การเสวนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชนและสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบาย และแนวปฏิบัติในประเทศไทย”

การเสวนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชนและสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบาย และแนวปฏิบัติในประเทศไทย”

Img 5783

เวทีเสวนา ช่วงที่ 2 ในเวทีการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) ภายใต้แนวคิด “คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาควายากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน” ที่จัดขึ้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention Center – UNCC)  กรุงเทพมหานคร ดำเนินรายการโดย นางทิพย์รัตน์  นพลดารมย์ ที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

Img 5760

นางสนอง รวยสูงเนิน  การพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองชุมแพ เล่าว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมชน ในช่วงเริ่มต้น พอช. ลงไปทำความเข้าใจกับท้องถิ่น ท้องที่ สำรวจข้อมูลคนจน และแยกประเภทความเดือดร้อนทั้งเมือง ทำงานร่วมกับ พมจ. และหน่วยงาน เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองชุมแพ 1,052 ครัวเรือน 13 โครงการ และชุมชนเองต้องลุกขึ้นมาทำ และแก้ปัญหา การขับเคลื่อนงานกับภาคีที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนชุมชน ถือเป็นจุดสำคัญ ทำให้ความรู้กระจายไปสู่ชุมชน ที่ว่าชุมชนเป็นแกนหลัก และลุกขึ้นมา พร้อมให้ความรู้ ทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับ ได้รับความภาคภูมิใจ

“หัวใจสำคัญคือ การออมทรัพย์ เพื่อสร้างทุนภายใน เราไม่ได้รวมตัวเฉยๆ เรารวมทุนด้วย จะทำให้เราขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ ได้ เรามีทุนภายในตั้งกฎเกณฑ์ของเราขึ้นมาได้”

Img 5795

        นางดวงพร บุญมี  การพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง เล่าว่า การพัฒนาในเรื่องของบ้านมั่นคง ดำเนินการทั้งคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร มีสมาชิกอาศัยอยู่ริมคลอง 7,069 ชุมชน มีสมาชิก 6,386 ครัวเรือน ในปี 2547 ชุมชนบางส่วนของคลองลาดพร้าว โดยเฉพาะของคลองบางบัวได้มีการทำบ้านมั่นคงริมคลองขึ้น ประมาณ 4-5 ชุมชน เราเคยอยู่ริมคลองมานาน เราอยู่ในที่ดินของธนารักษ์ เป็นผู้บุกรุก และมีแต่คนกล่าวหาพวกเราว่าเป็นคนทำให้คลองเน่าเสีย จนมารู้ในปี 2558 รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาชุมชนริมคลอง จึงมีการสำรวจข้อมูลชุมชน/คนที่อยู่ริมคลอง และสร้างความเข้าใจ มีรูปแบบการพัฒนาและการอยู่อาศัยร่วมกัน คือ 1) อยู่ในที่ดินเดิม 2) ซื้อที่ดินใหม่ 3) อยู่แบบรอให้ถูกรื้อย้าย จากกระบวจการดังกล่าว เรามีการประชุมและมีการระบุความต้องการแล้วนั้น ก็มีการออมทรัพย์ร่วมกัน บริหารผ่านสหกรณ์เคหสถาน โดยมีการดูศักยภาพของชาวบ้านประกอบกับรูปแบบบ้าน

“เราอยากให้คำว่าสลัม ผู้บุกรุก นั้นหายไป เมื่อทำแล้วสำเร็จทำให้เราภูมิใจ เมื่อก่อนสำรวจข้อมูล เตรียมตัวขอเสนองบประมาณ ต้องเตรียมตัวดึกมาก นานมาก กลับมาร้องไห้ก็มี ทำให้เราปรับตัว เรียนรู้ และต้องทำให้ได้ สิ่งที่ทำนั้นมองถึงลูกหลาน เมื่อก่อนเห็นหน้ากัน แต่ไม่รู้จักกัน พอรวมตัวกันเรารู้จักกันหมด ทุกคนมาช่วยเหลือกัน และสภาพบ้านเปลี่ยนไป สวยงามขึ้นมาก

Img 5809

นางทองเชื้อ วระชุน โครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟ เล่าว่า ตนเป็นลูกชาวนา ทำนาอยู่ต่างจังหวัด ที่นาก็เช่า ทำนารอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ก็เลิกทำ อพยพเข้ามาอยู่ กทม. มาหางานทำ จะซื้อบ้านอยู่ก็ไม่มีปัญญา เพราะที่ดินแพงมาก เดิมอาศัยญาติอยู่ และเห็นที่ดินรถไฟมีที่ดินอยู่มาก ก็มาสร้างเพิงพักอาศัย ให้พออยู่ได้ ประมาณปี 2540 เราเริ่มมีบ้าน พอขอทะเบียนบ้าน เขาก็ไม่ให้ เขาว่าเราเป็นผู้บุกรุก ต้องต่อน้ำต่อไฟจากเพื่อนบ้านมาใช้ เริ่มมีการออมทรัพย์ จนนำมาสู่การรวมตัวกัน ในนาม “เครือข่ายสลัม 4 ภาค” ต่อสู้ กดดัน จนมีมติคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คือ (1) ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี  (2) ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท. จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร (3) กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม  ฯลฯ ทำให้ชุมชนสามารถเช่าที่การรถไฟระยะยาวได้ ปี 2563 เริ่มทำโครงการบ้านมั่นคง จากมติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการสนับสนุนโครงการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ให้ พอช. ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับขบวนองค์กร ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน

“แรกๆ จะไปชวนชาวบ้านทำเรื่องบ้าน ทำเรื่องที่ดิน ให้เขารื้อบ้าน แล้วมาเป็นหนี้ คุยยาก ต้องทำให้เขาเห็นถึงความเดือดร้อน แล้วนำมาสู่การแก้ไขปัญหา ให้เขามีส่วนร่วม การบริหารจัดการโปร่งใส ให้เขารับรู้ เขาจึงอยากจะร่วม แล้วอยากจะออกมาช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก”

Img 5829

นางกรรณิการ์ ปู่จินะ  โครงการที่อยู่อาศัยศูนย์คนไร้บ้าน เล่าว่า คนไร้บ้าน เป็นพี่น้องที่อาศัยในที่ดินสาธารณะ แม้กระทั่งห้องเช่าก็ไม่มีเงินเช่าห้อง ขายของก็โดนโกง จนต้องลองไปนอนที่สนามหลวง ก็มีคุยกับเพื่อนๆ ที่สนามหลวง ว่ารัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญและมีนโยบายช่วยคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยและอยู่ในที่สาธารณะ จนมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับเครื่อข่ายสลัม 4 ภาค ได้ลงไปคุยกับคนที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะ ให้รวมตัวกัน แรกเริ่มก็มีการไปขอหารือกับกรุงเทพมหานครให้มีการสร้างที่หลบแดดหลบฝนให้กับคนไร้บ้าน จนได้ที่ดินและสร้างศูนย์สุวิทย์ วัดหนู เป็นศูนย์ตั้งหลักในการไปอยู่ร่วมกัน มีการเก็บเงินออม มีการวางกติกาการอยู่ร่วมกัน ทุกวันที่ 10 จะมีการประชุมประจำเดือน จะมีแนวทางในการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงของเราอย่างไร มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายคนไร้บ้าน 7 จังหวัด

“การทำงานของเราเราสามารถเปลี่ยนทัศนะคติของสังคมที่มองเราว่าเป็นคนเร่ร่อนจรจัด เราคือคนไร้บ้าน แค่เราขาดเรื่องที่อยู่อาศัย ขาดเรื่องสิทธิต่างๆ เราไม่ใช่คนเร่ร่อนจรจัด”

Img 5839

นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและถิ่นฐานชนบทเข้มแข็ง บ้านมั่นคงชนบท เล่าว่า ด้วยปัญหาการผลิตที่ต้นทุนการผลิตสูง รายได้ตกต่ำ ผลผลิตตกต่ำ เป็นหนี้เป็นสิน เข้าไม่ถึงสิทธิที่ดิน สุดท้ายก็อพยพเข้าเมือง เพื่อหารายได้ จากสภาพปัญหาทำให้กลับมาคิดทบทวน จนมีบันได 7 ขั้น เพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน 1. การรวมกลุ่ม/หาเพื่อน 2. ประชุมสร้างความเข้าใจ 3. ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล 4. อบรมผู้นำ 5. จัดทำข้อมูลหมู่บ้าน 6. สรุปข้อมูลตำบล 7. วางแผนการแก้ไขปัญหา/แผนพัฒนาตำบล สิ่งที่ทำก่อนคือเรื่องที่ดิน ทำการเจรจาต่อรองให้คนในพื้นที่อยู่ได้ มีการรวมตัวกันออมทรัพย์ เพื่อเป็นการรวมคน สร้างทุน สร้างระบบการเงิน ทำให้เราได้รวมกัน และได้คุยกัน มีการสร้างกลุ่ม บทบาทการสร้างกลุ่มย่อยสำคัญ ทั่งทีมช่าง ทีมบริหารจัดการ ฯลฯ มีกลไกขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อให้ชุมชนมีรายได้กลับมา มีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และมีการอยู่ร่วมกันในสังคม และมีการพูดคุยกับหน่วยงานทุกระดับ เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ ให้คนอยู่ในพื้นที่อย่างจริงจัง มีการคิดพลังงานทดแทนและนวัตกรรมใหม่ๆ

“การทำบ้านพอเพียง เราต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม และสร้างรูปธรรม ที่ให้คนเดือดร้อนได้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเอง เป็นตำบลชี้ทิศ เราสามารถบอกว่าเราต้องการอะไรบ้าง ใครจะมาช่วยอะไรเราได้บ้าง นอกจากเรามีพื้นที่นำร่องแล้ว เราต้องหาพื้นที่เข้มข้น เพื่อขยายผล มีการวางยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด วางแผน ทิศทาง ปฏิบัติการร่วม หนุนเสริมการทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้”

Img 5845

นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวเสริมว่า จากผลการสำรวจข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 ระบุว่า จำนวนครัวเรือนในประเทศไทย 21.32 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 15.45 ล้านครัวเรือน และ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 5.87 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ในปี 2560 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  พอช. จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน พอช. มีอุดมการณ์ความเชื่อว่าชุมชนเป็นแกนหลัก เจ้าหน้าที่ พอช. มี 300 คน และภารกิจของ พอช. นั้น ไม่ได้ทำเรื่องที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราเชื่อมั่นคือ ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา ในพื้นที่ 76 จังหวัด และ 1 จังหวัด กทม. เป็นโจทย์ที่ พอช. คิดว่าจะให้ชุมชนลุกขึ้นมาทำทั้งเมืองเหมือนชุมแพอย่างไร ตอนนี้ชุมแพมีนารวม มีโรงน้ำ มีสวัสดิการ และมองว่าหากท้องถิ่นหกพันกว่าท้องถิ่น ให้ความร่วมมือจะทำให้ชุมชนไปได้

“แนวทางที่จะทำได้คือชุมชนเป็นแกนหลัก การสร้างและหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยน พร้อมไปหนุนเสริมร่วมกันเป็นเครือข่าย จุดสำคัญคือ คนรวมตัวกัน พี่น้องรวมตัวกัน ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เหล่านี้คือผลสำเร็จ ความเชื่อ เป็นสิ่งที่เราทำแล้วจะเปลี่ยนได้”

8

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ