จี้ กสทช.ออกประกาศยุติการปัดเศษทุกโปรมือถือ ฐานเอาเปรียบประชาชน

จี้ กสทช.ออกประกาศยุติการปัดเศษทุกโปรมือถือ ฐานเอาเปรียบประชาชน

20152602013134.jpg

วันนี้ (25 ก.พ. 2558) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวเผยโปรโมชั่นมือถือ AIS DTAC และ TRUE MOVE คิดค่าโทรเป็นวินาทีแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จี้ กสทช.ต้องออกประกาศยุติการปัดเศษทุกโปรโมชั่น

ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวถึง กรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้ง AIS DTAC และ TRUE MOVE ได้นำเสนอรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าโทรเป็นวินาทีออกมาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคนั้น คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าโปรโมชั่นในลักษณะดังกล่าว มีอัตราค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากต้องจ่ายในราคาค่าบริการแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับแพคเก็จเดิมที่ไม่คิดค่าโทรเป็นวินาที 

ผศ.รุจน์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการฯ ขอปฏิเสธโปรโมชั่นใหม่ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสนอ โดยไม่ยอมรับว่านี่คือแนวทางที่ถูกต้องในการตอบสนองต่อมติ สปช. และขอเรียกร้องให้ยุติการเอาเปรียบผู้บริโภคเสียที โดยเลิกคิดค่าบริการด้วยวิธีการปัดเศษอย่างไม่เป็นธรรม 

พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องให้ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค เหนือกว่าการแสวงหากำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ  และควรสั่งการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหลายเลิกคิดค่าบริการโดยการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีในทุกครั้งของการโทรทันที

“ในส่วนของผู้บริโภคเสนอว่า ไม่ควรสมัครโปรวินาทีที่ออกมาในตอนนี้ เนื่องจากมีราคาที่ไม่เป็นธรรม และไม่ได้ตอบสนองเรื่องการไม่ปัดเศษเป็นวินาทีอย่างแท้จริง และขอให้ผู้บริโภคช่วยกันสื่อสารไปยังค่ายมือถือ เพื่อเรียกร้องให้ค่ายมือถือคิดค่าบริการเป็นวินาทีตามจริง มากกว่าการออกโปรโมชั่นที่สับสันและมีราคาไม่เป็นธรรม” ผศ.รุจน์ กล่าว

ด้าน นางสาวชลดา บุญเกษม อนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เผยข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบโปรโมชั่น เช่น แพคเก็จ isecond 345 บาท โทรได้ 4,800 วินาทีต่อเดือน หรือ 80 นาที กับ แพคเก็จเดิม ismart 399 บาท โทรได้ถึง 150 นาทีต่อเดือน หากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว แพงขึ้นถึง 65.3 % อีกทั้ง โปรโมชั่นที่ออกมามีความซับซ้อน แสดงตัวเลขที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถโทรได้มาก แต่ความจริงเมื่อคิดเป็นนาทีกลับน้อยกว่าแบบเหมาจ่ายของโปรโมชั่นที่มีอยู่เดิม  

“โดย Ais มีการออกแพคเกจทั้งหมด 8 แพคเกจ มีเพียงแพคเกจเดียวที่คิดค่าโทรเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ ส่วนดีแทค ออกโปรมั่นวินาที มาสองแพคเกจและทรูออกเพียงหนึ่งแพคเกจ ซึ่งเป็นโปรที่ไม่ปัดเศษ แต่เมื่อคำนวณเป็นนาที พบว่า ค่าบริการสูงกว่าที่ กสทช. กำหนดไว้ เช่น กำหนดคิดเป็น 1.67 สตางค์ต่อวินาที เมื่อโทรครบ 60 วินาทีหรือ 1 นาที  เป็นเงินทั้งสิ้น 1.2 บาทต่อนาที ซึ่งเกินกว่าที่ กสทช. กำหนดไว้ที่  99 สตางค์ต่อนาที” นางสาวชลดา กล่าว

ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป คอบช. กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อ กสทช. ว่า การคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการค้ากำไรเกินควร จึงเสนอให้ กสทช. ใช้มาตรการป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค ห้ามผู้ประกอบการคิดค่าบริการในส่วนที่ผู้บริโภคไม่ได้มีการใช้งานจริงทั้งในส่วนที่เป็นค่าโทรศัพท์และค่าบริการอินเทอร์เน็ต เพราะการคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งานอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเข้าข่ายเป็นการค้ากำไรเกินควร 

“กสทช. ควรรวมเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในประกาศ ‘การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยการอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณา อันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ….’ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” ดร.ไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่ นางมณี จิรโชติมงคลกุล  เครือข่ายผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย รวมทั้ง กสทช. ควรให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างถูกต้อง ไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หลอกลวงผู้บริโภคด้วยวิธีการอันซับซ้อน ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ สปช. เช่น การทำให้เป็นเรื่องของการต้องเปลี่ยนระบบการคิดอัตราค่าบริการใหม่ รวมทั้งการออกโปรโมชั่นทางเลือก ซึ่งโปรโมชั่นใหม่ที่ 3 ค่ายมือถือเปิดตัวออกมานั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นการเสนอทางเลือกที่ไม่น่าเลือก เพราะโปรโมชั่นใหม่ของแต่ละค่ายนั้นต่างมีอัตราค่าบริการที่แพงกว่าโปรโมชั่นที่มีอยู่ในท้องตลาดเดิม มีลักษณะการลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคให้น้อยลง ซ้ำบางค่ายยังแอบแฝงการปัดเศษเข้ามาในโปรโมชั่นใหม่ที่นำเสนอในฐานะที่เป็นโปรวินาทีเสียด้วย

“ทั้งนี้ในการนำเสนอโปรโมชั่นวินาทีต่างๆ ของแต่ละค่ายนั้น พบว่ามีการพยายามนำเสนอรายละเอียดให้มีความซับซ้อนชวนสับสน ดูผิวเผินเหมือนให้สิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าและเป็นธรรม แต่แท้จริงแล้วเป็นการนำเสนอทางเลือกเพื่อไม่ให้เกิดการเลือก ซึ่งอาจคาดหมายต่อไปได้ว่า เมื่อในที่สุดปรากฏผลว่าผู้บริโภคไม่ให้การตอบรับโปรโมชั่นวินาที ผู้ให้บริการและ กสทช. ก็จะใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างต่อไปได้ว่า ผู้บริโภคไม่ต้องการระบบการคิดเงินเป็นวินาที ทั้งที่ความจริงเรื่องการนำเสนอโปรโมชั่นทางเลือกนั้นเป็นการพยายามบิดเบือนและเป็นการตีความอย่างศรีธนญชัยเพื่อทำให้เรื่องการคิดค่าบริการแบบไม่ปัดเศษกลายเป็นเรื่องที่สังคมไม่ต้องการ” นางมณี กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ