คุก 2 ยกฟ้อง 1 กรณีชุมนุมค้าน ‘ย้าย บขส.ขอนแก่น’ ปี 58 – ทนายเตรียมอุทธรณ์สู้คดี

คุก 2 ยกฟ้อง 1 กรณีชุมนุมค้าน ‘ย้าย บขส.ขอนแก่น’ ปี 58 – ทนายเตรียมอุทธรณ์สู้คดี

ศาลแขวงจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุก 2 จำเลย แกนนำชุมนุมย้าย บขส. ขอนแก่น ปี 2558 ฐานกระทำผิด ตาม พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ด้านจำเลยที่ 1 ยอมรับคำตัดสิน แต่ยืนยันกฎหมายรังแกประชาชน ด้านทนายความพร้อมสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

20162009144944.jpg

รายงานโดย: The Isaan Record

20 ก.ย. 2559 The Isaan Record รายงานจาก จ.ขอนแก่นว่า วานนี้ (19 ก.ย. 2559) เวลา 13.30 น. ศาลแขวงจังหวัดขอนแก่นใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงพิพากษา 3 จำเลยฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กรณีการชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารขอนแก่นแห่งที่ 1 ไปยังสถานีขนส่งฯ แห่งที่ 3 จ.ขอนแก่น โดยจำเลยที่ 1 คือ นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี จำเลยที่ 2 คือ นายวัชรินทร์ เสริมศิริกาญจนา และจำเลยที่ 3 คือ นายสวาท อุปฮาด โดยโจทย์ที่ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 คือ เจ้าพนักงานสอบสวนจาก สภ.เมืองขอนแก่น

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรณีการชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งซึ่งเกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค. 2558 โดยชุมชน บขส. ขอนแก่น, กลุ่มรักษ์พัฒนา บขส. ขอนแก่น, เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค, เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟ 18 ชุมชน, เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ 15 ชุมชน และเครือข่ายคนไร้บ้านขอนแก่น ประมาณ 600 คน รวมตัวเดินขบวนจากสถานีขนส่ง จ.ขอนแก่น แห่งที่ 1 ไปยัง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อคัดค้านมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก จ.ขอนแก่น ที่ให้ย้ายสถานีขนส่ง แห่งที่ 1 ไปรวมกับสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 3

ทางเครือข่ายประชาชนมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมติดังกล่าว และให้เปิดใช้ทั้งสองสถานีคู่กัน หลังจากที่ทางคณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยทางผู้ชุมนุมให้เหตุผลว่า สถานีขนส่งแห่งที่ 3 ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเกือบ 10 กิโลเมตร จะสร้างความเดือดร้อน และเพิ่มภาระค่าเดินทางให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งที่ตั้งปัจจุบันของสถานีขนส่งแห่งที่ 1 อยู่บริเวณศูนย์ราชการ และอยู่ใกล้กับโรงเรียนหลายแห่ง ซึ่งสะดวกกับผู้ที่ต้องการติดต่อราชการ นักเรียน และผู้โดยสารทั่วไปสามารถเดินทางต่อไปยังใจกลางเมืองด้วยบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกรวดเร็วกว่า

ใส่วนกระบวนการพิจารณาคดี ศาลนัดสืบพยานทั้งโจทย์ – จำเลย เมื่อวันที่ 24 – 26 ส.ค. 2559 เพื่อเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานสอบสวนจาก สภ.เมืองขอนแก่น ได้กล่าวหาจำเลยทั้ง 3 ราย ว่าเป็นแกนนำนำมวลชนไปชุมนุมประท้วง และเดินขบวนในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และมีการกีดขวางทางเข้า-ออกสถานที่ราชการ

วรพรรณ เบญจวรกุล ทนายความของฝ่ายจำเลยกล่าวชี้แจงภาพรวมของการพิพากษาคดีว่า โดยคำฟ้องที่ศาลตัดสินว่ากระทำผิดร้ายแรงคือจำเลยที่ 1 คือ นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมและมีการปราศรัยในที่ชุมนุม แต่ในข้อเท็จจริงมีความคาดเคลื่อนอยู่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคนเริ่มจัดการชุมนุมตั้งแต่แรก เพียงแค่เข้าชุมนุมในช่วงเย็นของวันที่เกิดเหตุ โดยเป็นตัวแทนของผู้ชุมนุมเข้าเจรจากับทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

ส่วนจำเลยที่ 2 คือ นายวัชรินทร์ เสริมศิริกาญจนา  ศาลตัดสินว่ากระทำผิดในข้อหาเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม จำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท ไม่เคยทำความผิด ศาลลดโทษ เหลือ 1 เดือน 15 วัน และสำหรับจำเลยที่ 3 คือนายสวาท อุปฮาด ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

วรพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่ออกมานั้นถือว่าเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อสังสัยในบางประเด็น เช่น คำสั่ง คสช. ซึ่งน่าจะมีผลในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แม้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะออกมาแล้ว ตนเองยังให้ความสำคัญกับคำสั่ง คสช. เพราะทางผู้ชุมนุมก็ได้แจ้งทางทหารที่ มทบ. 23 จ. ขอนแก่นก่อนที่จะทำกิจกรรมอะไรทุกครั้ง ดังนั้น ประเด็นนี้จำเลยน่าจะได้รับประโยชน์ จึงคิดว่าจะลองปรึกษากับจำเลยที่ 1 ดูว่าจะอุทธรณ์ในขั้นตอนต่อไปหรือไม่

“จริง ๆ แล้วในส่วนเรื่องเนื้อหาคำพิพากษาตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะต้องรอการคัดสำเนาจากศาลก่อน เพราะกลัวจะคาดเคลื่อนในรายละเอียดจากคำพิพากษาฉบับจริง” ทนายความจำเลยกล่าว

20162009152144.jpg

ภาพ: จากซ้ายไปวา นายวัชรินทร์ เสริมศิริกาญจนาจำเลยที่ 3 นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรีจำเลยที่ 1 นาย สวาท อุปฮาด จำเลยที่ 3 และ นางสาววรพรรณ เบญจวรกุล ทนายในคดี 

ภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กล่าวถึงความรู้สึกของตนหลังคำพิพากษาของศาลว่า ทางฝ่ายโจทย์ถือเป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทั้งหมด คำพูดหรือข้อมูลจึงมีน้ำหนักมากกว่าคำพูดและหลักฐานจากประชาชนธรรมดาอย่างตน ตนเชื่อว่าการไม่มีเครื่องแบบ การพูดความจริงจึงไม่มีน้ำหนัก ทั้ง ๆ ที่ตนอ้างว่าได้ยืนยันหลักฐานกับฝ่ายโจทย์ว่า ไม่มีภาพของตนเป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด ในเหตุการณ์วันนั้น ตนเป็นแค่ตัวแทนในเรื่องเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ทางโจทย์ได้วิเคราะห์จากพฤติกรรมสะสม โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ พ.ร.บ ชุมนุมฯ ฉบับนี้ ว่ามักเห็นตนนั้นเป็นผู้จัดกรชุมนุมและเป็นแกนนำชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด ถ้าจะพูดอย่างในลักษณะนี้ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่ใช่เอาของเก่ามาเหมารวมด้วยทั้งหมด

ภัตธนสันต์ กล่าวอีกว่า คำฟ้องที่ศาลตัดสินว่าผิดนั้นคือการกีดขวางทางเข้า – ออกของสถานที่ราชการ และเป็นแกนนำในการจัดการชุมนุม แต่ศาลไม่ได้ตัดสินในเรื่องการขออนุญาตทหารเพื่อจัดการชุมนุม ฯ แต่อย่างใด

“คดีเหล่านี้น้อยนักที่ประชาชนจะชนะ ก็อยากให้เป็นคดีตัวอย่างซักคดีเกี่ยวกับความทุกข์ยากของประชาชน เมื่อถูกอำนาจรัฐรังแกแล้วขอให้ประชาชนชนะบ้าง เพราะที่ผ่านมารัฐชนะตลอด รัฐเป็นผู้ถือกฎหมาย ใช้กฎหมาย แล้วก็เขียนกฎหมายเองด้วย กฎหมายที่ออกมาไม่ได้ใช้กับอำนาจรัฐ แต่เอามาใช้กับประชาชน ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนในการที่จะออกแบบกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมดไม่เป็นธรรม” ภัตธนสันต์ ระบายความรู้สึก

ด้านสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ศาลยกฟ้องความผิดของตนในวันนี้ว่า ตนค่อนข้างยอมรับได้กับผลที่ออกมาในวันนี้ถือว่าการสู้คดีเพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดนั้นประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างของการสู้คดีกับข้อกล่าวหาโดยเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ส่วนในกรณีที่ศาลพิจารณาและพิพากษายกฟ้องทุกกรณีของตนนั้นถือว่าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น ข้อหาว่าเป็นแกนนำในการจัดการชุมนุมฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วตนไม่ได้มีส่วนในการจัดการชุมนุมครั้งนั้นแต่อย่างใด เพียงแต่มาในพื้นที่จัดการชุมนุมเท่านั้น ถือว่าพอใจในคำตัดสินของศาลในวันนี้

สวาท ย้ำว่า คำฟ้องที่หนักที่สุดสำหรับตน ที่ถูกโจทย์ฟ้อง คือ เป็นแกนนำในการจัดการชุมนุม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ได้เอาข้อเท็จมากล่าวหา เป็นการสุ่ม การคิดเหมารวมเอาว่าเรื่องนี้เป็นกลุ่มนี้จัดการชุมนุมถือว่าไม่เป็นจริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ