ความสงบราบเรียบ

ความสงบราบเรียบ

10885459_821286257955211_9189671365464038240_n                                                                                                    คอลัมน์: รับเชิญ  เรื่อง: ภู กระดาษ

 

เป็นเดือนที่ฝนน่าจะตกต้องตามฤดูกาลแล้ว แต่ทว่าท้องฟ้ายังสูงโปร่ง เมฆหร็อมแหร็ม และผืนดินก็แห้งขาวโพลนจนข้าวที่หว่านไว้เริ่มเหี่ยวเฉาตายลง ในปลายเดือนมิถุนายน ปี 2015 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมยามบ้านเกิด หลังจากได้กลับไปครั้งล่าสุดนานราวปีกว่าๆ ที่ผ่านไป หากจะระบุไปให้แน่ชัดสักหน่อยก็คงราวๆ สองหรือสามเดือนก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ปี 2014

ความแตกต่างกันในบรรยากาศของหมู่บ้านหากเทียบเคียงกันระหว่าง 2 ครั้งนั้น โดยการสังเกตส่วนตัวและฟังจากไทบ้านที่ได้พบเจอพูดคุยกัน ผมพบว่า บรรยากาศในหมู่บ้านนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก หรือหลังจากคสช.ขึ้นครองอำนาจบริหารประเทศมาได้ปีกว่าๆ ด้วยกฎอัยการศึกและตามด้วย ม.44 เป็นต้นมา ความเงียบเหงา ความสงบราบคาบได้เข้ามาโอบอุ้มหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านเอาไว้จนหมด

ก่อนหน้านั้น หมู่บ้านเคยเต็มไปด้วยความคึกครื้นมีชีวิตชีวา เคยเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนสนทนากันโดยเฉพาะการทำมาหากินในแต่ละวัน และเรื่องการบ้านการเมือง แม้ห่างกันเพียงปีกว่าๆ ก็ตาม ราวกับว่าอยู่กันคนละยุคสมัย อาจย้อนไปถึงยุคทศวรรษที่ 1980 นั่นเลย

ยุคนั้นผมยังจดจำบรรยากาศได้ว่า คนเข้านอนกันตั้งแต่หัวค่ำ กลับจากไร่นาตั้งแต่ดวงตะวันอยู่ครึ่งฟ้า เพราะความหวาดกลัวภัยจากพวกคอมมิวนิสต์ การสนทนาพูดคุยกันหลังอาหารมื้อค่ำก็เป็นไปอย่างซับๆ แซบๆ กระซิบกระซาบ และกลางคืนก็สุดมืดมิดยาวนาน ส่วนกลางวันนั้นก็ผุบผู่สลัวรางจนเหมือนกับจะมีผีพรายนานาชนิดออกมาเดินเล่นเพ่นพ่าน

ซีดเซียว เหงาหงอยเสมอหน้ากันไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนกัน หรือแตกต่างกันในระดับไทบ้านร้านถิ่นทั่วไป ราคาผลผลิตตกต่ำกับภาวะพูดบ่ได้ ไอบ่ดัง สุมรุมและโลมเล้าอย่างสาหัส และก็อย่างไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาใครได้ หลังจากที่พึ่งพาตนเองมาจนเหงื่อไคลค้าวยางตายย้อยหยาดอาบร่างแล้วอาบร่างอีก แต่ยังไม่ตายสักทีแล้ว

กระนั้น มีแต่กลุ่มข้าราชการจำนวนหนึ่งที่ร่าเริง สดใส และพึงพอใจกับบรรยากาศเช่นนี้ และกล่าวให้ถึงที่สุด ในความตรงข้ามกันเช่นนี้ก็ไหลเวียนอยู่ในหมู่บ้านของผมมานับนานแล้ว

จากการสังเกตและนิ่งฟังตลอดหลายวันที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แล้วเทียบเคียงกลับไปถึงครั้งก่อนหน้า ผมพบว่า:

จากที่เคยออกไปรับจ้าง งานก่อสร้างบ้านเรือนทั่วไป หรืองานรับจ้างในนาในสวนทั่วไป ทั้งในหมู่บ้านตนเอง และตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ก็ไม่ได้ออกไปอีกแล้ว เมื่อว่างเว้นก็จมเจ่าอยู่แต่ในบ้านช่องห้องหอของตนเอง เพราะไม่มีคนจ้าง ทุกอย่างชะงักงันไปหมด

ที่เคยครึกครื้นจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าประจำหมู่บ้าน ก็เหลือเพียงการจับจ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ในหมู่บ้านของผมนั้น หากไม่ออกไปรับจ้างยังกรุงเทพกรุงไทย หรือทางภาคตะวันออกของประเทศไทย แล้วส่งเงินกลับบ้าน ก็ทำการเกษตรกรรมเป็นหลัก หลักๆ ที่ทำคือ นาข้าว ยางพารา และพืชไร่ชนิดอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง

ด้วยเหตุผลหลายประการตามที่นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. และทีมบริหารด้านเศรษฐกิจของประเทศได้แจกแจงทุกคืนวันศุกร์และทุกวันหลังเคารพธงชาติเวลา 18.00 น. และตามการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว [1], ปัญหาด้านการเมือง-ความขัดแย้งที่สะสมมายาวนาน [2], มีผลผลิตมากเกินไป ต้นทุนการผลิตก็สูง

ถึงขนาดว่าคงต้องไปขายที่ดาวอังคารหากอยากได้ราคาดี [3], และหากขายแล้วได้กำไรน้อยก็ขอให้เลิกปลูกให้หันไปปลูกอย่างอื่นแทน [4] จึงทำให้จากที่เคยครึกครื้นเพราะได้ค้าได้ขายผลผลิตทางการเกษตรพอเป็นราคา ก็กลายเป็นขลุกอยู่กับพอแต่พ้นคืนพ้นวันไป ราคาผลผลิตทางการเกษตรนั้นตกต่ำลงไปเป็นอย่างมาก และจึงส่งผลต่อผู้ที่อยู่ภาคการผลิตอย่างไม่ต้องตีลังกาคิดแต่อย่างใด

เมื่อได้รับรู้รับทราบและจ่อมจมโดยทั่วกันแล้ว บางครั้งก็พยักหน้าหงึกๆ อ้าปากหวอ แต่บางครั้งก็น่าหัวเราะให้แก่ความเป็นไปเช่นนี้ แต่น่าเสียดายที่หัวเราะไม่ออก ได้แต่เหงาหงอยเศร้าซึมกันไปทั้งหมู่บ้าน

และคงต้องพึ่งพาตนเองต่อไปอย่างที่เคยพึ่งพาตนเองมาตลอดนั่นเอง ไม่รู้จะไปเรียกร้องหรือปรึกษาใครได้ เมื่อประเทศชาติบ้านเมืองเป็นไปเช่นนี้ หากบ้านเมืองเป็นอีกแบบหนึ่งที่พอจะพูดจะคุย จะเรียกร้องอะไรกันได้บ้าง แม้ว่าการเรียกร้อง หรือการพูดคุยกันนั้นจะไม่บรรลุผลอะไรก็ตาม แต่ทว่าอย่างน้อยก็ยังพอได้ระบายความอัดอั้นตันใจออกมา ยังได้พูดคุยกัน ยังพอได้ปรึกษาหารือหาลู่ทางดำเนินกันต่อไป ยังพอได้บอกกล่าวให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้

และการแก้ไขปัญหาก็คงแตกต่างไปจากปัจจุบันนี้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

กระนั้นก็ตาม ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูป การปรองดอง สู่ความสงบ ความสามัคคี และความมั่นคงเช่นนี้นั้น การเรียกร้อง หรือการพูดคุยสนทนากัน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่ใครๆ ต่างทราบกันดี และประสบพบเจอกันอยู่แล้ว หรือกล่าวได้ว่า ไม่ควรกระทำอะไรที่ไม่สร้างสรรค์เช่นนี้ ในห้วงยามนี้โดยประการทั้งปวงนั่นเอง

และที่เคยซุมแซวรวมกลุ่มสนทนากันบนลานบ้านหลังอาหารมื้อค่ำ พูดคุยสนทนาสารทุกข์สุขดิบ หาอยู่หากิน การบ้านการเมือง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ปัญหา/การแก้ปัญหาในการบริหารงานของผู้ใหญ่บ้าน อบต. จนถึงระดับชาติ การแสดงความคิดเห็นต่างๆ สู่กันฟัง ก็ไม่มีใครกล้าจับกลุ่มกันอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะโผล่เข้ามาร่วมวงสนทนาในตอนไหน เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะมองอย่างไร ถ้าในแง่ดี ก็ดีไป แต่คงเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นไปในแง่นั้น

จริงอยู่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานั้นสร้างความแตกแยกให้แก่คนในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ทว่าในหมู่บ้านของผมนั้น แม้มีความคิดความเห็นสนับสนุนขั้วการเมืองที่แตกต่างกัน คนละขั้วคนละฝ่าย กระนั้น การถกเถียง หรือความขัดแย้งกันก็เป็นเพียงการปะทะคารมกันเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น มีขัดเคืองกันบ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับเกลียดชังกันอย่างไม่เหยียบเงาไม่เผาผีกันแต่ประการใด

ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่า ความเป็นเครือญาติกันในหมู่บ้าน การพึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอด และหลังจากที่ผ่านการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานหลายปี ก็เรียนรู้ที่จะเคารพนับถือกันในความคิดความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เคารพในความเป็นใจเขาใจเรา หรือยอมรับในเหตุผลของกันและกันอยู่นั่นเอง

ความแตกต่างกันในสภาพบรรยากาศของหมู่บ้านระหว่าง 2 ครั้งล่าสุดที่ได้กลับไปเยี่ยมยามบ้านเกิดที่สังเกตเห็นจึงประจักษ์ชัด แม้ว่าคนในหมู่บ้าน หรือแม้แต่ผมเองไม่ได้มีความปรารถนาเช่นนั้น ทว่ามันก็ได้เกิดขึ้น ดำเนินอยู่ และรุดหน้าไปอยู่นั่นแล้ว เมื่อทั้ง 2 สิ่งอย่างมาสบประสานกัน: ปากท้องและปากเสียงอันอัตคัดเช่นนี้

ผมจึงได้แต่นึกถึงคำเก่าคำก่อนที่ว่า “ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ท้อง สินอนลี้อยู่บ่เป็น” และเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยต่อกันว่า “เห็นเต็มตาปากบ่ได้ ให้ตายทิ้งเสียดีกว่า อัญญาเอย” นั่นเอง.

********

[1] หม่อมอุ๋ยรับ! ส่งออกไตรมาสแรกร่วง 4% แจงเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกทรุด (มติชน ออนไลน์ วันที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2558 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1428541178)

[2] “ส่วนหัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้ ที่ตั้งหัวข้อว่า “เศรษฐกิจจะยุ่งหรือจะพุ่ง” ถ้าหัวข้อนี้ตอบได้ง่ายๆ ปีหน้าถ้าเทียบกับปีนี้ยังไงก็รุ่ง ไม่ได้เก่งอะไรหรอก ปีนี้จากการประท้วงต่อเนื่องจากปีที่แล้วจนถึงพฤษภาคม และจากการที่ระหว่างเตรียมตัวจะเปลี่ยนรัฐบาล เกิดความความล่าช้าทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง มันเดินไม่ได้ และไม่อยู่ในสภาพที่ผลักดันไม่ออก สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเติบโตในปัจจุบัน” (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แจง 1 ปี “เศรษฐกิจไทยจะพุ่งหรือยุ่ง” ต้องทำและไม่ทำอะไร http://thaipublica.org/2014/10/pridiyathorn-devakula/)

[3] ส่วนปัญหายางพาราที่เริ่มมีการเดินขบวน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราก็แก้ปัญหาทั้งระบบอยู่ แต่ไม่รู้เกษตรจะใจเย็นพอหรือไม่ จะขอราคายางที่ 90-100 บาท ขอถามว่าตอนนี้เราขายได้แค่ 60-70 บาท แล้วจะไปขายให้ใครในโลกนี้ สนับสนุนปลูกยางพารากันอย่างนี้คงต้องไปขายที่ดาวอังคารแล้ว (“บิ๊กตู่” ตอกยางโลละร้อยคงต้องขายดาวอังคาร – เหน็บพวกไม่ปรองดองสองชาติไม่ได้เกิดเป็นไทย http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000106097), “…อย่าไปคิดแต่เพียงว่าราคาอย่างเดียว ราคาจะผันผวนไปตามสถานการณ์โลก สถานการณ์ตลาดโลก แต่สิ่งที่ท่านจะช่วยกันได้ ขณะนี้คือการลดต้นทุนการผลิต ราคาจะต่ำแต่ถ้าต้นทุนต่ำ อย่างไรก็กำไร อย่าไปมองเรื่องราคาต้องเท่านั้นเท่านี้ บางทีไม่ได้ ขอรัฐจำนำ ขอรัฐประกันราคา แล้วจะไปขายใครเป็นภาระคลังเก็บ เสื่อมสภาพเข้าไปอีก และเสียหาต่อประเทศโดยรวม มีผลเรื่องการทุจริต ผิดกฎหมายเข้าไปอีก วุ่นวายไปหมด…” (รายการคืนความสุขให้คนในชาติ วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2558 http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_k2&view=item&id=92199:id92199&Itemid=350&lang=th)

[4] “บิ๊กตู่”ชูพืชสมุนไพรแทนข้าว เผย”หมามุ่ย”แปรรูปกก.8หมื่น (http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000077392)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ