จับตา! ประชุมตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ ‘กลุ่มรักษ์บ้านแหง’ ยันค้านเหมืองถ่านหิน

จับตา! ประชุมตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ ‘กลุ่มรักษ์บ้านแหง’ ยันค้านเหมืองถ่านหิน

20162804015941.jpg

27 เม.ย. 2559 กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ประกาศคัดค้านและไม่ขอมีส่วนร่วม กรณีบริษัท เขียวเหลือง จำกัดเตรียมจัดประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริการส่วนตำบลบ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง 

แววรินทร์ บัวเงิน แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวถึงเหตุผลในการคัดค้านการจัดประชุมดังกล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มรักษ์บ้านแหงยังอยู่ระหว่างการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอให้ตรวจสอบความถูกต้องในการออกประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ให้แก่บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ทั้งในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จำนวน 3 คดี เพื่อเพิกถอนรายงานไต่สวนพื้นที่เหมืองแร่ เพิกถอนใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ และเพิกถอนประทานบัตร ซึ่งคดียังไม่เสร็จสิ้น

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาในพื้นที่ ต.บ้านแหงยังคงมีปัญหาความขัดแย้ง และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังคงคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัทมาโดยตลอด 

“เรายืนยันว่าจะไม่มีผู้นำท้องถิ่นรวมทั้ง ประชาชนในพื้นที่คำขอประทานบัตร เข้าร่วม เพราะกระบวนการของเหมืองไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก” แววรินทร์กล่าว พร้อมระบุว่า ควรรอให้มีคำพิพากษาขอศาลก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ 

แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านแหงกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มรักษ์บ้านแหงได้เดินทางไปยังศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยระงับการประชุมในครั้งนี้ แต่ศาลสั่งไม่ไต่สวน เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน 

20162804015915.jpg

นอกจากนี้ กลุ่มรักษ์บ้านแหง อีกสวนหนึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด รวมทั้งส่งหนังสือถึง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด คัดค้านการประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ โครงการเหมืองแร่ถ่านหินฯ และขอให้ยกเลิกประชุมดังกล่าว

สำหรับ หนังสือซึ่งยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุเหตุผลในการคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินฯ มาตั้งแต่ปี 2552 ดังนี้

1. รายงานความเห็นชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2553 ผิดจากข้อเท็จจริง เนื่องจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงการชี้แจงในการขอประทาน และไม่มีความเห็นชอบจากราษฎรกลุ่มรักษ์บ้านแหง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่คำขอและออกใบประทานบัตร จึงเป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อขอประทานบัตร ต้องผ่านความเห็นชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง แต่ไม่พบว่า มีการชี้แจง หรือประชุมในเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้บริเวณป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย เพื่อขอประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ในการประชุมของอบต.บ้านแหงแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

3. ในการออกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ จะต้องไม่มีความขัดแย้งในพื้นที่ อันเป็นเงื่อนไขตามระเบียบการออกใบอนุญาตของกรมป่าไม้ แต่ปรากฏว่า ในพื้นที่ยังคงมีความขัดแย้งอยู่ตลอดจนถึงปัจจุบัน การออกใบอนุญาตป่าไม้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

4. ในการจัดทำรายงานการไต่สวนพื้นที่เหมือง ไม่ได้มีการระบุ เส้นทางสาธารณะประโยชน์ ทั้งเส้นทางน้ำ และทางบก ที่อยู่ในเขตพื้นที่ขอประทานบัตร ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่มีการสำรวจที่แท้จริง รายงานการไต่สวนพื้นที่เหมืองแร่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

5. ราษฎรบ้านแหงเหนือ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว ไม่เคยมีการทำประชาคมเกี่ยวกับการทำประชาคมในเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ลิกไนต์ของ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด แต่อย่างใดทั้งสิ้น 

6. ราษฎรบ้านแหงเหนือ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแหง อ.งาว ไม่เคยทราบถึงกระบวนการ และไม่เคยมีส่วนร่วมในขั้นตอนการเข้ามาศึกษาเพื่อการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตร และการทำรายงานดังกล่าว

7. ปัจจุบันในพื้นที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้ง และคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัทเขียวเหลืองมาโดยตลอด โดยเรื่องการร้องเรียนยังอยู่ทั้งกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และในกระบวนการของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ถูกเลื่อนมาจากวันที่ 24 มี.ค. 2559 เนื่องจาก เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2559 กลุ่มรักษ์บ้านแหง ได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง นายอำเภองาว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง และกำนันตำบลบ้านแหง เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กล่าวประสานงานไปยังบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ให้ยกเลิกการประชุม

การประชุมดังกล่าว เป็นเงื่อนไขตามประทานบัตร เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ ในลักษณะไตรภาคี มีหน้าที่ในการบริหารกองทุนเฝ้าระวังสุขภาวะสุขภาพ และกองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิต และกองทุนพัฒนาชุมชน

 

ลำดับความเคลื่อนไหวในพื้นที่

ความขัดแย้งในพื้นที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากบริษัทเขียวเหลือง เข้าไปซื้อที่ดินของชาวบ้านกว่า 1,500 ไร่ โดยให้เหตุผลว่าจะนำพื้นที่ไปปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อทำกระดาษ แต่ภายหลังกลับขอเปิดเหมืองลิกไนต์แทน โดยบริษัทยื่นคำขอประทานบัตรต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2553

ต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพื่อทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตร ทำให้ชาวบ้านออกมาต่อต้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

นอกจากนั้นชาวบ้านยังพบว่า การอนุญาตให้ใช้ป่าสงวนฯ ผิดระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดว่า “จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน”

หลังจากนั้นชาวบ้าน 445 คนได้ยื่นฟ้อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต่อศาลปกครอง ในคดีการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกรณีการจัดทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ ตามคำขอประทานบัตรเลขที่ 4/2553 ถึง 8/2553 ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรของบริษัทฯ

ต่อมาวันที่ 9 ม.ค 2556 ศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่า เหตุยังไม่เกิด มูลการละเมิดยังไม่มี แม้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำไปสู่การอนุญาตประทานบัตร ต่อมาชาวบ้านจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

วันที่ 7 พ.ย. 2557 ชาวบ้านรวม 440 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมป่าไม้ กับพวกรวม 7 ราย ได้แก่ อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำเภองาว องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่1 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต่อศาลปกครอง 

ขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ในเขตคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 ถึง 7/2553 จำนวน 3 ฉบับ เพิกถอนใบอนุญาตแผ้วถางป่า ในเขตคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 และ 6/2553 จำนวน 2 ฉบับ

พร้อมทั้ง ขอให้เพิกถอนรายงานการประชุม (ประชาคม) ฉบับวันที่ 24 ก.ย. 2553 และรายงานการประชุมอบต.บ้านแหง ฉบับวันที่ 28 ก.ย. 2553 ซึ่งนำมาใช้ประกอบการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ ของบริษัทฯ โดยชาวบ้านเห็นว่า รายงานทั้ง 2 ฉบับ และการออกใบอนุญาตดังกล่าวของหน่วยงานรัฐให้แก่บริษัท เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ