ไต่สวนมูลฟ้องเลขาฯ มูลนิธิไบโอไทย “คดีฟ้องปิดปาก” นัดอีก 15 ธ.ค.

ไต่สวนมูลฟ้องเลขาฯ มูลนิธิไบโอไทย “คดีฟ้องปิดปาก” นัดอีก 15 ธ.ค.

ลุ้นศาลอาญาจะสั่งรับฟ้องหรือไม่ 15 ธ.ค.64 คดี “วิฑูรย์” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาท ควบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีเคลื่อนไหวแบน 3 สารพิษอันตราย เจ้าตัวยันพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

1 พ.ย. 2564 – ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญารัชดา นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) พร้อมทีมทนายความสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและภาคีเครือข่ายเดินทางเข้ารับฟังการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีที่สมาคมแห่งหนึ่งฟ้องคดีหมิ่นประมาท และฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในกรณีที่นายวิฑูรย์ออกมาเคลื่อนไหวแบน 3 สารเคมีอันตรายในประเทศไทย

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยได้ทำการสืบพยานโจทก์ 2 คน และนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและเลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) 

“วิฑูรย์” ยันพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เชื่อสังคม-สื่อ ช่วยส่งเสียงให้คนที่พูดความจริง

นายวิฑูรย์กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก สิ่งที่ทำคือการพูดความจริง และตลอดระยะเวลาการทำงานมา 40 ปี ถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และไม่มีเพียงเฉพาะตนเองเท่านั้นที่ถูกข่มขู่คุกคาม ทั่วโลกก็มีกรณีแบบนี้ โดยในหลายประเทศนักเคลื่อนไหวที่พยายามจะให้มีการแบนสารเคมี ก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำลายความน่าเชื่อถือ มีการฟ้องหมิ่นประมาท บางกรณีถึงกับข่มขู่ที่จะทำร้ายร่างกายด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง ก็ยังมีศาสตราจารย์ในประเทศไทย 3 ท่าน ที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และมี 2 ท่านถูกข่มขู่ที่จะทำร่ายร่างกายด้วย ส่วนตัวคิดว่าอาจต้องเจอเรื่องนี้อยู่แล้ว และอยากให้เห็นภาพว่าสารเคมีที่เราเสนอให้ยกเลิก เช่น สารพาราควอตเองใน 60 ประเทศได้แบนไปแล้ว ส่วนสารคลอร์ไพริฟอส ที่เราเรียกร้องให้มีการแบนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา และเพิ่งสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันทั้งจีน EU และสหรัฐอเมริการก็ประกาศแบนแล้วเช่นกัน

สวนสารไกรโฟเสตก็เป็นคดีที่ขึ้นศาลอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยผู้เสียหายฟ้องบริษัทและบริษัทประกาศว่าจะต้องไกล่เกลี่ยคดี ใช้เงินประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเพิ่งเป็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว

ถ้าเราต้องการอาหารที่ปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี สารพิษเหล่านี้ต้องถูกกำจัดออกไปจากประเทศ ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่าเราเอาข้อความเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และฟ้องหมิ่นประมาท ทั้ง ๆ ที่เราพูดความจริงที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเหล่านี้

เชื่อว่าถ้าสังคมและสื่อมวลชนช่วยส่งเสียงให้คนที่พูดความจริง คนที่พูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่กรณีนี้เพียงอย่างเดียว แต่ในประเทศไทยยังเจอหนักกว่านี้มาก บางคนอาจจะสูญเสียชีวิต อาจจะต้องปกป้องคนเหล่านี้

“ระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายจะต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อที่จะก้าวไปสู่โลกที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าเราดูกระบวนการนโยบายสาธารณะที่มาปกป้องสุขภาพ ของมนุษย์ ของสิ่งแวดล้อม ของคนเล็กคนน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการต่อสู้จากประชาชน จากสื่อมวลชน จากสาธารณะเป็นหลัก มีน้อยมากที่สถาบันหลักจะปฏิรูปตนเอง” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าว

นายวิฑูรย์ บอกด้วยว่า วิธีการหนึ่งที่สำคัญ ถ้าขบวนการประชาชนเข้มแข็ง และสามารถพูดความจริงได้ จะเอื้อให้คนในระบบมีความกล้าหาญ และลุกขึ้นมาทำในแบบเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้มีการออกกฎหมาย Anti-slapp ออกมาเพื่อช่วยปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ให้โดนฟ้องคดีปิดปากเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยควรที่จะได้เรียนรู้

ทนายความระบุ ไม่ควรจะต้องมีใครถูกฟ้องคดีเพื่อยับยั้งการพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ชี้เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 ป.อาญา

ด้าน น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ กล่าวว่า คุณวิฑูรย์ถูกฟ้อง 2 คดีคือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โจทย์ฟ้องมาถึง 2 มาตรา คือ มาตรา 14 และ มาตรา 16 เรามองว่าในทางกฎหมายถ้าฟ้องคดีหมิ่นประมาทแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จะยกเว้นไม่ให้ใช้ในคดีหมิ่นประมาท ดังนั้นก็ไม่ควรฟ้องตามมาตรา 14 (1) ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีก

นอกจากนี้ในมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นความผิดที่จะใช้กับภาพ การตัดต่อภาพบุคคล เหมือนนำภาพดาราตัดต่อให้เกิดความเสียหายกับดาราคนนั้น คือวัตถุประสงค์ของมาตรา 16 แต่กลับมาฟ้องในคดีนี้ด้วย แต่กรณีนี้เป็นภาพข้อความที่กากบาทเอาไว้เท่านั้นเอง

น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ

ส่วนตัวมองว่า สุดท้ายแล้ว ศาลจะรับฟ้องก็รับฟ้องได้ตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญาคือ ใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะข้อความที่พูดว่า สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งนั้นมีอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคุณวิฑูรย์เองเป็นหนึ่งในคณะกรรมมาธิการนั้นด้วย และการเอาข้อมูลในที่ประชุมมาพูดในทางสาธารณะก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

“การพูดทางสาธารณะที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับควรจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ควรจะต้องมีใครถูกฟ้องคดี เพื่อยับยั้งการพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ” ทนายความกล่าว

น.ส.จันทร์จิรา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้กฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากได้ถูกแก้ไขบางส่วนแล้วในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในมาตรา 161/1 แต่ภาคประชาชนเสนอไปว่าควรจะใช้บังคับกับคดีที่รัฐฟ้องประชาชนด้วย ปรากฏว่าในกฎหมายใช้บังคับแค่เอกชนฟ้องร้องเอกชน หมายความว่ากรณีคดีนี้ เราก็ยื่นตามมาตรา 161/1 ว่าเป็นการแกล้งฟ้องโดยไม่สุจริต เพื่อมีผลเป็นการยับยั้งการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ในกรณีที่ประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลไม่มีกฎหมายนี้รับรอง เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถยื่นคำร้องตามมาตรานี้ได้ มองว่าในอนาคตจะมีความคืบหน้า เพราะตอนนี้เรายื่นไป

ตอนนี้เรายื่นคำร้องตามมาตรา 161/1ภายใต้ข้อจำกัดว่าเอกชนฟ้องร้องเอกชน ก็ยังมีแนวคำสั่งศาลที่ยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันว่าศาลจะพิจารณาคำร้องนี้อย่างไร ถ้ามีข้อเท็จจริงปรากฏชัด ศาลสามารถพิจาณาได้เลย โดยที่ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องแต่บางกรณี อย่างเช่นกรณีที่อาจมีเอกสารพยานหลักฐานในคดีเยอะ ศาลอาจอยากดูพยานหลักฐานในคดีก่อน ยังไม่สั่งรับฟ้อง ปัจจุบันจึงมองว่ากฎหมายนี้ก็พัฒนาขึ้นมาลำดับหนึ่งแต่ยังดีขึ้นได้กว่านี้อีก

ผู้จัดการ Enlaw ชี้ควรมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ใช้กระบวนการกฎหมายแกล้งฟ้องเพื่อปิดปาก

ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) กล่าวถึงการพิจารณาคดีในวันนี้ว่า ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่า การทำงานของคุณวิฑูรย์ และมูลนิธิชีววิถีเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน และมีเจตจำนงในการทำงานมาอย่างยาวนาน ทั้งให้การศึกษากับสังคม และตรวจสอบรัฐบริษัทกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารพิษสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ความมุ่งหมายของคุณวิฑูรย์และไบโอไทย คือการปกป้องกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ที่ใช้สารเคมี และกลุ่มผู้บริโภคที่อาจจะมีความเสี่ยง ที่จะได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ดังนั้นการที่คุณวิฑูรย์และมูลนิธิไบโอไทยออกมาส่งเสียง และออกมาแสดงความคิดเห็นในมิติเรื่องนี้ เป็นประเด็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่พูดได้ แสดงความคิดเห็นได้ต่อสังคม

การที่คุณวิฑูรย์ถูกฟ้องเป็นการคุกคามคนที่ลุกขึ้นมาพูดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองเกษตรกร ให้ข้อมูลกับสังคม เพื่อประชาชนรู้ความจริงเพื่อให้เขาได้มีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย ซึ่งเจตจำนงในการฟ้องน่าจะเป็นประเด็นการฟ้องเพื่อที่จะให้คุณวิฑูรย์และมูลนิธิไบโอไทยหยุดพูดในเรื่องนี้ มากกว่าที่จะเป็นการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ในการที่เขาจะเกิดความเสียหาย ตามเหตุของคดีหมิ่นประมาททั่วไป

ดังนั้นเราควรที่จะออกมาสนับสนุน คนที่ส่งเสียงและพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะสู้คดีให้ถึงที่สุดและพิสูจน์ในเรื่องนี้ และกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงเวลาแล้วที่จะมีกระบวนการในการกลั่นกรองการฟ้องประเด็นพวกนี้ และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ใช้กระบวนการกฎหมายที่แกล้งฟ้องเพื่อปิดปาก

ไม่ใช่แค่คุณวิฑูรย์กรณีเดียว แต่ยังรวมถึงชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อปกป้องตัวเอง ทั้งในเรื่องความปลอดภัยจากมลพิษ จากอุตสาหกรรม หรือการตรวจสอบรัฐและบริษัทเอกชนต่าง ๆ รวมทั้งเอาความจริงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่อต้านการแบนสารเคมีทั่วโลกของไทยด้วยมาอธิบาย เป็นการพูดเพื่อประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน

“สังคมควรที่จะได้เรียนรู้ รวมทั้งระบบยุติธรรมในประเทศนี้ด้วย ใครก็ตามที่พูดความจริง ใครก็ตามที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ควรที่จะมีโอกาสได้พูดในเรื่องพวกนี้อย่างเต็มที่ไม่ควรเป็นความผิดใดๆเลย และสังคมควรที่จะส่งเสริม ให้เขาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าว

ขณะที่ น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International กล่าวว่า ความพยายามทั่วโลกล่าสุดในการแบนสารเคมีพิษร้ายแรงอย่างพาราควอต ในการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมหาศาล เป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องมาของนักอนุรักษ์ที่ส่งเสียงเตือนมา 50-60 ปีแล้ว และยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่คุณประยุทธ์ไปร่วมเวทีการประชุมสุดยอดของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ในขณะนี้

ประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืชมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การแสดงความจริงใจของรัฐบาลในการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นธรรม ไม่ใช่การไปประชุม แต่คือต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนไหนต้องเผชิญกับการข่มขู่ และใช้กระบวนการยุติธรรมมาคุกคาม เมื่อพูดประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเรื่องสารกำจัดศัตรูพืชและสุขภาพความปลอดภัยของประชาชน ที่เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาแบบจอมปลอมเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศของรัฐและทุน

00000

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและเลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืนมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ซึ่งก่อนที่จะถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาได้ออกมาให้ข้อมูลในการเคลื่อนไหวแบน 3 สารเคมีอันตรายคือสารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต 

ข้อหาที่นายวิฑูรย์ถูกฟ้องร้องนั้น เป็นข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เนื้อหาในเพจ BIOTHAI เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในการแบนสารพิษและจากการได้รับเชิญให้ไปออกรายการในสถานีโทรทัศน์ที่พูดถึงรายละเอียดและข้อเท็จจริงในการแบนสารพิษอันตรายในประเทศไทย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ