“พริกแพร่” พลิกฟื้นเศรษฐกิจสู่ชุมชน

“พริกแพร่” พลิกฟื้นเศรษฐกิจสู่ชุมชน

“พริก” กับโอกาสพลิกโฉมจังหวัดแพร่ที่อยากให้เกิดขึ้น

จังหวัดแพร่เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่มีแหล่งพื้นที่ปลูกพริกมากเป็นลำดับต้นของประเทศไทย ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอร้องกวาง และอำเภอสอง รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่

อารีย์ เหลืองหิรัญ พาณิชย์จังหวัดแพร่ พูดถึงภาพรวมของพริกในจังหวัดแพร่ ซึ่งใน 1 ปีจะมีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 4,000 ตัน อย่างเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา จังหวัดแพร่มีอัตราการเก็บเกี่ยวผลผลิตพริกที่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 23 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยังส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์พริกแปรรูปต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำพริกที่มีความต้องการทางตลาดสูง น้ำพริกจึงมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยทุกปี

ถ้าพูดถึงน้ำพริกตัวชูโรงของจังหวัดแพร่ เชื่อว่าทุกคนต้องนึกถึง “น้ำพริกน้ำย้อย” ที่อำเภอลองเป็นลำดับแรก ด้วยหน้าตาและรสชาติที่จดจำง่าย แค่เอาพริก หอม กระเทียมไปทอดแล้วปรุงรสให้เข้ากัน 

“จังหวัดแพร่มีแหล่งปลูกพริกมากมายหลายสายพันธุ์ มีน้ำพริกน้ำย้อยเป็นหนึ่งในของดีประจำจังหวัดแพร่ รสชาติและหน้าตาน่าจดจำไม่แพ้น้ำพริกหนุ่มหรือน้ำพริกอ่องเลย แต่ทำไมพริกแพร่ถึงไปได้ไม่ไกล ทั้ง ๆ ที่เรามีศักยภาพการผลิตและแปรรูปพริกมากเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย”

เชษฐา สุวรรณสา ผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ในพื้นที่อำเภอลอง ได้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่

“พริก” พลิกชีวิตเกษตรกร

จากความต้องการพริกที่มากขึ้นตามท้องตลาด สู่โอกาสของเกษตรกรที่มีตัวเลือกเพาะปลูกมากขึ้นจากเดิมที่ปลูกข้าวและข้าวโพดเป็นหลัก อย่างวิสาหกิจชุมชนหนองหลวงม่วงไข่ กลุ่มเกษตรกรปลูกพริกในอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ หนึ่งในกลุ่มประกอบการรายย่อยที่พลิกชีวิตเกษตรตัวเล็ก ๆ จากการหันมาปลูกพริก จนสามารถยึดเป็นอาชีพสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี 

“ข้อดีของพริกมีอย่างหนึ่งคือ ใน 1 ปีจะได้รอบหมุนเวียนมากกว่าข้าวและข้าวโพด หมายความว่าเราสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวพริกได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง ยิ่งพริกสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ ทำให้ทั้งเกษตรกร ผู้ค้า และผู้ประกอบการทั้งจังหวัดแพร่มีรายได้หมุนเวียนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขการันตีได้ว่า จังหวัดแพร่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากพริกมากน้อยแค่ไหน” นี่คือเสียงจากผู้ประกอบการอย่าง สิรินพร หงส์ชัย วิสาหกิจชุมชนหนองหลวงม่วงไข่ ผู้บุกเบิกการปลูกพริกจนสามารถรวมกลุ่มเกษตรกรและเกิดรายได้ที่มั่นคงขึ้นกว่าเดิม

“พริก” พลิกฟื้นคืนโอกาสแก่ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs

“เราอยากขยายตลาดให้ได้กว้างกว่านี้ แต่ถ้าเราขับเคลื่อนในนามแบรนด์ของเราอาจทำให้เราไปได้ไม่ไกล ด้วยต้นทุนและกำลังการผลิตที่มีจำกัด เราจึงต้องทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังควบคู่กันไป” สุดาวัลย์ กิตติพัฒนพงศ์ ผู้ประกอบการพริกแปรรูปในอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ พูดถึงการปรับตัวของผู้ค้ารายย่อยที่พยายามจะยกระดับตัวเองให้มีศักยภาพมากพอจนสามารถทำตลาดส่งออกต่างประเทศได้ แต่ถ้าต้องดำเนินการเองทุกอย่าง สุดาวัลย์มองว่าอาจไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป ทำให้สิ่งที่เขาพอจะทำได้คือ รับผลิตน้ำพริกให้กับบริษัทหรือผู้ค้ารายใหญ่ที่ต้องการนำไปขายในชื่อแบรนด์ของตัวเอง และมีกำลังส่งออกต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสุดาวัลย์รับผลิตให้กับผู้ส่งออกประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการมีหน้าร้านที่เน้นทำตลาดภายในประเทศด้วย

“จากที่เราทำผลิตภัณฑ์ส่งออกหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย และอีกหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะซอสพริกที่ลูกค้าติดใจและสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าจดจำได้ว่า นี่คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้พริกจากจังหวัดแพร่ ซึ่งถ้าทำได้ เราเชื่อว่าวันหนึ่งแพร่จะมี Soft Power อย่างพริกออกสู่สากล” สิรินพรพูดถึงโอกาสของพริกแพร่ที่น่าจะไปต่อในระดับโลกได้  

“พริก” พลิกความหวังจังหวัดแพร่สู่ “มหาอำนาจแห่งน้ำพริกโลก” ในอนาคต

ถ้าพูดถึงพริกในจังหวัดแพร่ถือว่ามีความพร้อมทั้งพื้นที่เพาะปลูก แหล่งผลิตแปรรูป และภูมิปัญญาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับพริก ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พริกให้หลากหลาย น่าสนใจ และเข้าถึงคนรุ่นปัจจุบันได้ง่ายขึ้น

“ยกตัวอย่างน้ำพริกน้ำย้อย สูตรของเมืองลองกับเมืองแพร่ก็แตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งในเมืองลองยังต่างคนต่างสูตร บางเจ้าใช้แคบหมู หนังไก่ หรือแซลมอนเข้ามาเป็นส่วนผสมของน้ำพริกน้ำย้อยก็ยังทำได้เลย ตรงนี้คือความสร้างสรรค์ที่เรามองว่า ถ้าในอนาคตเราจัดประกวดน้ำพริกในจังหวัดแพร่โดยที่ใส่องค์ความรู้ลงไปว่า สูตรแบบนี้ทำมาจากอะไร มีรสชาติอย่างไร ตอบโจทย์พฤติกรรมการกินของคนแบบไหนบ้าง คนก็จะพูดถึงน้ำพริกของจังหวัดแพร่มากขึ้น และยิ่งถ้าเราพัฒนาการนำเสนอน้ำพริกได้ดีกว่าเดิม ต่างประเทศเห็นแล้วว้าว นี่แหละคือโอกาสที่เราจะได้เอื้อมถึงความฝันให้เป็นจริงว่า แพร่คือเมืองน้ำพริก” เชษฐาพูดถึงอนาคตของตลาดและพื้นที่สร้างสรรค์น้ำพริกที่อยากเห็นในจังหวัดแพร่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ