หมอลำ แรงงานสร้างสรรค์ อาชีพที่ต้องสร้างความมั่นคง

หมอลำ แรงงานสร้างสรรค์ อาชีพที่ต้องสร้างความมั่นคง

กระแสหมอลำ ศิลปะการแสดงท้องถิ่นภาคอีสานที่มาแรง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้คนสนใจทั่วประเทศ จะเห็นว่าเทศกาลดนตรีระดับประเทศ ก็มีการแสดงของวงหมอลำบนเวทีด้วย มากไปกว่านั้น ในช่วงที่ Soft Power ถูกพูดถึง จนมีการส่งเสริมจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหมอลำก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกหยิบยกเป็นจุดขาย ต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจกิจได้ เพราะสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนทำอาชีพสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง ศิลปิน แดนซ์เซอร์ ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นแรงงานอีกกลุ่มที่ถูกพูดถึงน้อยในแง่ของการดูแล เพราะส่วนใหญ่จะเป็นอิสระ สวัสดิการหรือการดูแลส่วนใหญ่ต้องดูแลจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งนี่ถือเป็นแรงงานสร้างสรรค์ ที่เป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ Soft Power ถูกยกขึ้นมาเป็นหน้าตาเป็นตาของชาติ สภาพปัญหาที่แรงงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญเป็นอย่างไร แนวทางที่จะให้แรงงานสร้างสรรค์ได้อยู่รอดได้มีทางไหนบ้าง ผู้เขียนบทความมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตแรงงานสร้างสรรค์ จะมาให้คำตอบครับ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผู้เขียน : แรงงานสร้างสรรค์คือใคร สำคัญอย่างไรครับอาจารย์

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ที่ผมอยากบอกคือเวลาเราพูดคำว่าแรงงานสร้างสรรค์ เรามักจะมองว่ามันเป็นเรื่องของงานอดิเรก ความบันเทิงมากกว่าที่เราจะมองว่า เขาเป็นอาชีพหรือว่าเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นอาชีพที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดของอารยธรรมมนุษย์นะครับ พูดง่ายๆ คือน่าจะเป็นผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุด คนที่สามารถสร้างมูลค่าในสังคมได้ตั้งแต่อดีตตั้งแต่อารยธรรมมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนนักดนตรีหรือว่ากวีหรือว่าจะพูดถึงนักแสดงอะไรต่าง ๆ ก็เป็นกลุ่มอาชีพที่เกิดขึ้น ก่อนแรงงานอุตสาหกรรมซะอีก แล้วก็ผมคิดว่าน่าจะเกิดก่อoแรงงานภาคเกษตรนะครับ ที่เราทำกันเป็นกสิกรรมขนาดใหญ่ แรงงานสร้างสรรค์เนี่ยเกิดขึ้นก่อนนะครับ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าในตลอดระยะเวลานับพันปี จนกระทั่งถึงปัจจุบันภาพที่มันหายไปคือเราไม่เห็นภาพของการเป็นผู้ใช้แรงงาน เราไม่เห็นภาพของการที่เป็นคนที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ในระบบเศรษฐกิจเราไม่เห็นภาพว่า วิศวกรรมเนี่ยมันอาจจะสามารถทำให้เราไปดวงจันทร์ได้ แต่ว่าบทกวีและเสียงเพลงทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ ความสำคัญของแรงงานสร้างสรรค์มันทำให้เราสามารถหลุดพ้นจากความหวาดกลัวภัยธรรมชาติในอดีตได้ เราสามารถทำให้ผู้คนมนุษย์มีความหวังในวันที่เศร้าที่สุดได้เราทำให้วันที่เราอกหักหมดไฟแลเราได้ฟังเพลงเพลงนึงขึ้นมามันทำให้ชีวิตของเรากลับมามีความหมายอีกครั้งหนึ่ง มันกำลังทำให้เรากำลังพูดถึงสิ่งที่ว่า เมื่อมนุษย์ไม่มีแรงบันดาลใจต่าง ๆ ในชีวิต แรงงานสร้างสรรค์ก็คือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้มนุษย์ สามารถที่จะคงอยู่ในโลกใบนี้ ที่มันไม่ยุติธรรมมากนักเพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงความสำคัญ บ่อยครั้งเราไปคุยกันเรื่องว่าตัวเลขมีเท่าไหร่ Soft Power มีเท่าไหร่ ที่จะทำให้เรามีอำนาจในสังคม นี้มีอำนาจเหนือประเทศอื่น หรือว่ามีมูลค่าทางสกิจเพิ่มเท่าไหร่ มีคนมาเที่ยวประเทศเราเท่าไหร่ แต่ว่าเรื่องจริง ๆ เรื่องง่าย ๆ เลยนักดนตรีกลางคืนที่ขับกล่อมพนักงานออฟฟิศในยามที่เขาเหนื่อยร้า เพลงที่ทำให้เรามีความหวังในวันที่เราอกหัก หรือว่าเราพูดถึงภาพวาดหมอลำ ถ้อยคำที่สะกิดเข้ามาในหัวใจของเราในวันที่เรามีความทุกข์ เราไม่จำเป็นต้องพูดถึงมูลค่าอะไรเลย ความสำคัญของมันคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ของเราครับ

ผู้เขียน : แล้วกลุ่มคนที่ทำงานเหล่านี้มีเยอะไหมครับอาจารย์

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : คือเราพยายามที่จะวัดกันวัดป็นตัวเลขนะครับว่ามีอยู่เท่าไหร่ บางตัวเลขก็บอกว่าเป็นหลัก 900,000 คน บางตัวเลขก็อาจจะขยายเพิ่มถึง 4,000,000 – 5,000,000 คน แต่ว่าจริง ๆ แล้วจากงานวิจัยของผมที่ได้ศึกษามาคือ เนื่องจากว่างานสร้างสรรค์เนี่ยคือมันเป็นงานส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ พอเราพูดถึงงานมันเลยยากที่จะบอกว่าคุณจะใช้เกณฑ์อันไหนในการนิยามว่าคน ๆ นี้คือแรงงานสร้างสรรค์ อย่างเช่นผมไปทำงานวิจัยบางคนบอกว่ารายได้หลักของเขามาจากการกรีดยาง เพื่อที่จะประคองชีวิตของเขาไว้ แต่ว่าตัวตนจริง ๆ ของเขาคือการเป็นนักเขียน เช่นเดียวกัน ผมว่าในหลายภาคส่วน หลายธุรกิจ บางคนฤดูก็ทำนาครึ่งปี อีกครึ่งปีก็ลำหมอลำ อีกครึ่งปีก็เป็นลิเก อีกครึ่งปีก็เป็นนักเขียน เป็นนักวาด หรือบางคนทำงานออฟฟิศมีรายได้เดือนหนึ่ง 20,000 – 30,000 บาท แต่ว่าตกเย็น กลางคืน เขาคือนักดนตรีกลางคืนที่ขับกล่อมผู้คน โดยที่ได้ค่าจ้างวันละ 700 บาท เราจะใช้เกณฑ์ไหนเกณฑ์ระยะเวลาการทำงาน มันก็ไม่เพียงพอใช่ไหมครับ บางคนบอกว่าเขาเป็นพนักงานออฟฟิศทั้งวัน แต่ว่าตอนเย็นเขามาร้องหมอลำตามงานบวช งานบุญอะไรต่าง ๆ นะครับ หรือว่าเป็นนักดนตรีเพียงแค่สัปดาห์ละ 3 วัน เราก็ยากจะบอกใช่ไหมครับ ว่าคุณจะใช้เกณฑ์รายได้ เกณฑ์ชั่วโมงการทำงาน หรือว่าเกณฑ์ตัวตนชีวิต มันก็ยิ่งวัดยากเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นในแง่ของจำนวน ผมบอกว่าเป็นจำนวนที่มหาศาล เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมองในภาพใหญ่คือเวลาเรามองคำว่าแรงงานสร้างสรรค์ ผมไม่อยากให้เรามองในฐานะที่เป็นอาชีพที่แยกขาด แต่ผมอยากให้เรามองในฐานะการเป็นตัวตนของศิลปินที่อยู่ในสังคมนี้ เพราะฉะนั้นแน่นอนที่สุดเลย ถ้าเราจะพูดถึงรายได้สวัสดิการณ์ของเขา มันก็ไม่สามารถพูดถึงเพียงแค่รายได้ในฐานะอาชีพที่แยกขาด เราต้องพูดถึงสวัสดิการทั้งระบบ เงินบำนาญคนแก่ สินเชื่อเงินเลี้ยงดูเด็ก การศึกษา หนี้กยศ. เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของแรงงานสร้างสรรค์ทั้งระบบครับ

ผู้เขียน : แสดงว่ามีทั้งคนแก่และก็คนรุ่นใหม่ใช่ไหมครับอาจารย์ ที่ทำงานในกลุ่มนี้

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ใช่ครับมีทั้งคนแก่ คนรุ่นใหม่ บางทีเรามองภาพเฉพาะว่าแรงงานสร้างสรรค์คือคนหนุ่มสาวที่มีความฝันมาทำงานวิ่งไล่ตามความฝันอะไรต่าง ๆ แต่เรื่องน่าเศร้านะครับ คือผมทำงานเรื่องแรงงานสร้างสรรค์ใกล้เกษียณในวัย 45-50 ปี ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร ชีวิตของพวกเขาผ่านเส้นทาง การเดินทางของชีวิตมายังไง สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ คนจำนวนมากพอถึงวัยหนึ่งเขารู้สึกว่า อาชีพนี้มันไม่สามารถที่จะเลี้ยงเขาได้ บางคนก็ต้องออกจากอาชีพนี้ หรือว่าไปอยู่ในอาชีพอื่น ขณะเดียวกันในแง่ของความเป็นมนุษย์ ความเป็นร่างกายของมนุษย์เรา ก็ไม่สอดคล้องกับวิญญาณที่อยู่ข้างใน กรดไหลย้อนก็ดี Office Syndrome ขาอ่อนแรง ความเครียด ความซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งเกาะกินอยู่ในชีวิตของผู้คน ดังนั้นแน่นอนครับ แรงงานสร้างสรรค์มีอยู่ในทุกช่วงทุกวัย เพราะคุณยังต้องใช้ประสบการณ์ของคุณสร้างสรรค์งาน เพื่อจรรโรงโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของคนหนหนุ่มสาว แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย ไม่ได้เป็นเรื่องของคนสุขภาพดี หรือคนที่มั่งคั่ง แต่ว่าเรากำลังพูดถึงคนที่อยู่ในรากฐานของพีระมิดที่ใหญ่มากของประเทศนี้

ผู้เขียน : เป็นกลุ่มคนที่สำคัญใช่ไหมอาจารย์ ทั้งต่อเศรษฐกิจ ทั้งการให้ผู้คนสังคมได้มีอารมณ์สุนทรีใช่มั้ยครับ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ใช่ครับ มากกว่าอารมณ์สุนทรีนะผมว่า ให้เรายังคงมีความเป็นมนุษย์ ผมลองคิดภาพว่าถ้าหมอหรือวิศวกรไม่ได้ฟังเพลงเลยเดือนหนึ่ง พวกเขาจะเป็นยังไง หรือถ้าเราบอกว่านักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่สำคัญแต่ลองนักวิทยาศาสตร์ ไม่มีโอกาสได้ดูหนัง หรือว่าไปฟังเพลงกลางคืนเลย ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร หรือว่าไม่เคยดูรายการตลก ชีวิตของพวกเขาจะเป็นหายนะของมนุษยชาตินะ

ผู้เขียน : อาจารย์ครับ แล้วเรื่องของหลักประกัน หรือว่าเรื่องของสิทธิสวัสดิการของแรงงานกลุ่มนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : เท่าที่ผมได้ทำการสำรวจ ถึงแม้ว่าจะเป็นการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ใหญ่มากเป็นเป็นหลักร้อยคน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือแรงงานสร้างสรรค์วัยใกล้เกษียณอายุ 45 ปีขึ้นไป  25% มีภาวะเครียดแล้วก็ซึมเศร้า น่าสนใจมากเลย ถ้าเราบอกว่าเขาเป็นคนที่ทำให้คนมีความสุข แต่ว่ามันเหมือนกับเป็นละครตลกของอิตาลี ที่เขาบอกว่าเป็นหน้ากาก “ปายัชชี่” คือคำเปรียบเทียบว่า เหมือนกับตัวตลกที่ต้องซ่อนน้ำตาของตัวเองไว้ใต้หน้ากากที่มีรอยยิ้ม พวกเขามีความเศร้าเยอะมาก มีความเครียดเยอะมาก สิ่งเหล่านี้เป็นบ่อกำเนิดของปัญหาด้านสุขภาพแล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

             หลักประกันสุขภาพที่แรงงานสร้างสรรค์ส่วนมากใช้ก็คือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้านะครับ เพราะว่าประกันสังคมส่วนมากจะเข้าไม่ถึง แล้วก็แน่นอนว่าประกันสุขภาพเอกชนส่วนมากก็จะไม่ได้ ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในในส่วนนี้ บางอย่างมันฟังดูเล็กน้อย คุณอาจจะพูดได้ว่าทุกคนก็อยู่ภายใต้ระบบนี้ คน 50 ล้านคน ก็อยู่ภายใต้ระบบนี้ แรงงานสร้างสรรค์มีปัญหาอะไรนักหนา ในการที่จะมาอยู่ภายใต้ระบบนี้ด้วยกัน ผมคิดว่าใช่ เราควรจะอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า เอฟเฟคที่สำคัญต่อแรงงานสร้างสรรค์ เรื่องหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่อง dignity หรือว่าศักดิ์ศรี ในอีกด้านหนึ่งเนี่ย ถ้าคุณต้องคุณเป็นคนที่ต้องสร้างสรรค์ ต้องเขียนงาน ต้องเขียนเพลง ต้องขับร้องหมอลำ ต้องทำอะไรต่าง ๆ มันเป็นงานที่ใช้อินเนอร์ ใช้ตัวตนข้างในเยอะมาก แต่ด้านหนึ่งถ้าคุณต้องเริ่มด้วยการคอยคิวหมอตั้งแต่ตี 5 ในวันที่คุณเจ็บป่วย อันนี้คือ dignity ที่มันหายไป แต่ถ้าคุณมีเงินในประเทศนี้ คุณสามารถจ่ายราคาแพงให้แก่ประกันสุขภาพเอกชน แล้วคุณสามารถที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้

ถ้าคุณเป็นข้าราชการ คุณก็ได้ตัวยาอีกชุดหนึ่ง เพราะฉะนั้นตัวนี้มันมีปัญหาต่อแงานสร้างสรรค์ ถ้าเราไม่สามารถที่จะปฏิรูปให้ตัวกับประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มันดีขึ้นได้ ก็ส่งผลต่อชีวิตของพวกเขาในแง่ของสุขภาพ ยังไม่นับรวมเรื่องรายได้ เรื่องหนี้สินอะไรต่าง ๆ ที่เราจะเห็นได้ว่า รายได้ของแรงงานสร้างสรรค์ ทำงานมา 20 กว่าปี เกิน 50% มีรายได้น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เลข 50,000 บาท อาจจะฟังดูเยอะนะ แต่ว่าถ้าลองคิดว่า คุณทำงานอยู่ใน Sector หนึ่ง ในทางเศรษฐศาสตร์ คุณมี Skill มีทักษะ คุณมีประสบการณ์ คุณมี Connection แรงงานสร้างสรรค์ Connection เยอะนะครับ มี Skill มีประสบการณ์ คุณทำงานมา 30 ปี แต่คุณได้รายได้น้อยกว่า 50,000 บาท ผมว่ามันไม่ปกติ ไม่ปกติแน่นอน ถ้าสมมุติง่าย ๆ นะ ถ้าคุณเป็นนักกฎหมาย ที่ทำงานมา 30 ปี ถ้าคุณมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ ยังไม่นับว่าแรงงานสร้างสรรค์ Reskill ตลอดเวลา คือคอยปรับปรุงทักษะตัวเองอยู่ตลอดเวลาไม่ได้อดทนเหมือนแบบข้าราชการตามกระทรวงทบวงกรม ไม่ใช่เลยนะ รายได้ของคุณน้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เป็นปัญหา แล้วก็เรื่องสำคัญคือแรงงานสร้างสรรค์เกินครึ่งบอกว่ารายได้ของพวกเขาไม่เพียงพอ และไม่เหลือเก็บ ไม่เพียงพอ พวกเขาวนเวียนอยู่กับหนี้บัตรเครดิต และหนี้บัตรกดเงินสด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าอธิบายตามนักเศรษฐศาสตร์แบบกระแสหลัก แบบที่ไม่เคยเห็นหน้าคนจริง ๆ ก็จะมาบอกว่าคนพวกนี้ไม่ขยัน ไม่อดออม ไม่เก็บ ไม่วางแผนการเงิน ไม่มี financial literacy ผ่อนบ้านยังไงให้ตัดต้นแค่ 5 บาท อะไรประมาณนี้ จะอธิบายแบบนี้ว่า แรงงานสร้างสรรค์คิดภาพเหมือนในนิยายว่า ไปกินเหล้าหมด ไม่อดออม ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ คุณลองคิดดูว่า ถ้าคุณเเป็นข้าราชการที่ทำงาน 30 ปี เช่น ปลัด เสมียร คุณทำงาน 30 ปี คุณมีสวัสดิการครบ รายได้เดือนละ 60,000-70,000 บาทเป็น ผอ.โรงเรียนเป็นอะไรต่าง ๆ อันนี้ผมพูดถึงสเกลที่คนต่างจังหวัดจะคิดกันว่า อาชีพมีอะไรบ้าง คนที่ทำงานให้กับส่วนราชการต่าง ๆ คุณอายุ 50 ปี คุณรายได้ 60,000 กว่าบาท พร้อมสวัสดิการอะไรต่าง ๆ แต่แรงงานสร้างสรรค์ที่มีทุกอย่างครบ ประสบการณ์ความสามารถ Connection เกินครึ่งรายได้น้อยกว่า 50,000 บาท ผมว่าไม่ปกตินะ ในแง่รายได้ นี่คือภาพใหญ่ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า นี่คือสภาพของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น กับคนที่ทำให้สังคมนี้ไม่แตกสลาย

ผู้เขียน : แล้วอาจารย์ว่าพอมีแนวทางอย่างไร ที่จะจัดการได้ทั้งในมิติของเรื่องเงิน เรื่องของสินเชื่อหรือว่าเรื่องของสุขภาพ สิทธิ์สวัสดิการ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ผมว่าเรื่องสุขภาพ สิ่งที่ควรเป็นแน่นอนคือเราต้องรวมกองทุนให้สำเร็จ ประกันสังคม 30 บาท เอาแบบเรื่องง่ายที่สุดเลยนะ ให้เป็นบัญชียาเดียวกัน แล้วก็ให้สิทธิ์สวัสดิการใกล้เคียงมากที่สุด ในแง่การได้รับบริการ ค่าห้อง ค่าอะไรต่าง ๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าบัญชียาให้เป็นบัญชีเดียวกัน ที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียมกันนะครับ อย่างปัจจุบันการรักษามะเร็งบางตัว มันครอบคลุมเฉพาะ ตัวยาที่มีผลข้างเคียงน้อย แล้วก็ประสิทธิภาพดี มันบางครั้งมันอยู่ในกองทุนเดียว เช่น กองทุนค่าราชการ ค่าราชการเบิกได้นะครับ แต่ว่า 30 บาท เบิกไม่ได้ เลยทำให้เห็นว่า มันมีความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ว่า ทำไมหมอจ่ายยาแค่นี้ ทำไมหมอไม่รักษาให้เราหาย เราจะเห็นได้ว่า เพราะว่าเงื่อนไขบัญชียา บัญชีการรักษามันมีชนชั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขตัวนี้ ยังไม่นับถึงเรื่องการกระจายตัวของสถานบริการอะไรต่าง ๆ ซึ่งอันนี้ต้องแก้ไขในระบบด้านสาธารณสุขที่ทำให้การเข้าถึง 30 บาท มันสามารถดีเท่ากับข้าราชการ ผมใช้รูปธรรมอันนี้ ซึ่งมันก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการมีศักดิ์ศรีกลับมา

ในส่วนของคนใช้บริการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ เราจำเป็นต้องคิดฝันกันถึงเรื่องระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ประกันสังคมคือเป็นสวัสดิการสำหรับวัยทำงานนะครับ ซึ่งปัจจุบันมันก็จะเป็นการสมทบ คนที่ได้สิทธิ์นี้ตามกฎหมายก็คือ คนที่อยู่ภายใต้การสมทบของนายจ้างลูกจ้าง แล้วก็อีกอันหนึ่งก็คือสมทบโดยสมัครใจ แต่ว่าจากงานวิจัยของผม ได้ยืนยันว่าระบบสมัครใจใช้ไม่ได้ในประเทศไทย ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่มีวินัย ไม่มีความรู้ด้านการออม การสมทบอะไรต่าง ๆ ไม่ใช่นะครับ เพราะเราจน เรานึกถึงภาพสมมุติว่า คุณต้องสมทบประกันสังคมเดือนละ 100-200 บาท เอาแบบสัดส่วนขั้นต่ำสุด 100-200 บาท สำหรับแม่ค้าที่ต้องขายลูกชิ้นปิ้ง มันก็กลายเป็นค่าน้ำมันมอเตอร์ไซค์ได้ 3-4 วัน เช่นเดียวกัน ถ้าเรานึกถึงแรงงานสร้างสรรค์ วงหมอลำอะไรต่าง ๆ ถ้าเราคิดว่าคนต้องมารับผิดชอบประกันสังคมของตัวเอง มันก็เป็นเงินที่กระทบต่อสภาพคล่องของเขา เพราะฉะนั้นเงิน 100-200 บาท สำหรับคน ๆ หนึ่ง ผมมองว่ามันมันเยอะต่อเดือน แต่ว่าสำหรับรัฐ ไม่ได้เป็นเงินที่เยอะ เพราะฉะนั้นประกันสังคมถ้วนหน้า มันก็คือหลักการที่ว่า คุณสามารถที่จะคิดฝันได้ว่ารัฐซื้อประกันให้คุณ ประกันที่จะมาชดเชยรายได้ ชดเชยการเจ็บป่วย ชดเชยการเดินทางไปหาหมอ ชดเชยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นการทุบพลภาพ การพิการอะไรต่าง ๆ

ซึ่งเราจะพบว่านิยามการพิการในสังคมไทย ก็เป็นปัญหาใหญ่ เช่น คุณจะบอกว่า เป็นการทุกพลภาพ เช่น ต้องขาขาด อวัยวะขาดตั้งแต่ศอก ตั้งแต่เข่าอะไรประมาณนี้ ตามองไม่เห็น 2 ข้างอะไรแบบนี้ แต่ว่าผมมานึกถึงแรงงานสร้างสรรค์ สมมุติเอาง่าย ๆ าถ้าคุณเป็นคนร้องหมอลำ แล้วเส้นเสียงคุณขาด หรือว่าเส้นเสียงคุณอักเสบ จนคุณร้องเพลงไม่ได้ ควรจะได้รับการชดเชยดูแลจากรัฐไหม ซึ่งถ้านิยามตามความพิการแบบดั้งเดิม เขาก็บอกว่า คุณก็ไปทำอาชีพอื่นสิ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกคือ มันคือชีวิตคุณ ถ้าคุณร้องเพลงไม่ได้ ถ้านักฟุตบอลวิ่งไม่ได้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเดินไม่ได้ นักฟุตบอลวิ่งไม่ได้ แต่มันคือสกิลเดียวที่เขามีทั้งชีวิต นักร้องหมอลำที่ร้องเพลงไม่ได้แล้ว หรือว่าเอ็นข้อมือขาดข้างหนึ่งก็ลำไม่ได้ เอนเตอร์เทรนคนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น คือชีวิตของพวกเขาหายไป รัฐก็ควรจะเข้ามาชดเชยในส่วนนี้ด้วย

หลักการประกันสังคมถ้วนหน้า มันคือหลักการแบบนี้ เพื่อชดเชยสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา นิยามความพิการ นิยามอะไต่าง ๆ ที่มันครอบคลุมไปถึงลักษณะอาชีพต่าง ๆ มากขึ้นครับ อันนี้คือเป็นสิ่งที่ผมอยากจะฉายภาพให้เห็นว่า หลักการประกันสังคมถ้วนหน้า คือการมาครอบคลุมชีวิตในวัยทำงาน แล้วก็เรื่องใหญ่ บำนาญถ้วนหน้าที่ภาคประชาชนผลักดันอยู่ อันนี้ได้ทุกกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องเป็นแรงงานสร้างสรรค์ คือการพูดถึงว่า เวลาคุณเกษียณ ผมไปทำงานวิจัยสำรวจมา เขาบอกว่าบำนาญถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญมาก เรื่องสำคัญในแง่ของการทำให้เขารู้สึกมั่นใจในตอนอายุ 50 ปี ที่คุณใกล้เกษียณแล้ว คุณกังวลมากเลยว่า ถ้าคุณแก่กว่านี้ คุณจะทำยังไงต่อไปกับชีวิต แต่ว่าถ้าคุณมองว่าต่อไปคุณยังมีบำนาญ 3,000 บาท ต่อเดือน มันก็คงพอที่จะทำให้คุณสามารถสร้างสรรค์ตัวนี้ต่อไปได้ ไม่งั้นคุณอาจจะต้องออกจากงานตัวนี้ ออกจากงานสร้างสรรค์ แล้วก็ไปทำอะไรอย่างอื่นที่พอให้คุณมีเงินเก็บได้ ตรงนี้มันสำคัญมาก ถ้าเป็นเรื่องของสังคมถ้วนหน้า สวัสดิการถ้วนหน้ารัฐบาลเขาก็จะบอกว่ามันมีปัญหาเรื่องเงินทุน เรื่องงบประมาณ

ผู้เขียน : อาจารย์มองว่ามันจะมีปัญหาเช่นเดียวกันไหมครับ หรือว่าเราสามารถบริหารจัดการอย่างอื่นได้

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ทุกรัฐบาลก็จะบอกไม่มีเงินนะ เวลาเรื่องของประชาชน ดูยากมากเลยนะ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าการทำให้เด็กเรียนมหาวิทยาลัยฟรี ใช้งบประมาณปีหนึ่งประมาณ 40,000 ล้าน นี่คือสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นนะ แต่ว่าคุณก็สามารถซื้อเรือดำน้ำได้ 30,000 ล้านบาท จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เป็นเรื่องไม่มีเงิน ที่มีการเปิดเผยมา กอ.รมน. งบประมาณก็เยอะ คือผมไม่ได้บอกว่ามันสำคัญ หรือไม่สำคัญ ให้ไปตัดอะไรนะ แต่ผมชี้เห็นว่า เรื่องไหนที่รัฐเห็นว่ามันสำคัญ ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ และคนกลุ่มนั้นเป็นคนที่มีอำนาจมากกว่า เรื่องนั้นก็ไม่เคยแพง สมมุติว่าเราจะพูดถึงเงินเลี้ยงดูเด็ก มันก็ใช้เงินเพิ่มขึ้นหลักหมื่นล้านบาท เรื่องบำนาญถ้วนหน้าก็ใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งมันก็ใกล้เคียงกับ เงินดิจิทัลที่รัฐบาลบอกว่ายังไงก็จะต้องทำให้ได้ คือผมไม่ได้บอกว่านโยบายนี้ดีหรือไม่ดี แต่ว่า ถ้าผู้มีอำนาจมองว่าสำคัญ เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่เรื่องที่สำคัญคือ เวลาเรามองแบบนี้ เรามักจะมองว่าเงินจ่ายไปแล้วหมด แต่จริง ๆ มันไม่หมด เรานึกถึงว่าคนอายุ 50 ปี แม้ว่าวันนี้ยังไม่ได้เงินสวัสดิการบำนาญ แต่ว่าถ้าเรามองไปอีก 10 ปีข้างหน้า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไป มันจะทำให้การลงทุนการเปลี่ยน อาชีพ การบริโภคอะไรต่าง ๆ มันก็เติบโตขึ้นในอีกแบบหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่มันมีการยืนในประเทศรัฐสวัสดิการว่า ถ้าคนมีชีวิตที่มั่นคง พฤติกรรมการบริโภคและการลงทุนก็จะกระเถิบไปอีกขั้นหนึ่ง นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มันมีตัวทวีคูณมากกว่าระบบเศรษฐกิจทั่วไปอีก เราลองนึกถึงว่าหมอลำที่รู้สึกปลอดภัยในชีวิต มันจะสามารถเติบโตได้มากมายขนาดไหน คนรุ่นใหม่ที่สนใจเขาก็กล้าฝันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าถ้าเป็นสังคมอีสาน จะปลูกฝังลูกต้องเป็นข้าราชการ ต้องทำงานหน่วยงานรัฐ ถึงจะมีสวัสดิการครอบคลุมถึงพ่อแม่ อย่างเอ่อเคสหนัง “สัปเหร่อ” แสดงให้เห็นขนาดประเทศที่เราไม่ได้ซัพพอร์ตอะไรขนาดนี้ มันยังมีมูลค่าขนาดนี้เลย ถ้าเราซัพพอร์ตดี ๆ จะขนาดไหน เรามักจะไปหลงจุดที่ว่า เราชอบไปช้อนเอาช้างเผือก หรือว่าช้อนสิ่งที่มันสำเร็จแล้ว แต่นั่นมันคือบนยอด ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่เขาทำคือเขาสนับสนุนในระดับฐาน เพราะคุณไม่มีทางทราบว่าเด็กคนไหน หรือว่าศิลปินที่เพิ่งเริ่มอาชีพคนไหนจะสามารถเติบโตมา มีมูลค่าอะไรต่าง ๆ ขนาดนี้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณให้ทุกอย่างถ้วนหน้าเท่ากันในเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผู้เขียน : มีพยายามบางวง ถ้าคณะใหญ่เขาจัดตั้งเป็นบริษัท ก็พยายามจัดการสวัสดิการตรงนี้ แต่ก็ยังมองว่ามันเป็นงบประมาณ เป็นเงินที่หัวหน้าวงจ้าของบริษัทต้องจัดการเยอะอยู่ อาจารย์มองว่าควรมีการซัพพอร์ตเค้าไหม หรือว่าจะซัพพอร์ตเขายังไงดี

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ผมว่าก็ต้องมีการซัพพอร์ตในหลายอย่าง ซึ่งการซัพพอร์ตผ่านบริษัท ก็อาจจะไม่ได้เป็นแนวทางที่ยั่งยืนเท่าไหร่นะครับ ถ้าเรามองคือ สเกลของคนที่จะรวมกันเป็นบริษัทได้ มันก็อยู่ในระดับกลาง เพราะฉะนั้นถ้าจุดยืนของผมเท่าที่ได้ไปศึกษาวิจัยมา ผมอยากให้การซัพพอร์ตเนี่ยมันอยู่ในระดับฐานรากให้มากที่สุดซัพพอร์ตเรื่องสินเชื่อสินที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้คน ในกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ ที่ไม่สามารถเข้าถึงฐานสินเชื่ออะไรต่าง ๆ ได้ ตัวนี้สินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูก ถามว่าเข้าถึงสินเชื่อประเทศไทยมันมีคนปล่อยอยู่ พวกเงินกู้นอกระบบอะไรพวกนี้

เรื่องที่มันเป็นเรื่องของคนทั่วไป และคนอีสานผมว่าเรื่องใหญ่ที่สุดไม่ใช่สวัสดิการของตัวเองหรอก สวัสดิการของคนในครอบครัว อันนี้เป็น Pain Point ของของคนอีสาน ผมว่าคนไทยทุกภาคเป็นแบบนี้ เรื่องคนในครอบครัว แต่ของคนอีสานน่าจะเป็นภูมิภาคที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด แม้แต่ว่าคนที่แต่งงานแล้วไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ลูกสาวคนโตยังต้องส่งเงินมาเพื่อช่วยที่บ้านจนกระทั่งตัวเองตาย แม้ว่าความสัมพันธ์อะไรต่าง ๆ มันจะเรือนหายไปแล้ว แต่ว่าแม้แต่ไปทำงานต่างประเทศก็ยังต้องส่งเงินกลับมาช่วยที่บ้าน อันนี้คือเป็นภาพจริง ๆ เพราะฉะนั้นผมอยากชี้เห็นว่า สวัสดิการในระดับครัวเรือนสำคัญมาก สำคัญที่จะก้าวกระโดด ถ้าเราออกแบบระบบถ้วนหน้า ไม่ต้องไปพุ่งเป้า ไม่ต้องไปควานหาคนจน ไม่ต้องมากรอกใบพิสูจน์ความจน ไม่ต้องมากรอกใบยืนยันว่าคุณทำอาชีพอะไร ให้สวัสดิการในระดับครัวเรือน ให้น้องเขาได้เรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องกู้ กยศ. พี่ก็สามารถร้องหมอลำต่อไปได้ พี่ก็สามารถแต่งเพลงต่อไปได้

ถ้าพ่อแม่ของเขาได้รักษามะเร็งด้วยยาที่ดีที่สุด ด้วยหมอที่ดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ เขาก็สามารถวิ่งตามความฝันของเขาต่อไปได้ พ่อแม่ของเขามีเงินบำนาญ และตัวเขาเองมีประกันสังคมถ้วนหน้าที่ชดเชยรายได้เขา อันนี้แหละครับมันถึงหัวใจของคำว่ารัฐสวัสดิการ แพงเท่าไหร่ก็ไม่แพงเกินกว่าการเก็บรักษาชีวิตของคนหรอก บาทแรกถึงบาทสุดท้าย ให้มาดูแลชีวิตของคนธรรมดาเหล่านี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ

ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดมันเป็นมายาคติที่ผมคิดว่ามีชนชั้นนำในสาขานี้ คือเราอย่ามองว่าสาขาทุกสาขาเราเป็นมิตรกัน เป็นพระเอกกัน มันมีคนที่อยู่บนยอดพีระมิดของสาขานี้ แล้วก็พยายามเอาเปรียบ ผมใช้คำง่าย ๆ พยายามเอาเปรียบคนที่อยู่ในอาชีพเดียวกัน คนที่พ้นน้ำไปแล้ว ตัวเองก็ใช้ประโยชน์จากความฝันของคนอื่น ในเงื่อนไขของการทำให้ตัวเองมั่งคั่ง แล้วก็มีอำนาจมากขึ้นในแวดวงนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหัวใจสำคัญของคนที่อยู่ในอาชีพนี้ หรือว่าทุกอาชีพ คือการที่เขาต้องรวมตัวกัน ต้องยูเนียนกัน ต้องฟอร์มตัวเองให้เป็นสหภาพรวมตัวกัน พวกเขามักจะมีคำอธิบายว่า แรงงานสร้างสรรค์เป็นอิสระ รวมตัวกันไม่ได้ อินดี้ ไม่สามารถแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงนะครับ เท่าที่ผมเห็นจริง ๆ แล้วแรงงานสร้างสรรค์มีความเป็นชุมชนสูงมาก แชร์ผลประโยชน์ร่วมกันมาก แต่เราจะทำยังไงให้การรวมตัวนี้ สามารถท้าทายคนมีอำนาจทั้งในระดับเศรษฐกิจ และในระดับรัฐ เพื่อให้เราได้รับผลประโยชน์ ตามที่ผมได้บอกมา ถ้าแรงงานสร้างสรรค์หยุดทำงานกันสักอาทิตย์หนึ่ง เราจะเห็นได้เลยว่า ใครกันแน่ที่มีอำนาจในประเทศนี้ เราอยากให้กลุ่มทุนหรือว่าคนที่มีอำนาจในวงการมากำหนดว่าเราควรจะมีชีวิตยังไง คนที่ทำงานจริง ๆ คนที่จับปากกาเขียนเพลง คนที่ดีดกีตาร์ในกลางคืน คนที่ร้องหมอลำในทุกงานบวช งานบุญ คนเหล่านี้แหละคือคนที่สร้างมูลค่าจริง ๆ ของประเทศนี้ครับ

ผู้เขียน : อาจารย์พอจะมีแนวทางให้ไหมครับว่า สมมุติถ้ารวมตัวกันได้บ้างแล้วควรจะขับเคลื่อนต่อไปยังไง เพราะว่าผมก็เห็นเขาเริ่มรวมกลุ่มได้บ้างแล้ว ควรจะก้าวต่อไปด้วยกันยังไงหรือว่าเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : ผมคิดว่าเราต้องมีมิติทางชนชั้น ในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นมิติเพียงแค่อาชีพที่ต่อรอง เพื่อให้กลุ่มของตนได้ประโยชน์ คือถ้าเราสามารถรวมตัวกัน แล้วเราไปรวมกับกลุ่มอื่นได้ที่มีผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน เช่น ผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมชาวนา นักดนตรี นักร้อง หมอลำ ต่างมีผลประโยชน์เดียวกัน ว่าเราต้องการเงินบำนาญ เรารวมตัวกับคนกลุ่มพวกนี้ แล้วก็สร้างการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องการให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรี เราต้องการให้ลูกหลานของเราไม่มีหนี้กยศ. มันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งสังคม เราก็ต้องรวมตัวกันกับคนหลากหลายกลุ่มเพื่อผลักดันประเด็นที่มากกว่าเรื่องของอาชีพของตัวเอง ถ้าเราสามารถรวมตัวกันแล้วผลักดันประเด็นใหญ่ได้ มันไม่ได้มีสูตรนะ ว่าเราต้องจากเล็กแล้วไปใหญ่ แต่ถ้าเราสามารถรวมตัวกัน ผลักดันประเด็นใหญ่ได้ พอถึงเวลาที่เรามาจัดการเรื่องเล็ก เราก็จะมีเพื่อนที่มาช่วยพวกเราในเรื่องนี้ด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถเจ็บปวดร่วมกันในสังคมได้ แม้เราทำงานคนละอาชีพ ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เราคือผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน สร้างประเทศนี้มาด้วยกัน แต่แทบจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย นี่คือสิ่งที่เรามีผลประโยชน์ร่วมกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ