จากราชินีหมอลำซิ่งสู่ศิลปินแห่งชาติ: แม่ครูราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร

จากราชินีหมอลำซิ่งสู่ศิลปินแห่งชาติ: แม่ครูราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร

ปีพ.ศ. 2566 เป็นปีที่กระแสลมของการเปลี่ยนแปลงได้เปลี่ยนทิศทางมาถึงจังหวัดขอนแก่น เป็นลมที่พัดตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำประยุกต์) ประจำปีพ.ศ. 2565 มาสู่แม่ครูราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ซึ่งเป็นหมอลำจากจังหวัดขอนแก่นท่านแรกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติอันสูงสุดนี้ ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงที่เคยมอบให้กับหมอลำพ่อครูแม่ครูท่านอื่น ๆ ก่อนหน้านี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นหมอลำกลอนแบบดั้งเดิมที่มีเพียงการร้องบทกลอนและบรรเลงประกอบด้วยแคนเท่านั้น การได้รับการเชิดชูเกียรติของแม่ราตรีศรีวิไลซึ่งเป็นผู้บุกเบิกหมอลำกลอนประยุกต์หรือหมอลำซิ่งที่ผสมผสานเครื่องดนตรีสากลอื่น ๆ ไว้ในวงและมีแนวทางการแสดงที่แตกต่างไปจากหมอลำกลอนในอดีต จึงแสดงถึงการยอมรับแนวทางหมอลำประยุกต์นี้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศ

แม่ครูราตรีศรีวิไลหรือที่ทุกคนเรียกสั้น ๆ ว่า “แม่ราตรี” เกิดที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคามในครอบครัวของศิลปินหมอลำโดยมีคุณพ่อเสริม นาห้วยทรายและคุณแม่หมุน นาห้วยทรายเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการร้องหมอลำและการเขียนกลอนให้ แม่ราตรีซึมซับวิถีชีวิตของหมอลำและเกษตรกรของชาวอีสานมาตั้งแต่จำความได้ “จำได้ว่ามีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับพ่อและแม่เพื่อจะหัดร้องหมอลำโดยจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นแรงงานในการช่วยทำนา ชีวิตในวัยเด็กแม่ราตรีจึงนอกจากจะต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่ ทำนาแล้วในเวลาว่างก็ต้องหัดร้องหมอลำพร้อมกับพี่น้องและลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของพ่อและแม่ที่มาขอเรียนด้วยในเวลานั้น” นอกจากจะเรียนรู้วิธีการร้องหมอลำจากคุณพ่อคุณแม่ แม่ราตรียังมีพี่ ๆ ที่เป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือหมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรืองพี่ชายคนโตและหมอลำมณีรัตน์ แก้วเสด็จพี่สาวคอยช่วยสอนขัดเกลา (แม่ราตรีเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน เป็นหมอลำอาชีพ 5 คนและรับราชการ 2 คน) 

แม่ราตรีเริ่มออกแสดงหมอลำเป็นครั้งแรกพร้อมกับคณะหมอลำของพ่อและแม่เมื่อปีพ.ศ. 2509 ขณะนั้นมีอายุได้เพียง 14 ปี และได้สั่งสมประสบการณ์การแสดงหมอลำกลอนมาโดยตลอด จนกระทั่งประมาณปีพ.ศ. 2527-2528 ดนตรีหมอลำซบเซาลง และเป็นที่น่าสังเกตว่าดนตรีหมอลำสู้อิทธิพลดนตรีอย่างอื่นไม่ได้ “คนอีสานในสมัยนั้นจำนวนมากย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองหลวงหรือต่างประเทศและนิยมส่งลูกหลานเรียนหนังสือในระดับสูงมากขึ้น ส่วนคนเฒ่าคนแก่ที่เคยนิยมฟังหมอลำกลอนแบบดั้งเดิมก็มีจำนวนน้อยลง ทำให้คนอีสานในสมัยนั้นมีความต้องการดนตรีที่มีความทันสมัยมากขึ้น ลูกหลานที่เคยไปทำงานหรือเรียนหนังสือก็จะกลับบ้านเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรืองานบุญต่าง ๆ เช่น งานกฐินช่วงออกพรรษา ซึ่งก็มักจะมีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับลูกหลาน มีงานเลี้ยงสังสรรค์ตามโอกาส ซึ่งเจ้าภาพในการจ้างหมอลำไปแสดงก็คือลูกหลานเหล่านี้นั่นเอง มันเป็นยุคของคนหนุ่มสาว” ทำให้เห็นว่าการจ้างงานหมอลำมีจำนวนน้อยลง กลุ่มคนฟังก็น้อยลง จำนวนคนที่จะมาเรียนเพื่อเป็นหมอลำก็ลดลง

การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของหมอลำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน อิทธิพลทางดนตรีที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยเป็นอย่างมากช่วงเวลานั้นคือ “ดิสโก้” จากเดิมที่เคยอยู่แต่ตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ต่อมาก็ได้ขยับขยายแผ่อิทธิพลตามงานต่าง ๆ เช่น งานบุญ งานวัด “ในยุคนั้นเจ้าภาพก็นิยมจ้างการแสดงที่มีความอลังการ มีแสงสี มีแดนเซอร์ ถ้างานไหนไม่มีดิสโก้ งานนั้นคนจะมาน้อย เพราะคนที่จ้างงานคือคนหนุ่มคนสาวและก็มักจะพาเพื่อน ๆ มาเที่ยว หมอลำกลอน หมอลำเพลินยุคเก่า ๆ ก็ซบเซาลงจะอยู่ได้ก็เฉพาะหมอลำที่เก่งและมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด เจ้าภาพถึงจะยอมรับ”

            ความเครียดและความรู้สึกท้อใจอันเกิดจากงานและรายได้ที่ลดลงทำให้แม่ราตรีมีความคิดที่จะประยุกต์หมอลำจากดนตรีประกอบโดยนำเอาพิณเข้ามาผสมจากเดิมที่มีแค่แคนเพียงดวงเดียว ความคิดนี้เกิดขึ้นเพราะบังเอิญว่ามีลูกศิษย์ที่มาเรียนลำกับแม่ราตรีมีความสามารถในการเล่นพิณ หลังจากนั้นก็ทดลองเอาเครื่องดนตรีอื่นที่มันง่าย เช่น ฉาบ ฉิ่ง กลองโทนมาผสม และก็เริ่มเห็นว่ามีคนเริ่มสนใจ มีกลุ่มคนฟังที่เป็นคนหนุ่มสาวมากขึ้นเพราะดนตรีมีสีสันต่างจากเดิม มีจำนวนคนฟังเป็นคนเฒ่าคนแก่และคนหนุ่มสาวพอ ๆ กัน แม่ราตรีเรียกหมอลำชนิดใหม่นี้ว่า “หมอลำกลอนประยุกต์” ในยุคนั้นคำว่า “ซิ่ง” (มาจากคำว่า “เรซซิ่ง” (Racing) ในภาษาอังกฤษที่ใช้กับการแข่งขันด้านความเร็ว เช่น การแข่งรถหรือมอเตอร์ไซค์) ได้ถูกผู้ฟังนำมาใช้เรียกหมอลำกลอนประยุกต์ของแม่ราตรีที่มีจังหวะที่รวดเร็วสนุกสนานและได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนสนใจมาเรียนกับแม่ราตรีที่เปิดบ้านเป็นสำนักงานหมอลำและโรงเรียนสอนหมอลำมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงหลักสิบคนเป็นปีละหลายร้อยคน เพราะเมื่อมาเรียนแล้วมีงานทำทันที คนที่เสียงดีหรือร้องเก่งแล้วก็ได้ออกแสดงตามงานต่าง ๆ ส่วนคนที่เพิ่งมาหัดเรียนลำที่ยังร้องได้ไม่ดีนักก็ให้เป็นตำแหน่งหางเครื่องเพื่อให้สามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ในบางวันสำนักงานหมอลำของแม่ราตรีได้รับการติดต่อให้ส่งคณะหมอลำไปแสดงพร้อมกันถึง 15 คณะ แต่ละคณะจะมีหมอลำ 2 คน หางเครื่อง 4 คน และนักดนตรีอีกหลายคน เมื่อความนิยมในหมอลำซิ่งมากขึ้นทำให้เจ้าภาพยินดีที่จะจ้างในอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น จึงเพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปในวงตามแบบวงดนตรีประเภทอื่น ๆ ให้สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับดนตรีป๊อปและดนตรีลูกทุ่งที่มีทั้งคีย์บอร์ด กีตาร์ไฟฟ้า เบส กลองชุดและเครื่องเป่า

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวิถีดั้งเดิมของหมอลำนี้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากวงการหมอลำ แต่คุณแม่ราตรีศรีวิไลก็ไม่ได้โต้ตอบใด ๆ เพียงแต่นำสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาพิจารณา “สิ่งใดที่ดีก็นำมาใช้ปรับปรุง สิ่งที่ไม่ดีก็ทิ้งมันไป ต้องรู้จักอดทนอดกลั้นกับคำพูดต่าง ๆ ​เราก็เข้าใจเค้าว่าต้องการอนุรักษ์ไม่ให้หมอลำสูญหายแต่ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนอะไรหมอลำก็จะสูญหายไปจริง ๆ เราทวนกระแสไม่ได้หรอก ต้องทำอะไรสักอย่างเพียงแต่อย่าลืมรากเหง้าตัวเอง”

ในอดีต ภาพลักษณ์ของหมอลำคือเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการศึกษาและขาดโอกาสทางสังคม เป็นอาชีพที่ถูกเรียกว่า “เต้นกินรำกิน” เสียงดูถูกนี้เป็นแรงผลักดันที่แม่ราตรีบอกกับตัวเองว่าต้องทำให้ตนเองประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในอาชีพหมอลำให้ได้ แม่ราตรีเริ่มออกแสดงครั้งแรกตั้งแต่หลังจากจบประถมศึกษาปีที่ 4 และไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือต่อ จนกระทั่งอีกเกือบ 20 ปีต่อมาเมื่อมีโอกาสจึงกลับไปเรียนต่อในภาคการศึกษานอกระบบ (กศน.) จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และได้ชวนลูกศิษย์จำนวนหนึ่งเรียนไปพร้อม ๆ กัน “อยากให้ลูกศิษย์ที่เราสอนหมอลำมาเรียนด้วย จะได้มีความรู้ มันจะค่อย ๆ สิ้นคำดูถูกเราไปถ้าเราเรียน” ต่อมาแม่ราตรีได้เรียนต่อการศึกษาผู้ใหญ่ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 “ลูกศิษย์ที่มาเรียนหมอลำกับแม่จบกศน. 400-500 คน แต่พอในระดับปริญญาตรีหลายคนไม่เรียนต่อเพราะต้องทำงาน พ่อแม่ลูกศิษย์หลายคนมาบอกแม่ว่าอยากให้ลูกเรียนสูง ๆ แต่ไม่มีกำลังส่งให้เรียนต่อก็มาขอให้แม่ออกค่าเทอมให้ก่อน ลำได้มาค่อยหักเอา เราก็อยากให้เค้าได้โอกาสเหมือนเรา ลูกศิษย์ส่วนมากที่มาเรียนกับเราก็เป็นลูกคนยากคนจน เค้าอาจจะไม่มีเงินก้อนไปจ่ายค่าเทอมแต่เค้าออกไปร้องหมอลำออกงานบ่อย ๆ ได้เงินมาก็มาแบ่งจ่ายคืนเราทีละ 400 500 บาท เราก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะเราไว้ใจกัน เราสอนเค้ามา เค้าคือลูกเรา” แม่ราตรีช่วยลูกศิษย์ให้จบปริญญาตรีได้เกือบ 20 คน ส่วนแม่ราตรีเองเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจนสำเร็จการศึกษาเป็น “หมอลำดอกเตอร์”    

            แม่ครูราตรีศรีวิไลได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติมาทุกปีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการผู้พิจารณารางวัลมุ่งเน้นที่จะอนุรักษ์หมอลำที่มีแบบแผนทำนองแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนไว้มากกว่าทำนองลำประยุกต์ของแม่ราตรีซึ่งเป็นทำนองที่ผสมผสานทำนองลำหลายทำนองของหลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสานไว้ด้วยกัน แต่ถึงแม้จะพลาดรางวัล แม่ครูราตรีก็มุ่งหน้าพัฒนาหมอลำกลอนประยุกต์อย่างต่อเนื่องและใช้หมอลำกลอนประยุกต์ทำประโยชน์ให้กับสังคมในด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การใช้หมอลำกลอนประยุกต์ในการรณรงค์สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างมากขึ้น จนกระทั่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพ.ศ. 2565 ในที่สุด “แม่ดีใจและภูมิใจมากในสิ่งที่เราทำมาตลอดและที่สังคมเห็นคุณค่าของหมอลำกลอนประยุกต์ และดีใจที่มีส่วนทำให้ชีวิตลูกศิษย์ลูกหามีอาชีพจากที่เคยมีฐานะยากจน ปัจจุบันมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดชีวิต ความเหนื่อยยากลำบากมันส่งผลออกมาเท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”

            “สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าศิลปะวัฒนธรรม (หมอลำ) มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อคนอีสาน มันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณคนอีสาน ใครไม่รู้จักให้สังเกตตรงที่เวลาได้ยินเสียงแคนเราอยากลำ เราลำขึ้นมาคนฟังอยากฟ้อน ถ้าใครอยากเข้าใจจิตวิญญาณของคนอีสานให้เข้าใจศิลปะวัฒนธรรมควบคู่กันไป”

สัมภาษณ์/บทความ: ศักดิศรี วงศ์ธราดล ถ่ายภาพ: เกริกอิทธิ จันทวงศ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ