ตำราพาลำ : เส้นทางฝัน…หมอลำรุ่นใหม่อีสาน

ตำราพาลำ : เส้นทางฝัน…หมอลำรุ่นใหม่อีสาน

ปอน พรพิพัฒน์ บุรานเดช

เริ่มต้น “โอ้ละนอ..” เสียงเอื้อนหมอลำดังลั่นทุ่งท้ายหมู่บ้าน ผสมผสานกับเสียงกระดิ่งของควาย เสียงนกร้องและเสียงสายลมที่ตีกันปะปนไปมา มันคือห้องซ้อมธรรมชาติของชายหนุ่มบ้านนอกที่มีผ้าขาวม้าพันคอพาดบ่า หน้าตาดีอย่างน้องปอน พรพิพัฒน์ บุรานเดช เด็กหนุ่มอีสานจากบ้านโพนสวาง ต.โนนมะเขือ จ.กาฬสินธุ์วัย 21 ปี ที่มีความฝันอยาก อยากเป็นพระเอกหมอลำ จากชีวิตนักเรียนมอปลายก้าวไปสู่รั้ววิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อไล่ตามความฝัน

ปอน พรพิพัฒน์ ซ้อมกลอนลำที่บ้าน

จุดเริ่มต้นของความฝันเหล่านี้มันอาจเริ่มจากการที่ปอน รู้สึกคุ้นเคยกับเสียงเพลงหมอลำตั้งแต่เกิด แต่ความรู้สึกแรกที่จำได้ว่าชื่นชอบหมอลำนั่นคือตอนที่น้องสาวที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลไกลกันในชุมชน ชอบดูตลกของคณะเสียงอีสาน ซึ่งเมื่อย้อนกลับหลายปีก่อนนั้นถือได้ว่าตลกของคณะเสี่ยงอีสานเป็นช่วงที่ ได้รับความนิยมอย่างมาก และนั่นทำให้ปอน ได้มีโอกาสได้ดูการแสดงตลกและการร้องรำ และกลอนหมอลำจนเกิดความลุ่มหลงและชื่นชอบในศิลปะการแสดงนี้ตั้งแต่นั้นมา

ท้องทุ่งนาหลังบ้านคือห้องซ้อมขนาดใหญ่

ก่อเกิดเป็นความฝันอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นนักร้องนักแสดง ทำให้ปอนด์ในวัยเด็ก ได้มีโอกาสร้องรำทำเพลงตามศิลปินที่ชื่นชอบจากการดูการแสดงผ่านทาง VCD ที่เป็นเครื่องเล่นประจำบ้าน หลายครั้งที่ปอน มีโอกาสได้เป็นตัวแทนในการแสดงของโรงเรียนทั้งการร้องเพลง และร่วมกิจกรรมที่ต้องถือไมค์อยู่บนเวทีทำให้ปอน ไม่รู้ด้วยซ้ำไป ว่าตัวเองร้องเพลงได้ตั้งแต่เมื่อไร และสิ่งเรานั้นกลายเป็นต้นทุนของชีวิตเขาไปตั้งแต่เมื่อไร

คอกวัวของปอนและครอบครัว

ครอบครัวของปอนมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนาทำสวนและรับจ้างทั่วไป ไม่ใช่ครอบครัวที่เป็นข้าราชการหรือมีใครเข้ารับราชการเลยซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในชุมชนอีสานต่างมองว่าอาชีพที่มั่นคงนั้นคือการเข้ารับราชการ แต่ด้วยความชอบและใจรักในศิลปะของการแสดงหมอลำและการร้องเพลงที่ปอนด์ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ปอนด์ตัดสินใจศึกษาการร้องหมอลำและการร้องเพลงด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น และจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของปอนก็เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่เค้าจะจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย เมื่อปอนได้เสียคุณพ่อไปก่อนที่เขาจะตัดสินใจศึกษาต่อหรือทำงาน

คุณแม่ของปอนจึงเป็นเสาหลักของบ้านพี่ต้องดูแลลูกๆ ซึ่งมีพี่สาวปอนด์อีกคน ที่เรียนจบแล้วไปทำงานต่างจังหวัดที่ชลบุรี เป็นผู้ช่วยประคับประคองครอบครัวอีกแรง ช่วงแรกปอนด์ตัดสินใจว่าจะเดินทางลงไปทำงานกับพี่สาวที่ต่างจังหวัด แต่พอปอนด์เสียคุณพ่อไปและมรดกสุดท้ายของคุณพ่อที่ทิ้งไว้ คือทุนในการศึกษาต่อก้อนหนึ่ง และความประสงค์ของคุณพ่อที่อยากเห็นลูกชายเดินตามความฝันของตัวเองคือการเป็นหมอลำ ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต่างส่งเสริมและสนับสนุนให้ปอนด์กล้าแสดงออกในการร้องรำ อยากเห็นลูกชายตัวเองเป็นศิลปินสักครั้งในชีวิต

คุณแม่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมนอกจากการทำเกษตรกรรม

ปอนด์ตัดสินใจเรียนเอกหมอลำ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากการสนับสนุนของครอบครัวและความใฝ่ฝันของตัวเอง ในการไล่ล่าตามความฝันในการเป็นศิลปินหมอลำ

ปอน พรพิพัฒน์

“ หลายคนถามว่าเรียนหมอลำเรียนไปทำไม ก็ร้องเพลงเป็นและร้องหมอลำได้ไม่ใช่เหรอ แต่ตัวผมคิดว่าการมาเรียนนอกจากเพิ่มความรู้ให้ตัวเองมันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มากกว่าจึงตัดสินใจมาเรียนแบบจริงๆจังๆ” 

ปอนเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจและแนวคิดในการตัดสินใจมาเรียนเอกหมอลำที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้มองเห็นโอกาสในการเรียนของหลักสูตรที่วิทยาลัยฯ มี ในการเพิ่มเติมความรู้ในการร้องรำ และประสบการณ์ในการฝึกฝึกฝนตัวเอง ผ่านการทดลองการทำงานจริงและการเป็นศิลปินจริงซึ่งที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นด่านพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือการเข้าร่วมกับ วงโปงลางศิลป์อีสาน ซึ่งมีศิลปินหลายคนที่อยู่ในวงการหมอลำปัจจุบันเคยผ่านเส้นทางนี้มาแล้วนั่นเอง

วงโปงลางศิลป์อีสาน

วงโปงลางศิลป์อีสาน ในอดีตมีชื่อว่า วงแคนเงิน เป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของอาจารย์และลูกศิษย์ในรุ่นแรกที่บุกเบิกการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงฝีมือจากการศึกษาเล่าเรียน ทั้งการร้องรำ การแสดงดนตรี ซึ่ง วงแคนเงิน เกิดขึ้นเมื่อปี 2544 

วงโปงลางศิลป์อีสานแสดง ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อาทิตย์ คำหงศ์ษา ผู้สอนดนตรีพื้นบ้านอีสาน วิทยาลัยยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของวง โปงลางศิลป์อีสาน เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งว่า มันเป็นการเกิดขึ้นของการรวมตัวกันของรุ่นพี่เอกดนตรี และเอกนาฏศิลป์ ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้จัดทำวงดนตรีวงนี้ขึ้น

อ.อาทิตย์ คำหงศ์ษา

เส้นทางมาเป็นผู้สอนดนตรีพื้นบ้าน ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคามของอาจารย์อาทิตย์ ก็ดูเหมือนมีความคล้ายคลึงกับปอนด์อยู่บ้าง โดยแจกความชื่นชอบตั้งแต่วัยเด็กการได้ยินเสียงเพลงวิทยุจากการไปเลี้ยงควายอยู่ทุ่งนา จนทำให้เกิดความชื่นชอบในเสียงเพลงหมอลำ แต่อาจจะแตกต่างไปบ้าง เมื่อความชื่นชอบของอาจารย์อาทิตย์ ในวัยเด็กคือการชื่นชอบในการเล่นพิณ ซึ่งตัวเขาเอง ก็ยังยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวเองสามารถเล่นพิณได้อย่างไร เพราะไม่มีผู้ใดสอน แต่พอได้จับเรื่อย ๆ และทดลองเล่น ก็สั่งสมเป็นประสบการณ์มานับตั้งแต่นั้นจนเติบโต ซึ่งตัวเขาก็ไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าเป็นพรสวรรค์ได้หรือไม่หรืออาจเป็นความบังเอิญหรือความเคยชินที่อยู่กับมันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วก็เป็นได้

อ.อาทิตย์ คำหงศ์ษา สอนดนตรีพื้นบ้าน

แต่ด้วยความชื่นชอบก็คงไม่พอในอดีตในช่วงนั้น การเรียนศิลปะดนตรีพื้นบ้านและการเรียนเรื่องหมอลำโดยตรงนั้นไม่มีผู้ใดบรรจุเป็นหลักสูตร และไม่มีการเรียนเรียนเป็นกิจลักษณะเลย มีเพียงแต่การเรียนรู้จากครูที่เป็นปราชญ์ในชุมชน และเรียนรู้จากศิลปินนักดนตรี และชุมชนที่เป็นหมอลำเพียงเท่านั้น ทำให้การพัฒนาตัวเองและการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องศึกษาด้วยตัวเองเพียงลำพัง

ชีวิตลูกชาวนาอีสานพ่อแม่อยากให้เป็นเจ้าคนนายคน ก็ส่งเสริมให้ไปสอบเป็นข้าราชการตำรวจ และทหารอยู่หลายครั้ง ถึงแม้จะพยายามเท่าไร ก็ไม่สามารถทำให้อาจารย์อาทิตย์ ทำสำเร็จเลยแม้แต่สักครั้งเดียว หลังจากการพยายามอยู่นานพอสมควร เหมือนชะตาชีวิตจะถูกกำหนดไว้แล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เปิดแคมป์ดนตรีพื้นบ้าน เพื่อเสาะหาผู้เข้าร่วมพัฒนาทักษะที่สามารถเล่นดนตรีพื้นบ้านได้ ซึ่งมีข้อตกลงว่าหากผู้ใดผ่านเข้าพิจารณาก็จะสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านซึ่งคือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน จึงทำให้เป็นโอกาสในการศึกษาต่อ และนั่นเป็นครั้งเดียวที่สามารถทำให้อาจารย์อาทิตย์กลายมาเป็นนักศึกษาและก้าวมาสู่การเป็นอาจารย์หลังจากเรียนจบ ณ ที่แห่งนี้

อ.อาทิตย์ คำหงศ์ษา สอนดนตรีพื้นบ้าน

แม้ในระยะแรกในการเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในรั้วของวิทยาลัยเกี่ยวกับเรื่องของดนตรี ก็ยังคงเป็นเป็นการเชิญผู้รู้ ที่เป็นปราชญ์ในเรื่องของดนตรีมาสอน และร่วมกับการศึกษาด้วยตัวเองก็ตามที แต่นั่นทำให้เห็นว่าเริ่มมีการก่อร่างสร้างตัวของหลักสูตรดนตรีพื้นบ้านอีสานเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแห่งแรกของ ภาคอีสานเลยก็ว่าได้ แต่หลังจากเวลาผ่านไปอาจารย์อาทิตย์ได้มีโอกาสขึ้นเป็นผู้สอน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการรวบรวมเอาองค์ความรู้จากชุมชนต่างๆ ร่วมกับอาจารย์อีกหลายหลายท่านที่ร่วมกันเอาองค์ความรู้ของชุมชนเข้ามาสร้างเป็นหลักสูตร การเรียนการสอน เริ่มมีการเขียนโน้ตดนตรีที่เป็นกิจลักษณะ การเรียนรู้เรื่องความเป็นมา ของการเกิดขึ้นของดนตรีพื้นบ้านอีสาน และการเกิดขึ้นของเอกหมอลำในที่สุด

นิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส.

หลักสูตรการเรียนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหลักสูตรระยะสี่ปี ซึ่งจะมีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีทั้งหมดในช่วงปีหนึ่ง และในปีที่สองที่สองก็เป็นการเลือกเส้นทางของนิสิตในความชื่นชอบและความถนัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเอกหมอลำ หรือเครื่องดนตรีอื่นๆตามความถนัดและความชื่นชอบ เพื่อจะได้ศึกษาตามแนวทางที่ตัวเองสนใจ

การแสดง “ลำ 3 หมอ” ในงานวันลอยกระทง มมส.

“ เราพยายามที่จะสร้างศิลปินให้เกิดขึ้นให้ได้ในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคามของเรา เพราะจะเป็นคำตอบของคำถามหลายคำถามได้ว่าเรียนไปแล้วจะไปทำอะไร” 

อาจารย์อาทิตย์เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนและนิสิตที่จบไป แล้วเดินทางตามเส้นทางของความฝันของตัวเองไปสู่การเป็นศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น ลำเพลิน วงศกร หรือหมอลำที่อยู่ในวงหมอลำที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันอีกหลายคณะ หรือเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่ศิลปิน อย่างเช่นการไปเป็นผู้สอนหรืออาจารย์ ต่อไปในอนาคตก็อยู่ที่ตัวของผู้ที่ศึกษาเอง และความตั้งใจของเขาเหล่านั้น ซึ่งการได้ทดลองทำในขณะที่กำลังศึกษาเล่าเรียนก็เป็นเวทีที่ดีมากที่จะทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าเหมาะสมกับการเป็นศิลปินหรือไม่ แต่ถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้วเขาไม่สามารถไปต่อได้ในเส้นทางนี้แต่ด้วยการศึกษาเล่าเรียนของหลักสูตร และการมีความรู้เรื่องของดนตรีศึกษา ก็ทำให้เขาสามารถมีองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดในชีวิตของเขาได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ปอน พรพิพัฒน์

“ หลังจากผมได้ลองไปเรียนแล้ว บอกได้เลยครับว่ายากมาก เพราะการเรียนเรื่องหมอลำเป็นศิลปะขั้นสูง นอกจากอาศัยความพยายามแล้วต้องมีพรสวรรค์ด้วย แต่การมาเรียนแบบนี้ก็เป็นข้อดีเพราะมีรุ่นพี่ที่เป็นศิลปินหลายคนให้ความช่วยเหลือ บอกกล่าวสอนและส่งเสริมกันด้วยดีมาตลอด” 

ปอน พรพิพัฒน์ สะท้อนความคิดความคิดหลังจากที่ได้เข้าศึกษาในรั้ววิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนถึงปีสุดท้ายในปีนี้ ซึ่งในระหว่างศึกษาก็ทำให้ปอนด์ ได้มีโอกาสเติบโตและเรียนรู้ในการเป็นศิลปิน แต่ทดลองเป็นนักร้องในค่ายเล็กๆจากการทาบทามของรุ่นพี่ที่จบไปก่อนหน้านี้ ทำให้มีผลงานเพลงเป็นของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ และเติบโตเป็นศิลปินตัวเล็กเล็กที่สามารถรับงานแสดงและมีรายได้ ในระหว่างเรียนไปด้วย จนเขาได้ฉายาว่า “ เซอร์ปอน” ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดีในหมู่แฟนคลับของปอน

ปอน พรพิพัฒน์ ก่อนขึ้นโชว์วงโปงลางศิลป์อีสาน ณ มมส.

หลายครั้งที่ปอนด์พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการก้าวเท้าเข้าสู่เวทีประกวดการร้องเพลงในระดับประเทศ แต่ด้วยในปัจจุบันก็มีอีกหลายคนที่มองเห็นเส้นทางนี้เช่นเดียวกัน โดยการแข่งขันที่ต้องมีผู้ชนะก็ทำให้บางครั้งเส้นทางของปอนด์อาจจะราบรื่นจนกลายเป็นผู้ชนะได้ทันที แต่ด้วยหัวใจที่รักในการเป็นหมอลำและการร้องเพลงของปอนด์ทำให้ปอนด์ยังไม่หยุดที่จะเดินตามทางเส้นนี้ต่อไป เค้าคงจับไมค์ และเดินขึ้นเวทีด้วยความภาคภูมิใจที่จะร้องเพลง ร้องรำตามที่หัวใจต้องการ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาไม่รู้เลยว่าเขาได้กลายเป็นผู้ชนะของคนที่อยู่รอบตัวเขาไปแล้ว

คุณแม่ของน้องปอน

“ น้องปอนด์ไปเล่นที่ไหน แม่ก็ตามไปดูทุกที่ที่สามารถไปได้นั่นแหละ ดีใจที่เห็นลูกขึ้นเวที น้ำตาแม่ไหล แม่อยากเห็นลูกได้เป็นศิลปิน อยากให้พ่อเค้าเห็น เพราะพ่อเค้าอยากให้เป็นหมอลำ อันที่จริงน้องปอนด์ก็ไม่รู้ว่ายายเขาเป็นหมอลำมาก่อน”

แม่ของปอนเล่าถึงความรู้สึก ภูมิใจและคิดถึงผู้เป็นสามีซึ่งเป็นพ่อของน้องปอนด์ ที่ฝากฝังลูกชายคนนี้ไว้ก่อนหน้า อยากให้ลูกได้เดินตามทางความฝันของตัวเขาเอง ซึ่งครอบครัวต่างเห็นร่วมกันว่าการเป็นศิลปินหมอลำ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา มันคือชีวิตและจิตวิญญาณของครอบครัวโดยแท้จริง ถึงแม้จะยังไม่ถึงฝั่งฝัน แต่นี่คือระหว่างเส้นทางที่จะไปตรงนั้นแน่นอน

ปอน พรพิพัฒน์ เซอร์ปอน

“ทำอะไรก็ได้ที่ เกี่ยวกับการแสดง การร้องเพลง เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมชอบ และผมทำได้ดีที่สุด”

” ไม่รู้ว่าเป็นคำยืนยันหรือคำสัญญาจากปอน แต่ดูเหมือนว่าบนเส้นทางของการเป็นศิลปินหมอลำนี้ไม่สามารถมีใครหยุดยั้งปอนได้ เพราะนอกจากความตั้งใจของปอนแล้ว เส้นทางการเป็นศิลปินหมอลำอาจเป็นสิ่งที่ถูกลิขิตไว้แล้วก็เป็นได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ