลานต่อโครงการเขื่อนแม่ขาน 1ใน 21 เขื่อนตามโครงการบริหารจัดการน้ำโดยกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท  

เขื่อนแม่ขาน กำหนดจุดก่อสร้างบริเวณ ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ มีความจุกักเก็บสูงสุดประมาณ 74 ล้านลูกบาศก์เมตร  หากก่อสร้างขึ้น หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง ของพ่อหลวงพันซึ่งมีชาวบ้านอยู่ประมาณ 58 ครัวเรือน 200 จน จะต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ  เช่นเดียวกับบ้านสบลานที่แม้จะห่างจากบ้านแม่ขนิลใต้ และอยู่เหนือจุดก่อสร้างไปกว่า 20 กม.แต่ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมเช่นกัน ชาวบ้าน 33 ครอบครัว 100 กว่าคน ก็ต้องถูกอพยพออกจากวิถีเดิมที่อยู่กันมา  นอกจากนั้นชาวบ้านอีก 2,000 คนใน 8 หย่อมบ้านรายรอบจะถูกตัดขาดทางสัญจร พื้นที่เลี้ยงวัวควาย รวมถึงผืนป่าในเขตลุ่มน้ำแม่ขานจะจมลงใต้น้ำจากเขื่อนแม่ขานทันที     

                             

                        พ่อหลวงพันธุ์  พ่อหลวงบ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่

 

พ่อหลวงพันธุ์ เล่าอดีตเมื่อ 19 ปีที่แล้วว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่ขานได้เกิดขึ้นโดยกรมชลประทาน  แต่ชาวบ้านก็ต่อสู้มาโดยตลอด ด้วยการยื่นหนังสือคัดค้าน ไปนอนที่ศาลากลาง  ยื่นเรื่องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน กระทั่งได้ข้อสรุปว่าให้ชะลอโครงการ  แต่ในครั้งนี้โครงการเดิมกลับถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพียงเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบจาก กรมชลประทาน เป็นกบอ.เท่านั้น”

พ่อหลวงพันธุ์เล่าด้วยว่า  ชาวบ้านแม่ขนิลใต้เป็นคนพื้นเมือง  ประกอบอาชีพทำนา  ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลเรื่องของการจัดสรรพื้นที่อพยพ  เมื่อครั้งรัฐบาลเชิญไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการจัดการน้ำฯ ที่หมู่บ้านก็ได้รับเชิญไปเพียง 5 คนอย่างเป็นทางการ ที่เหลือเป็นชาวบ้านอำเภอสันป่าตอง และอำเภออื่นๆ  

“วันนี้มาพบกับคนสบลานที่ต่างได้รับผลกระทบเหมือนกัน รู้สึกดีใจที่มีเพื่อนร่วมสู้ไปด้วยกัน และยิ่งเห็นชาวปกาเกอญอยังคงมีวิถีชีวิตดั้งเดิมและรักษาไว้ ยิ่งทำให้เห็นว่าการจะต้องโยกย้ายถิ่นจากการสร้างเขื่อนจะทำให้ชุมชนล่มสลาย จึงจะขอสู้จนถึงที่สุด”

พะตีตะแยะ ปราญ์ปกาเกอญอแห่งบ้านสบลานแบ่งปันข้อมูลว่า ป่าบริเวณลุ่มน้ำแม่ขานเคยเป็นสัปทานไม้สักของบริษัทฝรั่ง ซึ่งตอนนั้นพะตียังไม่เกิด แต่พ่อได้ไปรับจ้างขี่ช้างลากไม้อยู่   ต่อมาช่วงของสัมปทานโดยคนไทย พะตีเกิดแล้วและก็เคยรับจ้างขี้ช้างลากไม้เช่นกัน  ยุคนั้นฝรั่งจะเอาแต่ไม้สัก แต่ยุคของคนไทยเอาไม้แทบทุกประเภท และเกิดไฟป่ารุนแรงควบคุมไม่ได้  รวมถึงมีการคัดค้านไม่ให้สัปทานไม้ จนต้องปิดป่าในปี 2516   ดังนั้นป่าโดยรอบที่เห็นนี้จะเป็นป่าที่ฟื้นใหม่จำนวนหนึ่ง 

พะตีเล่าอีกว่า  ต่อมาราวปี 2535  เขาก็บอกว่าจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขานแทนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง  เราจะทำอะไรก็อาจจะผิดได้ ตอนนี้อะลุ้มอะล่วยกันอยู่ เรื่องก็ยังอยู่ประมาณนี้   ซึ่งที่จริงการดูแลรักษาป่า พวกเราที่อยู่ที่นี่มีวิธีการ เช่นหน้าแล้งก็จะทำแนวกันไฟ 12 กม.ช่วยกันรอบป่าที่เราดูแล  พื้นที่ป่าก็แบ่งเป็นป่าใช้สอย ป่าพื้นที่ทำกิน ไร่หมุนเวียนและนา และป่าอนุรักษ์ที่มีความเชื่อของเราอยู่ เช่นป่าต้นน้ำ ที่เรารักษาไม่ให้ไฟเข้า  เป็นพื้นที่เลี้ยงควาย และมีกติกาของชุมชนดูแลกันอยู่

   ชาวแม่ขนิลใต้ และชาวบ้านสบลาน  พูดคุยแลกเปลี่ยนปรับทุกข์กัน
 

พฤ โอโดเชา  ชาวกระเหรี่ยง อ.สบเมิง ผู้เคยเดิน“ธรรมชาติยาตราจากเชียงใหม่ถึงรัฐสภา  เพื่อป่าชุมชนของคนทั้งประเทศ”  เล่าถึงกรณีนี้ว่าชาวบ้านพยายามใช้สิทธิ์และยื่นข้อเสนอของคนอยู่กับป่ามานานแล้ว และล่าสุดมีการเดินสำรวแนวเขตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชาวบ้านร่วมกับหัวหน้าอุทยานและ อบต. แต่เมื่อทำแนวเขตเข้าไป  กลับมีการบอกว่ามีแนวที่กำหนดไว้แล้วไม่ได้ใช้แนวตามที่สำรวจร่วมกัน  ที่ประกาศมาเป็นกฎหมายแต่ที่ชาวบ้านเดินสำรวจกับเจ้าหน้าที่เป็นการดำเนินการระดับชั้นผู้น้อย  ทำให้ไม่มีความมั่นใจในสิทธิของชาวบ้านในจุดนี้  และมาตอนนี้ยังเกิดกรณีชุมชนเราจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมกรณีเขื่อนแม่ขานขึ้นมาอีก

“ธรรมชาติสร้างก้อนหิน สายน้ำ และป่าเขาให้ให้เราอยู่ ถ้าทำลายไป ใครจะสร้างธรรมชาติมาได้” ยายชาวปกาเกอญอแลกเปลี่ยน

“เหตุผลที่ผมอยากบอกกับทุกคนว่า ที่นี่ไม่ควรจะมีเขื่อน เพราะที่นี่คือเสาหลักของชีวิตพวกผม  ทุกคนคงอยากจะมีเสาหลักของชีวิตที่ทำให้มีชีวิตอยู่  ป่าที่นี่คือเสาหลักที่พวกผมเกิดและใช้ชีวิต  ความรู้เรามีไม่มาก แต่เราอยู่กันแบบนี้ได้  ถ้าต้องออกจากป่าก็เพียงแค่ใช้แรงรับจ้างเท่านั้น  ซึ่งไม่ใช่วิถีของพวกเรา” อ้ายบุญชาวบ้านสบลานบอก

          พะตีตะแยะ ปราชญ์ปกาเกอญอ

เมื่อประสบชะตากรรมเดียวกัน ปกาเกอะญอบ้านสบลาน จึงประกอบพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญให้กับชาวบ้านแม่คนิลใต้   และต่างตกลงใจกันว่าจะร่วมกันแสดงให้สังคมเห็นว่าพวกเขาดูแลรักษาป่าและอยู่กับธรรมชาติ รวมถึงไม่ต้องการเขื่อนแม่ขานกัน  โดยจะ “เดินเท้าธรรมยาตรา”  ตั้งแต่บ้านสบลาน อ.สะเมิง  ไปตามลำน้ำขาน   ยังบ้านแม่ขนิล  และมาถึงจุดที่กำหนดจะสร้างเขื่อน  โดยกำหนดในวันที่ 14-16 มีนาคม 2557 ซึ่งตรงกับวันหยุดเขื่อนโลก

             “ยิ่งมาเห็นคนบ้านสบลาน  รักประเพณีวัฒนธรรม และสืบทอดกันเช่นนี้ ยิ่งเห็นความสำคัญไม่ให้ชุมชนแตกสลายไป เพราะสิ่งเหล่านี้  ไม่มีที่จะสอนในโรงเรียน   นอกจากปูย่าตายอยจะสืบทอดให้เป็นวิถี  นอกจากนั้นพ่อก็รู้สึกอุ่นใจที่มีคนที่จะช่วยเหลือกันไม่เอาเขื่อนแม่ขานที่จะมาทำลายวิถีชีวิตของชุมชน”พ่อหลวงพันธุ์กล่าว

          “พะตีก็จะเดินเท้าร่วมเพื่อบอกให้คนได้รู้ถึงวิถีชีวิตของพวกเราที่อยู่กับป่า  และยินดีที่พี่น้องเครือข่ายที่ต่างๆได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเหล่านี้มาร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” พะตีตะแยะบอก

          “เรามาช่วยกันนะ” พะตีตะแยะบอกพ่อหลวงพันธุ์หลังผูกข้อมือให้ .

 

    ————————————————————————-

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ