ฟังเสียงประเทศไทย : “เตรียมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม” อุบลราชธานี

ฟังเสียงประเทศไทย : “เตรียมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม” อุบลราชธานี

เรียบเรียง : พงษ์เทพ บุญกล้า

ภัยพิบัติน้ำท่วม นับวันยิ่งมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แม้ในภาคอีสานที่ถูกมองว่ามีสภาวะแห้งแล้ง โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นพื้นที่ปลายน้ำของภาคอีสาน เผชิญมหาอุทกภัยใหญ่ ในปี 2562 และปี 2565 และอยู่ในภาวะ “เสี่ยง” ที่ต้องเฝ้าระวังทุกปี การมีส่วนร่วมออกแบบและบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณ และระดมสรรพกำลังเพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม ยังเป็น “โจทย์สำคัญ” ของชาวอุบลราชธานี ในการลดผลกระทบและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในลุ่มน้ำภาคอีสานไปพร้อมกัน เวทีฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ได้ชวนตัวแทนผู้มีส่วนจัดการน้ำ ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ สื่อท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันตั้งต้นสนทนา หาแนวพัฒนายกระดับการจัดการภัยพิบัติ เพื่อเกิดการป้องกันและแก้ไขอย่างมีส่วนร่วม โดยถ่ายทอดสดจาก สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วันพฤหัสบดี ที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00-15.00 น. ทาง Facebook Live Thai PBS, อยู่ดีมีแฮง, นักข่าวพลเมือง Thai PBS

คุณกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นด้วยคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับในมุมมองของผู้เข้าร่วมเวทีคิดว่า “จะรับมือน้ำท่วมอย่างไร” โดยให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของตนเอง ซึ่งพบว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่รับผลกระทบได้มีส่วนในการพูดด้วยตนเอง รวมทั้งผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ได้รับฟังและได้พูดเช่นเดียวกัน ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การตอบคำถาม อุบลฯ น้ำท่วมไหม…? เป็นสิ่งที่ต้องตอบประจำ : ปัญหาน้ำท่วมเป็นสถานการณ์รับรู้ของคนทั่วไป คือ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่คนทั่วไปทราบ บางครั้งเมื่อพบปะกับคนต่างถิ่นคนอุบลฯ มักจะได้ยินคำถามทักทายแรกๆ ว่า ปีนี้อุบลฯ น้ำท่วมไหม
  • การช่วยกันทบทวนและหาทางออกร่วมกัน : ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี เป็นเรื่องที่คนอุบลราชธานีจะต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ หรือเรียกเป็นภาษาอีสานว่า “หยุม” เพื่อนำบทเรียนมาทบทวนและมุ่งสู่อนาคต ไม่อยากเห็นน้ำท่วมเป็นมหกรรมเหมือนงานกาชาด  และเรื่องน้ำท่วมไม่ใช่หน้าที่ของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูและช่วยกันกำหนด
  • การสื่อสารข้อมูลข่าวสารต้องไม่ล่าช้า : จากการฟังข้อมูลและการแลกเปลี่ยนมุมมองมาหลายเวที สิ่งที่สะท้อนจากชาวบ้าน คือ ข้อมูลข่าวสารที่ล่าช้า ภาษาราชการเข้าใจยาก จึงจำเป็นต้นทำข้อมูลร่วมกันให้น่าเชื่อถือผ่านการสอบทานร่วมกัน ทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม นำมาพิจารณาประกอบและส่งสื่อสารถึงชาวบ้านไม่ให้เกิดความสับสน
  • การพิจารณาจัดทำศูนย์กลางประสานงาน : ภาคประชาชนอยู่กับน้ำท่วมมาหลายปี สิ่งที่ทำตลอด คือ การแก้ไขโดยการบูรณาการร่วมกันทั้งลุ่มน้ำ เมื่อเกิดปัญหาที่ผ่านมาไม่มี center คือ แต่ละจังหวัดดูแต่ข้อมูลพื้นที่ตัวเอง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอุบลราชธานีช่วยเหลือกันเฉพาะหน้าอย่างดี แต่สิ่งที่อยากเห็นในอนาคต คือ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วยกัน ผ่านแผนการบูรณาการและการบริหารจัดการ ที่จะนำไปสู่ผลกระทบน้อยที่สุด
  • การแก้ไขปัญหาผ่านความรู้ทางวิชาการ : มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนจากการเผชิญเหตุร่วมกับชุมชนที่ผ่านๆ มา และมีความยินดีช่วยเหลือชุมชน
  • การช่วยเหลือตัวเองของชุมชน : ชุมชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ถ้าใครพอมีกำลังที่จะจัดการตัวเองโดยการยกบ้านให้สูงขึ้นก็ทำ ช่วงหลังๆ มาชาวบ้านพยายามสร้างบ้านให้สูงขึ้นเพื่อที่จะอยู่กับน้ำให้ได้ คือ “ไม่ยอมแพ้แต่ปรับตัว”
  • ชาวบ้านอาศัยอยู่อย่างยาวนาน : หากมีส่วนร่วมกันก็สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ต้องบูรณาการเรื่องน้ำท่วม คุยกันตลอด สื่อสารกันตลอด เพื่อป้องกันพื้นที่ตัวเองให้อยู่รอด ไม่ร้ายแรง “เพราะชาวบ้านไม่อยากย้ายหนี ชาวบ้านอยู่มาก่อน วิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่ที่ตั้งชุมชน”
  • การมีเจ้าภาพรวบรวมข่าวสาร : เพื่อสื่อสารข้อมูลให้ทราบว่า น้ำจากที่ต่างๆ จะไหลมาตอนไหน เพราะที่ผ่านๆ มา มีคำถามที่ชาวบ้านเสมอ บางครั้งระดับหมู่บ้านรับและส่งต่อข้อมูลกันทางไลน์ แต่มีแค่รูปไม่รู้ว่าน้ำจะมาตอนไหน ข่าวสารที่ไปทางไลน์บางครั้งก็ไปไม่ถึงกัน รวมทั้ง องค์ประกอบการเตรียมความพร้อม คือ ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี ข่าวลือ คนเรามักจะเชื่อข่าวลือ แต่จะทำอย่างไรให้ข่าวลือมาจากข้อมูลจริง
  • การสื่อสารผ่านหอกระจายข่าว : ชาวบ้านได้รับข้อมูลจากหอกระจายข่าวที่เสียงดังหลายหมู่บ้าน อยากเห็นเจ้าภาพในการรวบรวมข่าว และส่งให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเตรียมการ
  • การมีศูนย์พักพิงที่มีการขึ้นทะเบียน : พิจารณาว่ามีอุปกรณ์อะไร ที่อยู่ อาหาร มีโรงครัวกลางที่ชาวบ้านได้กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ทั้งงบประมาณลดลงและได้อาหารที่มีคุณภาพ

ฉากทัศน์ “กลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำอีสาน” ในอีก 5 ปี

นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ทำการประมวลฉากทัศน์ “กลไกการป้องกันและรับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำอีสาน” ในอีก 5 ปี โดยมีกลไกการป้องกัน 3 ระดับ ให้ผู้เข้าร่วมได้ตัดสินใจ (ก่อน/หลัง) ดังนี้

ฉากทัศน์ A : วิ่ง 100 เมตร การรับมือและจัดการภัยพิบัติแบบเป็นปีต่อปี การจัดการยังเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติจากส่วนกลาง ขาดความคล่องตัว ประชาชนจึงทำได้เพียงตั้งรับและรอคอยความช่วยเหลือ ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกแบบร่วมกันให้หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถปรับแผนรับมือภัยพิบัติ และทบทวนกฎหมายข้อบังคับ หรือมาตรการรองรับภัยพิบัติต่างๆ ได้ ตั้งแต่การทำกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ออกมาใช้โดยนำบทเรียนที่ได้จากภัยพิบัติแต่ละครั้งมาแก้ไขกฎหมายทันที เพื่อเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพการทำงานของท้องถิ่น สร้างความมั่นใจในการช่วยเหลือและลดผลกระทบจากภัยพิบัติแก่ประชาชน มีการเตรียมการที่ดีล่วงหน้า (Preparedness) โดยออกแบบการจัดการรับมือภัยพิบัติตามแนวทางเฉพาะเจาะจง เพื่อให้มีการจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติขั้นสูงสุดที่เหมาะสม สอดคล้องกันแต่ละท้องถิ่น

ฉากทัศน์ B : วิ่งผลัด 4 x 100 เมตร การรับมือและจัดการภัยพิบัติเป็นไปตามการออกแบบร่วมกันจากหลายภาคส่วน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่มากขึ้น แต่ยังขาดความคล่องตัวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีระบบระเบียบข้อบังคับหลายขั้นตอน ขณะที่ เมื่อเผชิญเหตุผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ท้องที่ ต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยยึดแนวทางการบริการสาธารณะแนวใหม่ (New public service) เน้นให้ความเสมอภาค ให้สิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองมีส่วนร่วม โดนมีรัฐสนับสนุนไม่ใช่ผู้กุมแนวทางหรือนำทาง (Serve Rather Than Steer) มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อร่วมออกแบบการป้องกันและรับมือภายใต้สาธารณะประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติหรือท้องถิ่นของตนเอง เน้นให้ท้องถิ่นต่างๆ มีศักยภาพ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกัน และบรรเทาสาธารณะภัยได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

ฉากทัศน์ C : วิ่งมาราธอน การรับมือและจัดการภัยพิบัติให้ความสำคัญกับเครือข่ายการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือ กู้ชีพ กู้ภัย และช่วยเหลือกันในระดับชุมชน ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐ เอกชน นักวิชาการ และประชาชน ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำทั้งอีสาน โขง ชี มูล และทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการวางแผนออกแบบบริหารจัดการน้ำทั้งระบบร่วมกับการปรับแก้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้การทำงานทุกระดับมีความคล่องตัว มีเครื่องมือ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สามารถปฏิบัติการได้จริง แต่ต้องใช้เวลาในการออกแบบ หารือ และคิดคำนวณต้นทุนที่เกี่ยวข้อง เพราะการบริหารจัดการน้ำ มีความเกี่ยวข้องทั้งภาคครัวเรือน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม

พบว่า ก่อน เวทีฟังเสียง/แลกเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับ ฉากทัศน์ A ร้อยละ 2.38 ฉากทัศน์ B ร้อยละ 19.05 และฉากทัศน์ C ร้อยละ 78.57 และหลังจากการแลกเปลี่ยนผู้เข้าร่วม ฉากทัศน์ A ร้อยละ 0 ฉากทัศน์ B ร้อยละ 11.11 และฉากทัศน์ C ร้อยละ 88.89 สะท้อนให้เห็นว่า การรับฟังข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมุมมองทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับฉากทัศน์ B และ C มากขึ้น

นอกจากนั้น รายการได้จัดทำสื่อวิดีทัศน์นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลภัยพิบัติน้ำท่วมภาคอีสานและจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร สะท้อนให้ผู้ร่วมเวทีเห็นว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน คือ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสาขา ช่วงฤดูน้ำหลากอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รับน้ำเนื่องจากเป็นแอ่งกระทะ และเป็นพื้นที่ปลายน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ซึ่งข้อมูลประวัติศาสตร์ พบว่า อุบลราชธานีมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เรื่อยมา มีความถี่ ความรุนแรงแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะปี 2562 และ 2565 ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม บทเรียนน้ำท่วมอุบลราชธานี ทุกภาคส่วนต่างต้องเรียนรู้และรับมือไปด้วยกัน ที่ผ่านมาการพูดคุยจากหลายฝ่ายเกิดกลไกการรับมือลุ่มน้ำภาคอีสาน มีการรวมกลุ่มจัดตั้งป้องกันพื้นที่ภัยพิบัติ เกิดแผนแม่บทลุ่มน้ำ และมีการจัดการลุ่มน้ำ 10 จังหวัดร่วมกัน ซึ่งอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่เป็น “โจทย์ในการแก้น้ำท่วมของทุกรัฐบาล” ภาควิชาการ และชาวบ้าน ซึ่งเวทีที่ผ่านมาเคยจัดเวทีฟังเสียงประเทศไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี ฉากทัศน์ที่ผู้เข้าร่วมเลือกมากที่สุด สอดคล้องกับเวทีนี้ คือ ฉากทัศน์ C ได้รับการลงคะแนนมากที่สุด

มุมมองน่าสนใจจากเวทีฟังเสียงประเทศไทย

เวทีฟังเสียงประเทศไทย พบมุมมองที่น่าสนใจหลากมิติ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน คือ การจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย “ไม่มั่ว” แต่ต้องดำเนินการไปด้วยระเบียบและกฎหมาย สถาบันทางการศึกษามีพลังความรู้และทรัพยากรบุคคลพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุน ขณะที่ ชุมชนคาดหวังอยากให้แบบแผนต่างๆ ปฏิบัติการได้จริงในพื้นที่รับผลกระทบ จึงต้องบูรณาการข้อมูลและสื่อสารข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายมากกว่าการสื่อสารแบบ “สุกรนั้นไซร้หมาน้อยธรรมดา” รวมทั้ง ภัยพิบัติน้ำท่วมกระทบชาวบ้านและกลุ่มเปราะบาง จึงต้องเริ่มทำข้อมูลอย่างจริงจัง และทำงานชัดเจน ฉับไว รวดเร็ว ชาวบ้านจับต้องได้ ท่ามกลางความเสี่ยงของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีหลีกเลี่ยงน้ำท่วมยาก แต่เสียงของประชาชนจะทำให้เห็นแนวทาง

การจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย “ไม่มั่ว” แต่ต้องดำเนินการไปด้วยระเบียบและกฎหมาย

นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ชี้ว่า การจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย “ไม่มั่ว” คือ มีกฎหมายและผู้รับผิดชอบ ท้องถิ่น จังหวัด กระทรวง และรัฐมนตรี การจัดการภายใต้กฎหมายและมีความยืดหยุ่น ในพื้นที่มีกลไกอย่างไร นายก หรือนายอำเภอ มีแผนการจัดการภัย เช่น ท้องถิ่นมีการเชิญผู้นำท้องถิ่นเขียนแผน เป็นการจัดการด้านระเบียบและกฎหมาย “อุทกภัยของจังหวัดอุบลต้องพูด 2 มิติ คือ การบริหารจัดการน้ำ และ การบริหารจัดการภัยพิบัติ” ที่ผ่านมาหน่วยงานทำงานมาตลอด บางอย่างอาจไม่ได้สื่อสารเกี่ยวกับการทำงานที่สำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำ จะบริหารจัดการน้ำอย่างไรไม่ให้ท่วม ต้องมองกลไกการป้องกัน คือ เขื่อน และ ระบบป้องกันจากฝนที่ตก “ปีนี้เชื่อมั่นว่าการจัดการของจังหวัดอุบลราชธานีจะทำได้ดี ทั้งจัดการน้ำและจัดการภัยพิบัติ การรับฟังเวทีจะช่วยให้เกิดการสื่อสารผ่านคำสั่งของหน่วยงาน ความเชื่อมั่นและเชื่อใจจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้”

สถาบันทางการศึกษามีพลัง “ความรู้” และ “ทรัพยากรบุคคล”

ผศ. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในปี 2562 แบบ “จับจูด” บางครั้งไปคนละทิศละทาง หลังจากนั้นจึงปรับตัวเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และมีการสำรวจความต้องการของชุมชน “มหาวิทยาลัยมีนักวิชาการ นักศึกษา และเทคโนโลยี มีการตั้งศูนย์ประสานงานภัยพิบัติ” ผลงานที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ทำให้เกิดความช่วยเหลือ และดูแลกลุ่มเปราะบาง เมื่อเข้าสู่ปี 2565 มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ความช่วยเหลือ รับแจ้งความช่วยเหลือ มีนักศึกษาและประชาชนเป็นอาสาสมัคร การถอดบทเรียนทำให้เห็นเป้าหมายมากขึ้น และพร้อมทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ และชุมชน

ชุมชนคาดหวังอยากให้แบบแผนต่างๆ “ปฏิบัติการได้จริง” ในพื้นที่รับผลกระทบ

แม่บุญทัน เพ็งธรรม อาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ (อช.ปก.) /ชาวบ้านในพื้นที่รับผลกระทบ กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ มี “แบบ” และ “แผน” ที่มียังใช้ไม่ได้ในชุมชน ชาวบ้านต้องเจอปัญหามาตลอด แต่ชาวบ้านก็ตระหนักและเตรียมความพร้อมทุกปี โดยพึ่งตัวเองร่วมกับเครือข่าย จัดทำเรือท้องแบนในชุมชน ให้ช่างในชุมชนทำและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้านวางแผนตั้งรับกันเอง (น้ำมาเยอะแล้วหน่วยงานค่อยมาเตือน) เครื่องมือ กลไก มีหมดแต่ช้า ชาวบ้านประสบปัญหาทุกปีอยากให้แก้ไขเรื่องปัญหาน้ำท่วมให้จริงจังและจริงใจ ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการทำบ้านยกสูง ทำเรือ ทำโรงครัว “ข้างนอกอาจมองว่าชาวบ้านอยากได้ความช่วยเหลือ ถุงยังชีพ แต่ความจริงมันไม่คุ้ม แม่แต่เงินเยียวยาที่ได้ 2,000 บาทก็ไม่รู้ว่าใช้การพิจารณาแบบไหน ตั้งแต่ผมดำจนผมสองสีก็ยังท่วมเหมือนเดิม ต้องอยู่ให้ได้เพราะเป็นบ้านเกิดของเรา วิถีชีวิตของเรา จะให้เราหนีไปไหนไม่ได้”

การบูรณาการข้อมูลและสื่อสารข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายมากกว่าแบบ “สุกรนั้นไซร้หมาน้อยธรรมดา…” 

ผศ.สุเชาว์ มีหนองหว้า กล่าวสะท้อนว่า ประสบการณ์ที่ได้ร่วมรับรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ระบบราชการต้องทำตามนโยบาย ดีใจที่รัฐบาลจับเรื่องน้ำ ที่ผ่านมามีปัญหาด้านการวางแผนเส้นทางน้ำ การบริหารงานน้ำยังเป็นส่วนๆ บางปี การทำงานยังไม่ประสานกัน คนอุบลฯ จะทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ขึ้นอยู่กับหลายจังหวัด เพราะการบูรณาการข้อมูลยังไม่ค่อยมี และ นายกองค์การบริการส่วนตำบลโนนผึ่ง กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาร่วมรับฟังเสียงของประชาชนผ่านเสียงของประเทศไทย ชาวบ้านอยากอยู่ที่เดิมจะต้องมาช่วยกัน คิดว่าชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่เดิมให้พอใจ ปกติ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ปฏิบัติการได้ และให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตปกติ เช่น ห้องน้ำ การสัญจร และเสริมสร้างระบบข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน ไม่ใช่ข่าวลือ และต้องนำระบบการสื่อสารในภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ใช่แบบ “สุกรนั้นไซร้หมาน้อยธรรมดา…”  

ภัยพิบัติน้ำท่วมกระทบชาวบ้านและ “กลุ่มเปราะบาง”

ผศ.ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สะท้อนว่า การทำงานกับชุมชนเห็นว่า เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมเรามักจะมองที่การรับมือและการแก้ปัญหาซึ่งเป็นปลายทาง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านลำบากและยากจนลง ชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตในความไม่ปกติ ทั้งชีวิต และโอกาสของการไปโรงเรียน การพูดถึงน้ำท่วมควรมองเรื่องของความหลากหลายและโอกาสที่สูญเสียไปในสถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดอุบลเป็นจังหวัดที่เสี่ยงกับน้ำท่วมและเสี่ยงต่อสภาพเปราะบางกับเด็กในพื้นที่เปราะบาง ปัญหาน้ำท่วมและความสูญเสีย ถ้าวัดที่ตัวเงินที่ชาวบ้านได้รับ เห็นได้ว่าไม่คุ้ม ความสูญเสียต่างๆ ไปจากภาวะปกติเป็นภาวะบิดเบี้ยวไปหมด ชาวบ้านรู้ข้อมูลน้ำก็มาอยู่หน้าบ้านแล้ว ถ้ามีการสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เตรียมพร้อม จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นลงได้ ชาวบ้านไม่อยากอยู่ในภาวะน้ำท่วม อยากอยู่ปกติ จะทำอย่างไรให้สถานการณ์เบาบางลง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง

ต้องเริ่มทำข้อมูลอย่างจริงจัง และทำงาน “ชัดเจน ฉับไว รวดเร็ว” ชาวบ้านจับต้องได้

คุณนพภา พันธุ์เพ็ง ได้พูดถึง ความเสียหายมีแต่การคาดการณ์ ยังไม่มีการเก็บข้อมูล ถ้ามีหน่วยงานเก็บข้อมูลที่จริงจังทำให้เห็นความชัดเจน รวมทั้งนำสิ่งที่คิดและแลกเปลี่ยนกันมาต่อยอดว่าจะทำอย่างไร โครงการใหญ่ที่เกิดขึ้นผ่านฐานข้อมูลของคนละหน่วยยังไม่รวมกัน ทุกส่วนมีข้อมูลแต่ต่างคนต่างอยู่ เวลาชาวบ้านอธิบายจะอธิบายผ่านความเห็นส่วนตัว ถ้ามีโอกาสได้พูดคุย เปิดใจ สอดคล้องกับ แม่บุญทัน กล่าวย้ำว่า อยากเห็นหน่วยงานของภาครัฐ ทำงานให้ชัดเจน ฉับไว รวดเร็ว และจับต้องได้ และ แม่เตี้ย ชี้ว่า ทำอย่างไรชาวบ้านจะอยู่กับน้ำด้วยภูมิปัญญา ชาวบ้านสร้างแพโดยมูลนิธิชุมชนไทย ทำแพ ทำเรือ ใช้กลุ่มอาสาในชุมชน ชาวบ้านไม่ได้ย้ายออกจากบ้าน เพราะมีปัญหาลักขโมย อยากฝากรัฐคิดต่อว่า ชาวบ้านจะต้องทำอย่างไรให้อยู่กับน้ำด้วยความสุข

“ความเสี่ยง” ของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี หลีกเลี่ยงน้ำท่วมยาก แต่เสียงของประชาชนจะทำให้เห็นแนวทาง

นายมงคล จุลทัศน์ หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำของพี่น้องเมืองอุบลฯ น้ำที่ไหลช้าจะทำอย่างไรให้ไหลเร็ว ถ้าเราบริหารจัดการร่องน้ำได้โอกาสน้ำท่วมก็จะลดลง ซึ่ง คุณนิกร วีสเพ็ญ สะท้อนว่า ธรรมชาติสอนให้เห็นว่า น้ำท่วมอุบลบางครั้งไม่ใช่น้ำฝน คือ น้ำเหนือกำลังมา น้ำเหนือมหาศาล อุบลรองรับนำในอีสานทั้งภาค แล้วมันจะลงแม่น้ำโขงอย่างไร จะลงจากไหน สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงคือ เขื่อนภูงอย ทางจำปาสัก ที่จะดันน้ำสูงขึ้นจากแก่งตะนะราว 4-5 เมตร อุบลราชธานีจะท่วมยาวนานกว่าเดิมหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อด้วย ซึ่ง นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รับฟังและยินดีรับข้อคิดเห็นของเวทีฟังเสียงประเทศไทย และจะนำโจทย์เข้าไปในวงประชุมของหน่วยงานราชการ “เสียงของท่านทุกเสียงไม่ใช่เสียงนกเสียงกาอีกต่อไป ผมขอรายชื่อชุมชนของท่าน ผมลงพื้นที่ตลอดและมั่นใจว่าจะลงพื้นที่ไปดูจริงๆ เพราะการแก้ปัญหาต้องดูทั้งภาพใหญ่และภาพเล็ก”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ