“เมือบ้านเฮา” ความหวังฟื้นเศรษฐกิจชุมชนของคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน

“เมือบ้านเฮา” ความหวังฟื้นเศรษฐกิจชุมชนของคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน

“ชุมชน คือ สิ่งที่สร้างคนขึ้นมา มันจะมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวหัวใจคนรุ่นใหม่ แม้พ่อแม่จะส่งออกไป แต่ว่าจะสิ่งที่ดึงเรากลับเข้ามา ลูกหลานเขาเห็นสิ่งใหม่ มีความรู้ใหม่ พอมีสายใยดึงเข้ามาพัฒนาชุมชน เอาความสามารถ ดึงศักยภาพชุมชน ให้เป็นที่รู้จัก จนเกิดเศรษฐกิจชุมชน

ปิง วิไลลักษณ์ ชูช้าง เกษตรกรคนรุ่นใหม่  หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน เล่าด้วยความมุ่งมั่นกับการพัฒนาบ้านเกิด เพื่อพลิกฟื้นคืนอาชีพให้คนในชุมชม จากการนำเห็ด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่อยู่ในพื้นที่ นำมาเพิ่มมูลค่า ทั้งเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้

เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สานพลังเครือข่ายคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน”  ร่วมกับภาคีเครือข่าย สถาบันการพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กลุ่มคนรุ่นใหม่ มหาลัยไทบ้าน และลาวเด้อ  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-29 มีนาคม 2567  ที่บ้านไทภู ต.นาฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เพื่อให้เครือข่ายคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสานทั้ง 12 ทีม  ที่มีทั้งจาก จ.ขอนแก่น อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ ได้ร่วมกันเรียนรู้ เติมทักษะเครื่องมือการสื่อสาร ทั้งการลงพื้นที่ชุมชน และแลกเปลี่ยนผ่านประสบการณ์การทำงานของกลุ่มผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นในพื้นที่

คนรุ่นใหม่หัวใจพัฒนาบ้านเกิด

“เรื่องคนรุ่นใหม่ พอช. เราอยากเน้นเรื่องหัวใจการพัฒนาคน คนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม ตอนนี้เราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ อยู่ในท้องถิ่น ได้สามารถกลับมาสนับสนุนชุมชน เพราะคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญ จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ที่คนรุ่นได้แสดงศักยภาพ จากสถานการณ์ปัจจุบัน แทบจะไม่มีคนในพื้นที่เลย เพราะเรียนจบแล้วก็ไปทำงานข้างนอก จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในพื้นที่ท้องถิ่น ได้นำความรู้ ความสามารถมาพัฒนาชุมชน และสำคัญเขาต้องอยู่ให้ได้

เฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  เล่าถึงหัวใจหลักการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่  ด้วย พอช. หนุนโครงการ ‘คนรุ่นใหม่คืนถิ่น’ 80 โครงการ 44 จังหวัด มีเป้าหมายสร้างคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งในพื้นทีอีสานมี 12 โครงการที่เสนอทดลองทำในพื้นที่

เติมพลัง สร้างความเชื่อมั่น เรียนรู้จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนาบ้านเกิด

วรรณรดา รัตนวงค์

“ถ้าเรามีเด็กที่ศักยภาพดีพอ เราจะสามารถพัฒนาชุมชนได้ เพราะชุมชนไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง เราต้องมีคนขับเคลื่อน ซึ่งเยาวชน จะเป็นต้นกล้าในการขับเคลื่อนชุมชนค่ะ” ผักบุ้ง วรรณรดา รัตนวงค์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม คนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน เป็นเยาวชนใน ต.นาหนองทุ่ม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น  เล่าถึงการพัฒนาชุมชนที่ต้องมาพร้อมกับเยาวชนที่มีศักยภาพ ด้วยเป็นหนึ่งในกลุ่มขับเคลื่อน สภาเด็กและเยาวชนตำบลนาหนองทุ่ม ภายใต้การทำงานเพื่อเด็กนอกระบบ โดยมีการใช้กิจกรรมศิลปะ การทำขนม ทำอาหาร ให้เด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบได้เรียนรู้อย่างเข้าใจ และมีอาชีพติดตัวไปดำเนินในชีวิต

นอกจากการใช้ทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาชีพมาเสริมแล้ว วรรณภา รัตนวงค์  ยังเล่าต่อถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่เข้ามาพร้อมการพัฒนา ด้วยเป็นเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย ขอประทานบัตรโรงโม่หินของบริษัทเอกชนในพื้นที่ ต.นาหนองทุ่ม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น   

“ทรัพยากรต่าง ๆ มีความสำคัญกับมนุษยชาติอยู่แล้ว ถ้าเกิดว่าสถานที่นั้นเสื่อมโทรมไป เราจะไม่มีแหล่งอาหาร หรือไม่มีต้นไม้ค่อยซึมซับบรรยากาศ หากมีการระเบิดภูเขาแล้ว มีอะไรปนเปื้อนมากับสายน้ำ เราที่อยู่กินกับสายน้ำธรรมชาติ อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย”

สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกับการประกอบอาชีพ

นุชจรินทร์ ป้องพิมพ์

“ปลาน้ำโขง หน่อไม้ ผักหวาน ปลาแห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนเรามี สามารถขายได้”  มด นุชจรินทร์ ป้องพิมพ์  หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจจกรรมคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน ที่กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนและชุมชน ในพื้นที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี  เล่าถึงต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยความหวังของการกลับบ้าน มาทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ และด้วยความตั้งใจอยากเป็นพลังหนุนสริม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เกิดเศรษฐกิจ คนในชุมชนมีอาชีพ และรายได้ยั่งยืน

ข้อมูลจาก ISAN Insight เผยเศรษฐกิจอีสาน ในช่วง ไตรมาส 1/2567 จากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 – 20 มีนาคม 2567 ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 931 คน  เศรษฐกิจอีสานเริ่มชะลอตัว ตามการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัว อีกทั้งการท่องเที่ยวชะลอตัวหลังหมดฤดูท่องเที่ยว อัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในแรงงานอายุน้อย ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของแรงงานจบใหม่ที่มีโอกาสทำงานยากกว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ ซึ่งการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่อีสาน ที่กำลังพยายาม ขับเคลื่อนในบางส่วน อาจเป็นอีกความหวังของการสร้างอาชีพที่มั่นคงในชุมชน

จากสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน ทำให้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ มุ่งมั่นทำงาน พัฒนาในชุมชน เพื่อปากท้อง และอยากเห็นชุมชนพัฒนา เหล่านี่เป็นเพียงข้อมูลสถานการณ์บางส่วน ที่ถูกเล่าสะท้อนความจริงของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญ ในงานเวทีคนรุ่นใหม่คืนถิ่นอีสาน ต่างได้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมประเด็น บอกเล่าสถานการณ์ ทั้งได้เติมทักษะเครื่องมือพัฒนาศักยภาพการทำงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างตัวตน ให้เกิดไอเดียการออกแบบที่สร้างสรรค์ เชื่อมโยงการทำงานกับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ