น้ำท่วมอีสาน : “มนุษย์” กับความพยายามควบคุม “ธรรมชาติ”

น้ำท่วมอีสาน : “มนุษย์” กับความพยายามควบคุม “ธรรมชาติ”

ผู้เขียนต้องการนำเสนอว่า “ภัยพิบัติ” อดีตซึ่งเคยถูกเข้าใจว่าเกิดขึ้นจาก “ธรรมชาติ” ในยุคปัจจุบันที่วาทกรรมการพัฒนาและความทันสมัยเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาภัยพิบัติมักเกิดขึ้นจากฝีมือของ “มนุษย์” โดยเฉพาะความพยายามในการใช้เทคโนโลยีควบคุมน้ำ กำหนด และจัดการแม่น้ำ เช่น การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในภาคอีสาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวาทกรรม “อีสานแล้ง” ที่ยุคหนึ่งรัฐพยายาม “เปลี่ยน” ภาคอีสานสู่จินตนาการของความอุดมสมบูรณ์ แต่การพยายามแก้ปัญหา “แล้ง” กลับนำไปสู่ปัญหาใหม่ คือ “น้ำท่วม” (ซ้ำซาก) ส่งผลต่อพื้นที่เกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำ เช่น จังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเรื่อยมา ซึ่งรัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้น

ข้อมูลที่ผู้เขียนกล่าวถึง มาจากการแลกเปลี่ยนมุมมอง “น้ำท่วมอีสาน และผลกระทบน้ำท่วมลุ่มน้ำชี” วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดย อยู่ดีมีแฮง, Ubon Connect, ซาวอีสาน, ไทอีสาน PBS ดำเนินรายการโดย คุณสุชัย สุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พระครูเกษตรสราภิรักษ์ (เจ้าอาวาสวันสระเกษ) จังหวัดร้อยเอ็ด คุณกิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ/ภาคประชาชน จังหวัดร้อยเอ็ด และ คุณวรรณภา งอกสี เกษตรกรพื้นที่ทุ่งกุลา จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เขียนพยายามเสนอมุมมองสำคัญเกี่ยวกับ การบริหารจัดการน้ำที่ควรเข้าใจและเคารพธรรมชาติ มากกว่าความพยายามควบคุม กำหนด หรือจัดการ

ไปที่ไหนมีแต่น้ำท่วมน่าสงสารชาวนามาก…

วรรณภา งอกสี

ก่อนหน้านี้ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้กล่าวใน facebook ส่วนตัวและนำเสนอทางเว็บไซต์ The Isaan Record ความว่า “ข้อเสนอของผมในการจัดการเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่มี คือ การประเมินความเสี่ยงทุกปี และต้องมีแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม” ถือเป็นมุมมองสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องทบทวนบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานเกี่ยวกับ “น้ำ” ไม่ว่าจะ น้ำแล้ง หรือ น้ำท่วม ก็ตาม เพราะปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น บวกกับสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์โลกร้อนที่ไม่เหมือนเดิมก็เข้ามาถาโถมปัญหาเก่าที่ยังแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล ที่เป็น “มหากาพย์” ยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 3 ทศวรรษของการพัฒนาแหล่งน้ำในอีสาน

เว็บไซต์ The Isaan Record

ไชยณรงค์ ได้กล่าวถึงกรณี “อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ” จังหวัดมหาสารคาม ว่าเป็นปรากฏการณ์โครงสร้างที่มนุษย์พยายามควบคุมแม่น้ำ ซึ่งเป็นภัยพิบัติชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “ธรรมชาติ” แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจาก “มนุษย์” และได้ชี้ให้เห็นว่า การลงพื้นที่ภาคสนามไปสังเกตการณ์พื้นที่รับผลกระทบ (กรณีอ่างเก็บน้ำแตก) พบว่า ช่วงน้ำท่วมแรกๆ จะมีหน่วยงานลงพื้นที่ไปดูชาวบ้าน แต่ผ่านไป 3-4 วันหน่วยงานที่ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านก็ถอนตัวออกไป และพบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ขณะที่มวลน้ำได้ไหลต่อจากจังหวัดมหาสารคามไปที่จังหวัดร้อยเอ็ดและจะลงสู่พื้นที่ “เขื่อนราษีไศล” จังหวัดศรีสะเกษ สอดคล้องกับ การเฝ้าสังเกตติดตามของผู้เขียน ซึ่งพบว่า การประกาศแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารของภาครัฐมีข้อจำกัด แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระเบียบของระบบราชการ ส่งผลให้การนำเสนอข้อมูลล่าช้า ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการตัดสินใจได้ทัน จึงรู้สึกเหมือนไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นทางการ

พื้นที่บางแห่งได้รับมวลน้ำมหาศาลเพียงแค่เวลาไม่กี่วัน…

พระครูเกษตรสราภิรักษ์

นอกจากนั้น ไชยณรงค์ ได้สะท้อนปรากฏการณ์ให้เห็นว่า วิกฤติน้ำขณะนี้ไปรวมอยู่ที่ “ลำเสียวใหญ่” แต่ดูเหมือนหน่วยงานราชการระดับจังหวัดต่างๆ ยังเงียบ และไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ขณะที่มวลน้ำจำนวนมากกำลังไหลจากอ่างเก็บน้ำที่แตกสู่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่ง ไชยณรงค์ ประเมินคร่าวๆ ว่าจะมีผลกระทบพื้นที่เกษตรกรรมตั้งแต่จังหวัดมหาสารคามถึงจังหวัดร้อยเอ็ดราวๆ 40,000 ไร่ ซึ่งน้ำจะท่วมขังนาน และจะส่งผลต่อต้นข้าวที่ชาวนากำลังปลูก นอกจากนั้น การทำนาข้าวพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นวิถีของชาวบ้านทุ่งกุลา ที่สัมพันธ์กับการเลี้ยงวัว-ควาย ซึ่งเป็น “ธนาคารของคนจน” สะท้อนให้เห็นภาพของการบริหารจัดการน้ำและข้อมูลแบบไม่บูรณาการของหน่วยงาน แม้พื้นที่ระบผลกระทบอย่างหนักแต่ยังไม่ปรากฏว่ามีการประกาศเขตภัยพิบัติ

“ภัยพิบัติที่เกิดกับลำเสียวใหญ่เป็นการกำทำของมนุษย์ ไม่ใช่เพียงแต่ธรรมชาติ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ นาข้าวเป็นพื้นที่กระทบหลักของลุ่มน้ำ หน่วยงานราชการจะต้องประกาศภัยพิบัติ”

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ไชยณรงค์ สะท้อนว่า รัฐจะเอาเงินจากไหนมาช่วยพี่น้อง หากไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ รัฐต้องรีบลงมาดูพื้นที่ทั้งมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอื่นๆ (ต้องลงพื้นที่โดยด่วน) ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้ไม่สามารถทำนายคาดเดาได้ว่า พายุที่เข้าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ไหนที่ข้างบนมีเขื่อน หรือลำน้ำถูกกั้นด้วยเขื่อน พื้นที่เหล่านี้ถือว่าเป็นพื้นที่ “เสี่ยง” โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นพื้นที่ปลายน้ำ

“น้ำท่วมอีสานไม่ได้มาจากธรรมชาติทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งมาจากมนุษย์”

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

กล่าวอีกว่า ในกรณีของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานไหนจำเป็นต้องทำการประเมินความเสี่ยง” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การบริหารจัดการปัญหาของหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีแผนเชิงปฏิบัติการใช้ในพื้นที่นัก เมื่อเกิดปัญหาขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนจึงซ่อมเขื่อนอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนไม่ได้สนใจใยดีปัญหาอื่นๆ (บทบาทหน้าที่ตามฟังก์ชั่น) ไม่มีแผนที่ให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจ ว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีความเสียง ไม่มีการส่งข้อมูลกันเป็นทอดๆ เป็นระบบตลอดลุ่มน้ำ ชาวบ้านจึงสื่อสารส่งต่อกันเองตาม “ยถากรรม” ดังนั้น หลังจากนี้ ทุกอ่างเก็บน้ำ ทุกฝาย ต้องประเมินความเสียง บอกชาวบ้านล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ไม่ใช่เขื่อนจะพังแล้วประกาศบอกให้รีบอพยพ (ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์)

แม่น้ำในภาคอีสานไม่ได้มีแค่ แม่น้ำโขง เลย ชี มูล แต่ยังมีลำน้ำสาขาอื่นๆ สถานการณ์น้ำกำลังเข้าสู่วิกฤต…

กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เห็นว่า การช่วยจัดการภัยพิบัติเป็นแบบ “ลงขัน” ไม่มีแผนช่วยชัดเจน ไม่มีการตามต่อว่าจะรับมือต่อในพื้นที่อื่นอย่างไร ชาวบ้านไม่มีข้อมูลและประเมินไม่ได้ รวมทั้ง การตอบสนองภัยพิบัติในแง่ของการฟื้นฟูและเยียวยายังไม่เห็น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีการประกาศเขตประสบภัยพิบัติในพื้นที่ลุ่มน้ำเสียวใหญ่ ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนหลังจากนี้

นอกจากนั้น ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนต่างแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ชาวบ้าน มูลนิธิต่างๆ วัด และชุมชน พยายามช่วยเหลือกันโดยใช้ข้อมูลและการสื่อสารระหว่างกันแบบวันต่อวัน เพื่อใช้ในการประเมินและตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นทางการค่อนข้างช้า และกระชั้นชิดเมื่อเทียบกับการเดินทางของมวลน้ำที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วทุกวินาที สอดคล้องกับข้อเสนอของ ไชยณรงค์ ที่พยายามจะบอกและเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร แผนการรับมือ และการทบทวนการพัฒนา/การบริหารจัดการน้ำในอีสาน ทั้ง “เขื่อน” และ “อ่างเก็บน้ำ” ต่างๆ ในอีสาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ