คุยสั้นๆ กับ ‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ความหวังปฏิรูปการศึกษา ภายใต้รัฐกระชับอำนาจ

คุยสั้นๆ กับ ‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ความหวังปฏิรูปการศึกษา ภายใต้รัฐกระชับอำนาจ

“คืนการศึกษาให้ประชาชน ให้สังคมปฏิรูปการศึกษา” มอตโต้การปฏิรูปการศึกษาของสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา จากเวที ‘คืนการศึกษาให้สังคม’ ช่วงเวลาแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มคนทำงานด้านการศึกษา ในการประชุมวิชาการ ‘สานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ: คืนความสุขสู่ผู้เรียน’ 2-3 เม.ย. 2558 ที่คาดหวังการสร้างเครือข่าย ไปถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่จะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน 

โต๊ะข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส พูดคุยกับ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ถึงความมุ่งหวังและการขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่กระชับอำนาจอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

20150404163622.jpg

ที่มาภาพจาก: สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา

ความคาดหวังของการรวมเครือข่ายการศึกษาในวันนี้?

สังคมมีความตื่นตัวมากขึ้น แต่ว่าการที่จะเข้ามาพบเจอกันเป็นเรื่องที่ยาก อย่างแรกขณะนี้เหมือนกับเรากำลังพยายามจะก่อรูป เราเรียกว่า “ภาคีทางสังคม” หรือ “ภาคสังคม” มาร่วมกันปฏิรูปการศึกษา ถ้าปักหมุดได้ประเด็นคือสามารถให้คนในสังคมที่มีความสนใจในเรื่องนี้ อย่างน้อยเขาสามารถที่จะมีจุดที่เข้ามาเชื่อมโยงได้ พยายามจะบอกว่าทุกเครือข่ายต้องมีที่อยู่หรือที่ติดต่อ จะทำอย่างไรให้เปิดตัวตนออกมาสู่พื้นที่สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น 

อย่างที่สองคือ ทำอย่างไรให้เกิดกระแสใหม่ให้สังคมรับรู้ว่า ความจริงแล้วเราไม่สามารถโยนเรื่องการศึกษาไปให้กระทรวงได้อีกต่อไป ไม่มีทางที่จะเกิดการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราต้องเข้ามาช่วยกันจัดการการศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน สถานประกอบการ กลุ่มองค์กร และประชาสังคมต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีความต้องการที่จะเห็นการขยายตัวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โครงข่ายของภาคสังคมที่มีการขยายตัวและเติบโตขึ้น จับมือกันมากขึ้น 

สุดท้ายต้องการเห็นกระแสใหม่ของการศึกษาเกิดขึ้น ขณะนี้กระแสสังคมกดทับเด็กและเยาวชนอย่างมาก บางครั้งกระแสและค่านิยมทางสังคมคือ ความต้องการให้เด็กๆมีการศึกษาที่สูง ต้องการให้มีผลการเรียนที่ดี แต่บางครั้งความเป็นจริงแล้วเด็กๆ อาจจะมีความต้องการที่จะเรียนรู้อะไรที่นอกเหนือจากห้องเรียนกลับกลายเป็นว่าทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของกระแสสังคม หรือบางครั้งกระแสสังคมนอกจากกดทับไปที่ตัวเด็กแล้วยังกดทับไปที่โรงเรียนอีกด้วย ครูบางคนมีความต้องการที่จะให้เด็กไปเรียนรู้นอกห้องเรียนในภาคปฏิบัติแต่กลับถูกกระแสสังคมต่อว่า ซึ่งมันเป็นความเข้าใจของคนในสังคมที่คลาดเคลื่อนต่อระบบการศึกษาของประเทศเราที่ถูกฝังค่านิยมในลักษณะนี้มานาน 

ระบบการศึกษาของประเทศเรามันผิดพลาด นิยามความหมายของคำว่าการศึกษาในลักษณะที่แคบมากๆ ว่าความหมายของการศึกษาคือการเรียนในห้องและการเรียนหนังสือ ซึ่งมันเป็นความเข้าใจที่ผิด สิ่งนั้นมันไม่ใช่การศึกษา การศึกษาที่แท้จริงมันต้องทำให้ชีวิตมีคุณภาพ เกิดการเรียนรู้ทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ สามารถที่จะอยู่รอดในสังคม ช่วยเหลือตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งของสังคม 

 

กระบวนการปฏิรูปการศึกษาในมือของประชาชน มันจะมีการก่อร่างทางโครงสร้างหรือมีรูปแบบอย่างไร?

ถ้าการศึกษาจะเปลี่ยน อย่างน้อยในขณะนี้น่าจะมีความเป็นไปได้อยู่ทั้งหมด 3 เรื่อง คือ 

อย่างแรก ต้องการเห็นโรงเรียนที่มีความเป็นนิติบุคคลมากขึ้น หมายถึง คณะกรรมการสถานศึกษาที่มาจากชุมชนและท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย กำหนดหลักสูตรและบุคลากร ทำให้กระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชนมีมากขึ้น เมื่อเป็นนิติบุคคล การออกแบบจะเป็นรูปแบบในการทำร่วมกับชุมชน กรรมการสถานศึกษาและเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น 

ในขณะนี้โรงเรียนถูกโยงมาเป็นศูนย์กลางมาก โดย สพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) และเขตพื้นที่การศึกษาเข้ามาควบคุมให้อยู่ในกรอบค่อนข้างมากมันจึงไม่มีการพัฒนา เพราะฉะนั้นจึงต้องการเห็นโรงเรียนเป็นพื้นที่ในการฝึกฝน

อย่างที่สอง ภาคีภาคสังคม ซึ่งอันที่จริงในกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ให้สิทธิตามมาตรา 12 คือ ทั้งบุคคลผู้ปกครอง สถาบัน ศาสนา สถานประกอบการ องค์ชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ และสถาบันทางสังคมต่างๆ มีสิทธิในการจัดการศึกษาได้ แต่ในขณะนี้ถูกปิดกั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องปลดเปลื้องให้เกิดกระบวนการสนับสนุนที่สามารถทำให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้เกิดการผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ

อย่างที่สาม ภาคีการจัดการศึกษาในจังหวัด ซึ่งจะช่วยในเรื่องความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในจังหวัด ทั้งในด้านกระบวนการศึกษา ในด้านผู้ปกครอง ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งภาคเกษตรกรรม ทุกกลุ่มที่อยู่ในจังหวัดสามารถเข้ามาช่วยกันดูแล 

ที่ผ่านมาระบบการศึกษาก่อนวัยเรียนขึ้นตรงอยู่กับองค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนในด้านประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาจะขึ้นตรงอยู่กับ สพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) หรือจะเป็นอาชีวะ กศน.(สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) การศึกษาของพระสายปริยัติ นาฏศิลป์ของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาอยู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเห็นได้ว่ามันแตกแขนงกันออกไป แต่หน่วยงานทั้งหมดไม่เคยเข้ามาร่วมคุยกันหรือมีการมองภาพรวมในแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นในจังหวัดจะมีความเหมาะสมในการมอง

ยกตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ เราทราบข้อมูลในขณะนี้มาว่ามีเด็กอยู่ทั้งหมดประมาณ 340,000 คน แบ่งแยกเป็นเด็กในแต่ละช่วงชั้นเป็นจำนวนเท่าใด การทราบข้อมูลทั้งหมดทำให้เราสามารถกำหนดเป้าหมายได้ถึงความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ เช่น ต้องการเห็นอัตลักษณ์และความเป็นพลเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมปัจจุบันและมีความเท่าทันโลก หรือต้องการให้เกิดสัมมาชีพและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ 

นี่คือ 3 เรื่องที่ทุกคนพร้อมใจกันขับเคลื่อนให้ไปถึงจุดหมายหนึ่ง

 

มองการปฏิรูปการศึกษาในภาพใหญ่มันสอดคล้องอย่างไรกับการปฏิรูปการศึกษาในแบบของเรา? 

ขณะนี้รัฐพยายามจะกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา แต่ยังขาดความมั่นใจจากประชาชนโดยส่วนมาก เพราะอย่างแรกโดยโครงสร้างซึ่งรวมศูนย์และมีความแข็งตัวมากๆ อย่างที่สองคืองบประมาณที่สูงมาก มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ 

เราไม่ได้มีความคาดหวังสูงกับเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา แต่ว่าต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่ามันจะเกิดจากภาคสังคมหรือจากภายนอกมากกว่าเกิดจากรัฐ แต่เข้าใจและให้กำลังใจคนในที่พยายามทำในเรื่องที่ค่อนข้างยากมากขนาดนี้ เราก็พยายามสร้างพลังจากภาคสังคมจากข้างนอกร่วมกันขับเคลื่อน และเชื่อว่าในที่สุดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น 

 

ปัจจุบันมีกฎหมาย มีการออกมาตรการต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหากับการมีส่วนร่วม การขับเคลื่อนภาคของประชาสังคม มองตรงนี้อย่างไร?

คิดว่าการขับเคลื่อนก็ยังคงมีความจำเป็นเพราะเรายังมองเห็นปัญหาอยู่ ถึงแม้สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้อยู่ในช่วงที่มีการกระชับอำนาจ อย่างไรก็ตามยังคงต้องเคลื่อนไหวอยู่ เพราะเป็นปัญหาที่ใหญ่ มันเป็นเพียงแค่ช่วงสถานการณ์หนึ่ง อาจอยู่ในช่วงของการเตรียมการ เชื่อมโยงพลัง สะสมองค์ความรู้ 

เมื่อช่วงสถานการณ์นี้ผ่านไป เช่น มีการเลือกตั้ง สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เราต้องขับเคลื่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น และปฏิบัติการ 

 

การกระชับอำนาจ มีผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษา? 

โดยภาพรวมสถานการณ์ของการกระชับอำนาจไม่เอื้ออำนวย เพราะข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมทั้งหมดคือการกระจายอำนาจ เราจะต้องให้ภาคประชาสังคมเข้าใจตรงนี้ก่อน ต้องการเสนอให้ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาก่อน และทำความเข้าใจเรื่องสิทธิหรืออำนาจของตนเองที่อยู่ภายในก่อน เราทำงานร่วมกันในโครงข่ายกัลยาณมิตรของภาคีที่จะร่วมมือกันทำงาน ซึ่งในส่วนของภาครัฐเราคงยังไม่หวังในตอนนี้ หากภาคประชาสังคมแข็งแรงขึ้น เชื่อว่ารัฐต้องเปลี่ยน 

กระบวนการที่ทำอยู่ในตอนนี้เป็นอย่างไร?
 
เป็นการเชื่อมร้อย สร้างความมั่นใจ และสร้างความตระหนักที่อยู่ภายใน เพราะบางครั้งเราไปเรียกร้องแค่ในเรื่องของการกระจายอำนาจ แต่เราไม่ตระหนักถึงสิทธิและอำนาจของประชาชนที่มีอยู่โดยธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้นเราอยากเห็นการงอกงามและเติบโตของเรื่องสิทธิและอำนาจของภาคประชาชน ที่จะมีสิทธิในการจัดการศึกษาและมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองก่อน ในขณะเดียวกันก็เกิดการเจรจาต่อรองและเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ด้วยยุทธวิธีหรือกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งคงจะต้องรอดูกันต่อไป 

 

บางประเด็นหรือข้อเสนอมันถูกผลักดันได้ง่ายในยุคสมัยของการรวบอำนาจที่เด็ดขาด อย่างการปฏิรูปการศึกษามันจะสามารถเป็นอย่างนั้นได้ไหม?

วิธีแบบที่เรารวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ โดยที่ภาคประชาสังคมไม่ทำอะไรเลยนั้นน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า หมายความว่า เราปฏิบัติการทันทีในสิ่งที่เราต้องการเห็น ควรที่จะต้องทำก่อน ไม่ใช่ว่านิ่งเฉยต่อการเรียกร้องการกระจายอำนาจ และเมื่อมีการกระจายอำนาจเกิดขึ้นเบ็ดเสร็จแล้วเราค่อยกระทำ มันไม่ใช่กระบวนการ เพราะฉะนั้นการเติบโตของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมันต้องไปพร้อมๆ กัน มันคือการเติบโตของพลังที่อยู่ในภาคประชาสังคมและภาคประชาชน เพราะฉะนั้นการเรียกร้องการกระจายอำนาจมันจึงจะสามารถเป็นไปได้ 

ถ้าไม่ทำอะไรเลย ไม่เชื่อมั่นในสิทธิและอำนาจของตนเอง การไปเรียกร้องกระจายอำนาจก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร… 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ