เปิดผ้าม่านกั้ง เบิ่งหนังทุ่งกุลาฟิล์มเฟสติวัล

เปิดผ้าม่านกั้ง เบิ่งหนังทุ่งกุลาฟิล์มเฟสติวัล

“มาเด้อพี่น้องงงงงงง… ทั้ง ปล้องกกและปล้องปลาย ห้าโมงแลงเป็นต้นไป ชวนมาเบิ่งหนังกลางแปลง เทศกาลหนังทุ่งกุลา…”

เสียงรถแห่ซึ่งทำหน้าที่บอกกล่าวเล่าแจ้งกระจายเสียงเคลื่อนที่ประกาศดังฟังชัด สำหรับค่ำคืนพิเศษกลางทุ่งกุลา ณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ระบุว่าเย็นย่ำค่ำนี้พื้นที่สาธารณะของชุมชนจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเวทีหนังกลางแปลง

ทุ่งกุลา Film festival

ทุ่งกุลา Film festival ตอน มูนมังสังขยา ทุ่งกุลาบ้านเฮาเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ ในการสร้างนักสื่อสาร สร้างหนัง เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่จากทุ่งกุลาร้องไห้ที่เดิมมักถูกมองว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดในภาคอีสาน ได้บอกเล่าจากข้อมูลของคนในชุมชนท้องถิ่น ในอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด  ซึ่งเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่อยู่ในบริเวณทุ่งกุลา บนพื้นที่กว่าร้อยละ 46  คือ แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ GI ทุ่งกุลาร้องไห้หนึ่งเดียวของโลก ทั้งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของชาวบ้านแห่งนี้  ผ่านกิจกรรม เทศกาลหนังทุ่งกุลา  ในช่วงวันที่ 21 – 26 กุมภาพันธ์ 2567  ณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของผู้ผลิตภาคพลเมือง  ชาวบ้านในพื้นที่และเครือข่ายองค์กรชุมชน นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเชิงประเด็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สื่อท้องถิ่นในภูมิภาคของอีสาน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดมุมมองใหม่ต่อคนภาคอีสาน พร้อมด้วยการนำเสนอชุดข้อมูลจากบริบทของคนในพื้นที่ เพื่อจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิถีชีวิต ความเชื่อ การดำรงอยู่ของคนอีสาน รวมไปถึงฤดูกาล ระบบนิเวศ และการพึ่งพาอาศัยกันของผู้คนกับธรรมชาติ 

“ในส่วนทุ่งกุลา ถ้าเราไม่นำเสนอในสิ่งที่เกิดประโยชน์ เขาจะเหมารวมว่าเป็นสถานที่ว่างเปล่า สมควรที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่เขาคิด แต่ว่าถ้าอยู่ในทุ่งกุลาเราจะรู้ดีว่านี่ คือ แผ่นทองคำ ผืนดินทองคำที่เราสร้าง ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิโลก แล้วก็ในเรื่องของแหล่งทรัพยากรโลกทางอาหาร คือ เป็นแหล่งผลิตข้าว เป็นแหล่งในการที่จะให้พี่น้องได้เลี้ยงสัตว์ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้หลากหลาย มีแม่น้ำทั้ง 5 สายเล็ก ๆ  ก็สามารถหล่อหลอมจิตใจดำเนินชีวิตได้ ช่วงหลังมีการพัฒนาการเอาน้ำขึ้นมา ในส่วนของการสร้างชุมชนให้เกิดประโยชน์มีคุณค่า เราจะได้หวงแหน สำนึกในชุมชนบ้านเกิด  และต่อยอดในสิ่งดี ๆ เพราะว่าเราเห็นในช่วงโควิด-19 ที่คนกลับบ้าน โควิด-19 ที่ผ่านมาคนกลับมาบ้านเยอะ ได้ทุ่งกุลาหล่อหลอมจิตใจพี่น้องให้เข้มแข็ง ในการต่อสู้ต่อไปโดยเฉพาะในการให้กำลังใจ ในการกลับบ้านไม่ใช่สถานที่ที่ไม่มีอะไรเลย คือ แหล่งทรัพยากรทั้งหลายมันอยู่บ้านเรา” 

พระครูโพธิวีรคุณ (สมศรี คุณวีโร) เจ้าอาวาสวัดโพธิการาม ต.โพนสูง อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด พระนักพัฒนาผู้เชื่อมงานพระพุทธศาสนาร่วมกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณีชุมชน ผ่านการใช้เครื่องมือสื่อสาร

“ในการสื่อสารการนำเอาธรรมมะเข้าสู่ญาติโยม เผยแพร่พระพุทธศาสนาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ในการอบรมในเรื่องสื่อ ในการที่จะนำพระสงฆ์เข้ามาเรียนรู้ ในการใช้สื่อให้กระซับและส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน แต่ก่อนเราจะเห็นพระสงฆ์เขามีรูปแบบการนำเสนอของเขาแต่ว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไปคนสนใจเรื่องต่าง ๆ ก็ต้องมาปรับตามสภาพการณ์”

 พระครูโพธิวีรคุณ  เล่าต่อถึงความสำคัญจำเป็นที่พระต้องเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทชีวิตที่เปลี่ยนไปตามสมัย

“พระนักสื่อสาร” กิจของสงฆ์ในยุคดิจิทัล

“สิ่งที่ได้เรียนรู้ในโครงการสื่อสร้างสุขในการทำสื่อสิ่งที่ได้รับ คือ การนำเสนอสื่อในด้านบวกเพื่อให้คนเข้าใจในด้านพระพุทธศาสนา ในครั้งนี้มีทีมวิทยากรที่ให้ความรู้กับพระในแต่ละรูป ขนาดหลวงพ่อ หลวงตาที่ท่านไม่เคยใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ท่านก็ยังพอจะเข้าใจ คนที่เข้าใจอยู่แล้วก็จะมีความชำนาญยิ่งขึ้น ถือว่าได้มาต่อยอด มีประโยชน์อย่างมาก อนุโมทนาสาธุคุณโยม”  พระมหารพงษ์ ละชิตโน วัดโนนสำราญ ต.บ้านขาม จ.หนองบัวลำภู เล่าถึงการใช้เครื่องมือสื่อสารในนำไปปรับใช้ด้านการเผยแพร่เรื่องศาสนา

ห้องเรียนโลกกว้าง ณ ทุ่งกุลา

“ได้มาหาประสบการณ์ ได้ลงพื้นที่ เนื่องจากความรู้ในห้องเรามันแคบ อาจารย์พามาท่องโลก หาประสบการณ์จากความจริงได้เห็นทุ่งกุลา ได้เห็นมุมมองของชาวบ้าน ในด้านการทำสื่อ การถ่ายทำรู้สึกว่าได้เรียนรู้การสื่อทำหนัง ต้องมีการวางแผน เป็นประโยชน์ในการเอาความรู้มาใช้ ได้เห็นหลายมุมมอง การเเรียนพัฒนาชุมชนไม่ใช่แค่ช่วยเหลือสังคมแค่ส่วนน้อย แต่อาจจะเป็นกระบอกเสียงให้หลาย ๆ ด้านที่สามารถได้เห็นได้รู้ จากการสื่อสาร”

ชุติกาญจน์ พิทักษ์ทานินทร์   นักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมเรียนรู้การทำสื่อในพื้นที่ทุ่งกุลา

11 เรื่องราว คำบอกเล่าจากทุ่งกุลา

1.เรื่อง โควิด-19 ทุ่งกุลา  หนังสั้นสะท้อนเหตุการณ์ครั้งสำคัญของพระสงฆ์กับศาสนกิจในสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งใช้ศาลาปฏิบัติธรรม วัดโพธิการาม บ้านโพธิ์น้อย-ศรีสวัสดิ์ ตั้งโรงพยาบาลสนามใน ต.โพนสูง เพื่อเป็นเสมือนจุดสกัดโควิดโดยความร่วมมือของชุมชน มีอาสาในชุมชนและพระคุณเจ้ามาลงแรงช่วยดูแล พี่น้องชาว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

2.เรื่อง รักษ์ลำน้ำเตา เรื่องเล่าจำลองสถานการณ์ ทุนโรงงานน้ำตาล กว้านซื้อที่ดินของชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำเตา กระทบต่อวิถีการหาอยู่หากินของคนทุ่งกุลา

3. เรื่อง สาวเมืองกรุงกับทุ่งกุลา หนังสั้นเล่าถึงสาวเมืองกรุงกลับบ้านนา มาใช้ชีวิตในชนบทหาอยู่หากินกับปลาทุ่งกุลาจากลุ่มน้ำเตา

4.เรื่อง สมุนไพรทุ่งกุลา  หนังสั้นสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านทุ่งกุลาใน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด กับการทำสมุนไพรทางการแพทย์

5.เรื่อง เล่าเคล้าน้ำตา เรื่องเล่าสถานการณ์ปัญหาที่สาธารณประโยชน์ การต่อสู้ 20 ปี ของชาวบ้าน กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง  จ.ร้อยเอ็ด

6.เรื่อง ข้าวหอมมะลิ GI Final  เรื่องเล่าสถานการณ์“ชาวนาทุ่งกุลา” กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับการคัดค้าน โรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อปกป้องนครหลวงข้าวหอมมะลิโลก

7.เรื่อง มูนมังทุ่งกุลา หนังสั้นเล่าถึงการรักษามรดกพื้นที่ทำกิน กับการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของนายทุน

8.เรื่อง อุทกภัย เรื่องเล่าเหตุการณ์น้ำท่วมจากลำน้ำเสียวทุ่งกุลาไหลท่วมเข้าพื้นที่ กับการแก้ไขปัญหาของชุมชน

9.เรื่อง ทุ่งกุลาลัลลาแลนด์ หนังสั้นเล่าถึงวิถีคน วิถีป่า ความอุดมสมบูรณ์ของป่าสาธารณะ “ดงน้ำคำ” ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

10.เรื่อง ภัยพิบัติ สารคดี เล่าถึงสถานการณ์ภัยแล้ง  ทำให้หลายพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนในการทำการเกษตร

11.PM 2.5 สารคดี เล่าถึงการเข้ามาของนายทุน ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพ สิ่งมีชีวิต การใช้ชีวิตประจำวัน จากผลกระทบทางเสียง ทั้งมลพิษทางอากาศ ฝุ่น ที่กระทบต่อระบบหายใจและปอดของคนทุ่งกุลา

“เทศกาลหนังทุ่งกุลา ตอน มูนมังสังขยา ทุ่งกุลาบ้านเฮา” นอกจากจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม  แลกเปลี่ยนความเข้าใจถึงบริบทศักยภาพของทุ่งกุลา และเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์สารคดีที่ถูกถ่ายทอด โดยเยาวชนคนฮักทุ่งกุลา เพื่อสร้างการรับรู้ ยังเป็นการส่งเสริมการดูแลจัดการทรัพยากร ในพื้นที่ทุ่งกุลาอย่างเข้าใจ ภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ