จดหมายเปิดผนึกฉบับ2 จาก”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”ถึงคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้า

จดหมายเปิดผนึกฉบับ2 จาก”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”ถึงคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้า

20 มีนาคม 2555

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้า (๒)

"ผมจำเป็นต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกเป็นฉบับที่ ๒ ทั้งที่เดิมตั้งใจจะใช้โอกาสในการเปิดเวทีสาธารณะ  เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับคณะผู้วิจัยและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้าง ความปรองดองแห่งชาติ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ตามที่นายวัฒนา เมืองสุข รองประธานกรรมาธิการฯ ได้ให้ สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าจะเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการระดมความคิดเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะนำไปสู่การปรองดองด้วยเหตุและผล รับฟังซึ่งกันและกัน ตามหลักการให้คุณค่าและความเชื่อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่ตกผลึกทางความคิด ซึ่งในงานของคณะผู้วิจัยเองก็ย้ำถึงความสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการปรองดองโดยไม่ใช้เสียงข้าง มากลากไปสู่ความขัดแย้งใหม่
        แต่ปรากฏว่าหนังสือเชิญจาก พล.อ.สินธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่ส่งมาถึงผมระบุให้ไปร่วมรับฟังการชี้แจงของกรรมาธิการและคณะผู้วิจัย โดยใช้เวลา ๒ ชั่วโมง คือตั้งแต่ ๑๐-๑๒ น.วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งชัดเจนว่ามิใช่การเปิดเวทีสาธารณะตามที่นายวัฒนาเคยระบุไว้ ประกอบกับ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ก็ออกมายืนยันแทนคณะผู้วิจัยว่าจะไม่มีการทบทวนกรณีที่ผมทักท้วง ถึงความคลาดเคลื่อนในประเด็นข้อเท็จจริงสำคัญหลายประการซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งโจทย์ผิดจนได้คำตอบที่เป็นข้อเสนอผิดพลาดตามไปด้วย โดยคณะผู้วิจัยก็ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม
         ผมจึงต้องนำประเด็นข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับวิธีวิจัยในการจัดการทำ (ร่าง) รายงาน วิจัยฉบับย่อ "การสร้างความปรองดองแห่งขาติ" รวมถึงข้อเสนอแนะในรายงาน ซึ่งผมเห็นว่า ยังมีความ ไม่ชัดเจนในกรอบ วิธีคิดที่นำไปสู่การกำหนดข้อเสนอผ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ ๒ โดยหวังว่า ก่อนที่ คณะผู้วิจัยและ กรรมาธิการฯ จะด่วนสรุปผลวิจัยที่ไม่สมบูรณ์นี้ จะได้พิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ ผมจะนำเสนอ ต่อไปนี้  ประกอบด้วยดังนี้

คำถามที่คณะผู้วิจัยควรมีคำตอบให้สังคมก่อนที่จะกำหนดข้อเสนอ

         ๑. คณะผู้วิจัยยอมรับว่า หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความปรองดอง คือ การสนับสนุนให้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการค้นหา ความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสียให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๖ เดือน แสดงว่าคณะผู้วิจัยก็เห็นว่าการค้นหาความจริงยังไม่ได้ข้อยุติ แล้วเหตุใดจึงรีบสรุปข้อเสนอโดยไม่สนใจ ข้อเท็จจริงที่เป็นหัวใจในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

         ๒. การกำหนดข้อเสนอโดยที่ยังไม่ทราบความจริงที่ครบถ้วนเป็นการข้ามขั้นตอนที่ระบุ ไว้ในงานวิจัยนี้หรือไม่ และทำเพื่ออะไร ในเมื่อคณะผู้วิจัยระบุเองว่าการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ ต้องใช้เวลา  การเร่งรัดเพื่อกำหนดข้อเสนอในขณะที่ยังมีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย ย่อมส่งผลกระทบต่อ คณะผู้วิจัยที่อาจถูกมองว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรรมาธิการฯ บางคน ซึ่งจะทำให้งานวิจัยชิ้นนี้สูญเสีย ความเป็นกลางทางวิชาการจนไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่

         ๓. ข้อท้วงติงเกี่ยวกับการสรุปความจริงที่คลาดเคลื่อนในประเด็นที่เป็นต้นตอความขัดแย้ง ซึ่ง คอป.เองก็ระบุว่า เกิดจากการพิจารณาคดีซุกหุ้นที่ขัดต่อหลักนิติธรรมเป็นการหักดิบกฎหมาย จน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะคดี แต่ในรายงานวิจัยนี้ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม การทุจริตเชิงนโยบาย การแทรกแซงองค์กรอิสระ ทำลายระบบตรวจสอบจนกลไกถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ ทำงานไม่ได้ มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงกระทั่งนำไปสู่ การรัฐประหาร
     
         การที่รายงานวิจัยตัดตอนพฤติกรรมการบริหารประเทศที่เป็นปัญหาสร้างความขัดแย้งในบ้านเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากการสรุปเหตุการณ์ความขัดแย้ง โดยให้น้ำหนักไปที่ปัญหาจาก การรัฐประหารเพียงด้านเดียวโดยไม่พูดถึงเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหาร จะทำให้คณะผู้วิจัยตั้งโจทย์
ในการหาทางออกผิดหรือไม่

        เช่นเดียวกัน การข้ามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง การเผาบ้านเผาเมือง รายละเอียดเกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวพันกับ คตส. ย่อมส่งผลต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม และการรื้อฟื้นคดี คตส.

คำถามเกี่ยวกับข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ
         
       ผมยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่การเสนอแผนปรองดอง ๕ ข้อ เพื่อให้แกนนำคนเสื้อแดง ยุติการชุมนุมเพื่อยับยั้งความสูญเสียตั้งแต่วันที่ ๔ พ.ค. ๒๕๔๓ ว่า บ้านเมืองจะเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง หลักนิติรัฐ นิติธรรม ต้องไม่ถูกทำลาย จึงไม่คัดค้านหากจะมีการออก พรบ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่อง กับการชุมนุมทางการเมืองเฉพาะการกระทำความผิดตามพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ส่วนคดีอาญาทั้งข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ การใช้อาวุธสงครามก่อวินาศกรรม ฆ่าทหาร สังหารประชาชน เผาสถานที่ราชการและเอกชน ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จึงจะเป็นธรรม กับทุกฝ่ายซึ่งผมพร้อมที่จะพิสูจน์ความจริงโดยไม่คิดที่จะออก พรบ.นิรโทษกรรมแต่อย่างใด ด้วยหลักคิดเช่นนี้ ผมจึงมีคำถามถึงคณะผู้วิจัย ดังนี้

ข้อเสนอให้ออก พรบ.นิรโทษกรรมกรณีทำผิด พรก.ฉุกเฉินและคดีอาญา

           ๑. ข้อเสนอให้ออก พรบ.นิรโทษกรรมรวมไปถึงคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน ซึ่งก้าวล่วงไปถึงการระงับยับยั้งคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กระบวนการยุติธรรมทั้งในขั้นตอนของอัยการและศาลทั้งที่ยังไม่พิพากษาหรือพิพากษาแล้วนั้น เป็นการ ล้มล้างอำนาจตุลาการทำลายระบบยุติธรรมของประเทศหรือไม่

           ๒. คณะผู้วิจัยเองก็ระบุไว้ในงานชิ้นนี้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการ "ทิ้ง" ผู้ที่ได้รับ ความเสียหายหรือผู้ถูกกระทำ เพราะคนเหล่านี้จะไม่สามารถเรียกร้องเอาโทษต่อผู้กระทำความผิดได้อีกแล้ว แต่ทำไมจึงเสนอแนวทางที่ริดรอนสิทธิผู้บริสุทธิ์ ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เสมือนบังคับให้คนดี ต้องปรองดองยอมความกับผู้กระทำความผิด โดยที่ประชาชนเหล่านั้นไม่มีโอกาสใช้สิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นธรรมกับคนเหล่านี้หรือไม่

           ๓. คณะผู้วิจัยกำหนดขอบเขตของผู้กระทำความผิดที่จะเข้าข่ายการนิรโทษกรรมตาม ทางเลือกนี้อย่างไร เพราะการใช้คำว่าคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองนั้นกินความหมายกว้างขวางมาก และอาจถูกผู้มีอำนาจตีความเพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนมากกว่าที่จะทำเพื่อสร้างความปรองดอง  เช่น คดีที่คนเสื้อแดงบุกทำร้ายกลุ่มพันธมิตรระหว่างจัดการชุมนุมที่หนองประจักษ์ อุดรธานี ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก นายขวัญชัย ไพรพนา ๒ ปี ๘ เดือน จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ คดีที่แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กระทำการอุกอาจ ฆ่านายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา ที่เชียงใหม่ มีพยานหลักฐานการกระทำความผิดชัดเจน และศาลตัดสินจำคุก ๕ ผู้ต้องหา นำโดยนายนิยม เหลืองเจริญ หรือ ดีเจแหล่ ๒๐ ปี ที่ยกพวกไปฆ่าคนจะอ้างว่า ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตจากวัตถุประสงค์ทางการเมืองจึงควรได้รับการนิรโทษกรรมได้หรือ หากกรณีลักษณะนี้ ได้รับการนิรโทษกรรมจะเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตและญาติหรือไม่ และจะเกิดการปรองดองได้จริงหรือ ในเมื่อผู้เสียหายย่อมรู้สึกคับแค้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรม
           
            ๔. คดีที่ศาลมิได้ตัดสินเพียงแค่การลงโทษทางอาญาแต่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้กับ เอกชนและรัฐในการเผาทำลายทร้พย์สินนั้น การนิรโทษกรรมคดีอาญาเสมือนว่าคนเหล่านี้ไม่เคยกระทำ ความผิดนั้น จะส่งผลให้ผู้ทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเอกชนและรัฐด้วยหรือไม่ เช่น กรณีที่ศาลอุทธรณ์ให้ ๘ ผู้ต้องหาเผาธนาคารกรุงเทพขอนแก่นต้องร่วมกันจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย ๒๙.๕ ล้านบาท หากคนเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรม ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายของธนาคารกรุงเทพ
             
            ๕. คณะผู้วิจัยได้คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการออก พรบ.นิรโทษกรรม ในคดีอาญาให้กับผู้กระทำความผิดโดยอ้างว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองนั้น จะกลายเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง การชุมนุมที่เกินขอบเขตที่กำหนดในรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดว่าต้องสงบปราศจาก
อาวุธ การปลุกระดมโดยใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญมาช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเป็นเรื่องที่สมควรได้รับ การส่งเสริมหรือไม่  และจะเท่ากับเป็นการยอมรับการกระทำที่เป็นการก่อการร้ายหรือไม่ เพราะการก่อการร้าย ก็เป็นการทำผิดอาญาโดยอ้างเหตุผลการต่อสู้ทางการเมืองเสมอ   ผลจากการออก พรบ.นิรโทษกรรม เช่นนี้จะทำให้เกิดค่านิยมที่ผิดต่อเยาวชนรุ่นหลังจนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดหรือไม่ เพราะคนทำผิดไม่ต้อง รับโทษ ส่วนคนบริสุทธิ์ต้องรับกรรมโดยไร้สิทธิ์โต้แย้ง
           
            ๖. บทสรุปของข้อเสนอนี้มีการเชื่อมโยงถึงผลการศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ในต่างประเทศ ๑๐ ประเทศ ที่งานวิจัยอ้างถึงหรือไม่ เหตุใดแนวทางที่ทั้ง ๑๐ ประเทศใช้จึงไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่แก้ปัญหา ด้วยการออก พรบ.นิรโทษกรรม แต่ทุกประเทศเดินหน้าในการค้นหาความจริงเป็นอันดับแรก ก่อนจะนำไปสู่ การให้อภัยและการชดใช้ความผิดซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการนิรโทษกรรมในคดีอาญา การลดโทษจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการรับโทษมาระยะหนึ่งแล้ว หรือถ้าจะนิรโทษกรรมก็ยังต้องกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณา คุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมก่อนด้วย ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงควรตอบคำถามว่าข้อเสนอที่ให้ นิรโทษกรรมแบบเหมารวมมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะมิได้เชื่อมโยงอยู่กับแนวปฏิบัติของ ๑๐ ประเทศตามที่ มีการกล่าวอ้าง

            ๗. การนำเสนอทางออกเพียงแค่นิรโทษกรรมหรือไม่ เป็นทางเลือกที่จำกัดไปหรือไม่ เพราะกระบวนการยุติธรรมสามารถนำเอาหลักการการปรองดองไปปรับใช้ได้อยู่แล้ว เช่น ในกรณีคดีเผา ธนาคารกรุงเทพที่ขอนแก่นที่ศาลได้มีคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า
         
            “ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นสรุปคดีว่า จำเลยทั้ง ๘ คน มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๘, ๓๖๕(๑) (๒) ประกอบกับมาตรา ๘๓, ๓๖๒, ๓๖๔ คือ การกระทำ ของจำเลยทั้ง ๘ คน ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในธนาคารเพื่อเจตนาทำลายทรัพย์สินให้ได้รับความเสียหาย จึงให้ลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐
           
            แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้ง ๘ กับพวก ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความคิดเห็น แตกต่างกันในทางการเมือง ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงหลงผิดก่อให้ เกิดการกระทำความผิด จึงสมควรกำหนดโทษจำคุกมีกำหนดกระทงละ ๑ ปี โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ คือ จำคุกจำเลยที่ ๑ รวมสามกระทง มีกำหนด ๓ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ คนละ ๑ กระทง มีโทษกำหนดจำคุกคนละ ๑ ปี  ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ มีความผิดคนละสองกระทง มีกำหนดโทษจำคุก คนละ ๒ ปี”

ข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดี
กับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ (คตส.)

            ในประเด็นนี้ผมมีข้อสงสัยค่อนข้างมาก เพราะเงื่อนไขที่ผู้ชุมนุมนำมาเป็นข้ออ้างนั้นคือ เรื่องเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และ การเรียกร้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ แกนนำต่างก็พูดต่อสาธารณะว่า การเคลื่อนไหวของมวลชน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก ในเมื่อไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เหตุใด คณะผู้วิจัยจึงเสนอการนิรโทษกรรมคดีทุจริต ถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของปัญหาความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นหรือไม่
         
            แต่ถ้าคณะผู้วิจัยเห็นว่า คดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุม อันนำมาซึ่งความสูญเสียในบ้านเมือง เท่ากับยอมรับว่าคนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เพื่อหวังผลให้พ้นผิดในคดีของตัวเองใช่หรือไม่ ข้ออ้างเกี่ยวก้บความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นประเด็นหลัก ในขณะชุมนุม แต่กลับพูดถึงน้อยมากในช่วงเวลาที่อ้างว่าจะสร้างความปรองดองในประเทศ เป็นเพียงฉาก บังหน้าเท่านั้นโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การปลดล็อคคดีให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกใช่หรือไม่ แล้วเหตุใดในรายงาน วิจัยนี้กลับไม่ชี้ให้เห็นถึงที่มาที่ไปของคดี เพื่อให้สังคมได้ร่วมพิจารณาว่า บุคคลเหล่านี้สมควรได้รับ การยกเว้นผิดในคดีทุจริตหรือไม่ แทนที่จะใช้วิธีการสอบถามความเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ แล้วนำมาสรุป เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ถูกกล่าวหา
           
            นอกจากนี้ ผลการศึกษาจาก ๑๐ ประเทศ ก็ไม่มีการออก พรบ.นิรโทษกรรมในคดีทุจริต เช่นเดียวกับการออก พรบ.นิรโทษกรรมในประเทศไทย  ตามที่ปรากฏในเวปไซด์ของสำนักงานกฤษฎีกา ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕-๒๕๓๕ จำนวน ๒๑ ฉบับ ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่จะมีการนิรโทษกรรมในคดีทุจริต ดังนั้นหากกรรมาธิการฯ จะเลือกเดินตามแนวทางที่คณะผู้วิจัยเสนอข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อนี้ ย่อมเป็น ความประสงค์ของคณะผู้วิจัยร่วมกับกรรมาธิการฯ   โดยไม่สามารถกล่าวอ้างต่างประเทศหรือเหตุแห่ง การนิรโทษกรรมในอดีตได้ และต้องตอบคำถามต่อสังคมว่า คณะผู้วิจัยสร้างบรรทัดฐานในการนิรโทษกรรม คดีทุจริตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย   ทำไมความผิดฐานทุจริตเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคณะผู้วิจัย อย่างนั้นหรือ การส่งสัญญาณเช่นนี้จะทำให้คนในสังคมไม่ให้คุณค่าต่อการดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนกระทบต่อค่านิยมอันดีงามในเรื่องระบบคุณธรรมของบ้านเมืองหรือไม่
   
            ผมคิดว่าการปรองดองในชาติมิได้มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก เว้นแต่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยอมรับว่า ประเทศนี้จะไม่มีวันพบกับความสงบสุขและความปรองดอง ได้ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีคดีติดตัว ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนต่อสังคมไทยว่าสาเหตุของปัญหา ตลอดหลายปีที่ผ่านมาล้วนมีศูนย์กลางจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรม และให้สังคม ได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าการปรองดองที่คณะผู้วิจัยและกรรมาธิการฯกำลังยัดเยียดให้สังคมไทยยอมรับ คือ การปรองดองเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก ด้วยการทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
   
           อย่างไรก็ตาม เมื่องานวิจัยระบุถึง ๓ ข้อเสนอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไว้ ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตจากประเด็นที่คณะผู้วิจัยนำเสนอทั้ง ๓ ทางเลือก ดังนี้
         
           ทางเลือกที่ ๑ : ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ปปช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบ ถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
             
              ๑.แม้ว่า คตส.จะได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร แต่การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายปปช. และ ปปง. ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ก่อนการรัฐประหาร อีกทั้ง คตส.ทุกท่านก็ต้อง มีความรับผิดชอบภายใต้ระบบกฎหมายไทย ซึ่งสามารถถูกตรวจสอบและดำเนินคดีได้ตามประมวล กฎหมายอาญาปกติ อีกทั้งมติของ คตส.ในการดำเนินคดีก็มิใช่ข้อยุติแห่งคดี แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมปกติในชั้นศาลซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการรัฐประหารที่มีการกล่าวอ้างถึง
           
               ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ภายใต้กฎหมายของ คตส.ข้างต้น คณะผู้วิจัย ได้ทำการศึกษาการทำงานของ คตส.หรือไม่ว่ามีพฤติกรรมที่เอนเอียงไม่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา ตามที่มีการกล่าวอ้างจริงหรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสโต้แย้งประเด็นที่ตัวเองคิดว่าไม่เป็นธรรม ในการต่อสู้คดีหรือเปล่า เพราะทุกคดีที่นำขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลผู้ถูกกล่าวหาทุกรายมีสิทธิหยิบยก ทุกประเด็นมาหักล้างข้อกล่าวหาของ คตส. รวมถึงประเด็นบทบาทการทำหน้าที่ของ คตส. หรือแม้กระทั่ง ข้ออ้างว่า คตส.เป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหา ก็เป็นสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ นำมาใช้ในการต่อสู้คดีที่ดินรัชดา และคดียึดทรัพย์ ๔.๖ หมื่นล้านบาทด้วย
             
               ๒.  คณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทย หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งๆ ที่ทราบดีว่า คดีที่ดินรัชดาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นศาลต่อสู้นั้นเป็นผลมาจากการทำงานของ คตส. ย่อมแสดงว่า คตส. มิใช่ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ประเด็นนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะไม่ยอมรับผิด หลังจากหนีคดีไปต่างประเทศ
         
               การที่คณะผู้วิจัยละเลยที่จะพิเคราะห์ถึงบทบาทของ คตส.และพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณในการต่อสู้คดี ย่อมทำให้ขาดข้อเท็จจริงที่สำคัญในการตัดสินปัญหาเพื่อนำไปสู่การ กำหนดทางออก และยังเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ คตส.  อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เหนือกฎหมาย และอำนาจตุลาการด้วย       
     
                ๓.  ประเด็นที่ คตส.นำมาพิจารณาจนนำไปสู่การดำเนินคดีนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ คตส. หยิบยกขึ้นมาลอย ๆ แต่ทุกคดีล้วนมีที่มาที่ไปก่อนที่ คตส.จะมีตัวตนด้วยซ้ำ ซึ่งคณะผู้วิจัยสามารถ แสวงหาข้อมูลง่าย ๆ ด้วยการค้นข่าวย้อนหลังก็จะพบปัญหาทุจริตเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจำนวนมากในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นทุกคดีที่ คตส.ดำเนินการจึงอยู่บนหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง อีกทั้งหลายคดี อัยการ ก็เป็นผู้ส่งฟ้องไม่ใช่ คตส.ฟ้องเอง เช่น คดีที่ดินรัชดา และคดียึดทรัพย์ จึงเป็น ความเห็นพ้องร่วมกันระหว่าง คตส.และอ้ยการ เท่ากับการทำงานของ คตส.ได้ถูกกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง จากอัยการซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติ
                ๔. การใช้คำว่า "ให้ผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว" นั้น ผมคิดว่าต้องแยกเป็นสองประเด็นดังนี้
                ๔.๑ คตส.หมดวาระไปนานแล้วและตามกฎหมายก็กำหนดให้โอนงาน ทั้งหมดไปอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.   การเสนอให้มีการโอนงาน คตส.ให้ ป.ป.ช. ทั้งๆ ที่ เป็นเรื่องที่ดำเนินการอยู่แล้ว  จะหมายความว่าอย่างไร
                ๔.๒ คำว่า "ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว" จะตีความหมายอย่างไร เพราะมีคดี หวยบนดินที่ศาลฎีกาฯได้อ่านคำพิพากษาจำเลยไปหมดแล้ว เหลือเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวที่หลบหนี คดีจนศาลต้องออกหมายจับเพื่อนำตัวมาไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมและคดีในส่วนนี้ยังเริ่มต้นไม่ได้ เช่นนี้จะถือว่าคดีนี้สิ้นสุดหรือยัง
                ถ้าถือว่า "สิ้นสุดแล้ว" หมายถึงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องต่อสู้คดีนี้ในศาล ภายใต้กติกาเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ ที่ศาลได้ตัดสินไปก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่  แต่หากตีความหมายว่า "ยังไม่สิ้นสุด" เท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนอื่นที่จะเริ่มกระบวนการยุติธรรมใหม่ ทั้งหมดในคดีที่ตัดสินไปแล้ว
                การเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ จะล้มล้างคำตัดสินของศาลฎีกา ที่ถือเป็นบรรทัดฐานในคดีลักษณะเดียวกันได้หรือ จะสร้างความสับสนต่อระบบยุติธรรมของไทยหรือไม่ อย่างไร             
         
                นอกจากนี้ในรายงานวิจัยก็ยังระบุถึงผลจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯว่า มีทั้งยกฟ้องและพิพากษาว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา ก็ยิ่งตอกย้ำว่าคณะผู้วิจัยทราบดีว่าการพิจารณาคดีของ คตส. ไม่ใช่ข้อยุติแห่งคดี และการพิจารณาคดีของศาลก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย    เมื่อเป็นเช่นนี้ มีความจำเป็นอันใดที่ต้องเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมใหม่ตามที่คณะผู้วิจัยเสนอ

                ทางเลือกที่ ๒ : ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
                 ๑.ทางเลือกนี้คือการล้มล้างคำตัดสินของศาลฎีกาฯในทุกคดีใช่หรือไม่  เหตุใดไม่มีการอธิบายถึงผลเสียของการออก พรบ.นิรโทษกรรมเพื่อล้มคำพิพากษาว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร ต่อระบบยุติธรรมไทย เหมือนที่คณะผู้วิจัยพยายามชี้นำให้เห็นข้อดีของการทำลายระบบยุติธรรมเพื่อสร้าง ความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก
                 ๒. มีการอ้างถึงบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลฎีกาเกี่ยวกับประกาศ รสช. ฉบับที่ ๒๖ ข้อ ๒ และข้อ ๖ มีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เช่นเดียวกับศาลทั้งออกและใช้กฎหมายที่มีโทษอาญาย้อนหลังไปลงโทษบุคคลเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงบังคับใช้ไม่ได้
                 
                  คำถาม คือ คณะผู้วิจัยอ้างคำพิพากษานี้เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นใด หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ คตส.ว่าขัดกฎหมาย ศาลก็ได้ชี้แล้วว่าการที่ คมช.ตั้ง คตส. ไม่ขัดกฎหมาย  เนื่องจาก คตส.ไม่ได้ใช้อำนาจเช่นเดียวกับศาล แต่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ปปช.เท่านั้น แตกต่างจากคดียึดทรัพย์ในสมัย รสช.ที่ให้คณะกรรมการในขณะนั้นทำหน้าที่เหมือนศาลตัดสินยึดทรัพย์ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเหตุให้ศาลฎีกายกฟ้องและให้คืนทรัพย์สินกับนักการเมืองในยุคนั้นทั้งหมด
       
                  เหตุใดคณะผู้วิจัยจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาโดยไม่ให้รายละเอียดต่อสังคมถึงข้อเท็จจริงในคดีซึ่งแตกต่างจากกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก โดยสิ้นเชิง   ในทางตรงกันข้าม การหยิบ ประเด็นนี้ขึ้นมาเสมือนกับว่าต้องการชี้นำให้สังคมเข้าใจผิดว่า ทั้ง คตส. และการตัดสินของศาลฎีกาฯ ที่ผ่านมาขัดแย้งต่อบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้

              ทางเลือกที่ ๓: ให้เพิกถอนทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
                   ๑.  ในรายงานของคณะผู้วิจัยก็เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากทางเลือกนี้ โดยระบุว่า จะทำให้ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขัดกับหลักการ สำคัญในการสร้างความปรองดองว่าจะต้องทำให้เกิดสภาพ "ไม่เพียงแค่มีความยุติธรรม แต่ต้องทำให้เห็นว่ามี ความยุติธรรมอยู่จริง"
                 
                  การเสนอให้ลบล้างคดีโดยห้ามไม่ให้มีการพิจารณาอีกจะทำให้เกิดสภาพความยุติธรรมมีอยู่จริงได้อย่างไร ในเมื่อข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกได้รับการปกป้องไม่ให้ นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร เท่ากับคณะผู้วิจัยกำลัง เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ในการเขียนประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกคือผู้บริสุทธิ์ โยนบาปทั้งหมดให้กับการทำรัฐประหารและคตส.ใช่หรือไม่
                  ๒. คณะผู้วิจัยระบุว่าทางเลือกที่เสนอทั้ง ๓ ประเด็นนั้น วิเคราะห์จากแนวทางในอดีต ที่ประเทศไทยเคยใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งผมได้ท้วงติงแล้วว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการออก พรบ.นิรโทษกรรม ๒๑ ฉบับที่ผ่านมา จากข้อมูลของเวปไซด์กฤษฎีกา ไม่เคยมีการ นิรโทษกรรมคดีทุจริตมาก่อน
               
                  ๓. การตัดสิทธิประชาชนและระบบตรวจสอบด้วยการห้ามไม่ให้มีการพิจารณา คดีใหม่ แต่คนในตระกูลชินวัตรกลับใช้ประโยชน์จากคำพิพากษาที่กำลังจะถูกล้มล้างไปแล้ว ทั้งกรณีที่ดินรัชดา ซึ่งคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ นำไปฟ้องต่อศาลแพ่งจนมีคำพิพากษาจากการยึดบรรทัดฐานคำตัดสินของ ศาลฎีกาฯ ว่าการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงให้กองทุนฟื้นฟูให้คืนเงินให้คุณหญิงพจมาน  และกรณี นายพานทองแท้  และนางสาวพิณทองทา  ชินวัตร นำคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ที่ระบุว่า บุคคลทั้งคู่ไม่ใช่ เจ้าของหุ้นตัวจริงแต่เจ้าของหุ้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปใช้ประโยชน์เพื่อไม่จ่ายภาษี ๑.๒ หมื่นล้านบาท และศาลภาษีก็ยึดตามแนวพิพากษาของศาลฎีกาฯว่าหุ้นไม่ใช่ของบุคคลทั้งคู่จึงไม่อยู่ในสถานะที่ต้องจ่ายภาษี
               
                  ข้อเท็จจริงข้างต้นเท่ากับว่าทางเลือกดังกล่าวทำลายระบบตรวจสอบ แต่กลับให้ผู้กระทำความผิดใช้ประโยชน์ จากคำพิพากษาซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึง ๑.๒ หมื่นล้านบาท คณะผู้วิจัยเคยคำนึงถึงปัญหา เหล่านี้หรือไม่
                 
                  ๔. คณะผู้วิจัยยอมรับว่า การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ๔๗ คน ยังมีความเห็นที่ แตกต่างกันระหว่างแนวทางที่ให้ผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.มีผลอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นสภาพปัจจุบัน ที่คงอยู่  และแนวทางที่สองคือการตั้งคำถามจากการชี้มูลโดย คตส. เหตุใดข้อคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ ผลทางกฎหมายของ คตส.ดำรงอยู่ต่อไปจึงไม่อยู่ในทางเลือกที่คณะผู้วิจัยเสนอ ทั้งๆ ที่ในประเด็นคำถาม สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งที่ ๒ ที่คณะผู้วิจัยส่งให้ผมโดยไม่รอคำตอบก่อนสรุปผลวิจัยนั้น มีการระบุถึง ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางให้ผลพวงทางกฎหมายที่เนินการโดย คตส.และศาลฎีกาฯพิพากษาแล้ว ให้บังคับ คดีต่อไป ถึง ๑๐ คน แต่คณะผู้วิจัยกลับนำแนวคิดให้ผลพวงทางกฎหมายที่เนินการโดย คตส.เสียเปล่าทั้งหมด และไม่ต้องนำคดีที่ค้างอยู่และตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีกครั้งซึ่งมีผู้เสนอเพียง ๑ คน มาสรุปเป็น ๑ ใน ทางเลือกของ คณะผู้วิจัย
                 
                 เช่นเดียวกับแนวทางให้ผลพวงทางกฎหมายที่ดำเนเนการโดย คตส.เสียเปล่า ทั้งหมด แต่ต้องนำคดีที่ค้างอยู่และที่ตัดสินไปแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติที่ประเทศชาติมีอยู่ ซึ่งมีผู้เสนอแนวมางนี้ ๕ คน ก็ได้รับการเสนอเป็นทางเลือกของคณะผู้วิจัยด้วย
 จากข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้น ทำให้ผมไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งต่อผลสรุป ที่เป็นทางเลือกในการสร้างความปรองดองของคณะผู้วิจัยว่า นอกจากจะไม่สามารถสร้างความปรองดองได้แล้ว ยังจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมที่อาจลุกลามนำไปสู่ความสูญเสียในสังคมที่ยากจะประเมินได้ ซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ คณะผู้วิจัยปรารถนาจะให้เกิดขึ้น
       
                 ผมเป็นคนแรกที่เสนอคำว่า "ปรองดอง" ต่อสังคมไทย จากแผนปรองดอง ๕ ข้อ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ผู้สนับสนุนผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ผ่อนปรนใดๆ กับผู้กระทำผิด  แต่ผมก็ยอมขัดใจผู้สนับสนุนทั้งที่รู้ว่าจะกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมือง เพราะเห็นความจำเป็นที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ถึงการให้อภัยและเดินหน้าประเทศให้พ้นจากวังวนความขัดแย้ง แต่ต้องไม่เสียหลักการของบ้านเมือง โดยยึดประโยชน์ของชาติมาก่อนประโยชน์ทางการเมือง

                 ผมพูดชัดเจนในช่วงเวลานั้นและยังยืนยันมาถึงวันนี้ว่า  กระบวนการปรองดอง ที่จะแก้ปัญหาได้ ต้องเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ มีความยั่งยืน ด้วยการวางหลักการที่ดีให้กับบ้านเมือง ด้วยการยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งจะไม่มีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ แต่ต้องเป็นประโยชน์ สำหร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ