จับตาทิศทาง กสทช. อนาคตทีวีดิจิตอล ทีวีชุมชนไทย

จับตาทิศทาง กสทช. อนาคตทีวีดิจิตอล ทีวีชุมชนไทย

IMG_1154.JPG

จับตาทิศทาง กสทช. อนาคตทีวีดิจิตอล ทีวีชุมชนไทยในงานเสวนาเวทีสื่อไทย “2 ปี กสทช.กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม”

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ได้มีการจัดเสวนาเวทีสื่อไทย (Thai Media Forum)  ภายใต้หัวข้อ “2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม” โดยการจัดของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทและมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์

วัตถุประสงค์ในการจัดการเสวนาครั้งนี้ เพื่อประเมินผลการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่ผ่านมา รวมทั้งการร่วมเสวนาหาข้อเสนอแนะการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพทั้งเนื้อหา วิธีคิด สิทธิเสรีทั้งในส่วนสังคม สาธารณะ ภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน และข้อธรรมาภิบาลที่ กสทช. ต้องมีการรับผิดชอบ

ช่วงแรกในการเปิดเวทีเสวนา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กล่าวถึงหน้าที่ของ กสทช. ที่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่โดยมิให้เอื้อผลประโยชน์แก่พรรคการเมือง “การที่มี กสทช. ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในระบบการกำกับดูแล และเป็นการสกัดผลประโยชน์ที่มีมากมายมหาศาลไม่ให้เข้าไปพัวพันกับการเมือง แนวคิดเดิมที่มีมาแต่ก่อน มาตรา 40 ตามรัฐธรรมนูญก็คือการป้องกันองค์กรอิสระ เพื่อการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ให้ถูกยุ่งเกี่ยวโดยพรรคการเมือง เพราะมีตัวอย่างที่เห็นแล้วว่าพอมีฝ่ายการเมืองมายุ่งเกี่ยว ในการคมนาคมในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างมหาศาล ในส่วนของวิทยุโทรทัศน์ก็มีการแสวงหาผลประโยชน์ และที่สำคัญก็คือ มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพด้วยเพราะมีการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว การย้ายจัดสรรคลื่นห่างจากพรรคการเมืองโดย กสทช. เป็นก้าวหนึ่งที่ปลดล็อคประเด็นการเมืองออกไป แต่สิ่งที่ปลดล็อคไม่ได้ก็คือเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เพราะผลประโยชน์ย่อมมีอยู่ ไม่ว่าการจัดสรรคลื่นนั้นจะเป็นฝ่ายการเมือง หรือองค์กรอิสระ โจทย์ใหญ่วันนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้การจัดสรรคลื่นความถี่และการบริหารคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส ไม่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ”

จากนั้นเริ่มวงเสวนาการหาทางออก จิรนุช  เปรมชัยพร มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ได้เสนอแนะถึงการประมูลช่องธุรกิจ ทีวีดิจิตอลหรือทีวีดิจิตอลสาธารณะ จี้จุด กสทช. ว่าอยากให้มองเห็นประชาชนไม่ใช่แค่รัฐ

การจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับชุมชน 20% ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการเข้ามามีบทบาทส่วนร่วมในการบริหารจัดการ รวมถึงกองทุน งบประมาณที่ชุมชนพึงได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริงเพื่อให้มีศักยภาพที่เท่าเทียมในสังคมการแข่งขัน

รวมถึงข้อสนับสนุนที่ตรงกับ วิชาญ อุ่นอก สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงภาคประชาชนที่จะเข้าเป็นผู้ประกอบการวิทยุชุมชน และทีวีดิจิตอลได้ต้องมีงบประมาณที่ชัดเจนที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งสื่อชุมชนนั้นไม่สามารถโฆษณาจึงขาดงบประมาณที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ดังนั้นกองทุนจึงเป็นบทบาทสำคัญที่ขับเคลื่อนในการทำงานของสื่อภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน 

ข้อสังเกตจากวิชาญ อุ่นอก คือการยื่นขอโครงการจัดตั้งวิทยุชุมชน และทีวีดิจตอลในปี 2556 รวมทั้งหมด 225 โครงการ เป็นเงินรวมประมาณ 2,600  ล้านบาท แต่ผ่านการอนุมัติรับเอกสารจาก กสทช.แค่ 10 โครงการ อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารที่ 8 โครงการ และที่เหลือยังคงค้างคือ 207 โครงการ ซึ่งทำให้เล็งเห็นถึงการทำงานที่ล่าช้าของ กสทช. ที่ผ่านมาถึงง2 ปี และการออกกรอบการอนุมัติทุนที่ระบุจำนวนตัวเลขงบประมาณไม่ชัดเจน  ดังนั้นกลุ่มวิทยุชุมชนทั้งหมดจึงตัดทิ้งจากการอนุมัติทั้งหมด

ข้อคิดเห็นต่อ กสทช. ของวิชาญ อุ่นอก คือสื่อชุมชน ทั้งวิทยุชุมชน ทีวีดิจิตอลจะโตไม่ได้หากไม่ได้รับการการสนับสนุนด้านงบประมาณ ดังนั้นจึงขอฝากเรื่องทุนงบประมาณให้ กสทช. ช่วยพิจารณา

อเนก นาคะบุตร มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มีข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสื่อ แก้กฎหมาย กสทช. ใหม่ การกระจายอำนาจ และกองทุนต้องมีกระจายให้กับภาคสาธารณะ เอกชนธุรกิจ และชุมชน ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์จากภาคส่วนต่างๆตามจำนวนเงินที่เหมาะสม

ด้านธรรมาภิบาล ที่ กสทช. ต้องรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบ กำกับดูแลความโปร่งใสโดยภาคสาธารณะ

ด้านกลุ่ม NBCT Policy Watch ได้ชี้ 5 ประเด็นการทำงานของ กสทช. ที่ควรต้องนำไปปรับปรุง

  1. การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ผลการประชุมต้องไม่ล่าช้าเกิน 30 วันหลังจากมีการประชุม แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะให้รับทราบ ซึ่งผ่านมา 8 เดือนแล้วตามมาตรา 59 ที่ควรจะเป็นกระบวนการจัดทำนโยบายยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร เช่น การคัดเลือกอนุกรรมการเพราะยังเป็นระบบโควตา มากกว่าระบบคุณสมบัติ และ กสทช. มักหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งในการใช้ดุลยพินิจให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
  2. หลักเกณฑ์ในการใช้คลื่นความถี่ ที่มีการจัดสรรใหม่ แต่ยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายส่วน และเกณฑ์ที่ออกมาก็ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร กสทช. หากมีการถกเถียงด้านกฎหมาย ต้องส่งเรื่องให้กับ ที่ปรึกษา คณะกรรมการได้รับฟังความคิดเห็น
  3. การรับฟังความคิดเห็นตามวิธีการ เช่น การเปลี่ยนแปลงมักจากเปลี่ยนไปตามภาคธุรกิจมากกว่า เห็นได้ชัดเจนจากส่วนภาคข่าว และเพดานภาษี 3G ซึ่งควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคที่ได้รับส่วนได้ส่วนเสียด้วย
  4. กลไกการรับเรื่องร้องเรียนล่าช้า ภายใต้กระบวนการตามกฎหมายที่กำหนดไว้ภายใน 30 วันหลังจากที่ได้รับ ข้อเสนอควรต้องเพิ่มประสิทธิภาพต้องโปร่งใส เห็นได้ชัดจากการแทรกแซงการออกอากาศต้องโปร่งใสจริงๆและหากผู้ร้องเรียนยังไม่ได้รับการพิจารณาภายใน 30 วัน สามารถร้องเรียนได้อีกรอบได้
  5. การใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส เช่น กรณีการจัดซื้อจัดจ้างบางกรณีที่มีปัญหา  ใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น
  • การประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมาใช้งบมากเกินความจำเป็น และไม่เหมาะสม
  • งบประมาณการเดินทางไปต่างประเทศ ที่สูงขึ้นเรื่อยๆต่อปี

ด้านประชาชน ผู้เข้าร่วมการรับฟังให้ความคิดเห็นต่อการทำงานของ กสทช.ถึงสื่อกระแสหลักในปัจจุบันยังไม่นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน การบริหารจัดการสื่อรูปแบบสื่อของภาคสื่อชุมชน อยากให้ กสทช. เข้าใจในกระบวนการศึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้กระจ่าง การสร้างความรู้ให้กับประชาชนไม่จำเป็นต้องนำเสนอที่โรงแรม แต่อยากให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่โดยตรง

ด้าน ศศิน เฉลิมลาภ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร แสดงถึงความรู้สึกต่อสื่อหลักที่ต้องถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ให้สอดแทรกข่าวสถานการณ์เร่งด่วนที่สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนพร้อมกัน การเสนอข่าวต้องตรงไปตรงมา ลดความขัดแย้งจากข้อมูลและค่านิยม และเสนอให้เพิ่มสภาผู้ชมทุกช่องในทุกอาชีพ ทุกภาคส่วน เพื่อให้เสนอข่าวครอบคลุมทุกด้าน รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสภานีอย่างมากที่สุด

ทั้งนี้ยังเสนออีกว่า หากมีช่องทีวีดิจิตอลเพิ่มอีก 24 ช่องโดยไม่เป็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็เป็นช่องโทรทัศน์ที่ไร้ประโยชน์ ดังนั้นต้องร่วมมือแก้ไขพร้อมๆกันอย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ผู้เข้ารับฟังจากหลายภาคส่วน ได้ฝากความหวังให้ กสทช. เร่งแก้ไขปัญหาทั้งความล่าช้าการดำเนินการ การจัดสรรคลื่น กองทุนงบประมาณ อย่างเร็วที่สุดและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ประชาชนมากที่สุด

IMG_1163.JPG

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ