Southern Laos first time : บันทึกแรกสบตา “ปากเซ-ลาวใต้” บนสายน้ำของ

Southern Laos first time : บันทึกแรกสบตา “ปากเซ-ลาวใต้” บนสายน้ำของ

สะบายดี  “ເເມ່ນ້ຳຂອງລາວໃຕ້

นี่เป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ออกเดินทางข้ามพรมแดนเขตประเทศไทย ผ่านชายแดนอีสานมุ่งหน้าไปยัง สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ เพื่อเรียนรู้ติดตามความเปลี่ยนไปของสายน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลง ทริปนี้ถูกบันทึกระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2567 ณ แขวงจำปาสัก สาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมคณะอาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรสังคมศาสตร์และการพัฒนา ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ร่วมเรียนรู้แม่น้ำโขงตอนใต้การพัฒนาชายแดนอีสาน และประเทศเพื่อนบ้าน ถึงผลกระทบข้ามพรมแดนบนสายน้ำโขงกับระบบนิเวศธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางการพัฒนาในกระแสทุน ผ่านห้องเรียนธรรมชาติ

3 วัน 2 คืน ณ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ผู้เขียนได้ออกเดินทางจากด่านศุลกากรช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี มาตามเส้นทางหลวงหมายเลข 10 ของประเทศลาว ซึ่งห่างจากชายแดนไทย 44 กิโลเมตรเท่านั้น  โดยนั่งรถตู้ข้ามสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น มาถึงเมืองปากเซ พร้อมกับแลกเงินจำนวน 1,500 บาท เป็นเงินลาวจำนวน 943,000 กีบ ในช่วงค่าเงินเฟ้อ โดย 1 บาท จะเท่ากับ 630 กีบ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2567

เมืองปากเซ ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณแม่นํ้าโขงและแม่นํ้าเซโดนที่ไหลมาบรรจบกัน ที่นี่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศลาว เป็นเมืองที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นใหม่ ที่นี่จึงมีบ้านเรือนและสถาปัตยกรรมในสไตล์โคโลเนียลหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการปกครอง เมื่อปี พ.ศ 2448 และที่สำคัญที่นี่นับว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของลาวตอนใต้

วิถีชีวิตและหัวใจของของผู้คน ณ ลาวใต้

เราเดินทางจากตัวเมืองปากเซ ไปยังพื้นที่เป้าหมาย จุดแรกคือ น้ำตกคอนพะเพ็ง  อัญมณี หรือไข่มุกแห่งน้ำโขง เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีภูมินเวศน์ที่สวยงาม แม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ไนการ่าแห่งเอเชีย มหานทีแห่งแม่น้ำโขง ด้วยลักษณะเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย โดยในสมัยก่อนที่นี่เคยเป็นจุดหาปลาที่สำคัญ เช่น ปลาค้อคอนพะเพ็ง ปลาเฉพาะถิ่น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ อย่างต้น มะนีโคด(มณีโคตร)  เป็นชื่อต้นไม้ที่ชาวลาวนับถือ ซึ่งมีอายุหลายร้อยปีที่เกิดและเติบโตในแม่น้ำโขง

หลังเพลินเพลิดกับทัศนียภาพที่สวยงาม จุดที่สอง  เราเดินทางมายังท่าเรือบ้านนากะสัง หมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นจุดเดินทาง มีท่าเรือโดยสารที่จะข้ามไปยังดอนโขง ดอนเดด-ดอนคอน ซึ่งหมุดหมายเพื่อไปยัง Sengahloune Villa ที่พักค้างคืนริมฝั่งโขง บนเกาะสี่พันดอน โดยนั่งเรือล่องโขง ลัดเลาะเกาะแก่งกลางมหานทีสีทันดรไปประมาณ 6 กิโลเมตร  ซึ่งระหว่างทางเราจะพบวิถีคนหาปลา คนลงเล่นน้ำโขง เรือขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค แล่นผ่านไปมาและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความเขียวของพืชน้ำโขงอย่างต้นไคร้ ที่ขึ้นเต็มแม่น้ำโขงอย่างสวยงาม

สี่พันดอน เป็นเกาะเล็กๆ กลางน้ำ การมาที่นี่ต้องเดินทางมาด้วยเรือเท่านั้น  โดยคำว่า “ดอน”  ในภาษาลาวแปลว่า เกาะ ที่นี่ถือเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวแบบสโลวไลฟ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว Backpack  ที่ต้องการมาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวลาว ริมน้ำโขงแบบเรียบง่าย โดยอาคาร บ้านเรือน ที่เกาะแห่งนี้ยังคงความเป็นลาวในสมัยก่อนทั้งผสมผสานสิ่งปลูกสร้างที่ทันสมัยเข้ากันได้ลงตัว  

สะพานทางรถไฟประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2453 เป็นทางรถไฟเก่าที่เชื่อมระหว่าง 2 เมือง คือดอนเดดกับดอนคอน เป็นทางคมนาคมหลักในสมัยก่อน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นสะพานสัญจรไปมาของผู้คนและนักท่องเที่ยว

เช้ามืดของวันใหม่ ถึงเวลานัดหมาย เวลา  05.30 น. ได้ฤกษ์ล้อหมุน ผู้เขียนได้นั่งรถสามล้อออกจากที่พัก ไปยัง น้ำตกคอนปลาสร้อย เป็นแหล่งท่องเที่ยวบนดอนคอน เรียกได้ว่าเป็นอันซีนของที่นี่ ซึ่งระหว่างทางเราจะพบกับวิถีเรียบง่ายของผู้คนชวนให้หลงรักจนไม่อยากจากลาเลยก็ว่าได้ ด้วยการสัญจรของที่นี่ไม่วุ่นวาย จะมีเพียง เรือ รถมอเตอร์ไซต์ รถอีแต๊ก รถถีบหรือจักรยาน และรถสามล้อที่มีขี่กันทั่วไปเพื่อใช้ดำเนินชีวิตในเกาะแห่งนี้  

เส้นทางการไปยังคอนปลาสร้อย เราต้องเดินทางลัดเลาะป่า นำทางโดยการฟังจากเสียงน้ำตกที่ได้ยิน เพื่อจะข้ามสะพานแขวนข้ามลำสาขาของแม่น้ำโขง  ไปยังจุดดักปลาด้วย “หลี่” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการจับปลา ภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวลาว โดยนิเวศรอบข้างจะเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำลดลงอย่างมาก สีน้ำใสจนมองเห็นปลาเล็กแหวกว่ายไปมา ทั้งยังทำให้เราสามารถเดินเข้าไปใกล้หลี่ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งถูกจัดวางกลางน้ำตกคอนปลาสร้อยแห่งนี้ โดยบริเวณรอบ ๆ จะมีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไคร้ที่กำลังพยายามเติบโตในดอนแห่งนี้ด้วย

ระหว่างทางเราจะเห็นสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ในลักษณะแตกต่างกัน เห็นชัดถึงฐานะ สังคม ที่อยู่อาศัย ที่สลับกันไประหว่างสองข้างทาง 

อีกจุดในพื้นที่เป้าหมาย เรานั่งสามล้อไปยังท่าเรือฝรั่งเศส(Old French Port)  ณ ชายแดนลาว-กัมพูชา  ริมน้ำโขง พื้นที่สี่พันดอน  เป็นพื้นที่ที่พบโลมาอิรวดี  โดยจุดนี้เรียกอีกชื่อว่า ท่าเรือกำปั่นขนถ่ายสินค้าของฝรั่งเศส ซึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีการนำสินค้ามาจากเขมร นำขึ้นรถไฟไปยังดอนเดด

จุดสุดท้ายของการเดินทางตามเส้นทางของแม่น้ำโขง น้ำตกสมพะมิตร หรือน้ำตกหลี่ผี เป็นน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำโขง มีทั้งความสวยงามและความอันตรายอย่างมากจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก โดยเรื่องเล่าขานในอดีตช่วงสงครามอินโดจีน จะพบศพของทหารในสงครามจำนวนมาก ซึ่งก็จะลอยผ่านมาตามสายน้ำติด “หลี่” จับปลาของชาวบ้าน หรือแม้กระทั้งคนในพื้นที่ที่มาหาปลาเอง บางคนทนกระแสความแรงของน้ำไม่ไหว ก็พัดตกมายังหลี่เช่นกัน จึงทำให้ที่นี่ถูกเรียกว่า หลี่ผี  โดยจุดที่เราไปชมความสวยงามของหลี่ผีแห่งนี้ สามารถชมได้เฉพาะรอบข้างของลำน้ำ หากอยากชมทัศนียภาพควางามจากมุมสูง ต้องมีค่าเข้าเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทไทย ถ้าเทียบกับค่าเงินของประเทศลาวถือว่าสูงมากกับการจ่ายเงิน เพื่อชมทรัพยากรของประเทศ  ทั้งยังมีเสียงบอกเล่าจากแม่ค้าชาวลาวขายน้ำหวานที่นี่มามากว่า 10 ปี  เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่นายทุนเข้ามาสัมปทานพื้นที่ท่องเที่ยวได้ 2 ปี พวกเขาเหล่านี้ ต้องจ่ายค่าเช่าที่ เดือนละ 600,000 กีบ เป็นเงินไทยเกือบพันบาท ซึ่งก็สร้างความท้าทายใหม่ให้กับคนในพื้นที่

ขณะเดินทางกลับมายังจุดขึ้นรถ บขส.อุบลราชธานี ผู้เขียนเดินทางมาพร้อมหนุ่มชาวลาวที่หุ่นบางร่างเล็ก ผู้แสวงหาโอกาส วัย 23 ปี เขาเดินทางจากแขวงสาละวัน  หรือเรียกอีกชื่อในนามว่าดินแดนแห่งป่า ที่ลาวใต้ เพื่อไปทำงานด้านบริการ ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว ในอำเภอสารภีร จังหวัดเชียงใหม่  โดยเดินทางมาพร้อมกับพี่สาว เพื่อหวังไปรับค่าแรงวันละ 400 บาท เลี้ยงปากท้องเพื่อความอยู่รอด   “อยู่บ้านเราก็ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงิน ทั้งสถานณ์เงินเฟ้อ เราเลยมาไทยพร้อมพี่สาว เพื่อไปทำงานที่เชียงใหม่”  เสียงบอกเล่าความมุ่งมั่นจากหนุ่มลาว

เรื่องเล่าจากปากเซ ในวันที่สายน้ำเปลี่ยนไป ผู้เขียนได้เดินทางมาสัมผัสด้วยระยะการเดินทาง 420 กิโลเมตร ขอนแก่น-ปากเซ ได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่มีพลังและชีวิต ท่ามกลางวิกฤตน้ำโขง ที่กระทบผู้คนทั้งสองฝั่งทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด จากการลดลงของน้ำโขง ที่บางจุดเริ่มแห้งขอด ล้วนยังมีข้อกังวล เสียงสะท้อนความเดือดร้อน ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปของแม่น้ำที่เกิดขึ้นหลังจากการสร้างเขื่อน น่าเสียดายหากวันข้างหน้าแหล่งธรรมชาติ ทรัพยากร สายน้ำ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนเหล่านี้ จะเหือดแหงไปกับการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งระบบทุนที่ผุดเข้ามากำลังผลักให้คนในประเทศ ที่กำลังเติบโต ต้องดิ้นร้นออกไปทำงานที่อื่น ที่นี่ลาวใต้ อาจเหลือเพียงเรื่องเล่า ของแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำแห่งชีวิต  

แม่น้ำโขง” เป็นสายน้ำที่มีความสำคัญในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ “Mekong Subregion” 6 ประเทศ คือ จีนตอนใต้ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงข้ามพรมแดนระหว่างกันในหลายมิติ  กระทั่งมีการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาที่บริเวณประเทศต้นน้ำ โครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ถูกสร้างอยู่ทางตอนบน เขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว  ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 7,400 ล้านหน่วย ส่งขายให้ไทยโดยผ่าน กฟผ. ถึงร้อยละ 95 ซึ่งเขื่อนนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562

ตามข้อมูล Mekong Dam Monitor https://www.facebook.com/mekongdammonitor  ระบุว่าบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนมีเขื่อนที่สร้างเสร็จเเล้ว 14 แห่ง โดย 12 แห่ง อยู่ในจีนและอีก 2 แห่ง อยู่ในลาว ซึ่งเขื่อนถูกสร้างในลักษณะถอดตัวเรียงยาวลงมาตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำ เรียกว่า “เขื่อนขั้นบันได” (Lancang cascade) มีพื้นที่ครอบคลุมการบริหารจัดการตอนบน

“ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน” ต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ท้ายเขื่อน ทั้ง สัตว์ พืชน้ำ พืชประจำถิ่นอย่างต้นไคร้ยืนต้นตาย เกิดการขึ้นลงของระดับน้ำที่ผันผวน แม่น้ำโขงมีสีใสไร้ตะกอน ตลอดจนวิถีชุมชน เศรษฐกิจและสังคมในระหว่าง  8 จังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากแม่น้ำโขงโดยตรง ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

บันทึกแรกสบตา “ปากเซ-ลาวใต้” บนสายน้ำของ

แม้พรมแดนรัฐชาติระบุขอบเขตประเทศชัด การข้ามไปมาของผู้คนต้องมีเอกสารหลักฐานยืนยัน เพื่อระบุตัวตนประชากร แต่สายน้ำโขงที่เรื่อยไหลผ่านมาตลอดสองฟากฝั่งลุ่มน้ำโขงที่วันนี้ผันผวนขึ้นลงยากจะคาดเดา และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ ทั้ง คน พืช สัตว์ ที่เคยมีความหลากหลายทางชีววิทยากลับสับสนอลหม่าน และไม่สามารถขีดขั้นด้วยเส้นแบ่งกั้นใด ผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน เขื่อนในตอนบนส่งผลต่อระดับแม่น้ำโขงตอนล่าง น้ำที่ใสไร้ตะกอนก็ส่งผลให้ฝูงปลาที่คอนพะเพ็ง คอนปลาสร้อย มีจำนวนลดน้อยถอยลง ต้นไคร้น้ำซึ่งเคยเขียวชอุ่มพุ่มงามที่พันโขดแสนไคร้เมือง จ.หนองคาย ณ เมืองไทย หาชมแทบไม่ได้ในวันนี้ ในวันที่น้ำสายน้ำโขงไม่ได้ไหลอย่างอิสระ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ