เพชรบุรี/8มิ.ย2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดกิจกรรม พอช. ร้อยดวงใจ จิตอาสา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น “ปลูกป่า สร้างฝาย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง และแกนนำป่าชุมชนนำร่อง 15 พื้นที่จากทั่วประเทศ กว่า200 คน เข้าร่วมการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ณ ชุมชนบ้านถ้ำเสือ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ด้วยในปี 2567 เป็นมหามงคลสมัยพิเศษ พอช.สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จึงดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า โครงการ พอช. ร้อยดวงใจ จิตอาสา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น“ปลูกป่า สร้างฝาย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญของชาวบ้าน ชุมชนถ้ำเสือ ซึ่งได้มีโอกาสร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย
เป็นโอกาสที่ดีเนื่องในวาระครบรอบเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่10 ทํายังไงที่เราจะพลิกพื้นแผ่นดินไทยให้กับมีความอุดมชุ่มชื้นแล้วก็มีพื้นที่ป่ามากขึ้น หนึ่งในนั้นก็เราพบว่ามีป่าชุมชนครับป่าชุมชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลมอบหมายให้ชุมชนช่วยดูแลพื้นที่ป่าให้ ถ้าเป็นป่าของรัฐก็จะโล่งๆ แต่ถ้าเป็นป่าชุมชนจะคึกคักเขียวชอุ่ม เพราะพี่น้องชุมชนคอยช่วยกันปกป้อง มีอาสาสมัครในการดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พอช.จึงได้ทำโครงการนําร่องป่าชุมชน 15ชุมชน ต้นแบบของประเทศไทย และที่ถ้ำเสือก็เป็นหนึ่งในนั้น ตั้งใจว่าจะชวนทุกคนมาเริ่มต้นโครงการปลูกป่าก็ตั้งใจจะปลูกประมาณหนึ่งหมื่นต้น ได้ทั้งประโยชน์ ทั้งอาหาร ทั้งเห็ด ทั้งผลเก็บเกี่ยวได้เพราะว่าเวลาเราทําป่าชุมชน หัวใจคือเราต้องดูแลบริหารจัดการเรื่องน้ำ จึงตั้งใจทําฝายชะลอน้ำเป็นช่วงๆพอทําเสร็จ น้ำมาก็จะชะลอความแรงแล้วซึมลงสู่ใต้พื้นดิน จะชุ่มชื้นป่าก็จะอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็จะมีโครงการปลูกต้นไม้ จะเป็นทั้งป่าชุมชน และเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน “ชุมชนเอื้อป่า ป่าเอื้อชุมชน”
“เราสามารถชวนพี่น้องชาวบ้านปลูกป่า ทำธนาคารต้นไม้ เก็บออมเลี้ยงชีพได้ ก็นับเอาว่าต้นไม้ที่มีอยู่จะมีอายุกี่ปีถ้า10 ปีก็คูณเข้าไป 1 ต้น 2 หมื่นบาท เราใช้ไม้ก็ได้ เก็บผลผลิตกินได้ อยู่บนพื้นความคิดว่า เมืองไทยมีที่ดินเป็นเงินเป็นทองเราต้องหาทางให้เงินทองงอกเงยให้เต็มหมดในพื้นที่เมืองไทย ในอนาคตบอกเลยว่าต้นไม้จะมีค่า วันนี้เราดําเนินการสร้างฝายหลายตัว พอสร้างฝายเสร็จ ปลูกต้นไม้ต่อแล้วก็หลังจากนั้นก็ตั้งใจว่าจะขับเคลื่อนโครงการพัฒนาต้นไม้โครงการต่างๆ นอกจากที่ถ้ำเสือแล้ว เรายังจะไปปลูกป่าที่ตำบลวังตามัว จังหวัดนครพนม ในวันที่ 19 มิ.ย นี้ อีก 11972 ต้น”
นายกฤษดา สมประสงค์ กล่าวว่า ในการทำกิจกรรม ร้อยดวงใจ จิตอาสา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น “ปลูกป่า สร้างฝาย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พอช.ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานสถาบันร่วมเป็นจิตอาสาพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร ด้านการมีส่วนร่วม การเป็นจิตอาสา และสร้างความสัมพันธ์อันดีของผู้ปฏิบัติงานสถาบัน และสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ภารกิจขององค์กรต่อสาธารณะที่มีความสอดคล้องกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน
“เราทําในนามของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การปลูกป่าในโครงการนี้ เป็นการ kick off จุดแรกซึ่งมีเป้าหมายดําเนินการใน 76 จังหวัดทั้งประเทศ โดยเฉพาะมีพื้นที่ป่าชุมชน 15 ป่าชุมชน การที่เราจะได้น้อมนําพลังทุกภาคส่วนถวายให้กับพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการทําให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น ถ้ำเสือนั้นเป็นพื้นที่ป่าชุมชนซึ่ง พอช. ได้มาส่งเสริมให้พี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกับประชาสังคม ภาคีทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนพื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้ ในการที่จะฟื้นคืนผืนป่าให้กลับคืน โดยการปลูกป่าในครั้งนี้ จํานวน 1,072 ต้น เป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนมาช่วยกันคืนทรัพยากรธรรมชาติให้กับผืนป่าแห่งนี้ให้ยั่งยืน”
นายสุเทพ พิมพ์ศิริ แกนนำป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ กล่าวว่า ชุมชนบ้านถ้ำเสือได้ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแล มีคณะกรรมการรวม 15 คน มีระเบียบข้อบังคับ เช่น ห้ามตัดไม้ทุกชนิด ห้ามล่าสัตว์ป่า ห้ามบุกรุกแผ้วถาง ห้ามจุดไฟเผาป่า หากทำผิดระเบียบจะว่ากล่าวตักเตือนก่อน หากทำผิดซ้ำจะโดนปรับ และจะส่งดำเนินคดีหากยังทำผิดซ้ำอีก แต่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเก็บหาของป่าเพื่อบริโภค ตัดไม้ไผ่เพื่อใช้สอย หากใช้ประโยชน์อื่นๆ คณะกรรมการป่าชุมชนจะประสานกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เพื่อพิจารณา ชาวบ้านถ้ำเสือยังช่วยกันดูแลป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นป่าชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ อยู่ห่างจากย่านชุมชนหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นป่าที่ราบสลับภูเขา มีไม้ต่างๆ เช่น ไม้รวก สามพันตา งิ้ว มะค่า ตะแบก ไม้รัง ฯลฯ มีถ้ำซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านถ้ำเสือ’ โดยกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นป่าชุมชนในปี 2552 เนื้อที่ 772 ไร่เศษ (ปัจจุบันชาวบ้านขยายการดูแลป่าชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 2 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่) จากผลงานการดูแลป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้บ้านถ้ำเสือได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 15 ป่าที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ พอช. และได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 75,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมการพัฒนาป่าชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การปลูกป่า การทำฝายชะลอน้ำบริเวณป่าถ้ำเสือ การเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน
นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่กรมป่าไม้ร่วมกับ พอช. ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมป่าไม้ ในการที่จะพัฒนาป่าชุมชนสู่ความยั่งยืน เรามีเป้าหมายถึง 15 พื้นที่ทั่วประเทศ บ้านถ้ำเสือนี้เป็นหนึ่งใน 15 พื้นที่ มีความเข้มแข็งเริ่มต้นจากป่าชุมชนที่เขาได้รับอนุมัติ 3,180ไร่ แล้ววันนี้ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนน่ะก็ได้เข้ามาต่อยอดในหลายหลายมิติ สร้างความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและก็สิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน ตั้งแต่เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นไม้แล้วก็การทำฝายแล้วก็มีเรื่องของการจะต่อยอดในเรื่องของการวิสาหกิจชุมชนเรื่องของธนาคารต้นไม้ วันนี้ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือก็จะเป็นต้นแบบแห่งหนึ่งที่จะขยายผลไปให้ป่าชุมชนอื่นอื่นหรือชุมชน ที่จะมาทำให้ชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งและก็มีสิ่งแวดล้อมและก็เศรษฐกิจดีขึ้น
“ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือเป็นป่าต้นแบบหรือเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง มีความหลากหลายของภูมิอากาศก็ดี พืชพันธุ์ต่างๆ สิ่งที่เราตั้งใจที่จะขยายต่อจากโครงการนี้ไปอีก ก็คือเรื่องของการดูแลป่าแล้วได้มาเรื่องของคาร์บอนเครดิต นั่นก็หมายถึง ถ้าชุมชนปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นธนาคารต้นไม้หรือปลูกต้นไม้ในป่าชุมชนเราสามารถประเมินกายภาพของต้นไม้ที่มันเจริญเติบโตออกมาเป็นตัวเลขคาร์บอนได้และถ้าเราเข้าร่วมโครงการทําคาร์บอนเป็นปี คาร์บอนที่สะสมกักเก็บมากขึ้น เขาเรียกว่าคาร์บอนเครดิต ก็จะสามารถที่จะนําคาร์บอนเครดิตนั้นไปขายให้กับภาคธุรกิจที่เขาปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชุมชนก็จะมีได้รายได้จากการปลูกต้นไม้”
การจัดกิจกรรม “ปลูกป่า สร้างฝาย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ชุมชนบ้านถ้ำเสือ เป็นกิจกรรมที่ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยนำพระราชปณิธานและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งยกระดับการแก้ไขปัญหาสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มาปรับใช้ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย ผ่านโครงการด้านจิตสาธารณะและจิตอาสาร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน อีกทั้งได้เรียนรู้พื้นที่รูปธรรมต้นแบบ เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การทำธนาคารต้นไม้ การปลูกป่าเพื่อสร้างพื้นที่การดูดซับคาร์บอน ( Carbon Credit ) ดังคำว่า “ป่าสร้างคน..คนสร้าป่า” เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน