สมุดบันทึกหน้าที่ 1 I AM THE NOMAD ผมเป็นคนร่อนเร่
สมุดบันทึกการเดินทางชีวิตของเรา เริ่มต้นในวัย 11 ขวบ ย่างเข้า 12 ขวบ วันหนึ่งเราได้รับจดหมายจากมูลนิธิแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่เด็กชาติพันธุ์เขตภาคเหนือ จดหมายแจ้งว่า เราผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนการศึกษา ต้องเข้ามารายงานตัวการเป็นนักเรียนประจำในวันและเวลา ตามที่มูลนิธิได้กำหนด
ณ ตอนนั้น เรามีความรู้สึกว่า ความสุขของเรากำลังจะหมดไป เราถามตัว เราเองว่า “นี่เราต้องห่างจากครอบครัวแล้วเหรอ อยู่บ้านต่อไม่ได้เหรอ เราเองไม่พร้อมที่จะออกไปเผชิญกับโลกที่กว้างใหญ่ เราคิดแค่ว่า เราเป็นเด็กน้อยๆ เด็กบ้านนอกคนหนึ่งเท่านั้น เรามีความสุขกับการเลี้ยงวัว วิ่งเล่นกับเพื่อนๆในทุ่งนา ตกเย็น ออกไปเตะบอลกับเพื่อนๆ ไม่ก็ออกไปเก็บผืนกับยายในสวนมะม่วง” ความสุขของเรามีแค่นั้นจริงๆ มันเรียบง่ายมาก เลยนะ
เราเคยถามพ่อกับแม่นะ ทำไมผมต้องออกไปเรียนต่างจังหวัดด้วย เราอยู่ที่บ้านและเรียนที่บ้านไม่ได้เหรอครับ แต่สำหรับพ่อแม่แล้ว อนาคตที่ดีของลูกคนหนึ่ง พวกเขาพร้อมทำได้ทุกอย่าง สุดท้ายแล้วเราต้องออกเดินทางจากบ้านตั้งแต่เด็ก ลองจินตนาการดูนะ เด็กอายุ 11 ขวบ ไม่เคยออกจากบ้าน เราต้องเรียนรู้ การซื้อตั๋วรถบัส ไปโน่น ไปนี่ด้วยตัวเอง เราต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นที่เราไม่เคยรู้จัก หลายๆ ครั้งมันทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และร้องไห้
ในเรื่องร้ายๆ ย่อมมีเรื่องดีที่แฝงอยู่ในนั้นเสมอนะ เรามีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเติบโตขึ้นมาก ทำไมเราถึงเรียกตนเองว่า คนร่อนเร่ล่ะ ก็เพราะเราไปอยู่มาแล้ว 11 จังหวัดแล้วไง ตั้งแต่โซนภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ เราไม่เคยอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งเลย ชีวิตของเราอ่ะ เราเดินทางตลอด หลายๆ ครั้งเราเรียกตัวเองเลยว่า “เราอ่ะเป็น Nomad หรือ คนร่อนเร่”
เชื่อมั้ย ตั้งแต่เราออกจากบ้าน เราแทบไม่เคยกลับบ้านเกิดเราเลย นานๆ จะกลับที บางครั้งเราถามตัวเองว่า “ เอ้ย นี้เรายังมีบ้านอยู่อีกเหรอวะ (หัวเราะ) ”
จากเด็ก 11 ขวบในวันนั้น ปัจจุบัน เราอายุยี่สิบกว่าแล้ว เราเติบโตขึ้นและในเวลาเดียวกัน เราก็ผ่านความเจ็บปวดมามากมายเช่นกัน
สมุดบันทึกหน้าที่ 2 ชีวิตผันเปลี่ยนตามกาลเวลา
คำว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สามารถใช้ได้กับทุกช่วงเวลาของชีวิต ตอนนั้น เราอายุ 20 กำลังเรียนอยู่ ณ มหาลัย แห่งหนึ่งจังหวัดเชียงราย เราตั้งใจว่า ช่วงปิดเทอม ภาคฤดูร้อน เราจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่แม่ฮ่องสอน เราคิดถึงครอบครัวมาก แต่ความตั้งใจเรา กลับไม่ได้เป็นไปดังที่เราหวังไว้ อาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็น บาทหลวง ท่านทำงานกับพี่น้องชายขอบในประเทศเมียนมา มานานกว่า 20 กว่าปี ท่านชวนเราไปเป็นครูอาสา สอนภาษาไทย ในประเทศเมียนมา
ตอนนั้น เราลังเลกับความรู้สึกของเรา จะกลับไปหาครอบครัว หรือ จะไปเป็นครูอาสาช่วงวันหยุดเรียนดีนะ
สุดท้าย เราตอบ ตกลงกับคำชักชวน จากอาจารย์ ขอสารภาพนะ จริงๆ แล้ว เราก็ไม่รู้เหรอว่า การเป็นครูอาสา เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องเตรียมสอนอย่างไร เรากังวลนะ แต่เราก็เชื่อว่า ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี
ปลายฤดูหนาว ย่างเข้าใกล้ฤดูร้อน ของเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา ตี 5 .30 น ท้องฟ้าวันนั้น สดใสมาก มีหมอกปกคลุมท้องถนนเป็นระยะๆ เราเริ่มต้นออกเดินทางจาก อำเภอ เชียงแสน จังหวัด เชียงราย มุ่งหน้าสู่ ถนนหมาย 108 จังหวัด แม่ฮ่องสอน จุดหมายของเราคือ ท่าเรือเขตการค้าชายแดน ไทย – เมียนมา บ้านแม่สามแลบ เพื่อมุ่งหน้าสู่ค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่า ในรัฐกะเหรี่ยง
ช่วงเวลาที่เรากำลังนั่งอยู่บนรถ อาจารย์ได้แบ่งปันประสบการณ์ การทำงานกับพี่น้องชายขอบเป็นระยะๆ เพื่อให้เรา ได้เข้าใจ บริบทชีวิตและสภาพสังคม ร่วมถึงวิถีชีวิตของพี่น้องชายขอบในประเทศเมียนมา
เราใช้เวลาเดินทางราวๆ 9 ชั่วโมง เราเดินทางมาถึง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราเหนื่อยมากกับการเดินทางตลอดทั้งวัน เราและอาจารย์นอนค้างคืน 1วัน ใกล้ๆ ตัวอำเภอแม่สะเรียง ก่อนจะเตรียมตัวออกเดินทางไปยัง ท่าเรือ แม่สามแลบ ในวันรุ่งขึ้น…..
สมุดบันทึกหน้าที่ 3 ท่าเรือแม่สามแลบสะพานเชื่อม 2 แผ่นดิน
เช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เราตื่นนอนตั้งแต่ 5 โมงเช้า จัดการธุระส่วนตัว แวะกินข้าวข้างทาง และมุ่งหน้าสู่ ท่าเรือแม่สาบแลบ เราใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากอำเภอแม่สะเรียง สู่ท่าเรือ เรานั่งรถกระบะคันเก่าๆ มีกลิ่นอายความขลังของรถที่ผ่านสภาพการใช้งานมานาน
เพื่อเดินทางไปยังท่าเรือ ก่อนจะถึงท่าเรือ 10 นาที เราสังเกตุเห็นแม่น้ำสายหนึ่ง ยาวสุดลูกหูลูกตา เราถามอาจาย์ว่า “ อาจารย์ครับ แม่น้ำสายนั้น มีชื่อว่าเรียกว่าอะไรอ่ะ อาจารย์ตอบ “สาละวิน” เราอุทานขึ้นมา “โอ้สวยงามมาก ” Highlight ของการเดินทาง คือ เราพึ่งรู้ว่า แม่ฮ่องสอน บ้านเกิดของเรา มีท่าเรือ ติดชายแดนไทย-เมียนมา และเป็นครั้งแรกที่เราได้ รู้จัก “แม่น้ำสาละวิน” ตามที่เรา ค้นหาข้อมูล แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่าน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ไหลผ่าน รัฐฉาน
รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศเมียนมากับไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวิน จะไหล วกกลับเข้าสู่ประเทศเมียนมา
สำหรับเราแล้ว สาละวิน หรือ Salween เป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฝากฝั่ง ช่วงที่เรากำลังรอ เจ้าหน้าที่จากรัฐกะเหรี่ยงมารับ เราสังเกตุ ชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำสาละวิน มีความชำนาญในการขับเรือมาก ชาวบ้านบางส่วนมีอาชีพจับปลาและรับจ้างขับเรือขนสิ้นค้าข้ามฝากไปยัง รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ชาวบ้านที่เราได้มีโอกาสคุยด้วย บอกเราว่า รายได้ของพวกเขาส่วนมาก มาจากการรับจ้างขับเรือและจับปลา
และแล้ว เวลาประมาณ 12 นาฬิกา เจ้าหน้าที่จากรัฐกะเหรี่ยงข้ามมาถึงฝั่งไทย และเข้ามาทักทายเรา “โอหมื่อโชเปอ” (ภาษากะเหรี่ยง) แปลว่า สวัสดีครับ เจ้าหน้าที่ชื่อว่า “พาตี ตี๋เบอะ” เจ้าหน้าที่คนนี้เคยทำงานกับอาจารย์ของเรามานาน และเป็นคนสนิทกับอาจารย์เรามาก อาจารย์แนะนำเราให้รู้จัก พาตีตี๋เบอะ อาจารย์บอกเราว่า
“เจ้าหน้าที่คนนี้ จะเป็นผู้ดูแลเธอนะ ตลอดระยะเวลา 2 เดือน เขาให้เธอทำอะไรก็ทำตามเขานะ” เราก็ตอบอาจารย์ว่า ครับ….
สมุดบันทึกหน้าที่ 4 คนร่อนเร่ผู้หัดเป็นครูอาสา
เราใช้เวลานั่งเรือจากฝั่งไทย ข้ามไปยังรัฐกะเหรี่ยง ราว 2-3 ชั่วโมง ตลอดการเดินทางด้วยเรือสัญจร
กลิ่นอายการผจญภัยได้เริ่มต้นขึ้น กลิ่นอายของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ทำให้ เรารู้สึกตัวเล็กไปเลย สองฝากฝั่งชายแดนไทย เมียนมา มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก
เราตกหลุมรัก การเดินทางนี้เลยล่ะ แน่นอน ความตื่นเต้น ความกังวล เริ่มคลืบคลานเข้ามา ราวกับเป็นเงาตามติดตัวเลย… ตั้งแต่ออกจากบ้าน อายุ 11-12 ขวบ การเดินทางครั้งนี้ คือ การเดินทางของเราที่ ห่างไกลจากบ้านที่สุดแล้ว
บ่าย 2 โมง ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เราได้เดินทางมาถึง “ค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่า” ค่ายแห่งนี้ก่อตั้งโดยชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งหนีภัยสงครามการสู้รบในเมียนมา ชาวบ้านที่นี้ สร้างบ้านด้วยหลังคาจาก ใบตองตึง ลักษณะบ้านทุกหลัง พื้นจะยกสูงขึ้นทั้งหมด ผนังบ้านทุกหลัง ทุกกั้นด้วยไม้ไผ่
ความรู้สึกของเรา ตอนมาถึง เรารู้สึกว่า “สังคมที่เราอาศัยช่างแตกต่างจากสังคมของพวกเขาเหลือเกิน โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราเองก็ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ เราเป็นคนตัวเล็กๆ ทั่งกลางคนเป็นพันล้านคน
ไม่ว่าเหตุการณ์ใดก็ตาม ที่พัดพาเราให้มาเจอผู้คนเหล่านี้ เราเองจะตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นครูอาสาให้ได้มากที่สุด จะได้นำเรื่องราวของเรา ไปบอกแก่เพื่อนๆ …….”
พาตีตี๋เบอะ ให้เรานอนพัก บ้านหอเด็กผู้ชาย บ้านที่เราพัก มีลักษณะคล้ายๆกับบ้านชาวบ้านเลย… หลังคาใบตองตึง พื้นของบ้านและผนังบ้าน ทำจาก ไม้ไผ่ ที่ถูกสับฟาก เห็นบ้าน ที่เราพักชวน คิดถึงสมัย เราถูกพ่อและแม่พาขึ้นดอยไปเยี่ยม ชาวบ้านในพื้นที่ทุรกันดานในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตกเย็นวันนั้น เราได้มีโอกาสพบผู้อำนวยการโรงเรียนอิตุท่า ผ.อ.โรงเรียนสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ แต่โชดดีที่ ท่านสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เราค่อยโล่งออกไปหน่อย ท่านบอกเราว่า พรุ่งนี้เช้าอยากให้เราไปแนะนำตัวแก่เด็กๆ ที่โรงเรียน เราอุทานขึ้นมา “ อะไรนะครับ แนะนำตัวเองต่อหน้า เด็กๆ นักเรียนทั้งโรงเรียน เราตกใจและตื่นเต้นด้วย
เราตอบกลับ… “โอ้ จะดีเหรอครับ” ผ.อ. ตอบกลับ ดีซิ นานๆ จะมีครูจากประเทศไทยมาสอน ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แก่เด็ก นักเรียนของเรา
สมุดบันทึกหน้าที่ 5 ภาษาเชื่อมใจ
เช้าวันใหม่กับบทบาทใหม่ เรารู้สึกตื่นเต้นนะ เราจะได้ แนะนำตัวต่อหน้าเด็กนักเรียน
ออ..เราลืมบอกไป เด็ก ๆ ที่นี้ จะใช้ภาษาอังกฤษและภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร นักเรียนบางคนสามารถพูดภาษา เมียนมาได้ เราเองเป็นคนกะเหรี่ยงเหมือนกัน สามารถสื่อสารกับนักเรียนได้…แต่ส่วนมาก เราจะใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า พูดคุยกับนักเรียน รวมถึงเวลาสอนด้วย
ทำไมต้องใช้ภาษาอังกฤษพูดกับนักเรียน เพราะ สำเนียงคนกะเหรี่ยงไทย และคนกะเหรี่ยง ในเมียนมา มีสำเนียงที่ต่างกัน คำศัพท์ที่ใช้ ก็ต่างกันด้วย
วันที่ต้องไปสอนที่โรงเรียนวันแรกอ่ะ เราสังเกตุเห็นการแต่งตัว ของนักเรียนซึ่งแตกต่าง จากชุดนักเรียนในประเทศไทยมาก
เด็กนักเรียน ที่นี้ จะสวมชุดประจำชาติพันธุ์ของตนเองไปเรียนหนังสือ เด็กผู้หญิงจะนุ่งกระโปร่ง ส่วนเด็กผู้ชายจะนุ่งสะโหร่ง เราถามนักเรียนว่า “ที่นี่เวลาไปเรียน ต้องแต่งตัวแบบนี้เหรอ นักเรียนตอบว่า “ครับ” นักเรียนบอกเราว่า เด็กนักเรียนทุกคนที่นี้ ต้องแต่งกายชุดพื้นเมืองของตนเอง เวลาไปเรียน
ยกเว้นช่วงที่สอบ ทางโรงเรียนจะให้แต่งชุดพิเศษครับ เราก็ถามต่อว่า ชุดพิเศษที่หนูว่า หน้าตามันเป็นอย่างไรเหรอ นักเรียนตอบว่า “เสื้อคอปกสีขาวแขนสั้นไม่ก็แขนยาว และจะมีตรากระทรวงศึกษารัฐกะเหรี่ยงแบะไว้ตรงแขนเสื้อ ”
และแล้ว เวลาการแนะนำตัวต่อ หน้านักเรียน กว่าชีวิตก็มาถึง เราตื่นเต้นมาก โดยเฉพาะเวลาผู้อำนวยการโรงเรียน เรียกชื่อ เรา
เราออกมา ทักทายเด็กนักเรียน “ความรู้สึกเหรอ บอกได้เลยว่า ตื่นเต้นมาก พูดติดๆ ขัดๆ ไม่เป็นประโยค (หัวเราะ)”
เช้าวันแรกของการสอน เราเข้าไปสอน ห้อง Grade 12 ซึ่งเทียบเท่า ชั้น ม.6
แน่นอนว่า เด็กๆทุกคน พูดภาษาไทยไม่ได้ เราจึงต้องแปลจาก ไทยเป็นอังกฤษ สับสนพอสมควรกับการแปลภาษา มันท้าทายสำหรับเรามาก
ทุกเวลาที่เราสอน เราสังเกตุว่า เด็กทุกคนตั้งใจเรียนมาก เราถามเด็กๆ ว่า “หนูครับ/คะ ทำมั้ย ดูจริงจังกับการเรียนมากเลยอ่ะ ”
เด็กๆ ให้เหตุผลว่า นานๆจะมีครูจากต่างถิ่นมาสอน “พวกหนูอยากเรียนรู้ให้มากที่สุด เราได้ยินเท่านั้นแหละ โครตซึ้งใจเลย ได้ยินแล้ว น้ำตาจะไหล (หัวเราะ)”
ออ….เราอยากบอกว่า โรงเรียนที่นี้ เรียกช่วงชั้นเรียนต่างๆ ว่า Grade ส่วนหนึ่งเพราะ ประเทศเมียนมานั้น เคยตกเป็นเมืองขึ้น ให้แก่อังกฤษ ดังนั้น การศึกษาในเมียนมา จะได้รับอิทธิพลการศึกษาและแนวคิดแบบชาวตะวันตกอยู่บ้าง
การศึกษาของเด็กๆ ในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่า ถูกจัดสรรโดยกระทรวงศึกษารัฐกะเหรี่ยง หรือ KECD ย่อมาจาก “Karen Education and Culture Department” ซึ่งองค์กรนี้ จะสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนทุกคนในรัฐกะเหรี่ยงร่วมถึงการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่เด็กๆ ทุกคน
“ห้องเรียนที่นี้ จะแตกต่างจากห้องโรงเรียนในประเทศไทยมาก ผนังห้องจะถูกสานด้วยไม้ไผ่ หลังคาห้องเรียนทำจากใบตอนตึง ดีขึ้นมาหน่อย บางอาคารเรียนจะเป็นหลังคาสังกาสี แล้วสภาพของเรียนล่ะ เราอยากบอกว่า เด็กนักเรียนที่นี้ไม่มีโต๊ะเรียนนะครับ ไม่มีประตูห้องเรียนด้วย เด็กทุกคนที่เรียน จะนั่งบนม้านั่งที่ทำมาจาก กระบอกไม้ไผ่ หรือ แผ่นไม้ 2 แผ่นถูกนำมาซ้อนกัน ให้กลายเป็นที่นั่ง”
ส่วนคุณครูที่นี่ จะมีหนังสือ การสอนเพียงไม่กี่เล่มที่ถูก ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น หนังสือที่ครูนำมาสอนนั้น บางเล่มนั้น ฉีกขาด หรือ ไม่ก็ชำรุดจากเชื้อรากัดกิน
เด็กเรียนจะเรียน 7 วิชาสามัญ คล้ายๆ กับบ้านเรา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม ภาษากะเหรี่ยง ภาษาเมียนมา และ วิชาสุขศึกษา
แต่ละวัน เราจะสอนวันล่ะ 5 คาบเรียน ช่วงเช้าสอน Grade 8-9 หรือ เทียบเท่าชั้นมัธยม ม.2-ม.4 ของบ้านเรา ส่วนบ่ายๆ เราจะเข้าไปสอน ชั้นอนุบาล แต่ละวันการสอนของเราจะแตกต่างกันไป บางคาบให้เด็กร้องเพลงภาษาไทย บางคาบเราจะเล่าสังคมไทยให้เด็กๆ ฟัง และบางคาบ เราจะให้เด็กฝึกพูดภาษาไทยกับกลุ่มเพื่อนๆ
สมุดบันทึกหน้าที่ 6 เราและเธอคือ เพื่อนมนุษย์ผู้แสนธรรมดา
ทุกๆ ครั้งที่เราไม่มีคาบสอน หรือ วันที่ไม่มีการเรียนการสอน เราจะออกไปเยี่ยม เด็กๆตามบ้าน เด็กและผู้ปครองนักเรียน ในค่ายผู้พลัดถิ่นอิตุท่า ส่วนใหญ่แล้วหลบหนีจากสงครามความขัดแย้งในประเทศเมียนมา เราเองในฐานะคนต่างถิ่น เวลาฟังเรื่องราวของพวกเขา เรารู้สึกหดหู่มาก กับเรื่องราวที่พวกเขาต้องพบเจอ
เรารู้สึกโชดดีมาก ที่ไม่ต้องหนีสงคราม ไม่ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นในรัฐของตัวเอง สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชีวิตเด็กๆ หรือพ่อแม่ของเด็กนักเรียน ทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น สังคมเรามีชนชั้น มีความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรมมเต็มไปหมด ชีวิตของชาวอิตุท่าคือ ภาพสะท้อนที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกสังคมอันกว้างใหญ่ลืมเลือน
ช่วงระยะเวลาแรกที่เรา ได้ใช้ชีวิตกับเด็กๆ ในค่ายอิตุท่า เราพบว่า เด็กๆที่นี้ไม่มีสัญชาติ กลายเป็นบุคคลไร้รัฐ เด็กทั้งหมดในค่าย ขาดโอกาส หลายด้านมาก เช่น โอกาสด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านอื่นๆ อีกมากมาย… ในมุมมองของเราเอง เด็กหรือพ่อแม่เด็ก ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่น คนหนึ่งคน ที่มีโอกาสได้เกิดมาในสังคม แต่พวกเขากลับไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้เลย
สมุดบันทึกหน้าที่ 7 บทสุดท้าย ของการเดินทาง มีพบและมีจาก
เช้าวันใหม่ ในเดือนของต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 เราจะทำหน้าที่ครูอาสาเป็นเดือนสุดท้าย ก่อนจะกลับประเทศไทย รู้สึกใจหายเหมือนกันนะ วันเวลาเดินทางเร็วเหลือเกิน “เด็กๆ เริ่มถามเรา ครูครับ / ครูคะ คุณครูใกล้จะกลับแล้ว รู้สึกไงบ้างครับ/คะ เราได้แต่มองหน้าพวกเขา และอมยิ้ม ”
ข้างในใจเรา มันมีแต่ความคิดถึง ภาพความทรงจำที่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักเรียน และกับคุณครู ค่อยๆ ลอยออกมา เป็นฉากๆ เราเองไม่อยากให้ช่วงเวลา อันแสนมีค่ากับเด็กๆ หมดไปเลย แต่นั้นละ เมื่อมีพบ ย่อมมีวันจากลา เป็นเรื่องปกติ ซึ่งหลายครั้งยากจะทำใจเหมือนกันนะ
ในเดือนสุดท้ายของการสอน เราไล่เดินเก็บภาพร่วมกับเด็กๆ และคุณครูในโรงเรียน จะได้เก็บภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิต “มีเด็กๆและคุณครู ถามเราตลอดเลยว่า ถ้ากลับแล้ว จะกลับมาหาพวกเขาอีกไหม
“เราตอบว่า แน่นอน หากวันหนึ่งเรา กลับมา เราจะพาเพื่อนๆ ของเรากลับมาด้วย”
ช่วงเวลาสองเดือน ที่เราได้สอนเด็กๆ เรามีความสุขมาก เราค่อยๆทำความเข้าใจชีวิตภูมิหลังเด็กๆ ในค่ายผู้พลัดถิ่น
เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มของพวกเขา ทำให้เรารู้สึกไม่อยากจากไป แต่เวลาที่ไม่อยากให้มาถึงเริ่มใกล้เข้ามาทุกที ทุกๆวันที่เราตื่นขึ้นมา เราเอาแต่ย้ำกับตัวเองว่า เราจะใช้เวลาเต็มที่ให้กับเด็กๆเหล่านี้
และแล้ววันสุดท้ายของเดือน มีนาคม ก็มาถึง คุณครูและนักเรียนจัดงานเลี้ยงอำลา ให้แก่เรา มันอบอุ่นมาก มีการกินเลี้ยงอาหารเย็นด้วยกัน หลังจากกินข้าวกันเสร็จเรียบร้อย เราได้กล่าวความในใจ ต่อนักเรียน ต่อคณะครู
สุดท้าย เราได้ทิ้งข้อความหนึ่งแก่คุณครูและเด็กๆ ที่น่ารักของเรา…..
… นับจากวันนี้และต่อไป พวกคุณคือ ส่วนหนึ่งในชีวิตของผม และจะเป็นตลอดไป…..
เช้าวันรุ่งคืน เดือนเมษายน เราเก็บข้าวของพร้อมที่จะกลับ….ก่อนจะกลับนั้นเราได้ถ่ายรูปร่วมกับเด็กๆและคุณครูเป็นครั้งสุดท้าย…..มีเด็กๆและคุณครูกลุ่มหนึ่งอาสา ส่งเราที่ ท่าเรือ….เมื่อเราเดินทางถึงท่าเรือแล้ว….เรือที่ พาตี ตี๋เบอะ ได้ติดต่อมารับเราพอดี…………..
ก่อนจะขึ้นเรือ เราสัญญากับเด็กๆว่า….เราจะกลับมาอีก….เราจะกลับมาพร้อมกับครูอาสาคนใหม่…. รอเรานะเด็กๆ…. เราจะกลับมาหาทุกๆคน……รอคอยที่สาละวิน………………..
สุดท้าย….. ขอบคุณนะ ที่ทำให้เราได้รู้จักเธอ………………………
เรื่องและภาพ ณรงค์เดช ชวนชื่นชม