สิริลักษณ์ อังกูรพิริยะ
ทีมงานมูลนิธิศักยภาพเยาวชน
ช่วงเย็นของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดเรียนอื่นๆ ณ วัดชยาลังการ์ หรือวัดป่าป้อง ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จะมีเด็กๆ เยาวชน ตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย ไปจนถึงวัยรุ่น แวะเวียนเข้ามาเรียน มาซ้อมดนตรีพื้นเมือง และการฟ้อนแบบต่างๆ นอกจากนี้วัดยังเป็นสถานที่ที่รุ่นพี่จะใช้เวลาว่างจากกิจกรรมต่างๆ มาสอนการบ้านแก่รุ่นน้อง ทำให้กลุ่มเยาวชนบ้านป่าป้องรู้จักคุ้นเคยซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น กลุ่มเยาวชนได้มีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับวัดและชุมชนภายใต้ชื่อ กลุ่มบัวชัยยา(ป่าป้อง)ขึ้น
หากมองเพียงผิวเผินจากคนภายนอก หลายคนอาจคิดว่า ณ พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาของเยาวชนใดๆ…. แต่เปล่าเลย ชุมชนแห่งนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ทั่วไปที่เยาวชนของชุมชนจะต้องเผชิญปัญหาบางประการไม่ว่าจะปัญหาเล็กหรือใหญ่ ดังกับว่าปัญหาเหล่านั้นคือเครื่องตรวจวัดความเข้มแข็ง และภูมิต้านทานของชีวิตที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เกิด จุดหนึ่งของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็อาจเนื่องด้วย “ความเป็นเยาวชน” “ความเป็นวัยรุ่น” การเป็นช่วงวัยแห่งความเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับเพื่อนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องปฏิสัมพันธ์ หากมองจากเหตุเหล่านี้จึงไม่น่าแปลกใจนักกับความไม่ธรรมดา และสีสันต่างๆ มากมายในเรื่องราวชีวิตที่พวกเขาเผชิญและผ่านพ้นมาในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ โดยที่ผู้ใหญ่หรือคนนอกกลุ่มอาจไม่มีใครได้รู้เลย
สถานการณ์การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน และการตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อมถูกนำเสนอผ่านหนังสั้นของเยาวชนป่าป้อง น้องนุ๊ก น้องฝาง น้องเอ น้องมิ้นและเพื่อนๆ ในกลุ่มอีกหลายคนช่วยกันนำเหตุการณ์ที่แต่ละคนเคยพบเจอในชีวิตประจำวัน พบเห็นจากเพื่อนๆ หรือรุ่นพี่มาวางโครงเรื่อง และนำเสนอเป็นหนังสั้นเรื่องราวชีวิตรักของวัยรุ่นที่มีบรรยากาศหวานแหววของช่วงชีวิตวัยรุ่นที่มีการชอบกัน จีบกัน และเรื่องราวก็เข้มข้นขึ้นกับฉากการโกหกผู้ปกครองเพื่อแอบไปเจอแฟน นัดสังสรรค์กับเพื่อนและแฟน เนื้อหาของหนังสั้นให้แง่คิด ถึงผลกระทบของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม และการทำแท้ง
ทีมงานของมูลนิธิศักยภาพเยาวชนรู้จักคุ้นเคยกับน้องๆ เยาวชนกลุ่มบัวชัยยาอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการยากในการประสานงานกับกลุ่มเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่น้องๆ ต้องการบอกแก่ชุมชนให้สังคมวงกว้างได้รับทราบ แต่สิ่งที่ทีมงานหนักใจก็คือ การหาตัวแทนเยาวชนที่เคยเผชิญปัญหาการท้องในวัยเรียนมาถ่ายทอดประสบการณ์ เพราะโดยทั่วไปแล้วคงไม่มีใครอยากเล่าประสบการณ์ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่ให้ใครทราบ และเมื่อสิ่งที่เล่าจะถูกนำเสนอผ่านจอทีวีเผยแพร่ทั่วประเทศก็เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นที่จะหาคนมาสะท้อนเรื่องราวชีวิตแต่หนหลัง อย่างไรเสียก็ถือว่าเป็นโชคดีของทีมงานที่เมื่อพูดคุยสื่อสารกับน้องๆ ถึงประเด็นนี้ น้องกลุ่มบัวชัยยาได้รับปากว่าจะพยายามคุยกับเจ้าของเรื่องให้ และขอเวลาไปติดต่อกับรุ่นพี่ที่กลุ่มน้องๆ นำชีวิตส่วนหนึ่งของเขามาทำเป็นบทหนังสั้น ทางทีมงานรอด้วยใจลุ้นระทึก เวลาผ่านไปสองวันก็ได้รับข่าวดีว่ารุ่นพี่คนนั้นยินดีที่จะให้สัมภาษณ์ เย้! ก็เหลือเพียงปัญหาเรื่องของการถ่ายทำในพื้นที่เท่านั้น
สำนักงานมูลนิธิศักยภาพเยาวชนตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่ไกลจากพื้นที่ ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด ทำให้สะดวกกับทีมงานในการเดินทางไปถ่ายทำ สามารถเดินทางไปเช้า เย็นกลับได้ ในการไปพบน้องแต่ละครั้งสถานที่แรกที่ต้องไปคือวัดชยาลังการ์ (วัดป่าป้อง) เมื่อพูดคุยกันเสร็จว่าจะต้องถ่ายทำอะไร อย่างไรบ้างแล้วจึงจะเคลื่อนย้ายพลไปถ่ายทำยังสถานที่ต่างๆ ที่กำหนด ตลอดการถ่ายทำพระครูปริยัติชยาลังการ ท่านเจ้าอาวาสวัดชยาลังการ์ซึ่งเป็นเสมือนพี่เลี้ยงและผู้ดูแล ให้คำปรึกษาแก่น้องๆ กลุ่มบัวชัยยาจะมาช่วยดูแล อำนวยความสะดวกให้แก่ทีมงานตลอดการถ่ายทำ หากการถ่ายทำบางวันตรงกับวันพระทางทีมงานและเด็กๆ ก็อิ่มแปล้ไปตามๆ กัน
น้องมิ้นพูดในช่วงการถ่ายทำว่า “หากอยากรู้ว่าชีวิตวัยรุ่นเป็นอย่างไร ก็มาดูหนังของเรา” อยากให้ทุกคนได้ดูเรื่องเล็กๆ จากเยาวชนกลุ่มเล็กๆ นี้ เผื่อใครหลายๆ คนจะได้มองเห็นแนวทางที่จะช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือเยียวยาเยาวชนวัยใส คนใกล้ตัวให้ผ่านพ้นจุดเสี่ยง และช่วงวิกฤติของชีวิตไปได้ด้วยดี