เยี่ยมยามสื่อท้องถิ่น ที่หลวงพระบาง แล้ว ย้อนมองภาพของ วารสารศาสตร์ท้องถิ่น เอาไงต่อ?
การกลับไปเยือนหลวงพระบาง รอบที่ 3 ของเรา ครั้งนี้เป็นการกลับไปในฐานะนักวิจัย(จริ๊ง จริง นะ) หลังจากที่สองรอบก่อนไปในฐานะผู้เสพวัฒนธรรมและหลงไหลในความเรียบง่ายของท้องถิ่นเขา
ที่บอกว่าไปในฐานะวิจัย ก็เพราะรอบนี้เราพกงานวิจัยถึงสองเครื่องไปเต็มสมอง เรื่องแรกว่าด้วยเรื่องการอยากรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านสุขภาพว่าด้วยเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ของพี่แม่พี่น้องลาวที่หลวงพระบาง ซึ่งเราศึกษาเทียบกับพี่น้องไทยที่อำเภอแม่สาย เจียงฮายบ้านของเราเอง ซึ่งในรอบนี้จะไม่เล่ารายละเอียดนะ (แต่ถ้าสนใจ ติดตามอ่านงานของเพื่อนร่วมเดินทางของเราได้ที่นี่ )
บทความนี้จะว่ามาว่าด้วยเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การเข้าไปศึกษาว่าด้วยเรื่องภูมิทัศน์สื่อท้องถิ่นที่หลวง พระบาง สปป. ลาว ว่าสื่อที่บ้านเขาทำงานกันอย่างไร ในสนามของการสื่อสารท้องถิ่น ชะตากรรมเขาเหมือนบ้านเราที่กำลังประสบอยู่หรือเปล่า
สื่อท้องถิ่นหลวงพระบาง :
หลวงพระบางหรือ เชียงทอง ในอดีต เป็นแขวงหนึ่งใน 17 แขวง และ 1 นครหลวงเวียงจันทร์ ของสปป. ลาว โดยภายในแขวงหลวงพระบางยังแบ่งออกเป็น 12 เมือง โดยมี เมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองเอกของแขวง หากจะเขียนถึงระบบสื่อสารระดับท้องถิ่นของหลวงพระบาง สปป. ลาว แล้วละก็ ก็ต้องหนีไม่พ้นที่จะกล่าวถึงสื่อของรัฐ ที่ถือเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักของประเทศ ซึ่งจากการแบ่งเขตการปกครองของเขา ส่งผลต่อการกระจายอำนาจการสื่อสารให้กับท้องถิ่นกระจายไปตามเขตการปกครองไปด้วย โดยแต่ละแขวงของลาวจะมีสื่อมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ โดยมีหน่วยงานที่เรียกว่า แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงหลวงพระบาง เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนกลางในระดับท้องถิ่นหลักที่สำคัญ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นสถานีลูกข่ายของสถานีของรัฐส่วนกลาง (คล้าย ๆ กับสทท. 11 ภูมิภาค เช่นทางเหนือของเราก็มีสทท. 11 เชียงใหม่ และสทท. 11 พิษณุโลก เป็นต้น) ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครหลวงเวียงจันทร์ โดยแต่ละวันนอกจากแต่ละแขวงจะเผยแพร่หรือนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับท้องถิ่นโดยเฉพาะการโฆษณาเผยแพร่ข่าวสารของเมืองตัวเอง ที่แต่ละเมืองในแขวงส่งมาให้และการทำข่าวในเขตเมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองเอกที่ตั้งของสถานีกลาง ผ่านช่องทางของตัวเองแล้ว ยังต้องคัดเลือกข่าวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้กับทางสถานีกลางเวียงจันทร์ ที่จะเป็นฝ่ายคัดเลือกเผยแพร่ออกอากาศระดับชาติทั้งแบบสื่อเดิมและสื่อสังคมออนไลน์ (ทางส่วนกลางกำหนดเป็นเพจกลางสำหรับ 17 แขวง บวก 1 นครหลวง โดยตัวแทนแต่ละแขวงเข้ามาเป็นแอดมินเพจร่วมกัน)
สำหรับแหล่งที่มาของเนื้อหาและรายการของสถานีวิทยุ และโทรภาพของเขา เวลาส่วนใหญ่นำเสนอรายการข่าวท้องถิ่นที่ผลิตเอง เนื้อหาข่าวมาจากที่ทำเองและมาจากห้องการแถลงข่าว หรือ (จากหน่วยงานระดับเมือง อีก 11 เมืองป้อนข่าวมาให้กับสถานีกลางที่เมืองหลวงพระบางคัดเลือกนำออกอากาศ) รายการที่ร่วมผลิตกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น และรายการที่มาจากสถานีกลางเวียงจันทร์และรายการจากประเทศจีนตามข้อตกลงระดับชาติ) แต่ที่เราชอบมากก็คือ การออกอากาศของเขาทั้งโทรภาพและวิทยุ พวกเขาให้ความสำคัญกับภาษาชาติพันธุ์ ด้วย โดยแบ่งช่วงเวลาการออกอากาศเป็นภาษาขมุและม้ง นอกเหนือไปจากภาษาลาว และมีผู้ประกาศภาษาดังกล่าวประจำสถานีด้วย อันนี้ยกนิ้วให้ถือว่ารักษาความเป็นท้องถิ่นได้ดี มาก ๆ
การอพยพเข้าสู่ดิจิทัลของสื่อท้องถิ่นของรัฐทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าสื่อที่ได้รับผลกระทบจากการปั่นป่วนของเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุดก็คือ สื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารของแผนกแถลงข่าวที่หลวงพระบางพบว่า ปัจจุบันได้หยุดการพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษไปแล้ว และหันมาใช้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้เฟซบุ๊กเพจเป็นช่องทางหลัก ซึ่งการอพยพเข้าสู่ดิจิทัลทำให้ข้อจำกัดด้านความรวดเร็วในการเผยแพร่ข่าว และการเข้าถึงผู้อ่านที่เคยจำกัดลดน้อยลง อีกทั้งช่วยประหยัดต้นทุนการตีพิมพ์ที่ค่อนข้างมีราคาสูง เพราะแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มากนัก ประมาณ 1,500 ฉบับต่อ15 วัน ส่วนสื่อวิทยุ และโทรทัศน์นั้นก็ยังคงใช้ช่องทางเดิม และเพิ่มช่องทางดิจิทัลหรือสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊กเพจ) ร่วมกันไป โดยที่สื่อวิทยุ สามารถจัดรายการแบบไลฟ์สด ที่เปิดโอกาสให้คนฟังขอเพลงหรือสื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ ขณะที่ โทรภาพ หรือโทรทัศน์ยังไม่มีการแพร่ภาพสด เนื่องจากทางทีมงานบอกกับเราว่า ยังไม่พร้อมเพราะคนทำงานไม่พอ งานโทรภาพจะมีขั้นตอนมากกว่าและใช้คนมากกว่าจะไม่เหมือนกับงานวิทยุ แต่น่าสนใจที่ดูจะแตกต่างจากสื่อของรัฐของไทยก็คือ ในเพจ หรือในรายการของเขาสามารถหารายได้หรือขายโฆษณาได้ โดยสามารถใส่โลโก้ของผู้สนับสนุนหรือผู้โฆษณาในรายการข่าวได้ แถมยังมีการตั้งหน่วยงานส่งเสริมเพจ เป็นฝ่ายหาโฆษณาอย่างจริงจังด้วย ซึ่งบ้านเราการเป็นสื่อของรัฐ ซึ่งใช้ระเบียบราชการ มีความยุ่งยากในการรับเงินหรือใช้เงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ พอสมควร ต้องขออนุมัติหลายขั้นตอนเลยทีเดียว
สนามสื่อดิจิทัลท้องถิ่น
อย่างที่เราได้เขียนไปข้างต้นที่บอกว่า สื่อท้องถิ่นของรัฐ ณ หลวงพระบาง ถือเป็นสื่อกระแสหลักแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น ที่อพยพเข้าสู่โลกดิจิทัลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ในยุคโควิด 19 ) ทำให้การเป็นสื่อกระแสหลักบนสนามท้องถิ่น สื่อของรัฐอาจไม่ใช่ตัวหลักอีกต่อไป เพราะเมื่อเข้าสู่สนามดิจิทัล ย่อมต้องเผชิญหน้ากับผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่เป็นทั้งสื่อ Native digital ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล สื่อภาคประชาชน ผู้ผลิตเนื้อหาจากท้องถิ่นอิสระ สื่อของหน่วยงานห้างร้านที่ทำสื่อด้วยตัวเอง รวมถึงสื่อของรัฐที่เป็นเมืองย่อย ๆ อื่น ๆ อีก 11 แห่ง ที่มีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้เองเช่นกัน ด้วยสถานการณ์และผู้เล่นในสนามสื่อดังกล่าว เราเห็นว่า หลวงพระบาง เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ขาดแคลนระบบสื่อสารในท้องถิ่น อย่างน้อย ๆ ประชาชนเขาก็ยังมีสื่อวิชาชีพหลักทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นประจำวัน และยังมีสื่อทางเลือกให้ได้รับรู้อีกหลากหลายทั้งเนื้อหา รูปแบบและช่องทาง
สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาท้องถิ่น หรือ Local Content Creator ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นชุมชนที่หลวงพระบางที่เราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยนั้น มักนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของหลวงพระบางทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ (Recorded Culture) โดยเลือกบันทึกผ่านความสนใจ ความชำนาญและความสัมพันธ์ของเขาที่มีต่อวัฒนธรรมนั้น ๆ และหรือในแง่มุมของปัจจุบัน (Lived Culture) ของวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่กำลังเป็นอยู่ บางครั้งก็ทำให้พื้นที่การสื่อสารของพวกเขาเป็นพื้นที่ต่อรองกับผู้มีอำนาจโดยการเสนอข้อมูลที่รัฐห้าม เช่นเรื่องของระบบกษัติรย์ หรือเรื่องที่รัฐไม่ให้ความสนใจ เช่นประวัติศาสตร์ 100 ปีของสนามบินหลวงพระบาง ที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง ที่รัฐไม่กล่าวถึง เป็นต้น แต่เท่าที่เราสังเกตดูเราจะเห็นว่า เนื้อหาของผู้ผลิตที่คนรุ่นใหม่จริง ๆ การสาวลึกไปถึงกับรากประวัติศาสตร์มีไม่มากและไม่ค่อยตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันเท่ากับผู้ผลิตของคนรุ่นก่อน หรือเรียกว่า Gen Y หรือ Gen X แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นเจนไหน สื่อของรัฐ หรือสื่อของผู้ผลิตเนื้อหาท้องถิ่น ยังคงใช้พื้นที่/ท้องถิ่นทางกายภาพเป็นตัวยึดโยงระหว่างเนื้อหากับท้องถิ่นกายภาพนั้น ๆ เสมอ
ความท้าทายของสื่อท้องถิ่น
การดำรงอยู่ของสื่อท้องถิ่นในหลวงพระบาง ในส่วนที่เป็นของรัฐ คงไม่น่าห่วงมากนัก เพราะสามารถดำรงอยู่ในท้องถิ่นได้ ตราบใดที่รัฐบาลยังเห็นความสำคัญของการสื่อสารไปยังประชาชนของพวกเขา ไม่ต่างจากสื่อท้องถิ่นของรัฐในบ้านเรา แต่ความท้าทายของพวกเขาจึงอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัว เปิดรับ ทักษะ ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลมาพัฒนางานและการทำข่าวให้ “เอาผู้ชมอยู่” และการรู้จัก เข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมของผู้รับสารในท้องถิ่นของพวกเขาเอง ตลอดจนการต่อสู้กับสื่อดิจิทัลอื่น ๆ ในที่อยู่ในภูมิทัศน์สื่อดังกล่าวที่มีความไว และคล่องตัวมากกว่า และเนื้อหาที่มาจากคนธรรมดาที่อาจถูกรสนิยมของผู้ชมในท้องถิ่นมากกว่าเป็นสำคัญ โดยใช้จุดแข็งที่เป็นความได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นความเป็นวิชาชีพ ความเป็นสื่อของรัฐที่เข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่าและเครือข่ายร่วมผลิตอย่างน้อยถึง 11 แห่งที่อยู่ในท้องถิ่นมาใช้ เพื่อตอกย้ำคุณค่าของการเป็นสื่อมวลชนวิชาชีพหลักในท้องถิ่นเอาไว้
ส่วนผู้ผลิตเนื้อหาอิสระ ความได้เปรียบในด้านความไว และความเป็นอิสระในการนำเสนอเนื้อหาตามความเชี่ยวชาญและความสนใจ แต่ก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของผู้รับสารของตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อจะทำให้เนื้อหาได้รับความนิยมและมีความหมายสำหรับคนในท้องถิ่น ขณะเดียวกัน หากต้องการเม็ดเงินหรือรายได้เลี้ยงตัวเองไม่ว่าจะใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก หรือยูทูปก็ตามแล้ว อาจต้องพึ่งพาการหารายได้จากแพลตฟอร์มเป็นหลัก ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องยากต้องอาศัยใจรัก และขยันในการผลิตเนื้อหาจริง ๆ เพื่อสร้างโอกาสที่หากช่องสร้างชื่อเสียงได้มากขึ้นก็อาจจะได้รับความสนใจจากสินค้าหรือองค์กรให้กลายเป็นพื้นที่โฆษณา และโอกาสทางการได้รายได้เพิ่มเติม แถมยังต้องเผชิญกับการแข่งขันแย่งสายตาผู้ชมกับช่องหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น ๆ
เมื่อได้ไปเยี่ยมเยือนสื่อท้องถิ่นที่หลวงพระบาง กลับมามองย้อนถึงสื่อท้องถิ่นในจังหวัดของตนเอง พบว่าสภาพปัญหา ข้อจำกัด คล้ายคลึงกัน แม้ว่าปัจจุบันจังหวัดพะเยาที่เราทำงานอยู่ สื่อท้องถิ่นที่เป็นวิชาชีพ แบบสื่อดั้งเดิมแทบจะไม่มีเหลือ แต่ก็มีสื่อ Hyperlocal media ในชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้นมากมาย แต่หากพิจารณาเรื่องของ “ข่าว” หรือ “สื่อข่าว” จริง ๆ ที่ให้บริการข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเพื่อให้คนในชุมชนตื่นรู้ รู้เท่ารู้ทันการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันก็ยังคงมีไม่มากนัก
เราอาจต้องมาทบทวนกันใหม่ว่า สื่อข่าวท้องถิ่น หรือวารสารศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดเล็ก ๆ จะดำรงอยู่ด้วยรูปแบบไหน และจะทำงานอย่างไรถึงจะหนุนเสริมสิทธิการรับรู้ข่าวสารของตนเองของคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้คนในชุมชนทราบว่า เขาจะพลาดหรือเสียอะไรไปบ้าง หากวารสารศาสตร์ท้องถิ่นตายไปจากท้องถิ่น
คลิกฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับสื่อท้องถิ่นที่หลวงพระบางเพิ่มเติม ได้ที่ https://fb.watch/tWUxTnm4DN/