กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน
วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ผนึกความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคีภาคประชาสังคมได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปจำนวน 9 แสนยูโร เพื่อดำเนินงานระหว่างเดือนมกราคม 2567 – ธันวาคม 2570
โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน (Building capacity of civil society organizations on supporting marginalized populations to access public services and respond to global warming) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถขององค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มคนชายขอบในด้านนโยบายและการเข้าถึงสิทธิของตน รวมถึงสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น และเครือข่ายประชาชน ในการออกแบบนโยบายที่ไม่แบ่งแยกกีดกัน (inclusive) และสามารถแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่จังหวัดสตูล คนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดพังงา กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคนจนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ภายใต้บันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน พม. จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน เพื่อการดำเนินโครงการในระดับพื้นที่ การติดตามประเมินผล และการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประสานชุมชนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์ ได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์ ทุกมิติแบบองค์รวม ให้ครอบคลุม มั่นคง มีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนองค์ความรู้ เนื้อหาหลักสูตร และวิทยากรในการฝึกอบรมตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือแก่หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่กลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม ที่เป็นการเตรียมความพร้อมและปรับตัวของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
AAT ก่อนเป็นมูลนิธิ เราก็เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสากล ทำงานมากกว่า 45 ทั่วโลก ภารกิจคือทำงานร่วมกับคนที่อยู่ในภาวะความยากจน เราชื่อว่าความยากจนมันไม่อยู่ถาวรแต่หมดไปได้ ถ้าเราหนุนเสริมให้พี่น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการแสวงหาความร่วมมือ เราไม่เชื่อว่าหน่วยงานรัฐจะสามารถทำทุกเรื่องได้ เราเองในฐานะที่เป็นเอกชน เราก็ต้องมาหนุนเสริมภาครัฐ และร่วมกันแสวงหาความร่วมมือ ภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น
ก่อนหน้านี้ AAT ก็ได้ทำงานเรื่องการศึกษา มีโอกาสจัดเวทีที่เราเชิญทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงเรียนมาคุยกัน แล้วพบว่าทุกคนอยากทำงานร่วมกัน แต่ไม่มีพื้นที่ที่จะมาแลกเปลี่ยนและแสวงหาความร่วมมือ ทำให้เน้นย้ำว่าความร่วมมือเท่านั้นที่จะเป็นเครื้องมือในการทำงานกับพี่น้องของเราให้เขาเข้าถึงบริการของภาครัฐ คนชายขอบนั้นจะมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ เช่น ภาษา การเดินทาง ฉะนั้นทำอย่างไรให้โครงการของเราสามารถเข้าไปหนุนเสริมและพัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคม ชุมชน และท้องถิ่นได้
ถ้าเราจะแก้ปัญหา เราควรสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับภาครัฐอย่างเป็นทางการมากขึ้น และวางบทบาทว่าแต่ละองค์กรจะหนุนเสริมอย่างไร เราเป็นหุ้นส่วนกันในการพัฒนาประเทศ ทำอย่างไรให้พี่น้องทุกกลุ่มอยู่ดีมีสุข
พอช. เราเกิดมาปีที่ 24 ผู้ที่ร่วมสร้างกันมาทั้งในส่วนนโยบายรัฐบาลและผู้ที่เป็นแรงผลักดันก็ดี ได้มีวิสัยทัศน์ไกลทีเดียวว่าชุมชนเข้มแข็งคือทางรอดของประเทศไทย จึงมีการกำหนดสถาบันนี้ขึ้นมาเพื่อให้ไปสร้างพื้นที่ชุมชนเข้มแข็ง
ภารกิจ อำนาจหน้าที่สำคัญ คือการสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชนและหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนงาน การสร้างความร่วมมือในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยึดโยงทุกคนมาร่วมกัน ช่วยกันเติมเต็มในภารกิจไปร่วมกัน แต่ที่สำคัญคือความร่วมมือทางใจ หากเซ็น MOU แล้วได้แค่กระดาษไปแผ่นเดียวไม่เกิดอะไรขึ้นก็เสียเวลา ตอนนี้อยากให้เอาใจมาร่วมกันเคลื่อน
กระบวนการขับเคลื่อนงานของพี่น้องที่ไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนา หลุดออกไปจากโอกาสในการพัฒนา ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะดึงทุกคนในผืนแผ่นดินไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี งานของ พอช. จึงเป็นการลงไปในพื้นที่ และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ เราจึงจะเป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมต่อภาคีทุกภาคส่วนเพื่อลงไปทำงานในพื้นที่ สิ่งที่สำคัญคือการมีเป้าหมายและแผนการทำงานที่ชัดเจน อยากจะให้เกิดขึ้นให้ได้ หลังจากนั้นก็ใส่ทรัพยากรต่างๆ ลงไปให้พื้นที่ขยับได้ เพราะฉะนั้นการทํางานในเชิงพื้นที่ที่มียุทธศาสตร์สําคัญนั้นอยู่2 ยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์ที่ 1คือการใช้พื้นที่ของพวกท่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนก็คือโยงไปที่พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สองก็คือการทํางานร่วมกับสามัคคีการพัฒนาอื่นซึ่งเป็น2 ใน 5ที่ปรึกษาสําคัญในการขับเคลื่อนงานของสถาบันเพราะฉะนั้นเราก็ทําหน้าที่ในการเป็นผู้ประกอบการในการที่จะเชื่อมต่อภาคีรูปร่างส่วนแล้วก็หนุนลงไปทํางานในพื้นที่อันนี้จะเป็นธุรกิจที่คิดว่าเป็นงานที่เราจะขยับร่วมกันในธุรกิจต่างต่างเหล่านี้สิ่งที่สําคัญก็คือว่าการมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็มีแผนการงานที่ชัดเจนตอนนี้ผมอยากจะให้ให้เกิดขึ้นตรงนี้ได้แผนการทํางานที่ชัดเจนแล้วก็เราได้ใส่ทรัพยากรต่างๆลงไปหนุนเสริมให้พื้นที่เขาได้ขยับขับเคลื่อนได้
เสวนา ‘ความท้าทาย เป้าหมาย และรูปธรรมความร่วมมือหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะ’
โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน มีคณะทำงานหลักที่ประกอบไปด้วยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยจะทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่นอื่น ๆ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงองค์การมหาชนที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ
ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่ามากที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านก็บอกว่าเขารักษามาดี ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่ฝ่ายรัฐบอกว่าถ้าไม่ประกาศใช้กฎหมายป่าก็ไม่เหลือ ก็เป็นความขัดแย้งซึ่งกันและกันในพื้นที่ โดยทั่วประเทศกำลังเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน คือการถูกประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ที่ทำให้เขาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรเลย แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ในปี 2562 แต่แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ชาวบ้านต้องยอมรับว่าบุกรุกป่า และอนุญาตให้ชาวบ้านอยู่ได้ตามเงื่อนไข หากยอมรับเงื่อนไขถึงจะเอาบ้านมั่นคงของ พอช. ไปลงได้ มันคือการต้องแลกความมั่นคงในที่อยู่อาศัยเพื่องบประมาณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรมีรายได้น้อยที่สุด จนที่สุด แต่ว่าในขณะเดียวกันประชาชนมีความสุขที่สุด จนแต่มีความสุข นั่นแสดงว่าต้องมีปัจจัยอะไรสักอย่าง ทรัพยากรเยอะ รายได้อาจไม่จำเป็นมากนักหากสามารถพึ่งพิงฐานทรัพยากรได้ สิทธิชุมชนของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าจึงควรได้รับการรับรองสิทธิ เราใช้ทุกหน่วยงานในการร่วมผลักดัน เช่น การผลักดันพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม แต่ที่ผมกังวลล่าสุดคือ เราพบว่า แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสถิติประชากรฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศไทย สมมติฐานคือมันเป็นพื้นที่ป่าทางกฎหมาย ตื่นเช้ามาไม่มีอะไรเป็นของตัวเองสักอย่าง อยู่อย่างยากลำบาก ไม่ถูกกฎหมาย หลบซ่อน ทั้งที่อยู่มาอย่างยาวนาน
ล่าสุดรัฐบาลรับฟังปัญหาเยอะ ประกาศให้แม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่นำร่องในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ดันไปล้อกว่าต้องไปพิสูจน์ก่อนว่าอยู่มาก่อน ตอนนี้ผ่านมา 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย คนแม่ฮ่องสอนจึงไม่มีโอกาส
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือเราทำเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาก่อน เราเจอปัญหานี้มา 20 ปี มันผ่อนคลายบ้าง แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศควรมีกฎหมายมารับรองสิทธิเขา ส่วนเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยเราต้องการสิทธิชุมชน เช่น โฉนดชุมชน ซึ่งเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อน รัฐบาลก็รับปากว่าจะเดินหน้าต่อ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่อยากเอาเงื่อนไขของหน่วยงานรัฐ ก็ให้มีทางเลือกโฉนดชุมชนได้ และอาจใช้กฎหมายชาติพันธุ์ในการแก้ไขปัญหาได้เมื่อมีผลบยังคับใช้ แต่ขณะนี้ พม. ควรจะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันกับเรา อะไรที่ทำก่อนได้ระหว่างนี้บ้าง ถือเป็นความท้าทายว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนแม่ฮ่องสอนดีขึ้นได้อย่างไร
ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
ถ้ามีข้อมูลมากพอเราจะสามารถวิเคราะห์ได้ เช่น ข้อมูลด้านการเข้าถึงสวัสดิการสังคม เพิ่งทราบว่ากระทรวง พม. ทำได้ เป็นแผนในการพัฒนา เช่น จะทำบ้านกี่หลัง ทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการนำร่องพื้นที่ทางวัฒนธรรม เรามีข้อมูลทั้งหมด มีคนพิการมากที่สุดที่หลีเป๊ะ เกิดจากน้ำหนีบ แต่เขาไม่ได้รับบัตรคนพิการเพราะเขาแค่กระเผลก แต่ยังเดินได้ แต่เขาทำงานไม่ได้
เรื่องคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิอะไรเลย ความร่วมมือนี้จึงเป็นจุดเริ่มที่ในการทำให้คนเปราะบางเข้าถึงสิทธิ แม้เป็นเพียงคนหนึ่งแต่มันคือชีวิตของเขาทั้งชีวิต เราจะก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างไปได้อย่างไร
อภินันท์ ธรรมเสนา ศมส.
ศมส. มีสโลแกนหลักว่า เราทำงานขับเคลื่อนงานบนฐานความรู้และเครือข่าย เราต้องเชื่อว่าฐานความรู้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราเห็นสถานการณ์และวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงานทั้งหมดเราต้องทำร่วมกับเครือข่าย โจทย์วันนี้คือ การพูดถึงกลุ่มประชาชนกรที่เปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์ เขามีความท้าทายไม่ใช่แค่ว่าเขาอยู่ห่างไกล แต่คือความไม่เข้าใจวิถีชีวิตที่แตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ การออกแบบงานจึงไม่ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ ความท้าทายคือจะทำอย่าไรให้สังคมเข้าใจวิถีที่แตกต่างนี้
เราอาจจะคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มันกระทบมาก เช่น การหาปลาหาหอยที่ได้น้อยลงของชาวเล กลุ่มสตรี เด็ก ต้องหาอาชีพเสริมตามชายหาด แต่คนไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เมื่อเราเข้าใจวิถีชีวิตของเขาแล้วเราจะไม่เข้าใจว่าวิถีเขาอันตราย เมื่อไม่กี่วันนี้ มพน. เปิดเวทีเรื่องฝุ่น เรื่องการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ถูกสังคมโจมตีอย่างหนัก เมื่อเราไม่เข้าใจเราก็จะออกนโยบายที่ไม่สอดคล้อง มันจะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา วิธีคิดไม่เปลี่ยน ก็แก้แบบเดิม วิธีการแบบเดิม แต่มันไม่สอดคล้องกับวิถี
งานของ ศมส. จึงเป็นการเข้าไปช่วยหนุนเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เขาจะได้รู้ข้อมูลของตนเอง ไม่เช่นนั้นเขาจะถูกคนอื่นมาจำกัดโดยคนอื่น พลังของการทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเองจึงถือเป็นความท้าทายส่วนหนึ่ง ซึ่ง ศมส. จะทำหน้าที่ในการหนุนเสริมศักยภาพนี้ เพื่อให้เขาเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น บริหารจัดการชุมชนของตนเองได้ พึ่งพาตนเองได้ โดยเราต้องเข้าใจด้วยว่าการจัดการตนเองได้ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นสามารถช่วยเปลี่ยนโลกได้ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในตอนนี้
ผู้แทน พม.
พอพูดเรื่องความท้าทายที่เราจะขับเคลื่อนร่วมกัน เช่น โลกร้อน ต้องยอมรับว่าชุมชนบนพื้นที่สูง และชุมชนเกาะแก่ง เป็นพื้นที่ที่เปราะบางที่สุดจากผลกระทบ มันนำมาซึ่งความท้าทายที่เราจะทำงานร่วมกันทั้งในโครงการนี้และหน่วยงานอื่นๆ
- การคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย พม. มีเป้าหมายคือเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ สตรี กลุ่มเปราะบาง ทำอย่างไรที่จะคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงและความต้องการของคนกลุ่มนี้
- การเข้าถึง (Access) ทำอย่างไรให้มีข้อมูลเพียงพอให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจและเริ่มดำเนินการ
- บทบาท (Role) เรามีหลายภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน พม. เป็นหน่วยงานรัฐ ทำเองไม่ได้หมด แต่เรามีภาคประชาสังคม ภาควิชาการ บทบาทของแต่ละที่จะช่วยประสานงานกันอย่างไร จัดกระบวนการในเชิงความร่วมมือเพื่อแปลงสิ่งที่พูดเป็นรูปธรรมอย่างไร
- งานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่เพื่อให้ได้ว่าพื้นที่ใดเสี่ยงอย่างไร แล้วสาขาใดที่เสี่ยงบ้าง เช่น เกษตร น้ำ ที่อยู่อาศัย ในรูปแบบของโครงการต้องมีการประเมิน และประเมินโดยระบุได้ว่ากลุ่มเป้าหมายใดเสี่ยงมาก
ในส่วนของ พม. ในแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ เราทำงานขับเคลื่อนในการสงเคราะห์ชาวเขามาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เราใช้ชื่อศูนย์ส่งเสริมจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นที่สูง ซึ่ง พม. ผลักดันให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เป็นแกนกลางของชุมชนในการประสานงานให้เข้าถึงได้ ส่วนกองทุนสวัสดิการสังคมก็สามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้ได้
การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนการสร้างกลไก ช่องทางรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ และเครือข่ายความร่วมมือไปสู่การทำงานร่วมกันของภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อออกแบบนโยบายที่เป็นธรรมทางสังคมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย โดยมีแม่ฮ่องสอน ระนอง สตูล พังงา และกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่นำร่อง