“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง

1
สะพานวัดใจบ้านน้ำเชี่ยว

สำหรับทุกคนที่เดินทางมาจังหวัดตราด ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปเกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เกาะช้าง” และหมู่เกาะบริวารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ จนลืมนึกถึงว่า บนฝั่งแผ่นดินใหญ่ยังมีสิ่งน่าสนใจที่ต้องไปเยือน ชวนไปเที่ยว ชวนไปสัมผัสถึงเสน่ห์ของเมืองตราด และที่นั่นก็คือ “บ้านน้ำเชี่ยว” แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่มีเรื่องราวมากมายให้น่าไปค้นหา ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติป่าชายเลน สะพานวัดใจ อาหารพื้นถิ่น วิถีชุมชน 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม และเรื่องราวอีกมากมายที่ทุกคนต้องหลงใหล

2
พี่หน่อย หรือ นางสุรัตนา ภูมิมาโนช 

พี่หน่อย หรือ นางสุรัตนา ภูมิมาโนช  ประธานวิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว และกลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า   บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนเล็กๆ ในตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ห่างจากตัวเมืองตราดประมาณ 8 กม เป็นชุมชนใกล้ปากอ่าวอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เดิมที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยพื้นที่ และชาวจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย ก่อนลงหลักปักฐานอยู่อาศัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมุสลิมที่เรียกตัวเองว่า “แขกจาม หรือ จำปา” ได้อพยพหนีภัยสงครามจากกัมพูชามาตั้งรกรากอาศัยอยู่เพิ่มเติม  ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชน “2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม” คือ ศาสนาพุทธ-อิสลาม และวัฒนธรรมไทย-จีน-มุสลิม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขมาช้านาน ลักษณะภูมิประเทศของบ้านน้ำเชี่ยว ถือว่าได้เปรียบด้านทรัพยากรมีความสมบูรณ์ เพราะมีทั้งป่าชายเลน เป็นชุมชนปลายแม่น้ำ มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ เป็นแหล่งรวมของคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน ภายในชุมชนจึงมีทั้งวัด ศาลเจ้า และมัสยิด  จนกลายเป็นอัตลักษณ์อันทรงเสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้ ที่สามารถผสมผสานความหลากวิถีให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างกลมกลืน

3.
วิถีชีวิตชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว

พี่หน่อย เล่าต่อไปอีกว่า ผู้มาเยือนบ้านน้ำเชี่ยว ที่นี่มีสิ่งน่าสนใจและของดีหลากหลายให้เที่ยวชม เริ่มจาก “คลองน้ำเชี่ยว” เส้นเลือดหลักของชาวชุมชน ซึ่งเราสามารถเดินแบบสบายๆ เที่ยวชมวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน ที่มากไปด้วยรอยยิ้มและน้ำใจไมตรีของชาวบ้านน้ำเชี่ยวได้อย่างเพลิดเพลิน  คลองน้ำเชี่ยวมีจุดที่ผุ้มาเยือนทุกคนต้องไปนั่นก็คือ “สะพานวัดใจ” เป็นสะพานข้ามคลองโครงเหล็กโค้งสูง ยามสะท้อนต้องเงาน้ำจะมองเห็นเป็นรูปวงรีสวยงามดูคล้ายดวงตา จึงได้รับฉายาว่าเป็น “ดวงตาแห่งบ้านน้ำเชี่ยว” ซึ่งเป็นใครไปที่ จ.ตราด ต้องไม่พลาดที่จะไปถ่ายรูปเช็คอินที่นี่  และบริเวณริมคลองน้ำเชี่ยวยังมี “มัสยิดอัลกุบรอ” มัสยิดแห่งแรกของภาคตะวันออกอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม

4
มัสยิดอัลกุบรอ

ที่นี่มีแหล่งท่องทางธรรมชาติคือ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน” ที่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทอดยาวนำชมระบบนิเวศป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มีหอดูนกสูงกว่า 12 เมตร ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูนก ชมวิว และสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของป่าชายเลนได้รอบด้าน   นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมล่องเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำ ชมอุโมงค์ป่าโกงกางอันสวยงามยามเย็น ชมเหยี่ยวแดงที่มีอยู่จำนวนมาซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ชมป่าชายเลนผืนใหญ่ วิถีประมงพื้นบ้าน ชมทะเลปากอ่าวซึ่งจะเห็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ซึ่งทะเลบริเวณนี้สามารถมองเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของเกาะช้างได้อย่างชัดเจน

5
อุโมงค์ป่าโกงกาง

นอกจากนี้ ที่บ้านน้ำเชี่ยว ยังมีอีกหนึ่งของดี คือ “งอบน้ำเชี่ยว” งานหัตถกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น งอบน้ำเชี่ยวทำจากใบจาก ฝีมือประณีตสวยงาม ประกอบด้วย 5 รูปทรงให้ผุ้มาเยือนได้เลือกซื้อหา ได้แก่ ทรงกระทะคว่ำ ทรงยอดแหลม ทรงกระดองเต่า ทรงกะโหลก และทรงสมเด็จ

6
งอบน้ำเชี่ยว

ส่วนด้านอาหารการกิน นอกจากอาหารทะเลสดๆรสเลิศแล้ว  ถ้ามาถึงน้ำเชี่ยวต้องไม่พลาดชิม “ข้าวเกรียบยาหน้า” ของกินเมนูขึ้นชื่อของชุมชน ต้องบอกว่าเป็นที่เดียวในโลกเลย  พอบอกแค่ชื่อก็แปลก คนที่น้ำเชี่ยวเรียกคำว่าทาเป็นคำว่ายา แต่เว้นหน้าอย่างเดียวที่พวกเราเรียกว่าทาแป้งก็สงสัยเหมือนกันทําไมไม่เรียกยาแป้ง  ที่มาของเมนูนี้  มาจากชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งนำวัฒนธรรมการกินมาด้วย นั่นคือ ข้าวเกรียบปากหม้อ บวกกับที่ชุมชนนี้มีกุ้ง มีมะพร้าวจำนวนมาก   แผ่นแป้งของข้าวเกรียบยาหน้ามีวัตถุดิบและส่วนผสมอย่างเดียวกับข้าวเกรียบปากหม้อ คือใช้แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน ผสมเข้ากับน้ำ จากนั้นนำไปนึ่งเป็นแผ่น ๆ จนสุก แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง ครั้นเมื่อจะรับประทาน ก็จะนำแผ่นแป้งที่ผ่านการตากแดดจนแห้งนั้นไปปิ้งบนเตาถ่านจนแป้งกรอบ ทาน้ำตาลอ้อยเคี่ยวซึ่งมีลักษณะข้นเหนียว และตักเครื่องโรยหน้า ซึ่งทำจากแครอท มะพร้าว และกุ้งสับละเอียด ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยเล็กน้อย ละเลงทาลงบนแผ่นแป้ง แล้วโรยด้วยต้นหอมซอย พร้อมรับประทาน และมีลักษณะใกล้เคียงกับขนมเบื้อง

7
ข้าวเกรียบยาหน้า

บ้านน้ำเชี่ยวนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแล้ว ชาวชุมชนยังให้ความสำคัญกับการลดปริมาณคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถคว้า “รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” (Thailand Tourism Awards) หรือ “รางวัลกินรี” ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” มาครองใน 2 ประเภทรางวัลด้วยกัน ได้แก่ รางวัลดีเด่น กินรีเงิน สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และเกียรติบัตรประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี

8
รางวัลดีเด่น กินรีเงิน

“บ้านน้ำเชี่ยว” เป็นอีกหนึ่งแลนด์มารค์ที่ทุกคนต้องไป เมื่อมาเที่ยวที่ จ.ตราด เราสามารถมาท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์มุมมองใหม่กับสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ผสานวิถีความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมป่าชายเลน ทั้งมีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลายให้เลือกทำทั้งแบบ One Day Trip และการพักค้างแบบโฮมสเตย์ ผู้สนใจสามารถรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “กลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว” ติดต่อ พี่หน่อย โทร. 084 892 5374 หรือดูที่เพจ กลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว (วิสาหกิจฯโฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว)

10
9

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ