หมอลำ : เวทีชีวิต พิชิตฝัน

หมอลำ : เวทีชีวิต พิชิตฝัน

“กะหัวใจมันมักอาชีพนี้ ใฝ่ฝันอยากจะเป็นหมอลำมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ก็เลยเลือกมาทำงานนี้”

นี่เป็นคำตอบของแบงค์ จักรภัทร ประจักษ์ เด็กหนุ่มวัย 23 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ที่เล่าออกมาอย่างภาคภูมิใจ ถึงอาชีพที่เขาเลือกทำหลังเรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ได้มุ่งสู่การเป็นหมอลำเพื่อทำตามความฝันในวัยเด็ก จากที่ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน การฟังหมอลำบนแผ่นวีซีดีที่พ่อเปิดให้ฟังเป็นประจำ บรรยากาศแห่งความสุข ความสนุกที่ได้ดูหมอลำ ได้จุดประกายให้แบงค์อยากเป็นศิลปินที่ขึ้นไปอยู่บนเวทีการแสดง

ตะวันบ่ายคล้อยราวห้าโมงเย็น รถบัสของศิลปินหมอลำเข้าจอดเทียบเวทีหมอลำ ที่ทีมงานตั้งเวทีเดินทางมาตั้งไว้ก่อนหน้า เป็นสัญญาณแห่งความสุขของชุมชนในภาคอีสาน ที่จะมีหมอลำหมู่ หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนวงใหญ่มาทำการแสดง รถทีมงานหมอลำไม่ต่ำกว่าสิบคัน สมาชิกในวงกว่าสองร้อยคน นี่เป็นมหรสพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนอีสานในสมัยนี้ ไม่ได้มีบ่อย ๆ ในหนึ่งชุมชน และนี่ก็เป็นสัญญาณเริ่มการทำงานของหมอลำ ซึ่งวงอีสานนครศิลป์ที่แบงค์สังกัดอยู่ ก็ถือว่าเป็นหมอลำวงน้องใหม่ที่กำลังไปได้สวย

“แบงค์อยู่วงอีสานนครศิลป์เป็นปีที่สอง วงเพิ่งตั้งได้ปีนี้เป็นปีที่สอง อยู่พร้อมเขาตั้งวงเลย จุดเริ่มที่ได้เข้ามาคือผ่านการคัดเลือก และมีเพื่อน ๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่มาด้วยกันหลายคน เข้าโครงการอีสานนิวเจนมา เขามีการอบรม ให้ความรู้การลำ และคัดเลือกจนมาตั้งวงหมอลำ และออกงานมาเข้าปีที่สองครับ”

แบงค์เล่าจุดเริ่มต้นในวงการหมอลำ ที่เริ่มก้าวแรกมาพร้อมการก่อร่างสร้างตัวในวงที่ตั้งใหม่ และเมื่อถามถึงเส้นทางอาชีพในหนึ่งปีที่ผ่านมา แบงค์ก็หายใจเข้าเฮือกหนึ่ง ก่อนเผยเรื่องราวที่ต้องผ่านการพิสูจน์อย่างยากลำบาก เริ่มจากต้องผ่านด่านการคัดค้านของคนในครอบครัว ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกอาชีพนี้

“แบงค์อยู่บ้านกับตาและยาย แกเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ช่วงแรกแกไม่เห็นด้วยแต่ไม่ถึงกับขัดแย้ง ตั้งแต่ตอนจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย แบงค์ไปสมัครเรียนเกี่ยวกับการร้องหมอลำ ตาก็ถามสมัครเรียนอะไร แบงค์ก็บอกว่าเรียนลำ แกก็บอกว่าคิดได้แค่นี้เหรอ ด้วยความคิดของคนสมัยเก่าที่ยังมองหมอลำเป็นอาชีพที่เต้นกินลำกิน แบงค์เลยได้ไปเรียนการท่องเที่ยว สุดท้ายเรียนจบการท่องเที่ยวก็ได้มาเป็นหมอลำเหมือนเดิม”

เมื่อเล่าเส้นทางอาชีพหมอลำมาถึงปัจจุบัน ใบหน้าของแบงค์เริ่มมีรอยยิ้มอีกครั้งเพราะสามารถสร้างการยอมรับ กับครอบครัวได้แล้ว

“ตอนนี้ตากับยายก็ภูมิใจ เขาเห็นว่าแบงค์สามารถเลี้ยงตัวเองได้ สามารถมีเงินส่งให้ ดูแลแกได้ ก็รู้สึกดี ทุกวันนี้แกภูมิใจพูดให้เพื่อน ๆ ฟัง ว่าหลานเป็นหมอลำวงนี้ คอยให้กำลังใจเป็นห่วงเสมอครับ”

เมื่อด่านแรกที่เป็นคนในครอบครัวลงเอยด้วยดี แบงค์ก็เล่าต่อถึงอาชีพหมอลำ ในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง โดยเริ่มจากการเดินทางมาสถานที่ทำการแสดง ที่ต้องกินนอนบนรถบัส แวะเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน ซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อ หากมาถึงสถานที่เร็วก็จะได้นอนพัก เมื่อถึงช่วงห้าโมงเย็นจะตื่นขึ้นมาเตรียมของที่ถูกจัดเก็บใส่กล่องไว้อย่างดี ซึ่งจะจ้างทีมแดนซ์เซอร์ในวงยกลงจากรถบรรทุกของให้ แบงค์จะนำของใช้ออกจากกล่อง จัดเรียงเสื้อผ้าที่จะใส่แสดงไว้ให้เรียบร้อย เตรียมอุปกรณ์แต่งหน้าเข้าเตนท์ที่ถูกล้อมด้วยผ้าใบกลายเป็นห้องแต่งตัว เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม แบงค์จะดูเวลาหากยังไม่ค่ำมาก ก็จะพักผ่อนบนรถต่อ พอถึงช่วงหนึ่งทุ่ม ก็จะไปอาบน้ำบริเวณที่ลานแสดง ซึ่งต้องสุ่มว่าจะได้สถานที่เป็นแบบไหน เช่น ห้องน้ำวัด สระน้ำ หรือก๊อกน้ำในที่กลางแจ้ง นำไหลสะดวกบ้าง ไหลเบาบ้าง หรือน้ำไม่ไหลเลย ทีมงานกว่าสองร้อยชีวิตจะต้องลุ้น และจัดการกันเอง จากนั้นจะกินข้าวจากโรงครัวที่วงมีอาหารให้ฟรี หรือหรือซื้อจากร้านค้าที่มาขายใกล้เวทีแสดงก็ได้

หลังทำธุระส่วนตัวเสร็จเวลาประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง จะเป็นช่วงของการแต่งหน้าและทำผม ทั้งแดนซ์เซอร์ แสง สี เสียง นักดนตรี ตลอดจนหมอลำ จะต้องพร้อมทำการแสดงในเวลาสามทุ่ม หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากเป็นงานที่เจ้าภาพจ้างไปแสดงเก็บค่าบัตร ต้องขึ้น “เต้ย” เรียกคนดูให้รีบซื้อบัตร แบงค์จะได้ทำหน้าที่ร้องเพลงโชว์คอนเสิร์ตสองช่วง โชว์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ลำเรื่องต่อกลอน และปิดท้ายด้วยการเต้ยลาปิดท้ายการแสดง จะแสดงจนถึงฟ้าสว่างหรือแสดงเสร็จตีสองก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับผู้ว่าจ้าง โดยช่วงการแสดงจะสลับขึ้นลงเวทีตามสคริปที่ได้รับมอบหมาย ทำให้นักแสดงมีเวลาพักช่วงรอขึ้นแสดง

“ช่วงรอออกฉากแบงค์จะมาพัก บางครั้งก็หาของกินมานั่งกินรอ มีบะหมี่กินหลังเวที หรือบางวันเหนื่อยมาก ๆ ก็นอนพักรอ พอมีเวลาพักบ้างครับ ช่วงนี้พอปรับตัวได้แล้วก็ดีอยู่ครับ แต่ช่วงแรกยังปรับตัวไปไม่ได้ก็ลำบากครับ ถึงกับไม่สบายเพราะร่างกายมันปรับไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตกลางคืน คนรุ่นใหม่ที่มาป่วยกันหลายคน แต่ช่วงนี้ปรับตัวได้ถือว่าโอเคแล้วครับ”

ชีวิตการทำงานกลางคืนปรับตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาชีพหมอลำเป็นเส้นทางที่แบงค์มีความสุขมาขึ้นตามไปด้วย ได้ทำในสิ่งที่รักตามความฝัน ซึ่งถามถึงรายได้ก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะค่าจ้างแบงค์จะได้คืนละ 800 บาท ทางวงจะจ่ายเงินสดให้ทุกวัน ยังไม่รวมรายได้จากทริปที่ได้จากผู้ชมหน้าเวที ในหนึ่งวันอาจจะได้หลายร้อย ถึงหลักพันบาท ซึ่งถือว่าเลี้ยงปากท้องได้ และสามารถส่งให้ทางบ้านได้อีกด้วย

“แบงค์ว่ารายได้มันก็โอเคครับ ถือว่าอยู่ได้ มีกินมีใช้ ส่งให้ทางบ้านได้ด้วย ช่วงที่อายุเรายังน้อยมีเวลาเก็บ รีบหารีบเก็บเอาครับ เก็บเอามาเผื่อไว้ใช้ตอนที่ไม่มีงานลำ เพราะช่วงปิดฤดูกาลไม่มีงานจะไม่ได้เงิน ต้องจัดการเงินดี ๆ เผื่อตรงนั้นด้วยครับ”

ถือว่าน่าดีใจมากที่คนรุ่นใหม่ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมอีสานสามารถมีพื้นที่งานให้ทำตามความฝัน พร้อมเลี้ยงเลี้ยงปากท้องตัวเองได้ ยิ่งในยุคที่หมอลำกำลังเป็นกระแสนิยม การจ้างงานมีแทบทุกวัน หมอลำที่มีชื่อเสียงมีมาลัยให้กำลังใจหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทต่อคืน ยิ่งทำให้อาชีพนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อีกด้านของอาชีพนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องได้รับการหนุนเสริมให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับกลุ่มคนทำอาชีพอื่น ๆ ในเรื่องของการสร้างหลักประกันที่ยังไม่มีการรองรับในกลุ่มอาชีพศิลปิน

“แบงค์มองว่าอยากให้ดูแลเรื่องสุขภาพของกลุ่มศิลปินหมอร้องหมอลำ เพราะต้องเดินทางตลอดทำงานติดต่อกันทุกวัน พักผ่อนน้อย จะมีปัญหาเจ็บป่วยบ่อย ให้เขามาช่วยดูแลส่วนนี้ เพราะเจ็บป่วยก็ออกเอง รักษาเองทุกอย่าง อยากให้ดูแลให้ทุกอาชีพเท่าเทียมกัน”

กลุ่มศิลปินหมอลำส่วนใหญ่ยังไม่มีการสร้างสวัสดิการเหมือนคนทำงานอาชีพอื่น ๆ มีเพียงประกันสังคมแบบสมัครใจเท่านั้น ที่ต้องแบ่งรายได้มาจัดการทุกเดือน ซึ่งยังมีส่วนน้อยที่ทำประสังคม เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอให้บริหารจัดการ

ในส่วนของผู้บริหารวงอีสานนครศิลป์ คุณสุชาติ อินทร์พรม หรือเฮียหน่อย เล่าให้ฟังในประเด็นนี้ว่า วงหมอลำส่วนใหญ่ถูกพัฒนามาจากธุรกิจครอบครัว การจัดการจึงเป็นแบบกึ่งครอบครัวและบริษัท อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการจัดการ ตอนนี้หลายวงเริ่มซื้อประกันชีวิต หรือประกันในสมาชิก หากเจ็บป่วยก็สามารถลาแล้วนำใบรับรองแพทย์มาเบิกเงินได้ แต่การสมทบทำหลักประกันรูปแบบอื่น ยังไม่มีเงินพอที่จะไปจัดการส่วนนั้น เพราะวงหมอลำมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะวงอีสานนครศิลป์ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ราคาจ้างงานจึงไม่ได้สูง

“ราคาค่าจ้างเราประมาณสองแสนนิด ๆ คิดเพิ่มตามระยะทาง ซึ่งหมอลำหนึ่งวงต้องเดินทางย้ายสถานที่ทุกวัน ค่าใช้จ่ายหลักจึงเป็นค่าน้ำมัน ตั้งแต่สามหมื่นถึงแปดหมื่นบาทต่อวัน เวที เครื่องเสียง ไฟ อย่างละสองหมื่น แดนซ์เซอร์ ศิลปินก็รวมกันสองร้อยชีวิต ก็เกือบห้าหมื่นบาท รถใช้งานไปต้องซ่อมบำรุง ชุดขนนกต้องเติมเพิ่มตลอด บางงานเราไม่เหลืออะไร บางงานขาดทุน รายได้จะปริ่ม ๆ กับต้นทุน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีงบพอที่จะไปจัดการส่วนอื่น ขึ้นค่าจ้างก็ต้องคำนึงถึงคนจ้าง ผู้บริหารเราไม่ได้กำไรไม่เป็นไร เพราะผมมีธุรกิจอยู่แล้ว แต่อยากให้วงมีงานทุกวัน เขามีรายได้ทุกวัน”

สุชาติ อินทร์พรม ผู้บริหารวงอีสานนครศิลป์

ความพยายามในการจัดการเงินของตัวหมอลำ และความพยายามในการสร้างสวัสดิการของวงหมอลำเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้คนที่เข้าสู่วงการสายอาชีพนี้อยู่ได้ แต่หากจะให้ยั่งยืนและมั่นคงมากขึ้น การสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มองว่าศิลปะแขนงนี้เป็น Soft Power ที่สำคัญของชาติ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานสร้างสรรค์ความสุขเหล่านี้ มีกำลังสร้างสรรค์งานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ