คุก ‘ทหาร’ คดีปิดล้อมชุมชนขนแร่ ได้ประกันตัวสู้คดีต่อ – องค์กรปกป้องสิทธิร้องเอาโทษ ‘คนผิดทั้งหมด’

คุก ‘ทหาร’ คดีปิดล้อมชุมชนขนแร่ ได้ประกันตัวสู้คดีต่อ – องค์กรปกป้องสิทธิร้องเอาโทษ ‘คนผิดทั้งหมด’

20160106023212.jpg

31 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 09.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ราว 150 คน เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเลยเพื่อร่วมฟังคำพิพากษาคดีความของชุมชน 2 คดี โดยมีองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือนักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และโพรเท็กชัน อินเตอร์เนชันแนล เข้าร่วมรับฟังและสังเกตการณ์คดี ขณะที่บริเวณศาลมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังดูแลความปลอดภัยอย่างหนาแน่น

20160106023315.jpg

คดีที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ อ.2991/2558 หมายเลขแดง อ.3992/2559 ที่บริษัททุ่งคำ จำกัด ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง และนายกองลัย ภักมี ผู้ใหญ่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 เป็นจำเลย ในข้อหาเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการก่อสร้างซุ้มประตูและติดป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องเพราะคดีไม่มีมูล แต่ทางโจทก์อุทธรณ์

ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือยกฟ้อง

คดีที่ 2 คดีความของชาวบ้านจากเหตุการณ์ปิดล้อมชุมชนเพื่อขนแร่ เมื่อวันที่ 15พ.ค.2557 คดีหมายเลขดำที่ อ.5440/2557 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กับพวกรวม 9 คน เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง พันโทปรมินทร์ ป้อมนาค และพลโทปรเมษฐ์ ป้อมนาค เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในความผิดอาญา ข้อหาทำร้ายร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยว ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (คลิกอ่าน: กลุ่มชายฉกรรจ์นับ 100 เข้าจับชาวบ้านวังสะพุง พร้อมขนแร่ทองคำยามวิกาล)

ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 พันโทปรมินทร์ 2 ปี 12 เดือน และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 พลโทปรเมษฐ์ 1 ปี 12 เดือน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ชาวบ้านที่เป็นโจกท์ร่วม 9 คน เป็นเงินตั้งแต่ 2,600 – 25,000 บาท

20160106023233.jpg

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ในคดีนี้ศาลเห็นว่า พันโทปรมินทร์ จำเลยที่ 1 และพลโทปรเมษฐ์ จำเลยที่ 2 มีความผิดจริงในข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ปิดล้อมทำร้ายชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย โดยเป็นตัวการและผู้ใช้ให้กลุ่มชายฉกรรจ์อย่างน้อย 100 คน เข้าปิดล้อมหมู่บ้านนาหนองบง ทำร้ายและจับชาวบ้านจำนวนหนึ่งเป็นตัวประกัน ในระหว่างที่รถบรรทุกขนแร่ออกจากเหมืองและหมู่บ้าน

ทั้งสองถูกพิพากษาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรารวมทั้งการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวให้เสื่อมเสียเสรีภาพโดยมีอาวุธและร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี โดยให้จำคุก 2 ปี แต่จำเลยที่ 2 คือ พลโทปรเมษฐ์ ให้การเป็นประโยชน์ในทางคดี จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะ ลงโทษจำคุก 12 เดือน

ส.รัตนมณี กล่าวว่าคดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัว คาดว่าจะมีการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ในส่วนของชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ร่วมอาจมีการอุทธรณ์ใน 2 ประเด็นคือ เรื่องค่าเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว และกรณีอัตราโทษ

“คดีนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สามารถพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดได้ ถือว่าความยุติธรรมยังมีแต่ไม่ครบถ้วน” ส.รัตนมณี กล่าวและว่า คดีนี้มีผู้ก่อเหตุกว่า 100 คน ซึ่งควรถูกดำเนินคดีความกระบวนการยุติธรรมด้วย รวมทั้งผู้ได้รับประโยชน์ ผู้ให้การสนับสนุนก็ควรถูกดำเนินคดีด้วย

ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวด้วยว่า คดีนี้ศาลกล่าวว่าการกระทำของเหตุการณ์นี้เป็นไปเพื่อให้ได้ขนแร่ เมื่อเกิดการขัดขวางโดยชาวบ้านจึงมีการใช้กำลังและเกิดการปะ แต่คดีนี้โยงได้ถึงเพียงแค่การขนแร่ แต่ขนแร่ให้ใครยังไม่ชัดเจน เนื่องจากในการสืบพยานซึ่งเป็นตัวแทนบริษัททุ่งคำได้ขึ้นเบิกความว่า ได้ขายแร่ให้กับบริษัทอีกแห่งหนึ่งและได้ดำเนินทำการเพียงขออนุญาตส่วนเรื่องวิธีการขนแร่นั้นทางบริษัทไม่รู้เรื่อง และในคดีไม่ได้มีการเบิกความบริษัทที่ถูกพาดพิงถึง

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ ส.รัตนมณี กล่าวว่า ชาวบ้านแจ้งข้อมูลว่าก่อนหน้าวันพิพากษาได้มีคนแปลกหน้าใช้รถจักรยานยนต์และรถกะบะขับเข้ามาในหมู่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ถือว่าสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ได้น่าวางใจ 

สำหรับในเรื่องคดีความของชาวบ้านก็ยังมีคดีที่ต้องจับตาคือ คดีของนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง 2 คดี คดีแรกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับกรณีการไม่บรรจุวาระการขอใช้พื้นที่ป่าไม้เข้าที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวง นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค.2559 

และคดีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้อง ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับกรณีการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และถอนการขออนุญาตใช้พื้นที่ สปก.ของบริษัทฯ ออกจากวาระการประชุมสภา นัดฟังคำสั่งว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 29 มิ.ย. 2559 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลมีคำพิพากษา องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และโพรเท็กชัน อินเตอร์เนชันแนล ร่วมเผยแพร่แถลงการณ์ “ประเทศไทย:เพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดเลยที่ถูกปิดล้อมโจมตีจะได้รับความยุติธรรมอย่างเต็มที่ และผู้กระทำผิดทั้งหมดต้องถูกลงโทษ”

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยควรสืบสวนสอบสวนคดีเพิ่มเติมอย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ต้องนำตัวผู้กระทำผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบ และประกันว่าชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล และให้การรับรองว่าผลกระทบด้านลบที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลยจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้แถลงการณ์มีราบละเอียด ดังนี้

20160106024231.jpg

ประเทศไทย:เพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดเลยที่ถูกปิดล้อมโจมตีจะได้รับความยุติธรรมอย่างเต็มที่ และ ผู้กระทำผิดทั้งหมดต้องถูกลงโทษ

ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยสองคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการปิดล้อมโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดเลยมีความผิดตามฟ้อง

(Loei, กรุงเทพมหานคร วันที่ 31 พฤษภาคม 2559) วันนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และ โพรเท็กชัน อินเตอร์เนชันแนล แสดงความยินดีต่อกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่มีกองกำลังชายฉกรรจ์ติดอาวุธปิดบังใบหน้าเข้าปิดล้อมและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชาวบ้านในหมู่บ้านนาหนองบง จังหวัดเลย พวกเราองค์กรต่างๆ ดังมีรายนามข้างต้นขอเรียกร้องให้ประเทศไทยยึดมั่นต่อพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

วันนี้ ศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษาว่า พันโท ปรมินทร์ ป้อมนาค และ พลโท ปรเมษฐ์ ป้อมนาค มีความผิดจริงในข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ปิดล้อมทำร้ายชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557

พันโท ปรมินทร์ ป้อมนาค และ พลโท ปรเมษฐ์ ป้อมนาค เป็นผู้ต้องหาเพียงสองคนที่ถูกดำเนินคดีและพิพากษาว่ามีความผิดจากการเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยเป็นตัวการและผู้ใช้ให้กลุ่มชายฉกรรจ์ไม่ทราบฝ่ายอย่างน้อย 100 คน บางคนสวมหน้ากากสีดำพร้อมอาวุธท่อนไม้ มีด และปืน เข้าปิดล้อมหมู่บ้านนาหนองบง และทำร้ายและจับชาวบ้านจำนวนหนึ่งเป็นตัวประกัน กลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายนี้บังคับให้ชาวบ้านนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น มัดมือชาวบ้านไพล่หลังไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมงในระหว่างที่รถบรรทุกขนแร่ออกจากเหมืองและหมู่บ้าน

“พวกเรายินดีกับคำพิพากษาของศาลในวันนี้ แต่มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยยังล้มเหลวที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดทุกคนมารับผิดชอบในกรณีดังกล่าว” กล่าวโดย ปรานม สมวงศ์ ผู้แทนองค์กรโพรเท็กชัน อินเตอร์เนชันแนล “พวกเราไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ทุ่มเททรัพยากรอย่างเพียงพอในระหว่างการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์โจมตีดังกล่าว การที่ผู้กระทำความผิดจำนวนมากยังลอยนวลพ้นผิด และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานภายใต้ความเสี่ยงในประเทศไทย”

พันโท ปรมินทร์ ป้อมนาค และ พลโท ปรเมษฐ์ ป้อมนาค ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา และพระราชบัญญัติอาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งรวมถึง ข้อกล่าวหาเรื่อง การทำร้ายร่างกาย การกักขังหน่วงเหนี่ยวให้เสื่อมเสียเสรีภาพ และการยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
โดยศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 พันโท ปรมินทร์ ป้อมนาค 2 ปี 12 เดือน และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 พลโท ปรเมษฐ์ ป้อมนาค  1 ปี 12 เดือน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ชาวบ้านที่เป็นโจกท์ร่วม 9 คน เป็นเงินตั้งแต่ 2,600 – 25,000 บาท

ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คือ สมาชิกของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อเรียกร้องให้ปิดเหมืองแร่ทองคำและฟื้นฟูผลกระทบทางด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของเหมือง

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ให้สัมภาษณ์กับองค์กรฟอร์ติไฟย์ ไรท์ว่า “ชายคนหนึ่งในกลุ่มที่สวมหน้ากากชี้มาทางผม แล้วพูดว่า คนนั้นไงแกนนำ หลังจากนั้นคนอื่นๆ ก็เข้ามารุมจับตัวผมไว้ ผมถูกใส่กุญแจมือและถูกทำร้าย” “ผู้ชายคนหนึ่งเอากุญแจรถมอเตอร์ไซด์ของผมไปจากนั้นอีกคนหนึ่งก็เข้ามาเตะผมเข้าที่ใบหน้า จนผมร่วงลงไปกองกับพื้น”

“ในประเทศไทย การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตนมักมีต้นทุนราคาแพง กล่าวโดย เอมี สมิธ ผู้อำนวยการ องค์กรฟอร์ติไฟย์ ไรท์ “นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้กล้าหาญทำงานเพื่อปกป้องผืนดินและอนาคตของพวกเขารู้ซึ้งถึงต้นทุนราคาแพงนี้เป็นอย่างดี”

ประมาณหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีเหตุการณ์ทำร้ายชาวบ้าน สมาชิกของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานรวมถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บัญชาการกองทัพบก และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อร้องเรียนให้สืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ข่มขู่และข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านรอบๆ เหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย

“คดีนี้เป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประเทศไทยต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะรับรองให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดสิทธิได้รับความยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐไทยมีพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และต้องสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง รวมถึงต้องนำตัวผู้กระทำความผิดทุกคนมารับผิดชอบ” กล่าวโดย ส.รัตมณี พลกล้า ผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

นอกจากนี้ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนให้คำปรึกษาและเป็นผู้แทนทางกฎหมายให้กับชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปิดล้อมโจมตี และสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทสืบเนื่องมาจากกิจกรรมการประท้วงคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ นับตั้งแต่ปี 2550 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ได้ฟ้องร้องคดีความแพ่งและความอาญา จำนวน 19 คดี ต่อสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านอื่นๆ จำนวน 33 คน รวมถึงการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเยาวชนหญิงอายุ 15 ปี จากการฟ้องร้องคดีความเหล่านี้ บริษัทได้เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 320 ล้านบาท และนับจนถึงวันนี้มีคดีความยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 8 คดี เกี่ยวข้องกับชาวบ้านจำนวน 25 คน

บริษัทเหมืองแร่ยังฟ้องร้องคดีต่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นสองคน ได้แก่ นายสมัย ภักดิ์มี และนายกองลัย ภักมี ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการก่อสร้างซุ้มประตูและติดป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ ภายในเขตหมู่บ้านนาหนองบง

“พวกเราเป็นเพียงชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อม” สมาชิกของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ให้สัมภาษณ์กับองค์กรฟอร์ติไฟย์ ไรท์ “พวกเรามีแค่สิทฺธิอยู่ในมือ เราไม่มีอาวุธใดๆ เราต่อสู้ด้วยความสุจริตใช้สิทธิชุมชนเท่านั้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้ยืนยันคำมั่นสัญญาที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในวาระการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ครั้งที่ 2 โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ซึ่งประเทศไทยยอมรับข้อเสนอแนะจากหกประเทศสมาชิกที่ให้สืบสวนสอบสวนรายงานว่ามีการข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงประกันให้มีการนำตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบ

ประเทศไทยควรสืบสวนสอบสวนคดีเพิ่มเติมอย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ต้องนำตัวผู้กระทำผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบ และประกันว่าชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล และให้การรับรองว่าผลกระทบด้านลบที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลยจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที กล่าวโดยองค์กรที่ระบุข้างต้น

“เมื่อพวกเราต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรา พวกเรากลับโดนทำร้าย เมื่อพวกเราโดนทำร้าย พวกเราพยายามเรียกร้องความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรม วันนี้พวกเราได้เข้าใกล้ความยุติธรรมอีกหนึ่งก้าว” นางพรทิพย์ หงส์ชัย นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ และนางระนอง กองแสน สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บอกกับฟอร์ติไฟย์ ไรท์เมื่อเร็วๆ นี้ “และพวกเราก็จะสู้ต่อ พวกเราถอยไม่ได้ พวกเราจะไม่ยอมแพ้เพราะที่นี่ คือ บ้าน ของพวกเรา”

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 
องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 
องค์กรโพรเท็กชัน อินเตอร์เนชันแนล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ลุ้นพิพากษา ‘1 วัน 2 คดี’ เหมืองทองฟ้องผู้นำชุมชน-คดีปิดล้อมชุมชนขนแร่ https://thecitizen.plus/node/8955

เลื่อนอ่านคำพิพากษา ‘คดีปิดล้อมชุมชนขนแร่’ ไป 31 พ.ค.นี้ ฟังผลพร้อม ‘คดีฟ้องอาญากรณีชาวบ้านทำซุ้มประตู’ https://thecitizen.plus/node/8757

ฅนรักษ์บ้านเกิดจัดงาน ‘2 ปี วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ’ คืบหน้าคดีฟังพิพากษา 2 นายทหาร 16 พ.ค.นี้ https://thecitizen.plus/node/8750

[คลิป] กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรำลึก 1 ปี วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ วันที่ทรัพยากรถูกปล้นชิงไปจากแผ่นดิน https://thecitizen.plus/node/5420

รำลึกเหตุการณ์ “ครบรอบ 1 ปี 15 พฤษภา วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ” https://thecitizen.plus/node/5381

กลุ่มชายฉกรรจ์นับ 100 เข้าจับชาวบ้านวังสะพุง พร้อมขนแร่ทองคำยามวิกาล https://thecitizen.plus/node/4066

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ