วิกฤติพืชอาหารริมฝั่งน้ำโขง

วิกฤติพืชอาหารริมฝั่งน้ำโขง

ข้อเสนอชุมชนในการพื้นฟูพืชและระบบนิเวศแม่น้ำโขง

21 มีนาคม 2567 จากการศึกษาวิจัยชาวบ้าน เรื่องการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาความรู้พื้นบ้าน การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบและแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับพืชอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขงโดยชุมชน

จากการศึกษาพบว่า ระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ที่เกี่ยวข้องกับพืชอาหารแบ่งเป็นระบบนิเวศน์ย่อย 12 ระบบนิเวศน์ได้แก่ หาด หนอง แจ๋ม ดอน ร้อง หลง ลำห้วย ริมฝั่ง ผา คก กว๊าน และปง ระบบนิเวศน์ส่วนใหญ่ที่พบในแม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมเป็นผืนเดียวกับแม่น้ำ พอฤดูน้ำลด จะมีพบระบบนิเวศน์ย่อยเหล่านี้ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน พืชอาหารส่วนใหญ่มักขึ้นในฤดูแล้ง ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน เมษายน ส่วนระบบนิเวศน์ที่มีพืชขึ้น และสำคัญต่อการเก็บพืชอาหารได้แก่ พื้นที่ริมฝั่ง ลำห้วยสาขา ผา หาดหิน และหาดทราย จากการศึกษาพบพืชอาหาร 62 ชนิด แบ่งเป็น พืชอาหาร 58 ชนิด พืชน้ำที่ไม่ใช่อาหารแต่สำคัญต่อระบบนิเวศน์ในชุมชน 2 ชนิด ได้แก่ ต้นไคร้นุ่นหรือไคร้นวล และต้นไคร้เกิ้ม สาหร่ายน้ำ 2 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายไกและเทา

“ในฤดูแล้ง ต้นไคร้น้ำจะเป็นที่หลบแดด ละอ่อนจะเซาหารังมิ้น คนหาปลาจะทอดแหตามรากต้นไคร้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลาหว่า ปลาเพี้ย ปลากด ปลาเกือบทุกชนิดมันชอบมาหลบอยู่ใต้ต้นรากไคร้ หน้าน้ำหลากก็ตัดเอากิ่งมัดวรวมกันแช่น้ำล่อกุ้งให้มาอยู่ บ้านเราเรียก ฟดกุ้ง แล้วเอาสวิงช้อนยกเอากุ้ง ตอนนี้หายไปหมดละ ทั้งยืนต้นตาย ทั้งถมทำตลิ่ง เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์แล้วเท่าที่ลุงเห็น”

(นายวันดี ศรีสุดาวรรณ 16 พฤศจิกายน 2566)

อาหารทั้ง 62 ชนิด มีปริมาณลดลง และบางชนิดได้หายไป โดยมีสาเหตุจากระดับน้ำขึ้นลงที่ผิดปกติส่งผลให้พื้นที่ของพืชหายไป โดยพาะพื้นที่สำคัญได้แก่ ริมฝั่ง ริมหนอง สบห้วยซึ่งเป็นดินร่วนปนทราย เกิดจากการพัดพาของกระแสน้ำ เป็นพื้นที่สำคัญในการเก็บผักพืชอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชธรรมชาติ ที่ขึ้นเอง เป็นทั้งอาหารและแหล่งรายได้ของชุมชน ผักที่สำคัญ ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกูด ผักหนาม ผักชีช้างหรือชีอ้อ ผักกาดนา ไก และเตา

ในการศึกษาจาก 3 ชุมชน พืชบางชนิดมีชื่อเรียกต่างกัน และมีองค์ความรู้ด้านการประกอบอาหารที่ต่างกันในรายละเอียด พืชอาหารส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้ของผู้หญิงที่นิยมเก็บผักมาทำอาหารมากกว่าผู้ชาย การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มีการกักเก็บน้ำ และปล่อยน้ำในการเดินเรือสินค้าทำให้ระดับผิดปกติ มีความผันผวนจากธรรมชาติ มีระดับน้ำขึ้น ๆ ลง ๆ ตามตารางการเดินเรือสินค้า ปัญหาน้ำขึ้น-ลงทำให้ตลิ่งที่เป็นดินตะกอนได้พังลง การเก็บน้ำจากเขื่อนในฤดูน้ำหลากน้ำไม่ท่วม ในฤดูแล้งแต่น้ำไม่ลดต่ำสุดเหมือนในอดีตเมื่อเทียบกับหลังปีพ.ศ. 2547 การขึ้นลงของน้ำโขงที่ผิดปกติ ชุมชนเริ่มรับรู้ในปีพ.ศ.2539 ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างเขื่อนม่านวาน เขื่อนแห่งแรกแม่น้ำโขงในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน สัตว์น้ำ ระบบนิเวศน์ เรื่อยมาจนถึงขั้นวิกฤติชุมชนในการพึ่งพาแม่น้ำโขงได้ยากขึ้น

ในการศึกษาในครั้งนี้ ชุมชมได้ยืนยันการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงเห็นผลกระทบชัดเจนนับช่วงปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นมา คือช่วงวิกฤติการพึ่งพาแม่น้ำโขง จากปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งจากการขึ้นลงผิดปกติของน้ำจากเขื่อนตอนบน ปัญหาตลิ่งพังจากการขึ้นลงของระดับน้ำ ทำให้มีการทำพนังกั้นตลิงทำให้พื้นที่พืชอาหาร เกษตริมโขงหายไป การปรับตัวจากประมงมาทำอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นทำให้พืชน้ำหายไป

“แต่ก่อนได้ปลามาจะเข้าบ้านหรือจะลาบปลา พายเรือตามริมฝั่ง เก็บผักไหม ผักจีอ้อมากินกับลาบปลา ที่ไหนก็มีตอนนี้ไม่ค่อยเห็นแล้วผักไหม เริ่มหายาก”(นายบุญธรรม ตานะอาจ 5 สิงหาคม 2566)

ระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญต่อพืชอาหารคือ พื้นที่ริมฝั่ง การเปลี่ยนแปลงริมฝั่งส่งผลกระทบต่อพืชอาหาร พืชอาหารส่วนใหญ่จากการศึกษาทั้ง 62 ชนิด ร้อยละ 95 เป็นพืชที่พบได้ในพื้นที่ริมฝั่งยกเว้น ไก เตา ผำ ไคร้หางนาก ที่ออกในน้ำ หรือตามผา และหาดหิน การเปลี่ยนแปลงของริมฝั่งพื้นที่หาผักสำคัญเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ที่เป็นอาหารและรายได้เสริมในฤดูแล้ง ที่ไม่สามารถไปหาของป่าตามธรรมชาติได้ ยกเว้นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งพืชอาหารที่สำคัญของชุมชนในฤดูแล้งการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารที่มีผลต่อสัตว์น้ำ พบว่าการหายไปของต้นไคร้น้ำ ส่งผลต่อปลาและสัตว์น้ำที่อยู่ตามรากไคร้ เช่นปลาหว่า ปลาเพี้ย ปลาขนาดเล็กอื่นๆ กุ้งฝอย และส่งผลต่อการสร้างรังของตัวมิ้นในฤดูแล้งที่มักสร้างรังตามพุ่มต้นไคร้ ทำให้พื้นที่อาหารของชุมชนลดลง นอกจากนั้นยังส่งผลต่อไส้เดือนแม่น้ำโขงที่พบตามดินโคลนริมฝั่ง มีตัวขนาดหัวแม่มือยาว 1 เมตร ชุมชนใช้เป็นเหยื่อนล่อปลากินเนื้อเช่น ปลาค้าว ปลาเลิม ปลาแข้ ปลาคังและปลากด และการเปลี่ยนแปลงพื้นน้ำ การหายไปของตะกอนดินโคลน ทำให้แมงมายและหอยอี่แง๊บ หอยทรายหายไป ส่งผลโดยตรงต่อวิถีการพึ่งพาแม่น้ำโขงชุมชนเรื่องแหล่งอาหารและเหยื่อสำหรับจับปลาในแม่น้ำโขง

ข้อเสนอแนะชุมชน

1) แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูพืชอาหารโดยชุมชนมีข้อเสนอให้มีการหากล้าพันธุ์พืชอาหารที่หายไปนำมาปลูกทดแทน ปลูกต้นไม้ยื่นต้นเพื่อสร้างร่มเงาให้กับพืชผิวดอน และจัดทำเอกสารองค์ความรู้ให้เยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และสืบทอดองค์ความรู้ท้องถิ่น ส่วนแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ริมฝั่ง เป็นพื้นที่สำคัญของพืชอาหาร โดยการนำต้นไคร้มาปลูกเพื่อฟื้นฟูริมฝั่ง ไคร้น้ำเป็นพืชที่มีรากยาวสามารถป้องกันตลิ่งพังและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของปลาและสัตว์น้ำ การป้องกันไฟไหม้ริมฝั่ง เพื่อเป็นการรักษาต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติหลังจากมีการทำตลิ่ง เช่นต้นเดื่อเกลี้ยง ฉำฉา ต้นโต้ม เดื่อป่อง ไคร้นุ่น ต้นกุ่ม เพื่อให้ต้นไม้ได้เติบโตปกคลุมเป็นร่มให้กับพืชผิวดิน

“ต้นไคร้มันเป็นง่าย พ่อก็ฟันเอากิ่งมาปักไว้ที่ดินริมตลิ่งตอนน้ำลด ต้นไคร้ที่เห็นก็ทางลั้งมองเรานำมาปักไว้ ถ้ามีเยอะอีกหน่อยก็จะทำให้ริมฝั่งเรามีต้นไคร้กลับมาเหมือนเดิม แต่ก่อนเป็นป่าไคร้หมดเลย ตั้งแต่ทำตลิ่งมันหายไป ถ้ามีต้นไคร้ ปลา กุ้งก็จะกลับมาเพราะรากต้นไคร้เป็นที่อยู่ของมันได้”

(นายเมฆ กาวิละ 5 สิงหาคม 2566)

2) แนวทางการส่งเสริมอาชีพทางเลือกจากพืชอาหาร ชุมชนได้เลือกพืชที่สำคัญ 6 ชนิด ได้แก่ ไก เตา ผักชีช้าง ผักกูด ผักกุ่ม และผักหนาม มีข้อเสนอในการหากล้าพันธุ์มาปลูกในพื้นที่ริมฝั่งเพื่อสร้างรายได้ และสามารถเป็นอาชีพให้กลุ่มแม่บ้าน ข้อเสนอคือสนับสนุนการอบรมออกแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปสาหร่ายไก ให้ดูสวยงาม เก็บได้นาน และการขายออนไลน์ สนับสนุนการหากล้าพันธุ์ต้นผักกูด ผักหนาม ผักชีช้าง มาปลูกในพื้นที่ริมฝั่ง และพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ การบรรจุและรักษาคุณภาพ ส้มผักกุ่ม เพื่อส่งขายผ่านช่องทางออนไลน์

3) บทบาทหน่วยงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารแม่น้ำโขงจากการพัฒนา ในจังหวัดเชียงราย จาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มภาคธุรกิจ กลุ่มภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา มีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชน ในด้านการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขพืชอาหารร่วมกับชุมชน สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รณรงค์เผยแพร่องค์ความรู้ท้องถิ่นการพัฒนาในแม่น้ำโขง การผลักดันเชิงนโยบายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขง ส่งเสริมการฝึกและการประกอบอาชีพให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบในชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือการท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาสินค้าชุมชน ให้เป็นอุตสาหกรรมชุมชนหรือสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่ ต่อยอดพัฒนาสินค้า ด้านเกษตรของชุมชน

แนวทางการฟื้นฟูพืชอาหารจากงานวิจัยไทบ้านเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย ที่ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับชุมชนในการศึกษาและหาแนวทางการฟื้นฟูพืชอาหาร เป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเตรียมผักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนชุมชนในการพื้นฟูพืชอาหารภายใต้การนำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาใช้ฟื้นฟู

เรียบเรียงโดย เกรียงไกร แจ้งสว่าง

ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ