“ศาสตร์น้ำพริกคนเหนือ” : ว่าด้วยความหลากหลายของน้ำพริกในป่าดงพงไพร ชาติพันธุ์ และเมือง

“ศาสตร์น้ำพริกคนเหนือ” : ว่าด้วยความหลากหลายของน้ำพริกในป่าดงพงไพร ชาติพันธุ์ และเมือง

เรียบเรียง : พงษ์เทพ บุญกล้า

ผู้เขียนกล่าวถึง “ศาสตร์น้ำพริกคนเหนือ” : ว่าด้วยความหลากหลายของน้ำพริกในป่าดงพงไพร ชาติพันธุ์ และเมือง จากการเข้าฟัง (ออนไลน์) การแลกเปลี่ยนมุมมองต่อ “น้ำพริก” แบบคนเหนือผ่านกิจกรรมเสวนา นิทรรศการ และชวนชิม “น้ำพริกจากพงไพร – น้ำพริกชาติพันธุ์ – น้ำพริกคนเมือง” วันที่ 3 สิงหาคม 2567 ณ โอลด์ เชียงใหม่ (ศูนย์วัฒนธรรมฯ) จังหวัดเชียงใหม่ โดย The North องศาเหนือ Thai PBS ในบรรยากาศแบบล้านนา และผู้รู้ด้านวัฒนธรรมอาหารเหนือร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอาหารเหนือ คุณสนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมล้านนา และคุณนันทกานต์ เกสร เครือข่ายเกษตรอินทรีย์สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดย คุณสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ (ดำเนินการเสวนา) เนื่องจากน้ำพริกในภาคเหนือมีความหลากหลาย ตามกลุ่มคน ทั้งคนเมืองในวัฒนธรรมล้านนา น้ำพริกของกลุ่มชาติพันธุ์ และน้ำพริกจากพงไพร ล้วนเป็นตัวแทนน้ำพริกจากความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศที่เราได้ลิ้มรสตามฤดูกาลและสะท้อนถึงความหลากหลายของน้ำพริก

จับมือกันเพื่อทำให้กิจกรรม “น้ำพริก” ลงไปสัมผัสกับ “ผู้คน” ตัวจริง และจะนำไปสู่งานใหญ่ “ยกพลคนน้ำพริก” เพราะน้ำพริกคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตของทุกคน “ตั้งแต่เหนือจดใต้ ภูเขาจดทะเล” น้ำพริกเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จะต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย และเป็นทุนของประเทศต่อไป

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ Thai PBS

น้ำพริกภาคเหนือแบ่งออก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มน้ำพริกคนเมือง น้ำพริกกลุ่มชาติพันธุ์ และน้ำพริกจากพงไพร “ทางเหนือเห็นอะไรก็สามารถเอามาทำน้ำพริกได้ น้ำพริกมีอะไรมากมายที่ให้หยิบมาพูดคุยกัน”

คุณสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์

ยุโรปเข้ามาภูมิภาคแถบนี้เพื่อซื้อเครื่องเทศ ล้านนารับเอาอิทธิพลเครื่องเทศมาใช้ในอาหาร คนล้านนาเดิมมีมะแขว่นเป็นวัตถุดิบชูรส คำว่า “เครื่องเทศ” ขึ้นต้นก็ไม่ใช่คำเมืองแล้ว แสดงว่าเราไปรับอิทธิพลจากภาคกลางมา สมัยก่อนเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอำนาจที่ไปรับเอาความนิยมเครื่องเทศแบบภาคกลางเพราะเห็นว่า “อร่อย”

ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอาหารเหนือ สะท้อนเกี่ยวกับความสามารถในการทำน้ำพริกว่าเป็น “ศาสตร์” และ “ความรู้” ภายในครอบครัว แต่ละครอบครัวมีคนเก่งและมีสูตรเฉพาะแตกต่างกัน กระทั่งภายหลังเกิดการปรับตัวสู่การค้าและร้านอาหาร จึงพบน้ำพริกที่แตกต่าง เรื่องของน้ำพริกเป็นความสามารถของผู้คนในท้องถิ่นที่จะหาวัตถุดิบมาทำกิน สามารถนำวัตถุดิบและสัตว์ที่เป็นประโยชน์นำมาผสมเป็นน้ำพริกได้ โดยเฉพาะ “มะแขว่น” ไม้ใหญ่มีกลิ่นและรสชาติพิเศษที่สามารถมาจัดการกับเนื้อ หรือทำลาบกินกับผัก ถือเป็นอาหารมื้อใหญ่ ลาบของล้านนามี 2 แบบ คือ ใช้มะแขว่นนำ เป็นลาบของชาวล้านนาตะวันออก ได้แก่ เชียงใหม่ และลำพูน มีเครื่องเทศจำนวนมากปะปนอยู่ ส่วนพื้นที่แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย จะไม่ค่อยใส่มะแขว่นหรือใส่น้อยมาก

กล่าวอีกว่า รสชาติน้ำพริกเป็นเรื่องของ “ครอบครัว” ประเพณีของแต่ละบ้านสืบทอดและมีความภาคภูมิใจ แต่ละตระกูลจะมีคนเก่งในการทำน้ำพริก กล่าวคือ แต่ละคนมีความเก่งและเป็นความเฉพาะ มีการแบ่งงานกันในครอบครัวว่า ใครเก่งส่วนไหนอย่างไร บางครอบครัวมีคนทำอาหารเก่งจะได้รับการยกย่องในครอบครัวว่าเป็น “มือหนึ่งของตระกูล” แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ร้านค้ามีเยอะจึงอาศัยความสามารถ และความรู้แต่ละชุดที่ออกมาจากตระกูล การศึกษาเกี่ยวกับน้ำพริกจึงไม่ใช่แค่กินอย่างเดียว แต่ต้องคุยด้วยว่าเป็นมาอย่างไร ใช้ส่วนผสมแบบไหน และใช้ผักกับน้ำพริกแบบไหน เพราะเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละร้านว่าเด่นและเชิดชูจุดเด่นต่างกัน

“คิดถึงลาบทำไมต้องผู้ชาย…? จะหาลูกสะใภ้ให้ฟังเสียงตำน้ำพริก จะหาลูกเขยฟังเสียงจากการทำลาบ” การลาบเป็นคำกริยา แปลว่า การสับตัดให้ขาดและแรงสับมาจากผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

คุณสมฤทธิ์ ลือชัย สะท้อนว่า ในอดีตคนที่ออกไปล่าสัตว์ทำหน้าที่หาอาหารเป็นผู้ชาย ลาบเกี่ยวพันธ์กับ เนื้อสัตว์ จึงเชิดชูผู้ชายในการจัดการอาหารประเภทเนื้อ เพราะปกติผู้ชายไม่ได้ทำอาหารในครัว แต่ผู้หญิงจะเป็นคนทำมากกว่า แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปผู้หญิงทำลาบเก่งไม่แตกต่างจากผู้ชาย คุณสนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมล้านนา ถูกตั้งคำถามเริ่มต้นว่า “น้ำพริกอี่เก๋” มาจากไหน… จึงได้สะท้อนเกี่ยวกับที่ไปที่มาของน้ำพริก ทั้งที่เป็นข้อสันนิฐานผ่านเรื่องเล่าในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับน้ำพริก และการเข้ามาของวัฒนธรรมอื่นในพื้นที่ของวัฒนธรรมล้านนา คุณสนั่น ธรรมธิ สะท้อนว่า “น้ำพริกอี่เก๋” ไม่เกี่ยวข้องกับลิเกหรือ “อี่เก” เพราะลิเกเป็นเพียงการแสดงที่มีอยู่ตามงานวัดที่นิยมจ้างมาเฉลิมฉลองในงานต่างๆ ซึ่งพบทางตอนใต้ของเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม แต่ทางสายเหนือไม่ค่อยมี อี่เกเป็นการร้องในการแสดงของภาคกลางที่ร้อง “เฮเลวังกา…” ดำเนินเรื่องแบบชาดก และมีการร้องประยุกต์เข้ากับท้องถิ่นซึ่งน่าจะไม่เกี่ยวกับ “น้ำพริกอี่เก๋” 

นอกจากนั้น คุณสนั่น ได้สะท้อนเกี่ยวกับน้ำพริกของวัฒนธรรมล้านนาที่บริโภคน้ำพริกคู่กับเครื่องเคียงอื่นๆ เรียกว่า “ชู้” คือ การกินน้ำพริกนิยมกินกับสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะผักและพืชพรรณ คนล้านนาเริ่มต้นเอาพริกมากิน แต่ไม่ค่อยเข้ากับการบริโภคข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา จึงมีการนำพริกแห้งไปผิงไฟจนไหม้เกรียมกรอบและนำเกลือมาตัดเข้าไป เรียกว่า “น้ำพริกดำ” เป็นอาหารของ “แม่ก่ำเดือน” หรือคนอยู่ไฟหลังคลอด แม้เป็นอาหารรสชาติแย่และเป็นภาพลักษณ์ของคนจน แต่อีกมุมหนึ่งในความเรียบง่ายสะดวกถ้านำมาปรุงรส มีเครื่องเทศ จะสามารถนำมายำกับสิ่งอื่นได้ เช่น น้ำพริกยำจี้นไก่ ยำเห็ด กินหน่อโอ่กับน้ำพริกดำ (หน่อโอ่เป็นชู้ของน้ำพริกดำ) ส่วนน้ำพริกน้ำปูเป็น “ชู้” กับหน่อไร่ การเป็นชู้มันมีความอร่อย ถ้าสลับก็ไม่อร่อย หรือหอยโข่งตามฤดูฝนก็กินกับน้ำพริกดำเพราะเป็นชู้กัน (กินกับน้ำพริกแดงไม่อร่อย) เมื่อคนไปป่า ดง ทุ่ง ก็ไปพร้อมกับพริกดำ หรือหมกปลาร้า หรือใส่หอมแดง ข่า มะกอก ฯลฯ ก็จะได้น้ำพริกอีกอย่างหนึ่งไป

ว่าด้วยความนิยม “เอาจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าชอบแบบไหน มีทั้งคนเมือง คนไทย และฝรั่งที่นิยม ส่วยคนเหนือนิยมกินน้ำพริกกับข้าวนึ่งและเครื่องเคียงเรียกว่า “ชู้” ต้องกินตอนที่ตำใหม่ๆ ก่อนจะ “คายพริกคายเกลือ”

คุณนันทกานต์ เกษร เครือข่ายเกษตรอินทรีย์สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนเกี่ยวกับการบริโภคน้ำพริกและความนิยมของผู้บริโภคว่า เมนูน้ำพริกที่อยู่ในกาด (ตลาด) เป็นน้ำพริกตามฤดูกาล ส่วนหนึ่งได้จากวัตถุดิบพื้นถิ่นที่ปลูกในสวนและนำมาแปรรูป มีทั้งคนเมือง คนไทย และฝรั่งที่นิยม “ผู้บริโภคไม่ใช่แค่คนไทยการทำน้ำพริกทำไป ชิมไป ตามความชอบของคนทำและคนกิน” วัตถุดิบตามฤดูกาลให้รสชาติอร่อยกว่านอกฤดูกาลซึ่งไม่ “อ่อม” ว่าด้วยความนิยม “เอาจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าชอบแบบไหน” ฤดูมะขามมีน้ำพริกมะขาม ฤดูฝนมีน้ำพริกเห็ด น้ำพริกปลา นอกจากนั้น ยังได้สะท้อนเกี่ยวกับรสชาติและเวลาของการกินน้ำพริกอีกว่า คำว่า “คายพริกคายเกลือ” หากอธิบายตามหลักการทำอาหารอาจหมายความว่า “ใหม่/หอม” คือ ตำใหม่ๆ ตำหอมแดง กระเทียมมีน้ำมันหอมละเหยออกมาใหม่ๆ หรือหอมกลิ่นปลาร้าใหม่ๆ แต่ถ้านานๆ เครื่องในน้ำพริกจะคายตัวจางหายไป ไม่อร่อย คนเหนือตำน้ำพริกแล้วกินกับข้าวนึ่ง และเครื่องเคียงที่เป็นชู้กัน เช่น น้ำพริกน้ำหน่อจะอร่อยต้องกินกับยอดกระถิน มะเขือพวง มะริด เพกา ฯลฯ หรือน้ำพริกส่วนใหญ่ที่กินกับแตงจะช่วยลดความเผ็ดร้อน น้ำพริกข่ากินกับเห็ดนึ่ง ทอดปลา น้ำพริกจี้งโก่งได้จากการเลี้ยงด้วยฟักแก้ว (ฟักทอง) จะทำให้จิ้งโก่งอร่อยนัว เป็นต้น

แต่ละพื้นที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่รอบๆ ความเข้าใจธรรมชาติ และความนิยมของคนแต่ละท้องถิ่นพื้นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอำนาจที่สั่ง สถานที่ หรือวัสดุที่ทำ น้ำพริกไม่ได้สะท้อนเพียงรสชาติแต่สะท้อนความหลากหลายของผู้คน

ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวถึง เวลาฟังเรื่องน้ำพริกจะเห็นว่า แต่ละพื้นที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่รอบๆ ตัว ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ราวปี 2520 ยังไม่มีข้อสรุปว่า “ลาบ” เป็นของวัฒนธรรมล้านนากับลาว เพราะบางพื้นที่ไม่รู้จัก แต่พูดเรื่อง “ซ่า” เข้าใจและมี เรื่องลาบอาจจะเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายของคน กระทั่งเกิดการสร้างลาบขึ้นมา เรื่องลาบอาจเกี่ยวพันธ์กับเฉพาะถิ่นหรือไม่ การทำลาบจะละเอียดแค่ไหนขึ้นอยู่กับอำนาจที่สั่ง สถานที่ และวัสดุที่ทำ การพูดถึงน้ำพริกจึงสะท้อนความหลากหลายที่คนสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ระยะหลังมีการสังเกตเกี่ยวกับน้ำพริก เช่น การคั่วในน้ำมันน่าจะเป็นรูปแบบใหม่ หรือ “ถั่วเน่า” เป็นพื้นที่กสิกรรมของพี่น้องไต จึงมีถั่วจำนวนมาก กลายเป็นวิธีเก็บรักษาให้นาน หรือน้ำปู่เป็นของพี่น้องไทลื้อ สารเคมีต่างๆ ไม่ค่อยมี ตอนนี้น้ำพริกน้ำปู๋หายากเพราะมีการใช้สารเคมีมากขึ้น และเล่าประสบการณ์สมัยเป็นเด็กว่า คุณแม่ทำอะไรให้ก็กิน สมัยนั้นลาบไม่ใช่อาหารอันดับหนึ่งของภาคเหนือ 4-5 เดือนจะได้กินครั้งหนึ่ง เพราะการฆ่าสัตว์ใหญ่เป็นเรื่องใหญ่ น้ำพริกที่มักจะได้กินคือ น้ำพริกปลา น้ำพริกอ่อง ส่วนน้ำพริกตาแดงเด็กไม่ค่อยชอบเพราะเผ็ด ลาบที่มีอยู่จำนวนมากสมัยนี้เป็นลาบที่เกิดมาใหม่ ครั้งหนึ่งเคยทำลาบกินต่างประเทศแต่รู้สึกว่าทุกข์มากเพราะเป็นการกินลาบที่ไม่อร่อยเพราะไม่มีชู้

บางครั้งที่มาของชื่อน้ำพริกก็แล้วแต่ใครจะเล่า แต่การเล่าเหล่านั้นอยู่ในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก เพราะวัฒนธรรมการกินมีความแตกต่างหลากหลาย และพบการเปรียบน้ำพริกในภาษิตของคนล้านนาด้วย

คุณสนั่น ธรรมธิ น้ำพริกแดง มีความเผ็ดแต่สำหรับน้ำพริกตาแดงไม่รู้ว่ามาจากไหน บางคนบอกว่าตาแดงมาจากการตำน้ำพริกแล้วเอามือไปจับตา แต่จริงๆ แดงที่ว่าอาจมาจากสีแดง กินได้ทั้งมือเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น ผ่านข้ามวันยังกินได้ไม่คายเครื่อง น้ำพริกแดงนำมา “บ่าย” ข้าวนึ่งเป็นก้อน วัฒนธรรมการกินที่เข้าไปอยู่ใน น้ำพริกแดงแตกขาบ โดยความหมายเชิงเปรียบเทียบ คือ กินไปสักพักจะแห้งแตกระแหง เปรียบเทียบเป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่สนใจครอบครัวของตัวเอง กินกันมาแต่นานพอน้ำพริกแห้งลดลงไปหรือเรียกว่า “น้ำพริกถ้วยเก่า”

สะท้อนอีกว่า น้ำพริกดิบ มาจากเอาพริกดิบมาทำ คือ อายุของพริกที่ยังหนุ่มยังน้อย จึงไม่มีน้ำพริกสาว “จี่พริกต้องมีครู จี่ปู๋ต้องมีนาย” คือ มีคนสอนจี่ หมก ปิ้ง ย่าง เผา น้ำพริกหนุ่มเป็นน้ำพริกหลัก หรือสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดน้ำพริกอื่นตามมา เช่น เติมปลาร้า มะขาม ข่า ปลาป่น ปลาต้ม มีทั้งน้ำพริกที่ได้จากพริกที่แห้งและยังไม่แห้ง ไม่ผ่านกระบวนการตามหรือทำให้แห้ง คนเหนือไม่นำสัตว์ใหญ่มาทำน้ำพริก แต่ก็พบน้ำพริกจิ้น ซึ่งต้องตั้งข้อสังเกตว่าการนำเข้าจากวัฒนธรรมอื่นหรือไม่…? หรือแม้แต่น้ำพริกกบก็มาจากกบปิ้งไม่ใช่ต้ม ขณะที่ สัตว์กลุ่มแมลงที่นิยมนำมาทำน้ำพริก เช่น ต่อ แตน มดส้ม แมงมัน แมงดา ที่เป็นตัวผู้เท่านั้นเพราะตัวเมียไม่มีกลิ่นแต่จะเอาไปจี่กินเล่นกับเมี่ยง (แมงดาตัวเมียเป็นชู้กับเมี่ยง) น้ำพริกที่ได้จากพืช เช่น เห็ดลม มะขาม มะเขือส้ม มะกอก เป็นต้น มีเรื่องเล่า เรื่องเล่าเชิงขบขันลูกเขยเป็นคนไทยมาบ้านแม่ยายคนเหนือ “น้ำพริกอร่อยนำลูกถ้าเราได้บีบมะเหงกใส่สุดยอด” (แปลมะกอกเป็นมะเหงก) น้ำพริกน้ำผักเป็นชู้กับผักขี้ฮูดดิบ นานๆ จะได้กินน้ำพริกบักเขือเจ้นอนอ่อง คล้ายน้ำพริกกะปิ มีมะเขือเจ้อยู่ในนั้น น้ำพริกแคปหมูก็อร่อยจากการเน้นกระเทียมนำ พื้นๆ แต่ก่อนเน้นเผ็ดเพราะกับข้าวมีน้อยกินข้าวเยอะๆ สิ่งที่ทำให้กินข้าวเยอะๆ ได้ต้องกินกับน้ำพริกที่เผ็ด คนเมืองจึงกินเผ็ด

การเปรียบของคนล้านนา ว่า น้ำพริกถ้วยเก่า วันนี้มาปะกับน้ำพริกถ้วยเก่า กินเมื่อใดก็หวาน ว่า มีน้ำพริกที่อยู่ในคำสุภาษิต น้ำพริกกูตำบ่อล้ำคือเก่า เป็นการประชดประชันของผู้หญิงเกี่ยวกับความจริงใจของสามี “กินเนื้อให้นึกถึงลูก กินกระดูกให้นึกถึงหมา” และสะท้อนว่า เจ้าเมืองล้านนาไปที่อื่นรับวัฒนธรรมน้ำพริกจากที่อื่นมาด้วย เช่น น้ำพริกกะปิ หรือการปรุงรสด้วยมะนาว รวมทั้งแกงบางอย่างเริ่มมีกะทิมาผสม

ทำไม “น้ำพริกหนุ่ม” เป็นหน้าเป็นตาของคนเหนือ…?

คุณนันทกานต์ เกสร สะท้อนว่า น้ำพริกหนุ่มก็ใช้พริกหนุ่มทำไม่ใช้พริกแก่ คนมาภาคเหนือถามหาน้ำพริกหนุ่มอาจเป็นที่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ แต่จริงๆ ภาคเหนือมีน้ำพริกมากมายกว่านั้น คนภาคอื่นอาจไม่รู้จักและไม่เคยกิน ถ้าได้ลองชิมจะรู้ว่าน้ำพริกอื่นๆ อร่อย ปัจจุบันตลาดน้ำพริกมีการขยายตัวรูปแบบการผลิต เปลี่ยนเป็นแห้ง ผง คั่วแห้ง ส่งไปต่างประเทศ “ไปทางอื่นพริกก็คั่วไม่หอมเหมือนบ้านเรา” ซึ่ง ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า คำเมืองเรียกคำว่า “หนุ่ม” หรือ หนุ่มสาวอาจดูเท่ห์ คนต่างถิ่นคงชอบ พอมาชิมแล้วเห็นว่ามันอร่อยดี ขณะที่ คุณสนั่น ธรรมธิ ชี้ว่า การทำสำรับอาหารที่กินแล้วไม่น่ารังเกียจ จึงมีการนำน้ำพริกหนุ่มคู่กับแคปหมู ผักบางชนิดที่กินง่ายนำเสนอ สิ่งเหล่านี้พอคุ้นชินกับคนนอกจึงกลายเป็นความชื่นชอบและทำเนียมตลาดของคนกิน เมื่อคนนิยมกินจึงเกิดการขายในตลาดเป็นของฝากติดมือกลับบ้าน

คนรุ่นใหม่กับน้ำพริก “แอ่วกาดที่หลากหลายมากกว่าที่แอ่วประจำ”

คุณสนั่น ธรรมธิ น้ำพริกที่นั่งนึกมีอยู่กว่า 60 ชนิด น้อยคนที่จะได้สัมผัสและได้กิน แต่ปัจจุบันพบ น้ำพริกแดง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า แต่สารเคมีค่อนข้างมาก และน้ำพริกสมัยใหม่ที่เข้ามามาจากที่อื่น ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า ได้เวลาที่ภาคเหนือจะต้องกลับไปรื้อฟื้นป่าเพื่อให้ได้พืชพรรณมากขึ้น และช่วยกันทำหนังสือความรู้เรื่องน้ำพริก และช่วยกันสร้างความตระหนักเรื่องการกิน และ คุณนันทกานต์ เกสร กล่าวว่า “แอ่วกาดที่หลากหลายมากกว่าที่แอ่วประจำ” แนะนำคนรุ่นใหม่ว่า อยากรู้จักน้ำพริกมากขึ้นให้ไปแต่ละกาดที่มีน้ำพริกไม่เหมือนกัน แต่ละฤดูกาลมีน้ำพริกไม่เหมือนกัน ไปถึงแล้วถามได้เลยว่ากินกับอะไรจะอร่อย

สามารถติดตามข้อมูลและรับชมย้อนหลังได้ที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ