จับตาอธิบดีกรมวิชาการเกษตรปล่อยผีขึ้นทะเบียนสารพิษร้ายแรงคาร์โบฟูรานและเมโทมิล

จับตาอธิบดีกรมวิชาการเกษตรปล่อยผีขึ้นทะเบียนสารพิษร้ายแรงคาร์โบฟูรานและเมโทมิล

วันที่ 21 ก.พ. 2558 นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยจากแหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรและวงการสารเคมีการเกษตรว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 2 ชนิด คือ “คาร์โบฟูราน” และ “เมโทมิล” ซึ่งเป็นสารพิษที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เช่น องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้เสนอให้มีการยกเลิกการใช้โดยทันที

20152202025325.jpg

“นับตั้งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมดรวมถึงสารทั้งสองชนิดนี้หมดอายุลง  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมา เช่น นายจิรากร โกศัยเสวี หรือ นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ รวมทั้งรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในอดีต เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายธีระ วงศ์สมุทร ล้วนไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดทั้งที่ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากบริษัทดูปองท์ และเอฟเอ็มซี บริษัทสารเคมีสหรัฐซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ มาถึงตอนนี้คงต้องจับตาว่า นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีคนปัจจุบัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา จะแสดงบทบาทปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือบริษัทสารเคมี” นางสาวปรกชล กล่าว

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวยืนยันข้อมูลทางวิชาการว่า ทั้งคาร์โบฟูรานและเมโทมิลเป็นสารที่มีอันตรายร้ายแรงจนหลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว ซึ่งคาร์โบฟูรานเองมีต้นกำเนิดที่สหรัฐอเมริกาแต่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (EPA) ได้ประกาศว่า คาร์โบฟูรานที่ตกค้างอยู่ในอาหารไม่ว่าปริมาณใดก็ตามไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงยกเลิกการใช้คาร์โบฟูรานในสหรัฐตั้งแต่ปี 2008 และยกเลิกค่าปริมาณสารพิษตกค้างในอาหาร (tolerance) ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ปัจจุบันหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้คาร์โบฟูรานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย จาไมกา ศรีลังกา เป็นต้น  สำหรับเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูงและหากได้รับเป็นระยะเวลานานจะมีผลต่อตับและมีฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้หลายประเทศยกเลิกการใช้ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ กัมพูชา  ลาว สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

“การที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้งสองชนิดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้พบการตกค้างของสารทั้งสองน้อยลงมาก จากการสุ่มตรวจของไทยแพนจากปี 2555 และ 2557 พบสารพิษสองชนิดนี้ตกค้างลดลงประมาณ 60% ทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้นจากการบริโภคผักผลไม้บางชนิดที่มีการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดดังกล่าว” นายแพทย์ปัตพงษ์ กล่าว
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ