วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษอรรถพล ใหญ่สว่าง นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และผู้บริหาร ให้การต้อนรับนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสเดินทางเข้ามามอบนโยบายขับเคลื่อนและขยายผลเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบรรลุเป้าหมายตามนโยบายกระทรวง อว. และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อว. For EV ระหว่าง 23 หน่วยงาน โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ศ. (เกียรติคุณ) ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. หน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา อาคาร ICT มหาวิทยาลัยพะเยา
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายจะเป็น Hubที่ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลต้องการ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อว. For EV ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ตอบรับแผนงาน EV-Transformation ซึ่ง สวทช. เป็นแกนหลักร่วมกับ สกว. และ สอวช. พร้อมหน่วยงานพันธมิตร เป็นผู้ดูแลหลักภายใต้นโยบาย อว. For EV อย่างเป็นรูปธรรม โดยปรับเปลี่ยนรถบัสจากระบบ NGV ในมหาวิทยาลัย มาเป็นรถบัสระบบ EV ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกในจังหวัดพะเยา ที่นำนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามาให้บริการแบบ 100 % และได้ทำการทดสอบวิ่งภายในมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งนี้มีแผนงานที่จะนำรถ EV มาใช้งานในช่วงเทอมที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ที่ถึงนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนการงานโดยจะมีรถบัสทั้งหมด 30 คัน คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 3,000 ตัน เป็นรถบัสขนาดมาตรฐาน หนึ่งคันสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 22 ที่นั่ง ภายในรถเป็นรถปรับอากาศ และมีระบบความปลอดภัยครบถ้วน มีระบบกล้องวงจรปิดทั้งคัน (ภายในและภายนอก) มีระบบประตูอัตโนมัติ2 ประตู สำหรับเข้า-ออก มีสิ่งอำนวยความสะดวกคือจุดชาร์จแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือให้ผู้โดยสาร และที่สำคัญมีพื้นที่รองรับสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการใช้บริการอย่างเท่าเทียม
หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อว. For EV รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินการ อว.For EV ของมหาวิทยาลัยพะเยาที่เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมกับนำผู้บริหาร อว. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดนั่งยานยนต์ไฟฟ้าชมภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยพะเยา
ศาสตราจารย์พิเศษอรรถพล ใหญ่สว่าง นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยพะเยา มีปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”จัดการเรียนการสอนครบทุกศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 14 ภายใต้การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาและโรงพยาบาลทันตกรรม เพื่อให้บริการทางการแพทย์ ด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ทันสมัย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและสังคม การที่ท่านรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดพะเยาและของมหาวิทยาลัยพะเยา ในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย ที่มีการนำองค์ความรู้ไปแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชนในพื้นที่ จนสามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้ในหลากหลายมิติ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เกิดการสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการยกระดับขีดความสามารถในด้านเกษตรกรรมของจังหวัดพะเยาต่อไป
จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ได้แนะนำผู้บริหารและแนะนำมหาวิทยาลัยพะเยา โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยาได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโนบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ดังนี้
1. รายงานการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยพะเยา และโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา โดย ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม
2. รายงานการขับเคลื่อนพื้นที่สามเหลี่ยมนวัตกรรมเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรแปรรูปมูลค่าสูง High Value Extract – Functional Food – Cosmetics Innovation ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
3. รายงานการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ของมหาวิทยาลัยพะเยา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา