เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า
ผู้เขียนเรียบเรียงข้อมูลจากกิจกรรมของ “เลนส์ไทบ้าน” ภายใต้บทบาทเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมด้วยเครือข่ายนักสร้างสรรค์ ศิลปิน นักแต่งเพลง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ผลิตสารคดี และฝ่ายพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS เพื่อแนะนำทำความรู้จักเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น “เลนส์ไทบ้าน” และศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ภายใต้บทบาทการทำงานร่วมกับกองบรรณาธิการ Locals ของ Thai PBS โดยหวังร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสาธารณะในระดับท้องถิ่น และภูมิภาค เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ผ่านการเปิดพื้นที่สื่อสารและขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะในระดับท้องถิ่น ผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมดีๆ ของ เลนส์ไทบ้าน ได้ที่ facebook เลนส์ไทบ้าน – Lenstaiban Documentary
ข้อมูลส่วนนี้กล่าวถึง การแลกเปลี่ยนมุมมองสาระและพลังแรงบันดาลใจกับศิลปินนักสร้างสรรค์ผลงาน นักแต่งเพลงร้อยล้านวิว ผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์สารคดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ด้านประสบการณ์และเส้นทางของนักสร้างสรรค์ ในเสวนา “เปิดผ้าม่านกั้งเบิ่งหนังโสเหล่ : อนาคตนักสร้างสรรค์ ณ เมืองอุดร” วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี วิทยาเขตสามพร้าว โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณเจี๊ยบ นิสา (สุจิตตา นามเดช) นักร้อง/นักแต่งเพลง เจ้าของผลงานเพลง แค่คนคุย/สิมาฮักหยังตอนนี้ คุณวรวุฒิ หลักชัย ผู้กำกับภาพยนตร์และครูโรงเรียนเทศบาล 3 จ.อุดรธานี คุณจักรพันธ์ จันทร์ปัญญา เลนส์ไทบ้าน ผศ.ดร.มนูศักดิ์ เรืองเดช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏอุดรธานี และ ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดำเนินรายการโดย คุณวลัยลักษณ์ ชมสูงเนิน พบประเด็นน่าสนใจจากการแลกเปลี่ยน ดังนี้
นักสร้างสรรค์สามารถใช้ทุนทางวัฒนธรรมประยุกต์ในเนื้อร้อง/บทเพลง
คุณเจี๊ยบ นิสา (สุจิตตา นามเดช) นักร้อง/นักแต่งเพลง เจ้าของผลงานเพลง แค่คนคุย/สิมาฮักหยังตอนนี้ สะท้อนว่า ก่อนเป็นศิลปินแต่งเพลงเป็นคนอีสานแต่กำเนิด อยู่ในชนบทห่างไกลและได้เจอกับพี่ๆ ไปทำค่ายอาสา ทำให้ตัวเองมีใจมุ่งมั่น และเข้าเรียนที่ มรภ.อุดรธานี กระทั่งได้รับโอกาสเข้าเรียน ได้พบกับหมอลำ และเป็นนักร้อง คุณเจี๊ยบ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการแต่งเพลง คือ การมีครูเพลงเป็นไอดอล “ซักวันหนึ่งจะไปร้องเพลงให้ครูสลาฟัง” กระทั่ง ได้พบกับครูเพลงตัวจริงรู้สึกดีใจและตื้นตันมาก “สิ่งต่างๆ ในวิถีชนบทสามารถเข้าไปอยู่ในเพลง เป็นการใช้พลังความฮักความคิดฮอด อยากเป็นหมอลำด้วยหัวใจไม่ใช่เห็นเขาได้พวงมาลัยมากแล้วอยากเป็นหมอลำ “การแต่งเพลงของเราเป็นโอกาสที่ได้ใช้เรื่องราวของหมอลำมาประยุกต์ใช้ในเพลง” หรือส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงเกิดขึ้นจากการใช้โอกาสและต้นทุนที่ได้ใกล้ชิดกับหมอลำนำมาประยุกต์แต่งเป็นเนื้อร้องในเพลง
การอยู่ใกล้ทุนทางวัฒนธรรมนำไปสู่การซึมซับ เรียนรู้ และการนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการแต่งเพลง กลายเป็นสิ่งที่เป็นจุดเด่นให้ตัวเอง และทำให้ได้พบกับ “ครูเพลง” ที่เป็นศิลปินไอดอล
นักสร้างสรรค์ต้องมีความกล้านำเสนอในความเป็นอีสาน
คุณวรวุฒิ หลักชัย ผู้กำกับภาพยนตร์และครูโรงเรียนเทศบาล 3 จ.อุดรธานี สะท้อนว่า เริ่มจากการนำการเรียนการสอนแบบท่องจำมาเปลี่ยนเป็นเพลง MV ทำเป็นสื่อฉายให้นักเรียนดูที่ได้รับความสนใจทั้งระดับประเทศและโลก และมีการเปิดสอนหลักสูตรสื่อสร้างสรรค์ในโรงเรียน “เราอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับบ้านเรา” สมัยแรกๆ ไม่ค่อยมีคนกล้านำเสนอความเป็นอีสานในสื่อมากนัก หรือ “อีสานเรียล” กระทั่ง ภายหลังประสบความสำเร็จ “ของดีอยู่บ้านเรา” และในอนาคตมีแผนในการทำสื่อประเด็นด้านการทุจริตคอรัปชั่น อย่างไรก็ดี การทำสื่อไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราเจออุปสรรค์เราจะผ่านมันไปได้ต้องโฟกัสที่เป้าหมาย ถ้าเรามัวสนใจในสิ่งรอบข้างเราจะไปถึงเป้าหมายของเรา จะทำให้เราข้ามอุปสรรคไปได้ “ปัญหามีไว้แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็วางไว้นั่นแล้วไปต่อ” พร้อมทั้งเสนอว่า มหาวิทยาลัยน่าจะต้องเชื่อมโยงความร่วมมือกับหมอลำ และเชิญให้เข้ามาถ่ายทอดความรู้และสร้างหลักสูตร
สมัยก่อนการนำเสนอเกี่ยวกับอีสานเป็นสิ่งที่น่าอาย หรือ “อีสานเรียล” ไม่ค่อยได้รับความสนใจในสื่อกระแสหลักมากนัก
นักสร้างสรรค์มีความมุ่งหวังผลักดันทุนทางวัฒนธรรมสู่ “พื้นที่สื่อสร้างสรรค์“
คุณจักรพันธ์ จันทร์ปัญญา เลนส์ไทบ้าน สะท้อนว่า ตนเองเติบโตที่ มรภ.อุดรธานี สาขานิเทศศาสตร์ หลังจากนั้นได้ลองทำหนังและเข้าประกวด มีโอกาสได้ทำงานสายข่าวในกรุงเทพ แต่ก็รู้สึกว่าอยากกลับบ้านจึงได้ผลิตสื่อสารคดี และพบกับนักผลิตสื่อสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาตั้งคำถามต่อพื้นที่สร้างสรรค์อุดรธานี ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและถูกนำเสนอมากนัก ซึ่งคนในพื้นที่จะเป็นคนที่รู้จักดีว่ามีอะไรน่าสนใจ เราอยู่บ้านเราเองต้องมองเห็นว่ามีอะไรดีๆ อยู่เยอะ ทั้งมรดกโลก เรื่องราว ตำนานต่างๆ เช่น ผาแดงนางไอ่ เพราะเรื่องราวท้องถิ่นมากมายไม่ค่อยถูกเล่าเท่ากลับท้องถิ่นอื่น นอกจากนั้น ประสบการณ์จากการไปสื่อสารพื้นที่อื่นๆ เห็นว่า ในจังหวัดอุดรธานี ยังไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์เมื่อเปรียบเทียบกับนักสื่อสารพื้นที่อื่นๆ หากอุดรธานีมีพื้นที่เพิ่มขึ้นจะเป็นประโยชน์ จากการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะหมอลำและนักร้องหลายคนก็อยู่อุดรธานี หรือการลงพื้นที่ได้พบว่ากับกลุ่ม “จุ้มบ้านเชียง” เป็นคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำบางอย่างในชุมชน ผสมผสานความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับความเป็นสมัยเก่า
หากจะถามว่า “เคยเหนื่อยเคยท้อจนไม่อยากทำไหม” ตอบเลยว่า ไม่มี… เราตื่นขึ้นมาแล้วไปทำแบบนี้แหละคือทางของเรา ทดลองทำซ้ำๆ เรื่อยๆ จะเห็นว่ามันเป็นทางของเรา ทุกอย่างความฝันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ความฝันไม่มีขีดจำกัด
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอีสานถือเป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่ต้องช่วยกันยกระดับ
ผศ.ดร.มนูศักดิ์ เรืองเดช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏอุดรธานี สะท้อนว่า อีสานมีความโดดเด่นหลากหลาย เช่น เคยศึกษาเกี่ยวกับ “ชุมชนหมอลำ” มีคณะหมอลำมากกว่า 50 คณะที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่น มีรายได้เกิดขึ้นวันละล้านบาท มีถนนที่เรียกว่า “ซอยหมอลำ” หรือ “ซอยโอ้ละน๋อ” อดีตในอีสานมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านดนตรี ทั้งหมอลำ หมอแคน ร้านป้าย ร้านชุด และอื่นๆ ถือเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของอีสานจากหมอลำ คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มารวมกันจะกลายเป็นพลัง การบอกเล่าเรื่องราว มีหลักสูตรต่างๆ จะนำไปสู่การมีนักวิชาการศิลปินอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มงานอนุรักษ์ กลุ่มงานร่วมสมัย และกลุ่มงานสร้างสรรค์ “พ่อครูแม่ครูมีความรู้มารวมกับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร” การเข้าร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่มจะนำไปสู่การ “ตัด แต่ง ต่อ เติม”
อีสานมี “หมอลำ” เป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับอีสาน อนาคตอาจจะต้องช่วยกันยกระดับทุนทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่ม คือ กลุ่มงานอนุรักษ์ กลุ่มงานร่วมสมัย และกลุ่มงานสร้างสรรค์
ความสนใจทุนทางวัฒนธรรมอีสานสามารถนำไปสู่การต่อยอด “พื้นที่สร้างสรรค”
ผ.ศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สะท้อนว่า เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ ต้องค้นหาตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราอยากเป็นอะไร แล้วมหาวิทยาลัยจะช่วยหนุนเสริมศักยภาพ หลายๆ สิ่งที่ถูกนำเสนอมาจากการสร้างสรรค์ภูมิวัฒนธรรมอีสานที่ปรับตัวได้ การสนใจหมอลำ หรือวัฒนธรรมอีสาน อาจนำไปสู่สิ่งอื่น เช่น สนใจหมอลำผ่านการทำชุดเสื้อผ้า เป็นต้น มหาวิทยาลัยต้องการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนากำลังคนที่มีความสามารถด้านการทำสื่อต่างๆ และมีกระบวนการ เช่น หมอลำ ที่มาจากการศึกษาวิจัย และจะผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับ Thai PBS ต่อจากนี้ไปเราจะเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นพลังในการทำสื่อสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น การสร้างสรรค์สื่อผ่านศักยภาพจะเป็นไปได้ และการสร้างสรรค์จะต้องเข้าใจตั้งแต่รากของวัฒนธรรมก่อน เรื่องของหมอลำที่เคยเป็น “ความลับ” ของแต่ละวงจะต้องเปิดความลับนั้นออกมา การทำสื่อสร้างสรรค์ดีๆ จะต้องเข้าใจและเปิดเผย “ห้องความลับ” โดยมีพื้นที่สาธารณะให้แลกเปลี่ยนกัน “พ่อครูแม่ครูมีเจตนารมณ์ตรงกันที่มองเห็นคุณค่า”
นักสร้างสรรค์เมืองอุดรธานีจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเยาวชนสร้างสรรค์สื่อนำร่อง ไปร่วมเปิด “ห้องแห่งความลับ” คือ เรียนรู้และนำเสนอความลับต่างๆ ของศาสตร์หมอลำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านการผลิตสื่อ นำเสนออย่างสร้างสรรค์ และทำให้เกิดคุณค่าทางสังคม
นอกจากนั้น ยังมีผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจว่า บรรพบุรุษ (เชิงพื้นที่) ให้อะไรหลายอย่างไว้กับเรา แล้วเราจะพาอุดรธานีไปทางไหน คุณใบม่อน กล่าว และ เยาวชนจุ้มบ้านเชียง กล่าวเพิ่มว่า ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะกลับหมู่บ้าน แต่ก็พบว่าหลายอย่างเป็นวิถีชีวิตของบ้านเรา และตั้งคำถามว่าทำไมบ้านเชียงถึงซบเซา จึงเกิดการรวมตัวของคนในพื้นที่ขับเคลื่อนกิจกรรม “ถ้าเราไม่ทำเราจะรอใคร”
ข้อมูลและภาพกิจกรรมจาก เลนส์ไทบ้าน / Thai PBS