จดหมายไทยพลัดถิ่น ถึง สส. สว. ขอให้ตัด ม.7/1 ในกฎหมายสัญชาติ

จดหมายไทยพลัดถิ่น ถึง สส. สว. ขอให้ตัด ม.7/1 ในกฎหมายสัญชาติ

ด่วนที่สุด

เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง, ประจวบคีรีขันธ์,ตราด

25   ถนนชลระอุ  ตำบลเขานิเวศน์  อำเภอเมือง จังหวัดระนอง  รหัสไปรษณีย์ 85000

โทรศัพท์/โทรสาร  077-825-086    www.thaipladthin.org

 

วันที่ 13  มกราคม  2555

 

เรื่อง   ขอเรียกร้องให้ตัดมาตรา 7/1  ออกจาก ร่าง พระราชบัญญัติสัญชาติ เพราะการสำรวจที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมคนไทยพลัดถิ่น ทั้งหมด

 

เรียน    สมาชิกวุฒิสภา  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์  ผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน

 

        ตามที่ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฎิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)  ใช้เวลาถึง  10  ปีในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อ คืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น ที่กลับมาอยู่ในประเทศไทยนานแล้วแต่ไร้สิทธิทุกด้าน รวมทั้งยังถูกคุกคามเอาเปรียบรีดไถ    นั้น

         ใน ปี 2554   ขบวนคนไทยพลัดถิ่น  ได้เดินเท้าจากด่านสิงขร ถึงรัฐสภา เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสัญชาติ  ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น   จนผ่านวาระ 1-2-3   ของสภาผู้แทนราษฏร์  (สส.)  สามวาระรวด

         ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว กำลังอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ฯ  และ กรรมาธิการ ฯ ได้มีการเพิ่ม  ”  มาตรา 7/1 ความว่า การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามบทนิยามคำว่า “ ไทยพลัดถิ่น” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง การสำรวจจัดทำทะเบียนของคนไทยพลัดถิ่น  ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”   นั้น   เครือข่าย ฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง  ดังนี้

 

 1.   ที่ผ่านมากรมการปกครองไม่เคยมีการออกประกาศสำรวจ “ คนไทยพลัดถิ่น “ เป็นการเฉพาะ มีแต่การสำรวจชนกลุ่มน้อย และคนไร้สถานะทางทะเบียน ฯ เท่านั้น ซึ่งอาจจะมีชื่อคนไทยพลัดถิ่นบางส่วน อยู่ในนั้นแต่ไม่ชัดเจน  ดังนั้น  การเพิ่ม มาตรา  7/1 ดังกล่าว ทำให้คนไทยพลัดถิ่น ที่ออกมาผลักดันกฎหมายนี้  ตกหล่นเกือบ ทั้งหมด

2.    กรณีข้อกังวลว่าจะมีคนนอกที่ไม่ใช่คนไทยเข้ามาจำนวนมากนั้น  ขอเรียนชี้แจงว่ากฎหมายนี้ระบุให้เฉพาะ  “ ผู้มีเชื้อสายไทย….และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ”  แล้วเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบจากบ้านที่อยู่อาศัยจริงได้ชัดเจนในทุกชุมชน   และกฎหมายนี้มีความก้าวหน้าเพราะยังกำหนดให้มี  คณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ฝ่ายความมั่นคง  นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ  ทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์ / พิจารณารับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น  ซึ่งจะเป็นกระบวนการและกลไกในการแก้ไขปัญหาที่โปร่งใส่และสร้างความเป็นธรรมได้มากกว่าที่ผ่านมา

 

        เครือข่าย ฯ  จึงชี้แจงมาเพื่อโปรดทราบ และขอเรียกร้องให้ตัด  มาตรา ๗/๑ ออกจากร่างกฎหมายสัญชาติ ที่ท่านกำลังพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่

 

ประสานงาน  :

                                       นายสุทิน  กิ่งแก้ว   ผู้ประสานงานเครือข่าย ฯ

                                      นายภควินท์   แสงคง  ที่ปรึกษาเครือข่าย ฯ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ