28 ต.ค. 2558 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ จัดเสวนา “ยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ: วิกฤตสิ่งแวดล้อมใหม่ของสังคมไทย” และอ่านแถลงการณ์ต่อกรณีการยกเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โรงไฟฟ้าขยะ ณ ห้องประชุมมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จากนั้น ตัวแทนชุมชนจากพื้นที่ผลกระทบจะเดินทางไปยื่นหนังสือหนังสือเรียกร้องขอให้มีการทบทวนและยกเลิกประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
สืบเนื่องจาก มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 (10 มิ.ย. 2558) และการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 มีผลยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA จากเดิมกำหนดให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้น ไปต้องจัดทำรายงาน EIA โดยให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) แทน ตอบสนองกับแผนแม่บทการจัดการขยะระดับชาติของรัฐบาลโดยการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ
ดร.สมนึก จงมีวศิน เครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับแล้ว ในขณะที่ประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ CoP เป็นมาตรการใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ออกมา ทำให้กลายเป็นช่องว่าง ที่โรงไฟฟ้าบางแห่งที่มีตั้งเป้ากำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำ EIA อาจขยายกำลังการผลิตเพิ่มเกิน 10 เมกะวัตต์
ดร.สมนึก กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-64 กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นโรงงานไฟฟ้าขยะ 53 แห่งทั่วประเทศ มี 7 แห่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เมกะวัตต์ จากจำนวนทั้งหมดเปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครหาดใหญ่ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง ได้แก่ กทม. เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลแม่ขรี จ.พัทลุง เซ็นสัญญา MOU 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา อบจ.ระยอง นอกจากนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม 1 แห่ง ได้แก่ อบจ.ลำพูน ส่วนอีก 45 แห่ง ถูกคัดค้านจากชาวบ้าน เพราะไม่ไว้วางใจการจัดการที่ผ่านมา
ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ให้ความสำคัญกับการทำงานในระยะเร่งด่วน พิจารณาผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นชัดเจน เพราะ CoP เป็นมาตรการผ่อนปรนในการลงทุนของกลุ่มทุน ให้เดินได้โดยไม่มี EIA มาเป็นอุปสรรคการลงทุนในช่วงสถานการณ์พิเศษ
ทั้งที่ปัจจุบัน EIA ไม่ได้น่าชื่อถือ ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ถึงขั้นถูกเรียกว่าเป็นใบอนุญาตทำลายทรัพยากร ทำลายชีวิตผู้คน แม้แท้จริงจะเป็นมาตรการป้องกันก่อนเกิดโครงการที่ทั่วโลกใช้กัน แต่ CoP เป็นมาตรการหลังอนุมัติอนุญาตแล้ว ผิดหลักการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ต้องเป็นการป้องกัน โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในอนาคตหากมีการใช้ CoP จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศต่อไป เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า CoP นี่คือการถ่อยหลังกลับไป ละเลยการมีส่วนร่วมที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.เข้าไม่ถึงข้อมูลของประชาชน
2.การรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งไม่เกี่ยวกับกลุ่มสนับสนุน-คัดค้านและไม่ใช่การฟังเพื่อลงมติ แต่เป็นการรับฟังที่น้ำหนักของเหตุผล โดยคนกลางที่เป็นอิสระมาทำหน้าที่รับฟังและให้ความเห็นโดยไม่มีอคติ อีกทั้งมีคุณภาพของการรับฟัง สามารถอธิบายได้ว่าทำไม่ไม่เอาความเห็นนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่มีตรงนี้ ดังนั้นการรับฟังจึงไม่มีความหมายในสังคมไทย และเกิดการล้มเวทีการรับฟังความเห็นขึ้น
3.ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่เป็นไปไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องฟังความเห็นอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจต้องให้ศาลเป็นคนพิสูจน์ โดยการฟ้องศาลปกครองซึ่งไม่รู้ว่ากระบวนการจะยาวนานแค่ไหน
ไพโรจน์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ 53 พื้นที่ ซึ่งจะได้รับผลกระทบได้ส่งเสียงมากเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ตามชาวบ้านไม่ได้คัดค้านและสังคมต่างเห็นปัญหาร่วมกัน แต่คำถามคือเรามีทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือไม่ ในส่วนของชาวบ้านเองก็สามารถเสนอทางเลือกให้สังคมได้ด้วย ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มคัดค้านอย่างเดียว เราบอกได้ว่าเราต้องการให้ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ต้องถูกตรวจสอบด้วย
“ขอย้ำว่าเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์พิเศษแบบไหนก็ไม่สามารถปิดกั้นได้” ไพโรจน์กล่าว
แถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนระบุ ดังนี้
เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงกรณีการยกเว้น EIA โรงฟฟ้าขยะ 10 เมกะวัตต์ วันนี้ (28 ต.ค.58) ณ ห้องประชุมชั้น 4 มูลนิธิอาสามัครเพื่อสังคม (มอส.) ร้องยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ จี้ปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ ก่อนเดินหน้ายื่นหนังสือกระทรวงทรัพย์ฯ บ่ายนี้
Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Tuesday, October 27, 2015
แถลงการณ์ ต่อกรณีการยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ เผยแพร่วันที่ 28 ตุลาคม 2558 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 ที่มีผลเป็นการยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA จากเดิมที่กำหนดให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไปต้องจัดทำรายงาน EIA เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลักการใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยได้เปลี่ยนให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice/ COP) แทน ที่ยังไม่มีความชัดเจนในหลักการและกลไก รวมไปถึงกฎหมายที่รองรับ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนที่ศึกษาและติดตามนโยบายตามแผนแม่บทการจัดการขยะเห็นว่า การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของกระทรวงฯ ครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเป็นการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่อาจบรรลุถึงประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยให้โครงการบางประเภทต้องจัดทำรายงาน EIA เพื่อประเมินความจำเป็นและหรือทางเลือกของโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ และกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อยกเว้นให้โครงการใดไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA จึงต้องมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอสำหรับการลดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น อีกทั้งตามหลักการในรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้น กระบวนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะของกระทรวงฯ โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอจึงไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิ่งแวดล้อม การแก้ไขให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice หรือ COP) แทนรายงาน EIA ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ ด้วยเหตุที่ COP นั้นเป็นเพียงคู่มือรายการสิ่งแวดล้อม (Environmental Checklist)ที่เป็นรายการที่โครงการต้องปฏิบัติตามและทำการติดตามตรวจสอบเท่านั้น และCOP ไม่ถูกกำหนดมาให้ผ่านการพิจารณาเชิงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) การออกกฎระเบียบของฝ่ายปกครอง นอกจากมีกฎหมายให้อำนาจแล้ว ยังต้องเคารพในหลักความได้สัดส่วน กฎระเบียบที่บัญญัติออกมาต้องสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายเพื่อยังประโยชน์ให้สาธารณะชน กรอบแนวคิดหนึ่งของการจัดการขยะตามแผนแม่บทคือการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน ทั้งระบบการหมักปุ๋ย เตาเผา ฝังกลบ การแปรรูปเป็นพลังงานและระบบคัดแยก การยกเลิกการทำรายงาน EIA ของกระทรวงฯ นี้จึงส่งผลต่อจำกัดการออกแบบการจัดการขยะแบบผสมผสานนี้ให้ออกมาในรูปแบบเดียวคือ โรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง การออกประกาศนี้จึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ถึงการจัดการขยะแบบยั่งยืนได้ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนที่ศึกษาและติดตามนโยบายตามแผนแม่บทการจัดการขยะขอเรียกร้อง ดังต่อไปนี้ 1.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกเลิกประกาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 และกำหนดให้โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไปต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเดิม เพื่อรองรับมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ 2.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทบทวนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านขยะที่ยั่งยืน เช่น การคัดแยกขยะ การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมสารไดออกซินไอโลหะหนัก และเถ้าเบา เถ้าหนัก เป็นต้น ลงชื่อ เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ ตัวแทนจากจังหวัดระยอง ชลบุรี สระแก้ว สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสมุทรปราการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ |